วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 4/30 (3)


พระอาจารย์
4/30 (540607D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 มิถุนายน 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 4/30  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เอาแล้ว เข้าไปอยู่ในรูปแบบของความเชื่อแล้ว ...สุดท้ายก็ถูกมันจองจำไว้ด้วยความเชื่อ ด้วยความไม่เที่ยง แล้วก็หายไป แล้วก็เกิดขึ้นมาอีก ...แล้วจะทำยังไง แก้มันยังไงหมดล่ะ

ก็ไม่แก้ไม่หนีมัน ตายเป็นตาย นรกกูก็จะลง ...อยากคิดคิดไปดิ อยากปรุงฟุ้งซ่านเรื่องอะไร เอาดิ ปรุง ดูซิ ใครจะแน่กว่ากัน อย่างมากก็แค่ตาย ...ดูมันไป รู้มันไป รู้อย่างเดียว

เราก็เดินไปเดินมาอยู่ตรงนั้นน่ะ เราไม่แก้อารมณ์เลย ไม่เคยหนีอารมณ์ด้วย แล้วก็ไม่คิดจะไปยุ่งอะไรกับอารมณ์ด้วย ก็ต่างคนต่างอยู่ เหมือนกับคนละมิติกัน คนละโลกกัน

เราก็รู้ไป ดูกาย เดินไปเดินมา นั่งก็นั่งอยู่เฉยๆ กระดิกตีนกระดิกมือไป  มันจะมีความคิดก็มี ไม่มีก็ไม่มี ไม่สน ไม่ใช่เรื่องของเรา ...เรื่องของเราคือเรานั่งอยู่ เราก็รู้ว่าเรานั่ง ก็รู้ว่านั่งเฉยๆ

มันจะมีอะไร ...มันจะมีเมฆ มันจะมีหมอก มันจะมืด มันจะแจ้ง มันจะสว่าง มันจะมีฟ้าแลบฟ้าร้อง แดดออกฝนตกอยู่ภายใน ...เฮอะ ไม่เกี่ยวกัน

กล้าจริงก็รู้ตัวไป อยู่กับตัวอยู่กับกาย นี่ล่ะ ลองดู แล้วจะรู้ว่า...การปฏิบัติที่เราเคยตั้งค่าของการปฏิบัติเอาไว้ว่าผลลัพธ์คืออะไร  จะเข้าใจเองว่าไอ้ที่ตั้งค่าไว้น่ะผิดหมดเลย...ด้วยความเห็นความเชื่อนี่ ผิดหมดเลย

เมื่อมันเห็นว่าอย่างนั้นแล้วนี่ มันจะลบความเห็นของตัวเองทิ้ง เกิดอาการที่เรียกว่า delete ตัวเอง format ตัวเองเลย...ลบ เหลือเป็นดิสก์เปล่าๆ ไม่ว่า external , internal ก็เป็นดิสก์เปล่าหมด ไม่มีอะไรข้างใน 

ไร้สาระสิ้นดี ...ไม่ใช่ข้างนอกไร้สาระ ข้างในก็ไร้สาระ ไม่มีอะไรเป็นสาระ พอที่จะไปแตะไปจับ ไปอาศัย ไปอิงไปแอบ ไปแนบ ไปคลอเคลีย ไปอยู่ไปยืน ไปนอนไปกินกับมัน 

จึงเรียกว่าบริสุทธิ์หมดจด เหมือนบัวพ้นน้ำ เนี่ย...กว่าจะขึ้นจากตมได้ แทบตาย บอกให้เลย

แต่ว่ามันมีเหง้า เข้าใจมั้ย บัวมันมีเหง้า ...ถึงมันตายมันก็มีเหง้า งอกใหม่ นี่ อย่าท้อ มันก็ไล่ขึ้นมาจากสี่เหล่านั่นแหละ แล้วก็ขึ้นมาเรื่อยๆ ...ในหนึ่งคนนั่นแหละ มันมีสี่เหล่า 

อย่าไปบอกว่าตัวเราอยู่ในประเภทไหน เหมือนกันหมด...ไอ้เหง้าบัว ก็แล้วแต่ว่ามันจะประคบประคองไอ้เหง้าบัวนี้ จนมันออกพ้นน้ำได้เมื่อไหร่แค่นั้นเอง

เพราะเดี๋ยวมันก็ลงไปเป็นเหง้าบัว ...แล้วธรรมชาติของเหง้าบัวมันก็ต้องแตกหน่อขึ้นมาอยู่ร่ำไป

แต่ด้วยความที่ว่าไม่ดูแลด้วยศีลสมาธิปัญญาในองค์แห่งมรรค เต่าปลาฉลามร้ายก็มาฉกกินไป ไม่ได้โผล่ยอดขึ้นมา ...พอมันฉกเข้าบ่อยๆ ก็ท้อ  เนี่ย เขาเรียกว่าไม่มีความเพียร

รู้แล้วก็หลงๆ ...เฮ้อ รู้อีกก็หายอีกแล้ว เมื่อกี้ยังอยู่ดีเลย หายอีกแล้วๆ  เสียอกเสียใจ เฮ้อ หาวิธีใหม่ดีกว่า แน่ะ ...ไม่เอา หลงอีก-รู้อีกๆ  ดูไป อย่าเบื่อ อย่าคิดว่าทำไม่ได้

ถ้าทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่มาสอนคนหรอก เพราะท่านเห็นว่าคนน่ะสอนง่ายที่สุดแล้ว มนุสฺสปฏิลาโภ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอันประเสริฐ ไม่ใช่เป็นได้ง่ายๆ 

และนี่เป็นที่ที่ธรรมทั้งปวง ทั้งสี่เหล่านี่ ทั้งสี่ภูมิอริยธรรมทั้งหมด...จะงอกงามได้ง่ายที่สุดในมนุสสเพราะนั้นอย่าประเมินตัวเองต่ำ

ถ้าตั้งใจจริง ไม่ขี้เกียจ ไม่ท้อถอย ...เจริญสติ รู้กายอย่างเดียว รู้ตัวอย่างเดียว รู้เข้าไป  ใครจะว่าโง่ ใครจะว่าไม่ได้อะไร ใครจะว่าไม่มีปัญญา เสียงนกเสียงกาอย่าไปฟัง

รู้เข้าไว้ อย่าให้ลืมรู้ อย่าให้รู้หาย อย่าให้รู้ขาด ...เอาให้มันเหมือนกับเป็นกาวตราช้างอยู่กับใจนั่นแหละ เป็นกายใจคู่กันตลอดเวลา

แล้วไม่ต้องสงสัย ไม่มีปัญหาอะไรกับใคร แล้วใครก็ไม่มีปัญหากับเรา ...ถึงมันจะมีเราก็ไม่มี เพราะหา “เรา” ไม่มี  มีแต่ “รู้” ไม่มี “เรา” ...รู้จน “เรา” ไม่ปรากฏเลยน่ะ เอาดิ

แล้วจะเข้าใจเองว่า...การละสักกาย ไม่มีวิธีการละ ไม่มีวิธีอุบายใดเลย  มันละเข้าไปในตัวของมันเอง บอกให้เลย ...นี่เป็นการทำที่โง่ที่สุด แต่ชื่อเรียกว่าปัญญาวิมุติ

เห็นมั้ย ชื่อกับการกระทำนี่คนละเรื่องกันเลย  โง่อย่างเดียว ไม่เอาความรู้ใดมาเลย ...มันจะเอ๊อะ มันจะแอ๊ะ ออกมาว่าอะไร ...ไม่เอา มีแต่ตัว ตัวเกลี้ยงๆ ตัวซื่อๆ น่ะ

ตัวก้อนๆ ไม่รู้ก้อนอะไร กำลังทำอะไรก็ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร  แต่เห็นอยู่น่ะว่ามันทำ แต่ไม่รู้ทำอะไร ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ...จนมันไม่มีภาษาออกไปพูดน่ะ

นั่นน่ะเขาเรียกว่ามันจะลบบัญญัติสมมุติ แล้วก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง ...เพราะตามความเป็นจริงนี่ เขาไม่ได้เป็นอะไร

มองเห็นต้นไม้ไหม มันเงียบ เขาบอกไหมเขาเป็นอะไร ...มีแต่เราน่ะจำเอา เขียว เหลือง สีน้ำตาล นั่นต้นนี่ นี่ต้นนั่น ...นี่ว่าเอาเอง ปากมากเอง จิตน่ะมันปากมาก

ถ้าดูเฉยๆ ดูด้วยความสงบนะ ทุกอย่างเป็นปรมัตถ์ เป็นความจริงตามความเป็นจริง ...เห็นมั้ย มีความรู้อะไรมั้ยในนั้น ต้องไปรู้อะไรมั้ยในนั้น ต้องไปบอกมั้ยว่ามันคืออะไรในนั้น ...นั่นน่ะตามความเป็นจริง

กายนี่ก็ไม่ได้ต่างกับต้นไม้ที่มันยืนอยู่นี่ ...มันเรียกเอาเองว่ากาย มันเรียกเอาเองว่าชาย มันเรียกเอาเองว่าหญิง มันเรียกเอาเองว่าต้นโศก ต้นไทร ต้นสาละ ...นี่ว่ากัน ก็เรียกกันว่าชื่อนั่นชื่อนี่

ดูไปสิ มันเงียบ ไม่เคยบอกว่าเขาคือใครเลย  กูคือใคร ไม่เคยบอก มีแต่มึงอ่ะมาว่ากูเป็นนั่นเป็นนี่ ด้วยความไม่รู้ ....แต่มันคิดว่าใครบอกว่าไม่รู้จักต้นนี้มันบอกโง่ 

เห็นมั้ย ไอ้ใครที่รู้มาก รู้ไปหมดทั้งป่านี่ หูย นี่รู้ธรรมเห็นธรรมๆๆ ...เราบอกไอ้บ้าธรรม มันบ้าธรรม บ้าสังขารธรรม

เพราะนั้นรู้จริงน่ะเงียบ ไม่มีปากไม่มีเสียงเลย  นิ่งอยู่ภายในนั้น รู้อยู่ภายใน ก็เห็นความเป็นจริง ...มันจะซาบซึ้งอยู่กับความไม่มีไม่เป็นในความหมาย

นั่นแหละ มันเข้าไปเห็นกายเป็นอนัตตา เห็นกาย ในส่วนที่ไม่มีตัวตน เห็นกายในส่วนที่ไม่มีโดยสมมุติบัญญัติ เห็นกายในส่วนที่มันเป็นแค่อาการถูกปรุงแต่งโดยเหตุปัจจัย ไม่ได้ตั้งด้วยใคร เพื่อใคร

ไปถามสิ ต้นไม้มันเกิดเพื่อใคร มันตั้งอยู่เพื่อประโยชน์อะไร ทำไมมันต้องตั้งอยู่ ตั้งอยู่ทำไม ใช่รึเปล่า ...ถ้ามันมีปาก มันก็บอกว่ามันตั้งอยู่โดยความเป็นไตรลักษณ์ มีอะไรมั้ย

ถ้าเห็นตามความเป็นจริงของกาย...ก็อันเดียวกันหมด ...นี่ หากันแทบตาย ตัวเองไม่เห็น ...อยู่ตรงนี้ อยู่ต่อหน้านี่ สิงสู่อยู่กับมันนี่ตั้งแต่เกิด ไม่เคยแยบคายดูเลย

มรรคมีไม่เดิน ชอบเดินทางมักมาก กับมักน้อย มรรคาไม่เดิน ครรลองแห่งมรรคมีอยู่ตรงนี้ ..พอเริ่มเดินสักนิดนึง ก็เอาแล้ว เดี๋ยวมันจะเริ่มหาใหม่แล้ว

เห็นมั้ย เดี๋ยวมันจะเริ่มไม่อยู่ตรงนี้แล้ว ...เป็นธรรมดา ให้ทัน อยู่อย่างนี้ ...คำสอนครูบาอาจารย์เก็บไว้บนหิ้ง ปิดปังเอาเข้าเซฟไว้ก่อน ตอนนี้อาจารย์ไม่เกี่ยว อาจารย์อย่าเพิ่งมาเกี่ยว

จะเอาแค่ตรงนี้ จะรู้แค่ตรงนี้ อาจารย์ก็บูชาไว้ในเซฟก่อนนะ ตอนนี้ไม่เอา จะทำความแจ้งในกายก่อน จะทำความแจ้งกายในปัจจุบัน ...เพราะกายมันมีตัวเดียว ไม่เอากายตัวอื่น

เมื่อมีกายตัวเดียว กายคนอื่นก็ไม่มี นี่...เอาจนกายเหลือแต่กายเงียบที่สุด จนใจเงียบไปพร้อมกับกาย เหลือแค่รู้กับกาย ...เห็นกาย จนรู้...แต่ไม่รู้ว่ากายๆ ไม่เห็นว่าเป็นกาย

นั่นแหละ ถึงจะเข้าใจ หากายไม่เจอแล้ว ...ก็เห็นอยู่ตำตา ก็รู้อยู่ แต่หากายไม่เจอ  เจอแต่อะไรก็ไม่รู้ อะไรก็งั้นๆ น่ะ ใครจะว่ากายก็ว่าไป

ใครจะว่าชายก็ว่าไป ใครจะว่าหญิงก็ว่าไป ใครจะว่าสวยก็ว่าไป ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป เห็นอยู่เต็มตาเต็มใจว่าอะไรก็ไม่รู้  นั่นแหละ ...ไว้ค่อยมาส่งการบ้านแล้วกัน (หัวเราะ)


โยม  โอ้โฮ  อีกนาน  

พระอาจารย์ –  ถ้าคิดน่ะนาน บอกแล้วไง ถ้าคิดเมื่อไหร่..นาน ...พอทันปุ๊บ ดับเลย ว่านานช้า เวลาขาดทันที เวลาขาดทันทีเลยนะ ถ้าอยู่ตรงนี้ปั๊บนี่ ไม่มีอดีตอนาคตเลย 

อดีตก็คือ นาน เร็ว อนาคตมาแล้ว จิตมันเคลื่อนออกไปข้างหน้าปั๊บ นานนนน ช้า นานนน ...แต่ถ้าอยู่ตรงนี้ ช้าไม่มี เร็วไม่มี ลองดู ...แต่ละคนทำไป กำลังใครตามกำลัง...เต็มกำลัง

รู้กายรู้ใจแค่นี้แหละ ..ไม่ลัด ไม่สั้น แต่ตรง รู้ตรงๆ ...เราบอกว่าตรง เราไม่ได้บอกว่าตรงกับคนอื่น แต่ว่ามันตรง..ตรงที่ไม่ต้องไปหาตรงไหน ไม่ต้องไปรู้ที่อื่น

ไม่ต้องไปมีว่า ต้องพุทโธก่อนมั้ย สงบก่อนมั้ย ต้องอยู่คนเดียวก่อนมั้ย ต้องนุ่งขาวห่มขาวอยู่วัดก่อนมั้ย ต้องออกจากงานมั้ย ต้องไม่มีผัวมั้ย ต้องไม่มีลูกก่อนมั้ย

เห็นไหม มันจะไม่มีเงื่อนไขนะ ...รู้ตรงๆ ที่กาย เพราะมันตรงไหนก็มีกาย จนกว่าจะตายไป


โยม –  รู้สึกว่าก็เอาชนะตัวเองได้...พอสมควร  

พระอาจารย์ –  อือ ถ้าเราไม่ตามมัน ก็ชนะหมดแหละ


โยม –  มันก็หักตัวเอง

พระอาจารย์ –  อยู่แบบผู้แพ้ แพ้หมดโลกน่ะแหละ ไม่มีทางจะมาชนะโลกได้ ...เพราะโลกเขาเป็นไปอย่างนี้ เราตายแล้ว โลกเขาก็ยังเป็นไปอย่างนี้

กิเลสก็เป็นเรื่องของโลก ก็มีอยู่คู่โลกอย่างนี้ จะไปเอาสาระแก่นสารอะไรกับมัน ...เพราะนั้นแพ้หมดแหละ ใจก็ยอมแพ้ กลับมาอยู่ที่อันควรอยู่...อยู่แค่รู้  ไม่ออกนอกรู้ ไม่ไปมาหาเหตุ

นั่นแหละ ยอม ยอมรับ ยอมก็คือยอมรับ...ในทุกสิ่งที่ปรากฏ ...เราไม่เรียกว่าดี-ร้าย ถูก-ผิด แต่เราเรียกว่าทุกสิ่งที่ปรากฏ ก็คือสิ่งหนึ่งที่ปรากฏ

ถ้ามองเห็นเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏนี่ ก็ไม่มีปัญหาหรอก ...แต่ถ้ามองว่าอันนั้นอันนี้ เช่นนั้นเช่นนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ เดี๋ยวมีปัญหา

ถ้ามองเป็นแค่สิ่งหนึ่ง อาการหนึ่ง สภาวะหนึ่ง สภาพหนึ่ง มันมองเห็นอย่างนั้นน่ะ ...เมื่อดูไปเรื่อยๆ อยู่กับเนื้อกับตัวไป ก็จะเห็นว่าเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น

เหมือนกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ที่ท่านพูดว่า...สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา ...นี่ ท่านเห็นว่าเป็นแค่สิ่งหนึ่ง

รูปนามเป็นแค่สิ่งหนึ่ง อาการของรูปนามก็เป็นแค่สิ่งหนึ่ง อารมณ์ของรูปนาม เวทนาของรูปนามก็เป็นแค่สิ่งหนึ่ง ...ไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่งนั้น

ท่านมองข้ามบัญญัติ ท่านมองข้ามสมมุติไป ท่านมองทะลุเข้าไปถึงแค่สิ่งหนึ่ง อาการหนึ่ง ...ถึงเรียกว่า ยังกิญจิ สมุทยะธัมมัง สัพพันตัง... สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา

ท่านมองเห็นความจริงแค่นั้นเอง ...ไม่ได้ลึกซึ้ง ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไรอย่างที่พวกเราพยายามที่จะให้เห็นกายเป็นอันนั้นกายเป็นอันนี้ แล้วถึงจะวางได้

แต่ถ้าเห็นกายตามความเป็นจริงล้วนๆ ว่ามันไม่เป็นอะไร สวยก็ไม่ใช่ ศพก็ไม่ใช่ ดีก็ไม่ใช่ ไม่ดีก็ไม่ใช่ คุณก็ไม่ใช่ โทษก็ไม่ใช่ ...ก็เห็นอยู่เพียงแค่อาการหนึ่งเท่านั้น

แล้วจากนี้มันจึงจะเห็นเป็นอาการเดียวกัน ทั้งโลก ทั้งจักรวาล ทั้งอนันตาจักรวาล ทั้งสามภพ นั่น ในอนันตาจักรวาล มันยังมีอีกสองภพซ้อนอยู่ในอนันตาจักรวาล

ท่านก็เห็นเป็นเพียงแค่อาการหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้ประหลาดมหัศจรรย์ดีร้ายถูกผิดอะไร ประเสริฐประณีตกว่า ต่ำกว่า สูงกว่า เหนือกว่า เสมอกัน...ไม่มี ...ท่านเห็นมีแค่อาการหนึ่ง เท่านั้นเอง

เอาแล้ว วันนี้ฟังนานแล้ว เห็นมั้ย ดูกายดูใจเราตอนนี้ แค่เราไม่ทำอะไรนี่ จิตมันสบายขึ้นแล้ว มันปล่อย มันเกิดความวาง ...วางเพราะอะไร วางเพราะเข้าใจ สัมมาทิฏฐิเกิด  
 

โยม –  หนูว่าแล้ว มันกำลังมึนๆ มั่วๆ อยู่เหมือนกันน่ะค่ะ ได้ครูบาอาจารย์ช่วยแนะนำก็รู้สึกว่าเป็นประโยชน์มาก ...กราบขอบพระคุณค่ะ

พระอาจารย์ –  แต่มันต้องทำด้วยภาวนามยปัญญาไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็จะหายไปอาการพวกนี้ ...ทำด้วยตัวเองแล้วก็จะค่อยเข้าใจ ด้วยการรู้ชัดเห็นชัดในปัจจุบัน

เมื่อใดที่เรากลับมารู้ชัดเห็นชัดในปัจจุบัน ทุกอย่างมันแจ่มแจ้งขึ้นมาเอง โล่ง โปร่ง เบาสบาย อิสระ   


..................................




วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 4/30 (2)


พระอาจารย์
4/30 (540607D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 มิถุนายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 4/30  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ทำไมไม่รู้ชัดลงไปในปัจจุบันเล่า นั่นแหละ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอยู่ในปัจจุบัน ...เพราะนั้นอะไรจะชัดที่สุดในปัจจุบัน นั่นแหละ ตรงนั้นแหละ...คือกาย

เห็นมั้ย เห็นเรานั่งนี่มั้ย...รู้ว่าเห็น นี่คือภาพในปัจจุบัน ...ได้ยินเสียงมั้ย  ทั้งหมดคือเสียงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ...รู้อยู่ตรงนี้แหละ ปัจจุบันธรรม

พอไม่มีอะไร พอเริ่มจะไหล เริ่มจะเผลอเพลินไปหาอะไร...รู้ตัวๆ อยู่ที่กายเลยๆ ...ผูกไว้ ไม่อยู่ก็ต้องเฆี่ยนให้มันอยู่ โอ้โลมปฏิโลมอยู่ในนี้แหละ

อย่าไปฟังเสียงนกเสียงกา ...ใจที่มันปรุงแต่งน่ะเสียงนกเสียงกา มันจะล่อหลอกให้เราน่ะ... "อย่างนั้นมั้ง อย่างนี้ดีกว่า อย่างนั้นเคยได้ยินมา เขาบอกมา อาจารย์องค์นั้น องค์นี้พระอรหันต์นะนั่น"

เอาอีกแล้ว จะเริ่มอีกแล้ว จะเอาอีกแล้ว ...ไอ้ที่มีอยู่นี่ไม่เอา จะเอาอันใหม่ ที่ดีกว่า เห็นมั้ย  โลภรึเปล่า อยากได้รึเปล่า ขวนขวายรึเปล่า ตัณหารึเปล่า ...ทำไมไม่เห็นน่ะ

พอรู้แล้วจะละความคิดนั้นก็เสียดาย เห็นมั้ย จะเสียดายอารมณ์ จะเสียดายธรรมที่ยังจะไม่ได้มา เพราะเราไม่ได้คิดต่อไม่ได้ทำต่อ ...เสียดายใช่มั้ย เห็นมั้ยนี่...ติด

ตัณหาน่ะมันจะเกิดอาดูร ความอาดูรอาลัยในธรรม ...มันก็อ้างธรรมเป็นเกณฑ์น่ะ นักปฏิบัติธรรมก็อ้างธรรมทั้งนั้นแหละ  แล้วมันก็ติดธรรม...ที่เป็นสังขารธรรม

นิพพานก็เลยเป็นสังขารนิพพาน นิพพานดิบๆ ฝันเอา ปัญญาก็ขั้นนั้นขั้นนี้จะละนั่นได้นี่ได้ ...โอย นั่งฝันหวานเลย ทำอย่างนั้นแล้วจะละสักกายได้ ทำอย่างนี้แล้วจะละวิจิกิจฉา

มันเรียบเรียงเขียนเป็น short note , short story เลยภายใน  แล้วก็ทำตาม pattern นั้นเลย ... หลง บอกให้เลยว่าหลง แล้วว่าดูจิตๆ ...ดูอะไร ดูความหลงตัวเองรึเปล่า ไหลไปกับความหลงของความคิดรึเปล่า

กลับมารู้ตัวปุ๊บนี่ ทุกอย่างฝันสลายเลยแหละ ดับหมดเลย ไม่เหลืออะไรเลย...โอ้โห เสียดายอีก ไม่ไหวอีกแล้ว คิดต่ออีก ...เห็นมั้ย สันดานของจิตเป็นอย่างนี้ (หัวเราะกัน)

ก็ต้องเอาล่อเอาเถิดกันอยู่อย่างนี้ ศีลสมาธิปัญญาคือไล่มันกลับมาอยู่กับกายใจปัจจุบัน ...ก็เหลือแค่กายกับใจ เหลือแค่กายกับใจ ...'ไม่เห็นมีอะไรเลย' ...นี่มันจะร้องคร่ำครวญพิร่ำพิไรอยู่ภายใน


โยม  ใช่ มันอาลัยอาวรณ์น่ะค่ะ  

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ กิเลสมันร่ำร้อง กิเลสมันไม่ยอม 


โยม –  มันเสียดาย ที่มันไม่มีอะไร 

พระอาจารย์ –  ใช่ โลภ เห็นมั้ย นั่นแหละ เพราะนั้นพอมันจะเริ่มออกมาอีกด้วยความคิดความปรุง พอรู้ทันแล้วกลับมาอยู่ตรงนี้ ก็เห็นความดับไปของอาการปรุงนั้น

เห็นมั้ย เห็นไตรลักษณ์ของอาการส่วนที่เป็นนามขันธ์แล้ว ...นั่นแหละ เห็นจิตตามความเป็นจริง ว่าเมื่อเราไม่ไปประกอบเหตุในนามธรรมนั้นๆ เหตุนั้นก็ดับ ความคิดนั้นก็ดับ ความปรุงนั้นก็ดับ

ที่มันไม่ดับเพราะเราไปหล่อเลี้ยงด้วยตัณหาและอุปาทาน ...แล้วพอเราอดอยาก..บอกแล้วไงอยู่แบบอดอยาก คืออดความอยาก มันเลยไม่อิ่ม ...เพราะมันไม่รู้จักพอ มันเลยไม่รู้จักอิ่ม

เออ จนกว่ามันว่าพอแล้วๆ พอดีแล้ว เอาแค่นี้ พอแล้วๆ ...จะพอดีเลย ทุกอย่างพอดีหมด พอดี  ...ฝนตกก็พอดี ฝนหยุดก็พอดี แดดออกก็พอดีเลย ไม่เดือดร้อน ไม่มีขาด ไม่มีเกิน

พอเริ่มขาดเริ่มเกินปั๊บ เอ้า มาแล้วความปรุง อนาคตมาแล้ว อดีตมาผสมกัน..."วันนั้นดีกว่าวันนี้ วันนี้อากาศดีกว่าวันนั้น มันน่าจะอากาศดีทั้งวันเลยนะ" ...นี่ ฟุ้งซ่านแล้ว เริ่มไหล ฟุ้ง เห็นมั้ย

พอรู้ สติทันปุ๊บ รู้ตัวเลย เลิกคิดหาเหตุหาผล หาความน่าจะเป็น ความไม่ควรจะเป็น ความเป็นกรรมวิบาก เจ้ากรรมนายเวร บุญ-บาป โทษ-คุณ ผีสางนางไม้เทวดา...ไม่เกี่ยว

รู้ตัวอย่างเดียว มีเหตุเดียวตรงนี้ เห็นมั้ย ละเอาแบบโง่ๆ เลย ...การละนี่ละแบบโง่ๆ เลยนะ ไม่เอาอะไรเลย ไม่รู้อะไรเลย  มันละเลย ละขาดออกหมดเดี๋ยวนั้นเลย ...เห็นผลในปัจจุบันนั่นเลย

ถ้าอยู่อย่างนี้...เจริญในมรรคอย่างนี้ให้ต่อเนื่องไปนี่  พระพุทธเจ้าท่านถึงบอก ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ไม่กลับมาเกิดแล้ว ...ทำให้มันจริง

มันไม่จริงกันน่ะ ...มันอ่อนข้อให้อ่ะ อ่อนไปตามความคิดนั้น ความเห็นนี้ ...เดี๋ยวพอไปเข้ากลุ่มสมาคม คนนั้นแนะนำว่าอาจารย์องค์นั้นสอนนั่น ก็แห่กันไป ตามกันไป

แล้วก็จะเนื่องด้วยกุศโลบายใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ อุบายใหม่ๆ ที่ดูเหมือนดีกว่า เร็วกว่า แล้วคิดไหลออกนอกกายนอกใจอีกแล้ว ...เนี่ย มันไม่จริงต่อมรรค ปฏิบัติในมรรคไม่จริง

พอมันไม่จริงแล้วก็มาบ่นว่า...ไม่เห็นตรงอย่างที่พระพุทธเจ้าบอกเลย ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ...มึงอ่ะไม่ตรง (หัวเราะกัน) มึงน่ะปฏิบัติไม่ตรง แล้วมาว่าพระพุทธเจ้าได้ยังไง มาลบหลู่ท่านนี่

เออ ถ้าทำจริงแล้วนี่ จะกราบไหว้บูชาท่านจรดถึงตีนท่านเลย ...ไม่มีผิดเพี้ยนท่านว่าเลย ไม่เกิน ๗ วัน เอาดิๆ ท้า พระพุทธเจ้าก็ท้า ลองดู รู้ไปดูไป เอาจนไม่ขาดเม็ดเลย ไม่มีขาดวรรคขาดตอนเลย

นั่นแหละ ตั้งแต่ตื่นนอนยันหลับ ไม่ลืมตัวเลย ลองดู ...ได้มั้ยล่ะ ตัวมีอยู่แล้ว ไม่ต้องหาที่อื่น ไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่เลย ไม่ต้องหาสภาวะอะไรเลย ไม่ต้องทำสภาวะอะไรเลย

ทำอะไรก็ได้ ล้างจานก็ได้ เดินไปเดินมาก็ได้ คุยอยู่ก็ได้...ทำไมมันจะรู้ตัวไม่ได้  มีข้ออ้างข้อแม้อะไร...ไม่ฟัง คนนั้นคนนี้เป็นยังไง...ไม่ฟัง ไม่สน กูจะรู้กายใจที่มันเป็นยังไงอยู่

เนี่ย มันยืนอยู่บนดินรึเปล่า หรือมันลอยไปอยู่ที่ไหน หือ กายมันลอยไปได้ยังไง ยืนอยู่บนดินแท้ๆ ทำไมมันจะหายไปไหนได้ยังไง ...อย่าให้มันหายดิ

เอาแค่นี้แหละ ไม่เอาธรรมมากมายหรอก ไม่เอามรรคเอาผลอะไรหรอก เอาแค่รู้กายรู้ใจแค่นี้...มันจะตายซะรึไง มันยากจนจะตายรึไง ต้องไปซื้อไปขายกันตรงไหนฮึ

หรือต้องไปขุดดินขุดบ่อล่อปลาเข้ามารึไง ต้องไปสร้างแบกหามขึ้นมาไหม ...มันมีอยู่ตลอด เหมือนลมหายใจที่มีอยู่ มันมีอยู่แล้ว มัวแต่ร่อนเร่พเนจร ดูนั่นหานี่ ทำนู่นทำโน่น คิดนั่นคิดนี่

โอ้ย เวลาที่ผ่านไปเอาคืนไม่ได้นะ เสียเวลาไปเปล่า เสียเวลาไปกับลมๆ แล้งๆ ...แล้วก็จับเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้สักอย่าง วนไปวนมาๆ แล้วก็กลับมาเหมือนเก่า ไม่เห็นได้อะไรเลย เท่าเก่า

แล้วก็หาใหม่ แล้วก็เท่าเก่า..แล้วก็หาใหม่ อยู่แค่นี้ เมื่อไหร่มันจะหายโง่ซะทีวะ ...ฟังเทศน์ทุกวัน หลวงปู่ก็บอก พระพุทธเจ้าก็สอน สติปัฏฐาน...กายอยู่ไหนใจอยู่ตรงนั้น ใช่มั้ย

ไม่ใช่...กายอยู่นี่ใจอยู่บ้าน กายอยู่นี่ใจไปอยู่ในป่า กายอยู่บ้านใจอยู่ที่วัด อ้าว คิดถึงวัดอีก ...กายใจมันไม่เคยอยู่ที่เดียวกันน่ะ มันจะเป็นกายานุสติปัฏฐานได้ยังไง

กายอยู่ที่นึงใจอยู่อีกที่นึง หรือว่าใจอยู่ที่นึงแล้วกายไปอยู่ตรงนู้นๆๆๆ ...กายมันไปเกิดในความคิดซะไม่รู้กี่กายแล้ว ทั้งกายหยาบ กายละเอียด กายสัตว์นรก กายเปรต กายอสุรกาย กายคน กายเทวดา 

มันไปได้ทั่วนะตามความคิดน่ะ ไปร่อนเร่พเนจรกับกายที่มั่วซั่วอยู่ อะไรก็ไม่รู้ ...กายจริงไม่อยู่ กายใจไม่อยู่ที่เดียวกัน นี่ไม่เรียกว่ามีสตินะ

ต่อให้นั่งสงบจนไม่มีอะไรปรากฏแต่ไม่รู้ตัว ไปไหนแล้วมันยังไม่รู้เลย สงบแบบตื่นขึ้นมา... "เฮ้ย เมื่อกี้ไปไหนวะ เมื่อกี้เป็นอะไรไป" ...เนี่ย มันจะเรียกสมาธิได้ยังไงวะฮึ

นั่งไปปั๊บ ขึ้นมา อึ๊ แป๊บเดียวเอง ...หายไปเมื่อกี้หายไปไหนไม่รู้ แล้วว่าดี..ยิ้มแป้นว่าจิตรวม ...รวมยังไง บอกให้เลย กูนั่งอยู่ข้างหลังกูเห็น มันไม่รู้ตัวหรอก บอกให้ โมหะสมาธินะ

ไม่ได้เหมือนที่ครูบาอาจารย์ท่านทำ ท่านตื่นรู้อยู่ แม้สงบนะ ท่านแน่วแน่ที่ใจตั้งมั่นเลย ขณิกะสมาธิ ลงไปถึงอุปจารสมาธิ ลงไปถึงอัปปนาสมาธิ

นั่นน่ะสมาธิจริงที่เกิดจากอุบาย ก็เป็นขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธิ เป็นจนถึงอัปปนาสมาธิ เหลือแต่ใจดวงเดียวแท้ๆ ในโลกนี้ ไม่มีอะไรทั้งนั้น ใจสว่าง นั่นแหละเขาเรียกว่าสมาธิจริง

ไอ้แบบ..เอ๊ะ หายไปไหนไม่รู้ งุบๆ งับๆ คลุมเครือๆ "เอ๊ะ เมื่อกี้เป็นอะไรไปวะ" ตัวเองยังไม่รู้เลย แล้วต้องมาถาม "อาจารย์ เมื่อกี้หนูเป็นอะไรไปคะ" ...มึงยังไม่รู้ มาถามกู กูจะไปรู้มึงเรอะ

ต้องให้รู้ตลอดเลยนะ ...ถ้ารู้นี่ รู้ตลอดเลยนะ จะหลงแล้ว จะหลับแล้ว จะงุบแล้ว จะพับพุ้บเข้าไปแล้ว มันต้องเห็นตลอดเลย ...นั่นแหละสติ เป็นตัวประคับประคอง เป็นพี่เลี้ยง เป็นธรรมมีอุปการคุณยิ่ง

ธรรมใดก็ตาม ปฏิบัติยังไงก็ตาม ถ้าไม่มีสติเป็นอุปการธรรมนี่...เสร็จ โมหะคาบไป ...จนมันตั้ง จนมันชัดเจนน่ะ จนรู้นี่ ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด เป็นอมตธาตุอมตธรรมอยู่ภายใน


โยม –  หรือเราเพ่ง กำลังสมาธิเรามากเกิน ถอยกำลังสมาธิลดลงมาได้ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ก็ได้ ...บอกแล้วไปค้นคว้าเอา ด้วยประสบการณ์เรียนรู้ดู เป็นการทดลองด้วยตัวเอง พิสูจน์ทราบด้วยตัวเอง

วิธีการนี่ เราถึงไม่ค่อยบอกว่าต้องทำยังไงในกุศโลบาย ไม่งั้นมันจะไปติดอุบาย แล้วก็จะเอาคำพูดหรือเอาสิ่งนี้เป็นกฎตาย แล้วไปผูกไว้ ...ไม่เอาหรอก

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ลูกศิษย์โง่ ไม่ได้สอนให้คนปฏิบัติตามโง่นะ ท่านให้ปฏิบัติด้วยการทดลองพิสูจน์ทราบด้วยตัวเอง ...นั่นแหละ มันจะเกิดความมั่นใจในตัวเอง

ติดเมื่อไหร่ ข้องเมื่อไหร่ เดี๋ยวค่อยว่ากัน แล้วค่อยแก้กันไป แต่ต้องทำ อย่าไปกลัวตาย อย่าไปกลัวแก้ อย่าไปกลัวเปลี่ยน อย่าไปกลัวไม่ได้อะไร ...ทดลองไป

กว่าเราจะออกมาจากสมมุติ ออกมาจากความเห็นในโลก ออกมาจากความเชื่อในการปฏิบัตินี่ ไม่ใช่ง่ายๆ นะ เราก็ถูกหลอกอย่างนี้มาก่อน โดยว่าต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้

ต้องทำจิตอย่างนั้น ต้องให้เป็นอย่างนี้ก่อน ต้องอยู่ในที่อย่างนี้ก่อน ต้องทำตัวอย่างนี้ก่อน ต้องไม่พูด ต้องไม่กิน ต้องอดข้าว ต้องอดนอน ...อู้ย อะไรหลายต้อง...จนกระดิกตัวไม่ได้เลย

ถึงได้รู้ว่ากว่าจะออกจากความเชื่อเช่นนั้นน่ะ ...นี่เราไม่ได้ละเลิกครูบาอาจารย์องค์อื่นนะ เราทดลองด้วยตัวของเราเอง เราพิสูจน์ด้วยตัวของเราเอง

แล้วเราก็..จนถึงที่สุดเราก็ต้องบอกกับตัวเองว่า...นรกกูก็จะลง ถ้ากูไม่ทำอะไร แล้วจิตมันจะเป็นยังไง...ไม่สน ...จะไม่แตะต้องจิตเลย ไม่แตะต้องจิตเลย ไม่แตะต้องอาการของจิตเลย

ไม่กลัวด้วย ...แม้มันจะไม่หาย แม้มันจะแช่อยู่อย่างนั้น เอาเด่ะ จะอยู่แบบโง่ๆ รู้อย่างเดียว ...บางตัวมันไม่หายหรอก บอกให้เลย อารมณ์น่ะ หรืออาการ หรือความคิดเช่นนั้น

มันจะซ้ำซากอยู่อย่างนั้น เอาดิ มันก็บอกว่าเดี๋ยวตกนรก เดี๋ยวไม่ดี นี่มันล้ำเลิก มันคิดไปในแง่อกุศล คิดไปถึงลบหลู่ไปถึงครูบาอาจารย์พระพุทธเจ้านี่...ไม่สน


โยม –  มันเป็นอย่างนั้นทุกคนใช่ไหมคะ   

พระอาจารย์ –  มันก็มี บอกแล้วว่าภายในมันมีทั้งนั้นแหละ การเข้าไปล่วงล้ำก้ำเกิน...แต่เป็นเรื่องของจิตไม่ใช่เรื่องของเรา ...จำไว้เลย รู้อย่างเดียว เอาดิ 

สุดท้ายน่ะมันหมดกำลังของมันไปเอง เมื่อไม่ไปประกอบเหตุปัจจัยทั้งในแง่บวกและลบ แค่นั้นเอง ...แต่ว่าระหว่างนั้นน่ะ มันจะดึงให้เราว่าต้องลงนรกนะ

เนี่ย บุญและบาปจะมาแล้ว กุศล-อกุศล ความเชื่อในกุศล-อกุศล มันจะเป็นห่วงร้อยรัดเรา ...ถ้าสติปัญญาอ่อนนะ ก็ต้องไปแก้ตามมัน ต้องไปทำจิตให้มันดีกว่านี้ ต้องให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้


(ต่อแทร็ก 4/30  ช่วง 3)



แทร็ก 4/30 (1)


พระอาจารย์
4/30 (540607D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
7 มิถุนายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  จะพูดว่าคนบางคนนี่เขาชอบเอาการดูจิตเป็นมาตรฐาน มันก็จะไปติดการดูจิต ...พอดูจิตไปดูจิตมา มันหลงไปโดยไม่รู้ตัว มันไม่รู้ตัวเลยนะนั่นน่ะ

มันดูจิตโดยไม่รู้ตัว อย่าไปเชื่อ ...ถ้าดูจิตแล้วไม่รู้ตัว จะดูทำไม ...ดูจิตแล้วต้องรู้ตัว ว่ากำลังดูจิตอยู่ อย่างนี้ ...แต่ส่วนมากมันดูไม่เป็นหรอก ดูจิตแล้วรู้ตัวน่ะ


โยม –  คือถ้าดูกายจะง่ายกว่า 
  
พระอาจารย์ –  ถูกต้อง มันเป็นฐานเลย เข้าใจมั้ย ฐานของการรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน ...กายนี่เป็นตัวที่ยึดโยงอยู่กับปัจจุบันธรรม ดูตรงไหนก็เห็นว่าเป็นปัจจุบันของกายทันที

ปัจจุบันของจิตน่ะ ดูได้ขณะเดียว บอกให้เลย ...ถ้ายังไม่มั่นคงพอนะ ถ้าดูไปแล้วมันจะหลงไปเรื่อย พอหลงไปเรื่อยแล้วมันจะสร้างภพหลอกๆๆๆ  แล้วเข้าใจว่าดับๆๆๆ ว่างๆๆๆ หมดๆๆๆ ไปเลยน่ะ

มันก็บ้าๆๆๆ ไปเลย แล้วตอนนี้กู่ไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี ...นั่นคือไปยึดการดูจิตเป็นหลักโดยไม่เข้าใจ ว่าจริงๆ แล้วการดูจิตไม่ใช่ดูอย่างนั้น ...มันต้องอยู่ในหลักของปัจจุบัน

เพราะนั้นตัวอะไรที่จะยึดโยงปัจจุบันที่สุด...กาย ... พอมีกายแล้วจิตอยู่ตรงไหน ...ก็ตรงที่มันผุดขึ้นมาแล้วเราไม่เอามันนั่นแหละ   


โยม –  แล้วจะเห็นได้เอง 

พระอาจารย์ –  เออ มันก็เห็นเองแหละ มันก็ออกมาในกายนี่แหละ  ความคิด อารมณ์น่ะ ก็ออกตรงนี้ ...พอเราไม่สนใจมัน ก็จะเห็นความดับไปของนาม

อย่างนี้เขาเรียกว่าเห็นจิตตามความเป็นจริง ว่าเป็นแค่สภาวธรรมหนึ่ง เป็นแค่สภาวะไตรลักษณ์หนึ่ง เป็นแค่อาการเกิดดับหนึ่ง ...ไม่ใช่ดูจนกว่ามันจะจบแล้วก็ดับ อย่างนี้เข้าใจผิดแล้วนะ

ดู คอยเฝ้าดู จ้องดู ตั้งหน้าตั้งตารอดู ดักดู ...ใช่ป่าว เคยเป็นรึเปล่า เนี่ย เหมือนมีสุ่มอันนึง แล้วจะไปจับปลาในมหาสมุทร เผื่อจะเจออะไรสักอย่างให้ได้กินมั่ง ...ไม่ได้กินหรอก

ถ้าอยากได้กินต้องอยู่เฉยๆ รู้อยู่เฉยๆ ...ถ้ารู้อยู่เฉยๆ จะอยู่ตรงไหนล่ะ ...กายนี่เฉยมั้ย


โยม  เฉย

พระอาจารย์ –  กายเป็นกลางมั้ย ...กายมันมีคำพูดอะไรมั้ย     


โยม –  ไม่มี

พระอาจารย์ –  กายมันจะหลอกอะไรเราได้มั้ย ...ถ้าเราไม่เอาความคิดลงไปเป็นมัน ไม่เอาความเห็นไปเป็นมันสักอย่าง...ไม่เอา ปิดตำราหมด

ไม่เอาเลยว่าสวย-ไม่สวย ไม่เอาเลยว่าสุภะหรืออสุภะ ไม่เอาเลยว่าเป็นคุณเป็นโทษอะไร ...รู้ตรงๆ ลงไปที่กาย ด้วยความโง่ ...ถึงบอกว่ารู้โง่ๆ ที่กาย ตรงที่สุด แล้วมันไม่มีคำพูดอะไรออกมาเลย 

นั่นแหละปรมัตถ์... กายก็ปรมัตถ์ แล้วก็ใจก็จะเป็นปรมัตถ์มากขึ้น ...พอเริ่มแย็บๆๆๆ ปากหอยปากปูออกมา...ก็ให้ทัน ...เนี่ย มันปรุง มันเริ่มปรุงด้วยความเห็นต่างๆ นานาที่มันแอบอยู่ภายใน

ก็ให้เท่าทันอันนั้น แล้วก็เงียบ ดับๆๆ ก็เห็นสภาวะจิตเกิด-ดับๆๆ  ก็จะเห็นสภาวะจิตเป็นไตรลักษณ์ เกิดดับๆๆ แล้วก็มีแค่อะไร...กายกับใจ ก็รู้กายกับใจ ก็มีแค่กายกับใจ

อยู่แค่นี้ ดูแค่นี้ อยู่ในฐาน อยู่ในกรอบของกายกับใจ ไม่ออกนอกกรอบ ไม่ส่งออกนอกกายใจนี้ …ส่งออกเป็นทุกข์ เนี่ย หลวงปู่ดูลย์ก็บอกแล้ว ผลของการที่จิตส่งออกเป็นทุกข์
   

โยม –  แสดงว่าครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในสัมมาสมาธิได้ตลอดเลยหรือคะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ใช่ ต่อเนื่องเป็นมหาสติ ไม่ออกเลย ...เพราะด้วยการที่ว่า ขัดเกลา ฝึกฝน ด้วยสติสัมปชัญญะ รู้อยู่ตลอด...ต่อเนื่องเลย 

เคยเห็นเส้นตรงมั้ย นั่นแหละ ไม่เว้นวรรคเลย ...ไม่ใช่ จุดๆๆๆ ไม่ใช่ ขีดๆๆๆ  แต่ท่านเป็นเส้นตรง ...เนี่ย มหาสติ

เจริญสติจนถึงจุดนึง นะ แค่นั้นแหละ แล้วจะรู้เอง ว่ามันจะผันต่อเนื่องตลอด เหมือนสายน้ำที่ไหลไม่ขาดสายเลยน่ะ เป็นเส้นเลย ...เนี่ย ถึงเรียกว่าเป็นมรรค เป็นกระแสมรรค

เพราะนั้นเมื่อสติมันต่อเนื่องได้ปุ๊บนี่ จะเป็นกระแสของมรรค


โยม  แล้วกรณีลมหายใจล่ะคะ อันนี้จะยากกว่ามั้ยคะ 

พระอาจารย์ –  ลมหายใจ...ลมหายใจเป็นของละเอียด มันดูได้เป็นบางคราว ไม่สามารถต่อเนื่องได้  ...มีมือมีตีนมั้ย  มันเห็นได้ง่ายกว่ามั้ยล่ะ

เพราะนั้นลมหายใจนี่เป็นกายนึงที่ละเอียด มันดูได้เป็นบางขณะ บางช่วงนะ ...แล้วผลข้างเคียงของอานาปาน่ะ จิตจะเข้าไปสู่ฌานได้ง่าย เป็นอารมณ์ที่เข้าสู่ฌาน เข้าสู่สมาบัติได้ง่าย สำหรับคนที่ไม่ชำนาญ

อย่างให้โยมนั่งดูลมสักพักนึงน่ะ ใจหายไปกับลม บอกให้เลย  ไม่มีรู้..กับลม ...มีแต่ลมกับสงบ มีแต่ลมกับฟุ้งซ่าน..ไม่มีรู้ ... แต่ถ้านั่งอยู่แล้วรู้ตัว ...ขยับรู้มั้ย


โยม –  รู้ค่ะ  

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ ชัดมั้ย 


โยม –  ชัดค่ะ   

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ รู้ก็ชัดกับกายอย่างนี้แหละ แค่นี้ นี่เรียกว่ามีสมาธิหนึ่งขณิกะ ...ใจนั่นน่ะคือความสงบพอแล้วขณะที่ขณิกะรู้ เรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิที่ตรงแล้ว

ตรงยังไง...คือถ้าไม่ตรงก็ไม่เห็นว่าขยับสิ  ถ้าไม่แจ้งด้วยปัญญาก็ไม่เห็นในสิ่งที่ขยับในความเป็นจริงในปัจจุบันสิ ...เห็นมั้ย ศีลสมาธิปัญญามันเกิดในขณะนั้นพร้อมกัน

ไม่ต้องไปสะสมอะไรหรอก สะสมที่ว่ารู้บ่อยๆ ศีลสมาธิปัญญาก็มากขึ้นไปเป็นเงาตามตัว ...คราวนี้ว่าบ่อยถึงขนาดไหน ก็บ่อยถึงขนาดว่าต่อเนื่องไม่ขาดสาย เรียกว่าสัมปชัญญะ ทั้งรู้และเห็น

เพราะนั้นสังเกตดู ถ้าจะรู้กายได้ต่อเนื่อง ต้องเห็น เหมือนมีภายใน...เห็นร่างกายเหมือนหุ่นยนต์น่ะ เดินไปเดินมา ขยับ หยิบ จับ มันจะเห็นไม่ขาดระยะเลย อย่างนี้สัมปชัญญะ

เจริญสัมปชัญญะเช่นนี้ไป แล้วก็จะเห็นว่ากายขยับ แล้วก็ในกายมีวุบวิบๆ  นั่นอย่างนั้นจะมีอาการนามปรากฏวูบๆ วาบๆ ...แต่มันจะเป็นคนละส่วนกับตัวที่เห็น 

เนี่ย เรียกว่าการเจริญมรรค ...ไม่ได้อะไรเลย เห็นมั้ย ไม่ได้ว่าสงบ ไม่ได้ว่าไม่สงบ ...แต่มันรู้สึกว่าคล่อง มันจะมีอาการคล่อง อิสระ เบา โปร่ง เดินเหินไปมาเบาสบาย

แล้วก็ไม่มีปัญหากับภายนอก ยังไงก็ได้  มันจะรู้สึกอยู่ว่า ยังไงก็ได้ นี่…มันจะไปอย่างนี้ แบบแคล่วคล่องว่องไว  ไม่แช่ ไม่จมกับอะไร

แต่อย่างที่ไปนั่งสมาธินานๆ ใครมาเรียกให้ลุก...ไม่อยากลุกเลย จิตกำลังดีอยู่เลย เห็นมั้ย บอกให้เลย ติด...ติดแล้ว ติดที่นั่ง ติดที่นอน ติดที่สงบ ติดสภาวะ ติดภพ ติดชาติ ติดเวทนา

แล้วก็คิดว่า...ได้ผลว่ะเฮ้ย ...เห็นมั้ย เกิดมานะ เกิดทิฏฐิมานะแล้ว ...รู้ได้ไงว่าติดทิฏฐิมานะ ก็ลองคนมาเรียกสิ มันโกรธให้ ถือว่าไอ้ตัวนี้เป็นผู้ขัดขวาง แล้วมันก็ยกบาปให้เขาเลยว่า เนี่ย มันเป็นบาป


โยม  (หัวเราะ) มาขัดขวางความสงบ

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย จะไม่เรียกว่าเป็นอัสมิมานะเกิดได้ยังไง ใช่มั้ย ...ถ้าสงบจริง สัมมาสมาธิจริง ทำไมยังมีอารมณ์กิเลสเมื่อมันเสียหายไป

มันก็เป็นสมาธิที่ไม่มีปัญญาประกอบ ท่านเรียกว่าโมหะสมาธิ ...แต่สัมมาสมาธิ หมายความว่าขณะที่สงบตั้งมั่น ลักษณะตั้งมั่นน่ะมันจะมีปัญญาอยู่ในนั้นด้วย

คือพร้อมที่จะยอมรับในทุกสิ่งโดยไม่มีเงื่อนไข เริ่มจะไม่มีเงื่อนไขกับอะไรมากขึ้นๆ ...จนไม่มี...ไม่มีอะไรเป็นเงื่อนไข ...แล้วเราล่ะมีเงื่อนไขเยอะมั้ย


โยม –  เยอะเหมือนกันค่ะ 

พระอาจารย์ –  ไอ้เงื่อนไขนั่นแหละคือปม...ปมที่รัด แล้วเราก็ติด คลายไม่ออก คลายปมไม่ออก กี่ทีกี่ทีก็มาติดแค่เงื่อนไขนั่นแหละ

เงื่อนไขคืออะไร ดูเอา...สมมุติหนึ่ง บัญญัติหนึ่ง จำได้หนึ่ง เชื่อเอาหนึ่ง ถือเอาหนึ่ง ...เพราะนั้นตัวเงื่อนไขนั่นแหละสีลัพพตะ เป็นโซ่ร้อยรัด เป็นมลทินร้อยรัด

เป็นอุปกิเลสเบื้องต้นของสัตว์โลก ของปุถุชน...คือผู้หนาแน่นด้วยกิเลส ถูกร้อยรัดด้วยสังโยชน์เบื้องต้นสามตัว สีลัพพตะ วิจิกิจฉา แล้วก็ตัวตนหรือกายเรา..สักกาย  เนี่ยเป็นตัวร้อยไว้ด้วยเงื่อนไขต่างๆ นานา 

เพราะนั้น เมื่อมีเงื่อนไขอะไรขึ้นมา อย่าสนใจ รู้ลงที่กาย...เป็นยาขนานเอก เป็นยาสามัญประจำบ้าน  ต้องกินยาสามัญประจำบ้าน อย่าไปกินยาเฉพาะทาง

คิดอะไรไม่ออก แก้อะไรไม่ถูก ทำอะไรไม่เป็น ...ถามตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ ยืน เดิน นั่ง นอน ขยับ ...กำลังนั่งหงุดหงิด กำลังยืนหงุดหงิด กำลังยืนด่า กำลังดีใจ กำลังหัวเราะ ดูมันลงไป

คิดอะไรไม่ออก กลับมาหาพ่อหาแม่ก่อน...กายเราเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นแผ่นดิน  ยืนอยู่กับพ่อแม่ ยืนอยู่บนแผ่นดิน เป็นกฎเกณฑ์ไว้ก่อน 

แล้วมันจะค่อยๆ กระจ่างแจ้ง ในส่วนที่เป็นทั้งรูปทั้งนาม ...ไม่ต้องมักมาก ไม่ต้องโลภมากในธรรม


โยม –  แค่นี้ก็พอที่จะ (หัวเราะ)..ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้แล้วใช่ไหมคะ  

พระอาจารย์ –  โอ้โห ไอ้ที่เราพูดทั้งหมดนี่เกินนิพพานอีก ...แต่ไอ้คนทำน่ะมันยังไม่ถึงไหนเลย (หัวเราะกัน)

เราพูดไม่รู้กี่รอบแล้วนี่ ตั้งแต่ต้นจนจบนี่...เราพูดไป-กลับนิพพาน ไป-กลับนิพพานนี่ สิบรอบแล้วมั้ง บอกให้เลย เชื่อมั้ยล่ะ เราพูดนี่ไปนิพพานจนกลับมาไม่รู้กี่รอบแล้ว เอาดิ แค่นี้

แต่ไอ้คนฟังนี่ มันยังไม่ไปไหน มันยังไม่เดินเลย  มันไปเดินในเงามั้ง มันไปเดินในวิมานในอากาศ จะเอาอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ...เห็นมั้ย จะเอาอะไรอยู่ยังไม่รู้เลย งมๆ งำๆ มะงุมมะงาหราอยู่นะ 


(ต่อแทร็ก 4/30  ช่วง 2)