วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 4/24


พระอาจารย์
4/24 (540601F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มิถุนายน 2554



โยม –  หลวงพ่อให้เน้นในการดูกายใช่มั้ยคะ แต่ทีนี้ถ้าเดินๆ ไปแล้วมันเหมือนลอยๆ มันไม่ชัดน่ะฮ่ะ จะต้องเน้นยังไงฮะ

พระอาจารย์ –  กลับมารู้กายเลย เอารู้กายให้ชัด


โยม –  มันมองแล้วมันไม่ทะลุ เหมือนคล้ายกับมันเด้งขึ้น ประมาณนั้นน่ะฮ่ะ แล้วมันก็ลอยอยู่อย่างนั้น

พระอาจารย์ –  อะไรลอย


โยม –  ที่ไปรู้กายที่เดิน หรือว่าที่ทำอย่างนี้น่ะฮ่ะ มันจะลอยๆ แล้วเหมือนมันเบาเกิน จนเหมือนแบบเรารู้สึกว่าไม่มีกาย

พระอาจารย์ –  ก็ให้รู้ไป ให้รู้กายที่ไม่มีกายตามความเป็นจริงนั้น ...ไม่ต้องกลับมาดูกายหยาบ ไม่ต้องกลับมาดูเวทนาของกายหยาบ ก็ไปดูส่วนที่ละเอียดของกายไป  มันรู้ละเอียดกับกายก็รู้ไป ละเอียดไป


โยม –  ก็รู้เท่าที่เห็น

พระอาจารย์ –  ใช่ ...แต่ให้มีรู้อยู่ อยู่กับอะไรก็ได้ ...เพราะนั้นกายมันจะเปลี่ยนไปเรื่อย มันจะเปลี่ยนไปเรื่อยนะ จนถึงไม่เป็นกาย

แต่ไอ้ที่เราบอกตอนแรกที่ว่าอย่าไปลอยๆ ...คือหมายความว่าถ้าไปอยู่กับอารมณ์ลอยๆ น่ะ อย่าไปอยู่กับตรงนั้น ถ้าเป็นอารมณ์ลอยนะ อย่าอยู่ 

ถ้ากายมันลอยหรือว่าเห็นกายไม่ชัดเจน หรือว่าไม่ปรากฏเป็นกายชัดเจน...ก็ให้รู้ตรงนั้น รู้กับกายที่ไม่ชัดเจนนั้น คือว่ามันจะเริ่มเห็นกายตามความเป็นจริงมากขึ้น นะ

เพราะกายตามความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างที่เราคิด อย่างรูปที่เราเห็น ...กายที่อยู่ในความคิดเรานี่ มันเพราะรูปที่เราเห็น เราจดจำรูปกายนี้ได้ พอเราหลับตาเห็นมั้ย รูปของกายนี่มี

เพราะนั้นไอ้ตัวนี้เป็นแค่นิมิต เป็นภาพ ...เพราะนั้นกายมันจึงเป็นภาพนิมิต เป็นรูปารมณ์หรือเป็นรูปนิมิตขึ้นมาเท่านั้นเอง

 เพราะนั้นพอเริ่มรู้กายไปเรื่อยๆ ...ดูความรู้สึกปุ๊บ มันจะเห็นรูปนิมิตของกายในความเห็นน่ะจางคลายลง ...นี่ มันจะเข้าไปลบสัญญาในรูป


โยม –  ตอนนี้รู้สึกเหมือนมันไม่เป็นกลางน่ะค่ะ แล้วทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเห็นเท่านั้น แต่มันก็อยากจะเห็นชัด

พระอาจารย์ –  ก็ให้ทันตรงยินดี-ยินร้าย ตรงเจตนา ...แล้วก็ให้ละเจตนา ให้เป็นกลาง ให้ทันเจตนาที่จะเข้าไปทำอะไรกับความรู้กับสิ่งที่รู้ ...ยินดี-ยินร้ายนั่นแหละ ...ละซะ

เอาจนหากายไม่เจออ่ะ เอาจนมันลืมกายไปเลยน่ะ เห็นเป็นแค่อะไรก็ไม่รู้ เห็นเป็นแค่ผัสสะหนึ่ง เห็นกายเป็นแค่กายเวทนา กายวิญญาณแค่นั้นเอง ไม่เห็นรูปกาย ความรู้สึกเป็นกาย


โยม –  พอเห็นตรงนั้นแล้วยังไงต่อคะ

พระอาจารย์ –  มันก็ดำเนินของมันไปเองน่ะ มันก็เอาส่วนของนามต่อ ความคิด ความเห็น ความปรุง อะไรชัดตรงนั้นรู้ตรงนั้น ไม่ต้องกลับมาสู่หยาบ

กายหาย หาย...ช่างหัวมัน  มีอะไรอยู่ตรงนั้น รู้ตรงนั้น  ปรากฏเป็นนามใดนามหนึ่งขึ้นมาก็รู้ตรงนั้น รู้กับนาม ...ขอให้มีรู้อยู่ตลอด ส่วนสิ่งที่เป็นรูปหรือนามมันจะปรากฏเป็นรูปก็ได้นามก็ได้

เพราะนั้นกายนี่เป็นอุบายแค่นั้นเอง ...ขอให้มันแจ้งก่อน  พอแจ้งปุ๊บนี่มันขาด  เดี๋ยวมันขาด เดี๋ยวมันทะลุไปเอง จับกายไม่เจอแล้ว

มันจะทิ้งกาย ...ทิ้งความหมายในกาย ละความเห็นที่มันเป็นกายออกไป  มันก็จะหายไปเลย เดินไปก็ไม่รู้ว่าเดินแล้ว ไม่มีใครเดินแล้ว ไม่มีคนไหนเดินแล้ว

ตอนนั้นน่ะมันจะเข้ามาแยบคายในอาการของนามกับรู้...รู้กับนาม รู้กับอารมณ์ รู้กับเวทนา รู้กับสัญญา รู้กับอดีตอนาคต ...มันมาชัดเจนกับตรงนั้น ทำความแยบคายกับตรงนั้นตามลำดับไป

แต่พอเริ่มลอย เริ่มเผลอ เริ่มจมไปกับอาการ...ต้องฟื้นคืนสติกับกาย ...เพราะมันยังไม่ขาดเสียทีเดียว มันยังมีสิทธิ์ไหลเลื่อน 

เพราะว่าปัญญายังไม่เท่าทันอาการของนาม มันยังมีสิทธิ์ที่จะไหลไปกับนามนั้น ...ยังไงก็ยึดกายเป็นที่ตั้งที่ฐานคือวิหารธรรม จับกายเวทนา จับกายผัสสะมาเป็นอารมณ์ในปัจจุบัน

พอสติมันตั้งมั่นได้ด้วยตัวของมัน รักษากายรักษาใจได้ด้วยตัวของมันเอง  คราวนี้ไม่ต้องไปสนใจในสิ่งที่ถูกรู้เลย อะไรก็ได้ รู้ในสิ่งที่ปรากฏนั้น แล้วอย่าไปแตะต้องมัน ให้มันเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน 

เพราะนั้นภาวะของใจที่มันมี...อาสวะอนุสัยนี่มันจะลอยออกมา เหมือนกับโซดาน่ะ แต่ว่าถ้าศีลสมาธิปัญญายังไม่เพียงพอ ก็เหมือนโซดาปิดขวด 

เคยเห็นโซดาปิดขวดไว้มั้ย มันไม่มีฟอง เหมือนน้ำเลย นี่ อย่าให้เปิดฝานะ เปิดฝาล่ะ...ฟู่ ...ซึ่งไอ้ของพวกเรามันเป็นโซดาที่ปิดขวดแล้วยังเขย่าอีกน่ะ (หัวเราะ) ...มันก็เลยระเบิด 

แต่ถ้าเปิดด้วยศีลสมาธิปัญญา เปิดฝาแล้วมันก็ฟูฟ่องตามธรรมชาติของโซดา ...จนกว่ามันจะหมดกำลังของอากาศที่เจือปนในน้ำ 

นั่นแหละ ธรรมชาติของกิเลส...กับธรรมชาติของใจ ...มันคนละธรรมชาติกัน มันอยู่ร่วมกันไม่ได้ มันไม่ใช่เนื้อเดียวกัน

เพราะนั้นพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ใจนี่...ทำให้บริสุทธิ์ไม่ได้ แล้วก็ใจนี่ทำให้ไม่บริสุทธิ์ก็ไม่ได้  ใครทำน่ะผิด ใครเข้าไปรักษาทำใจให้บริสุทธิ์น่ะผิด เพราะทำไม่ได้ 

ใจบริสุทธิ์อยู่แล้ว แล้วก็ใจไม่เคยเศร้าหมอง ธรรมชาติของใจ ...ไอ้ที่เศร้าหมองก็คือกิเลส ไอ้ที่เศร้าหมองคืออาสวะ นั่นแหละคือสิ่งที่มันมาปิดบังใจ มาปนเปื้อนอยู่กับใจ 

เพราะนั้นศีลสมาธิปัญญาก็คือความสมดุลและเป็นกลาง ...เหมือนกับเปิดฝาโซดา เปิดขวดโซดา ก็คือด้วยความเป็นกลาง มันก็จะ...ทุกอย่างก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติ...แสดงความเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของทุกสิ่งออกมา 

ธรรมชาติของกิเลสก็ผุดโผล่ออกมาด้วยความไม่มีตัวไม่มีตน เกิดๆ ดับๆ ...อาสวะทั้งหลายก็ฟูฟ่องล่องลอย เผยอ กระจัดกระจาย แตกตัวออกมา เคลื่อนไหวออกมา แสดงตัวที่มันซ่อนเร้นอยู่ภายในออกมา

ด้วยความเป็นกลาง...ก็รู้เท่าทันอาการนั้น ...แล้วก็ชำระออกโดยการไม่เก็บกลับมา ด้วยความกลัวบ้าง ด้วยโมหะ วิตกจริต ด้วยราคะวิตก ด้วยกามวิตก ด้วยโมหะวิตก ด้วยพยาบาทวิตก 

ไม่ต้องไปฟุ้งซ่าน ไม่ต้องไปอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ต้องไปหาเหตุหาผลอะไรกับมัน ...คือปล่อยให้มันเกิดเองดับเองเลย เกิดเองดับเองๆๆ ของมันไป ...อย่าเบื่อ อย่าท้อ อย่าหน่าย อย่าเซ็ง อย่ารำคาญ 

เอาจนมันหมดสภาวะความปรุงแต่ง มันหมด ...หมดเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ก็เหลือแต่ใจ ...โซดาก็กลายเป็นน้ำ เขย่าๆ ก็คือน้ำ ...มันไม่มีฟองแล้ว

แต่คราวนี้ถ้าศีลสมาธิปัญญาไม่พอ ก็กลับไปปิดฝาอีก ก็กลับไปปิดดวงใจดวงนี้ ...ฟองมันก็ไม่ไปไหน มันก็ตกคลั่กอยู่ในนี้  ต่อให้เขย่าๆ ขนาดไหน มันก็อยู่ในนั้นแหละฟอง ...ก็หมักหมม 

ศีลสมาธิปัญญาก็ทำความสมดุลกลมกลืน เป็นกลางกับทุกสิ่ง แล้วก็ยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข ...แล้วก็อาการทุกอย่างก็จะกระเจิดกระเจิงออกมา 

โดยธรรมชาติที่มันไม่ใช่เป็นธรรมชาติของใจ...ก็จะออกมาจากใจ ...ลอยออกมาเองไม่มีใครทำเลย  มันเป็นธรรมชาติที่มันแสดงตัวของมันเอง...ด้วยความไม่รู้มันก็จะผุดโผล่ขึ้นมา 

สร้างความเห็นนั้น สร้างความคิด สร้างความปรุงนั้นขึ้นมา สร้างความอยากอันนั้น สร้างความไม่อยากอันนี้ขึ้นมา ...นี่คือภาวการณ์ปรุงแต่งขึ้นมา เรียกว่าอวิชชาก็ปัจจยาเป็นสังขารา  

สังขารานั้น...ถ้ารู้ทันก็ดับไป ถ้ารู้ทันแล้วก็ไม่กลับมาเป็นอารมณ์ ถ้ารู้ทันก็ไม่ต่อเนื่อง ...ถ้าไม่รู้เมื่อไหร่ สังขารานั้นก็ปัจจยาเป็นมโนสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร ต่อไป 

เมื่อสังขารเกิด วจีสังขารเกิด มโนสังขารเกิดปุ๊บ ...มันก็จะเกิดเป็นเวทนา เกิดเป็นผัสสะ มีการกระทบ มีการกระทำ มีการกระแทก มีการเคลื่อน ...มีการเกิดขึ้น ๆ ของผัสสะ 

เมื่อมีการเกิดขึ้นของผัสสะก็เกิดอายตนะ ไปกระทบกับอายตนะใดอายตนะหนึ่ง มันก็เกิดเป็นเวทนาขึ้น แล้วสืบเนื่องกันมาเช่นนั้น...ถ้าไม่รู้นะ เวทนาเกิดปุ๊บเลย 

เอาแล้ว เริ่มคัดกรองใหม่แล้ว เริ่มเลือกแล้วว่าถูกว่าชอบ ว่าไม่ถูกว่าไม่ชอบ ว่าถูกก็รัก ว่าไม่ถูกก็เกลียด มันก็เริ่มเกิดยินดียินร้าย ...เป็นเวทนาเป็นตัณหาขึ้นมา

ก็เกิดอุปาทานขึ้นมา ยินดี-ยินร้าย ยินดี-ยินร้าย ...มีอุปาทาน ปุ๊บ มันก็เข้าไปเสวย ...เข้าไปเสวยด้วยการกระทำ...เป็นชาติเป็นภพขึ้นมา 

ก็เลยสุดท้าย...ก็เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ก็เป็นทุกข์แล้วก็เป็นสุข...แล้วก็เป็นทุกข์แล้วก็เป็นสุข อยู่อย่างนั้นแหละ ...นี่ก็เรียกว่าเป็นการสร้างปัจจยาการแห่งการเกิดไม่รู้จักจบสิ้น

แต่เมื่อไหร่เท่าทันด้วยสติสัมปชัญญะ มันก็จะรู้เห็น ปุ๊บนี่ ก็จะไม่ต่อ...ไม่ต่อไปกับปัจจยาการที่จะก่อให้เกิดไม่รู้จักจบ ...มันก็ดับ รู้ตรงไหนมันก็ดับตรงนั้น 

รู้ตรงไหนก็ตรงนั้น ...รู้ทันความคิดก็ดับตรงความคิด รู้ทันตอนทุกข์มันก็ดับตรงทุกข์อุปาทาน รู้ทันตอนที่การจะกระทำอะไรหรือไม่กระทำอะไร...มันก็ดับตรงเจตนา 

รู้ตรงไหน...ปัจจยาการหลังจากนั้นก็จะดับโดยปริยาย ...แล้วมีแต่รู้ทันขึ้น ๆ รู้เร็วขึ้น ๆ เห็นบ่อยๆ ...จนถึงขณะแรกของการเกิด

เพราะนั้น กามคือเกิด เกิดก็คือกาม...เป็นที่เดียวกัน เมื่อมีการเกิดนั่นกาม ...ละการเกิดได้...ก็คือละกาม ...เพราะนั้นกามนี่ไม่ได้หมายความว่ากามราคะ กามหมายถึงการเกิด...ในที่นี้ของปัญญาคือการเกิดขึ้น 

จะไปเกิดกับอะไรล่ะ จะไปเกิดกับตา จะไปเกิดกับเสียง จะไปเกิดกับกลิ่น จะไปเกิดกับรส จะไปเกิดกับอารมณ์ จะไปเกิดกับความเห็น ...นั่นคือการเกิด เป็นกาม อย่างนั้นเป็นการเกิด  

พอเราเท่าทันการเกิดขึ้น ...การจะเข้าไปหมุนวนในวัฏสงสาร ในวัฏโลก ในวัฏจักรของปัจจยาการแห่งการเกิดดับ มันก็หยุด มันก็ดับ มันก็ขาดจากการเกิดในขณะนั้นแล้ว 

โลกนั้น วัฏจักรนั้น วัฏสงสารนั้น ก็ดับลงในปัจจุบันธรรมนั้น ในปัจจุบันจิตนั้น ในปัจจุบันขณะนั้น ...การเข้าไปละเลิกเพิกถอนจากวัฏสงสารก็คือละโลกน้อยๆ แต่ละขณะๆๆ ไป


โยม – หลวงพ่อคะ แล้วทีนี้ถ้าสมมุติมันเบาเกิน จนเราหลงไปทุกครั้งอย่างนี้ฮ่ะ ก็เท่ากับว่าตรงนั้นจะเป็นที่หลงของเรา

พระอาจารย์ –  ใช่ ...กลับมายืนอยู่กับกาย ต้องหาอะไรเป็นหลัก...ในสี่ฐานน่ะ 

เพราะนั้นเรายังไงก็ยืนยันให้กลับมาอยู่กับกาย หรือไม่ลมหายใจก็ได้ ไม่กายหยาบก็ลมหายใจเพราะเป็นกายหนึ่ง ก็อยู่ตรงนั้นแล้วก็ให้รู้อยู่กับลม ให้รู้อยู่กับกายเคลื่อนไหว ...อะไรก็ได้ให้มันมีรู้ปรากฏขึ้น


โยม –  รู้กลับมาอีกที ก็เริ่มจากตรงนั้นอีกที ...ไอ้ที่แล้วก็แล้วไป

พระอาจารย์ –  อือ แล้วไป ...นับหนึ่งใหม่ ตั้งใหม่ ทวนใหม่ ...เขาเรียกว่าทำการอนุโลมปฏิโลม หยาบกับละเอียด...ละเอียดกับหยาบไปอย่างนี้  

เอาจนมันไม่หายน่ะ ไม่หายไปกับเนียน ไม่หายไปกับประณีต ...มันก็ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ ปฏิโลมใหม่ อนุโลมใหม่ เอากับหยาบใหม่

อย่าเบื่อในการถอยเข้าถอยออก เริ่มต้นใหม่ ก่อร่างสร้างใหม่ สร้างสติขึ้นให้แน่น สมาธิให้แน่น ...สติสมาธิปัญญาก็จะแนบแน่นขึ้นมา ตั้งมั่นด้วยตัวของมันเอง ...จนมันตั้งมั่นด้วยลำแข้งของมันเองน่ะ 

ถ้ามันตั้งมั่นด้วยลำแข้งของตัวเอง หมายความว่าไม่ว่าอะไรก็รู้ได้  ไม่ว่าอะไร รู้หมดน่ะ ...จะเนียนขนาดไหนมันก็รู้ของมัน เงียบขนาดไหนก็รู้ 

มันไม่สามารถมาจูงเราไป เหมือนกับที่เขาจูงควายไปเชือดน่ะ ด้วยสายสะพาย ...นี่ ก็แปลว่าใจมันรักษาใจ สติสมาธิปัญญามันเข้าไปรักษาใจได้ ใจก็ไม่หายไปไหน

แต่ถ้าหาย...เริ่มใหม่ จะเอาฐานไหนเป็นที่ก่อร่างสร้างสติขึ้น ก่อร่างสร้างสมาธิปัญญาขึ้นก็ได้ ...แต่เราเน้นเอากาย เพราะกายเขามีให้เลือกทั้งกายหยาบ กายละเอียด ...ลมหายใจก็ได้ การเคลื่อนไหวก็ได้ 

เป็นก้อน เย็นร้อนอ่อนแข็งก็ได้ หรือไม่ก็อายตนะก็ได้ เห็นก็รู้ว่าเห็น ได้ยินก็รู้ว่าได้ยิน อย่างนี้ ...อะไรก็ได้ที่เป็นปัจจุบันขณะนั้น ให้รู้ลงไป ให้รู้ปัจจุบันธรรมที่อยู่ตรงหน้า เอาทุกขสัจเป็นเครื่องวัดใจขึ้นมา

เพราะนั้นผัสสะมันมีอยู่แล้ว ตาก็เห็นก็รู้ได้นี่  ถึงแม้จะเป็นระลึกขึ้นมาเป็นขณะๆ ก็ตาม ...เดี๋ยวมันจะก่อร่างสร้างฐานขึ้นมา ให้ใจดวงนี้มันเด่นชัดขึ้นมา

(ถามโยม) มีอะไรอีกมั้ย ...นี่อยู่อีกกี่วัน


โยม (อีกคน)   อยู่ห้าวันค่ะ ก็คิดว่าคงจะเริ่มฝึกรู้จากรู้ฐานกายไปก่อนค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ ... รู้ตั้งแต่นี้เลย ...เห็นมั้ย ไหวรู้มั้ย ยิ้มรู้มั้ย ดูหน้า ...กลับมาอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ไปที่อื่น ...ไม่มาอยู่ที่เรา ไม่มาอยู่ที่เสียงเราด้วย 

อยู่ที่ตัวเอง อยู่ที่ใจตัวเอง ดูที่ใจตัวเอง ดูที่ความรู้สึกตัวเอง ...ขณะฟัง ...เฉยๆ ไม่เฉย  กังวล ครุ่นคิด ...ดูตรงนั้นรู้ตรงนั้น รู้ตรงความรู้สึกของตัวเอง 

ถ้าไม่มีอะไร ก็รู้ตรงนี้...แข็งๆ อ่อนๆ นุ่มๆ เย็นๆ ยืดๆ ตึงๆ ...อยู่ตรงนี้  อย่าขี้เกียจ อย่าเบื่อมัน อย่ารำคาญว่ามีแค่นี้เองเหรอ รู้แค่นี้เองเหรอ 

เดี๋ยวมันจะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมาเป็นระลอกๆ แล้วก็จะอยากหา อยากรู้อยากเห็นไปเรื่อย อยากทำอันใหม่ที่มันมีสีสัน ได้เป็นน้ำเป็นเนื้ออะไรขึ้นมา...ไม่เอา 

รู้อย่างนี้ รู้ธรรมดา รู้กับกายที่เป็นธรรมดา ... ผลของการที่รู้เป็นธรรมดาก็ไม่มีอะไร...ก็เป็นธรรมดา ทุกอย่างก็เป็นธรรมดา แค่นั้นแหละ ธรรมดา ...รู้ให้ต่อเนื่องไป


..............................




วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 4/23


พระอาจารย์
4/23 (540601E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มิถุนายน 2554


พระอาจารย์ –  นับถือได้หมด เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าห้าพระองค์น่ะมา มาทั้งนั้นน่ะ หลวงปู่บอกว่า คนมาใส่บาตรพระตั้งแต่พระพุทธเจ้ากกุสันโธน่ะ มีมาตั้งแต่กี่ยุคกี่สมัย 

นี่เป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ ครูบาอาจารย์มาสำเร็จอรรถ สำเร็จได้ธรรม ตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่นลงมาก็ตั้งหลายองค์ ...เป็นมงคล  ...เพราะนั้นเราได้มาอยู่ในที่ที่เป็นมงคล ก็พยายามทำใจให้เป็นมงคลที่ดี

ใจมันจะดี ใจจะเป็นมงคล อยู่ดีๆ มันไม่เป็นเองหรอก มันไม่เป็นเอง ขอร้องอ้อนวอน บนบานศาลกล่าวยังไง ใจมันก็ไม่เป็นเองที่จะเป็นมงคลขึ้นมา

เพราะนั้นการที่ใจมันจะดีขึ้น เป็นมงคลขึ้น หรือว่าเป็นธรรมขึ้นมาได้นี่ มันต้องดีได้ด้วยศีลสมาธิปัญญา หรือการภาวนา

มันไม่ได้อยู่แค่ว่าการทำบุญให้ทาน ไม่ใช่แค่ว่าอ่านธรรมะหรือว่ามีคุณธรรมที่ดี ...แค่นั้น มันไม่พอ...ที่จะเข้าไปทำให้ใจดวงนี้บริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมา

มันต้องอาศัยความบากบั่นพากเพียร เจริญศีลสมาธิปัญญาขึ้นมา ประกอบในชีวิตประจำวัน มันต้องหนัก มันต้องเหนื่อย มันต้องทวน มันต้องเท่าทันอยู่อย่างนี้ ...นี่เขาเรียกว่าความพากเพียร

อยู่ดีๆ มันไม่มีทางหรอกที่ใจมันจะกลับไปคืนสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของใจ หรือว่าธรรมชาติของใจเดิมที่บริสุทธิ์ เป็นกลาง ไม่หวั่นไหวกับสิ่งใดได้

การมาฟังธรรม การมาฟังเทศน์ ...ก็ฟังมาตั้งแต่หลวงปู่ จนถึงลูกศิษย์หลวงปู่เทศน์แล้วนี่ ...ท่านก็เป็นแค่ผู้แนะนำ ผู้ชี้ ผู้สอน ผู้คอยตักเตือน ผู้คอยให้คำแก้ไข เท่านั้นเอง

แต่ว่าผล หรือว่าการปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง ...มันจะต้องอยู่ที่ตัวคนฟัง จะต้องน้อมเอาไปปฏิบัติด้วยตัวเอง ...อันนี้สำคัญที่สุด

เพราะนั้นไม่ใช่ว่าฟังแล้วก็อยู่แค่ฟัง ไม่ใช่แค่อ่านแล้วก็ทำความเข้าใจตรงที่อ่าน...แล้วก็ดับไป 

แต่ว่าภาคการปฏิบัติน่ะสำคัญ ...ต้องประกอบเหตุแห่งศีล ประกอบเหตุแห่งสมาธิ ต้องประกอบเหตุแห่งปัญญาให้เกิดให้ได้...ด้วยตัวเอง

เมื่อนั้นแหละ จึงจะเข้าไปแก้ใจได้ เข้าไปเอาสิ่งที่มันไม่ใช่ใจออกมาจากใจ ...เห็นสิ่งที่มันเจือปนอยู่ที่ใจ แล้วก็ชำระมันออกมาจากใจได้

ไม่ง่าย ...แต่มันไม่เกินความพากเพียรของมนุษย์...ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย  ไม่มีข้อแม้เลย ขึ้นชื่อว่าเป็นคน ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่เกิดมาในเมืองไทย นับถือศาสนาพุทธ

ไม่ว่าจะเคยได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าจะเคยมีบารมีมา หรือไม่เคยมีบารมีมา เกิดในชนชั้นวรรณะไหน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าไม่มีข้อแม้ใดๆ ทำได้หมด

ขอให้ฟังให้เข้าใจโดยสุตตะ แล้วก็สามารถพิจารณาขณะที่ฟังด้วยความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว สุดท้ายก็เอาไปเป็นภาวนามยปัญญา...ให้เกิดปัญญาด้วยการทำจริง ปฏิบัติจริง

เพราะธรรมนี่เป็นจริง ธรรมเป็นเรื่องจริง ธรรมเป็นของจริง...การปฏิบัติต้องปฏิบัติจริง เท่านั้น ...ถ้าไม่ปฏิบัติจริง มาคาดๆ เดาๆ มานั่งคิดนั่งหา นั่งเปรียบเทียบเปรียบเปรย หรือนั่งพิจารณา...ยังไม่เพียงพอ 

ต้องทำจริงปฏิบัติจริง ...กายจริงๆ รู้กาย...รู้กายจริงๆ ...ไม่ใช่มานั่งค้นคิดว่ากายเป็นอย่างนั้น กายเป็นอย่างนี้ กายอดีตเป็นยังไง กายข้างหน้าจะเป็นยังไง ...อันนี้กายไม่จริง อย่าไปคิด

ให้รู้กายจริงๆ ต้องรู้ตรงนี้...กายจริงๆ  นั่ง...ก็รู้ว่านั่ง เห็นมั้ยอะไรนั่ง เห็นมั้ยว่าอะไรขยับ ...ดูมัน ปฏิบัติลงไปที่ของจริง

จิตก็จิตจริงๆ ...มันคิด มันปรากฏอะไร มันเกิดอารมณ์ใด มันเกิดความสุขความทุกข์ ความดีใจ ความกังวลอะไร ...มันเกิดขึ้นจริง ก็ต้องรู้ไปจริงๆ รู้ไปตรงๆ

ไม่ต้องไปติ ไม่ต้องไปว่า ไม่ต้องไปบ่นให้มัน ไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียงกับมัน ไม่ต้องไปมีเงื่อนไขอะไรกับมัน ...ให้รู้จริงๆ ให้รู้กับความเป็นจริงที่ปรากฏจริงๆ ก็คือรู้จริงๆ

อยู่แค่รู้จริงๆ ไม่ใช่รู้แล้ว...'เอ๊ ใช่ไหม เอ๊ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เอ๊ มันน่าจะเป็นอย่างนั้นไหม ต้องควรจะเป็นอย่างนี้มั้ย' ...อันนี้รู้ไม่จริง รู้แล้วมันเกินจริง

อย่าไปทำอะไรให้มันเกินจริง ...มันเกิดขึ้นจริงก็รู้จริงน่ะ มันเกิดจริง รู้จนถึงที่สุดของความเป็นจริงที่มันเกิดอยู่ตรงนั้น ที่มันตั้งอยู่ตรงนั้น 

ก็จะเห็นที่สุดของความเป็นจริงนั้นว่า...ดับไปเอง เปลี่ยนแปลง ไม่คงอยู่ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็มากขึ้น เดี๋ยวก็น้อยลง เดี๋ยวก็...อยู่ดีๆ ก็ดับไปเอง โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับมัน

เนี่ย กลับมารู้จริงเห็นจริงอยู่กับปัจจุบันที่ปรากฏ นี่แหละเรียกว่าสติ ...เนี่ย เรียกว่าการเจริญศีลสมาธิปัญญา

ต้องอาศัยความพากเพียร ขยัน ...เพราะเดี๋ยวมันก็ขี้เกียจทำอีกแล้ว ขยันได้ประเดี๋ยวประด๋าว โดยนิสัย โดยกมลสันดานของมนุษย์ปุถุชนน่ะมันขี้เกียจขี้คร้าน

มันรักสบาย มันรักความเรื่อยๆ ง่ายๆ ไหลไปไหลมาตามอารมณ์ ด้วยความเผลอไผล เพลิดเพลิน  มันจะไป...ชอบไปอยู่กับอารมณ์ตรงนั้น อยู่กับลักษณะอาการเช่นนั้น

มันต้องไม่ขี้เกียจ พอระลึกได้ก็กลับมาดู อยู่กับเนื้อกับตัวอีก  รู้ ตั้งมั่น อยู่กับรู้เห็นกาย วาจา อาการของใจที่ปรากฏแสดงยังไง ...ตรวจสอบ ดูตัวเองบ่อยๆ อย่าขี้เกียจขี้คร้าน

ต้องพากเพียร ขยันดูแลรักษาสติ ...ให้เห็นตัวเองอยู่ ในทุกกาลเวลา สถานที่ ทุกเรื่องราว  ไม่ว่าจะเรื่องเลวร้ายอะไรก็ตาม หรือว่าประสบสิ่งเลวร้ายอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลัง 

อะไรก็ตาม ทั้งที่รับได้ รับไม่ได้ เรื่องที่รับได้ ...จะต้องให้มีสติระลึกรู้เห็นอาการทางกายทางใจตรงนั้นให้ได้ ให้ทัน...เป็นปัจจุบันธรรม เป็นปัจจุบันขณะ ...เนี่ย ถึงเรียกว่าผู้ปฏิบัติจริง จะต้องเป็นอย่างนั้น 

ไม่ใช่แค่ฟังแล้วว่าเข้าใจ หรือว่าฟังแล้วก็ไป...เออ ว่าดี  เออ ว่าใช่  เออ ว่าตรง  เออ ว่าถูกแล้ว ...แต่ว่าไปนั่งนอนตายอยู่กับซากขันธ์ ซากใจที่มันมีแต่กิเลสครอบครองอยู่น่ะ ...เขาเรียกว่าไปนอนตายกับกิเลส

มันก็ได้เท่านั้นน่ะ มันก็ได้แค่บุญที่เกิดจากการฟังธรรม...ก็ได้บุญ แต่ว่าเป็นบุญกริยาที่เกิดจากการทำดีก็ได้ดี ...แต่มันยังมีบุญที่เหนือกว่าการทำดีได้ดีนั้น 

นั่นคือบุญจากการภาวนา จากการปฏิบัติ จากการเจริญสติสมาธิปัญญา ลงไปที่กายใจของตัวเองนั่นแหละ ...อันนั้นถึงเรียกว่าเป็นมหาบุญ เป็นบุญอันสูงสุด คือทำความบริสุทธิ์มาสู่ใจ หรือชำระใจให้บริสุทธิ์

จริงๆ ใจน่ะบริสุทธิ์มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ก่อนเราเกิดอีก เพราะว่ามันบริสุทธิ์อยู่แล้ว ...แต่ว่าเราเกิดมาแล้วใช้กายไม่เป็น ใช้ใจไม่เป็น 

มันก็เลยไปหมักหมม ไปสะสม ไปทำให้มันปิด ทำให้มันบัง ทำให้มันครอบงำด้วยความโง่ความเขลา ครอบงำด้วยความยึดมั่นถือมั่น ครอบงำด้วยความเห็น ครอบงำด้วยความสุขความทุกข์อะไรต่างๆ

มันยิ่งเกิดมาแทนที่มันจะชำระปัดเป่าออก ...มันกลับยิ่งทำให้มันมืดบอด มืดมิด มืดมนอนธการมากขึ้น

เสียดาย...พระพุทธเจ้าท่านตรวจตรา ท่านตรัสรู้มา ท่านสอดส่องดูสัตว์โลกแล้วท่านเสียดายแทนสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ใช้ชีวิตอย่างไร้สาระ ไม่มีค่าคู่ควรแห่งการเกิด

เพราะว่ามันเป็นวาระอันดี มันเป็นมงคลในการเกิดมาเป็นมนุษย์ มีอาการครบสามสิบสอง หูไม่หนวก ตาไม่บอด จิตใจไม่ฟั่นเฟือน มีสติสัมปชัญญะดี เจริญได้

แต่กลับใช้ชีวิตด้วยการที่ว่าหมกมุ่นมัวเมา ลุ่มหลง หลงไปไหลมาอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสที่สลับผันแปร ผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลาของมัน แล้วก็ตายไปโดยเปล่าประโยชน์ ...พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเป็นโมฆะบุรุษ โมฆะสตรี

เมื่อได้ยินได้ฟัง เมื่อเข้าใจในหลักของการปฏิบัติ ไม่ว่าใครจะว่ายังไง ไม่ว่าอาจารย์องค์นั้นจะสอนยังไง ให้น้อมนำเอาไปปฏิบัติจริง ตามความเชื่อความเห็นที่เราเข้าใจตรงนั้น

ด้วยการเอาตัวเองเข้าไปลอง เอาตัวเองเข้าไปพิสูจน์ เอาใจของตัวเองเข้าไปลอง เอาใจตัวเองเข้าไปพิสูจน์ในศีลสมาธิปัญญา ตามที่เราเชื่อเราเห็น

ธรรมย่อมปรากฏตามความเป็นจริง ความเข้าใจธรรมที่ปรากฏก็ย่อมจะชัดเจนไปตามลำดับลำดา ...ไม่ต้องไปอ้อนวอนร้องขอบนบานศาลกล่าว ด้วยการกระทำอย่างอื่นเลย

ให้กลับมาประกอบอยู่ภายในกายใจของเรานี้แหละ ตั้งแต่ตื่นนอน...ทั้งวัน ทำงาน เดินไปเดินมา ทำมาหากินอะไรอยู่ก็ตาม ให้ศีลสมาธิปัญญาให้ตั้งลงอยู่ที่ตรงนั้นแหละ ตรงกายที่กำลังทำอะไรอยู่ตรงนั้นน่ะ

กลับมารู้ กลับมาเห็น กลับมาดูตัวเอง กำลังทำอะไร ...ดูอาการทางกายทำยังไง ดูอาการทางจิตว่ามันอยู่ในอาการไหน กังวล ดีใจเสียใจ วิตกทุกข์ร้อน ฟุ้งซ่าน เกลียด กลัว โกรธ หลง โลภ อะไรก็ตาม

ให้กลับมาดู สอดส่อง สังเกตดูว่าขณะนั้นน่ะ มันปรากฏการณ์อะไรอยู่ มีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้นในใจ มีปรากฏการณ์ยังไงกับกาย มันเดิน มันนั่ง มันร้อน มันเย็น มันอ่อน มันแข็ง มันหนาว 

เอาให้มันไม่ขาดจากกายใจปัจจุบัน...ต่อเนื่องเป็นสายไปเลย ...นั่นน่ะถึงเรียกว่าผู้ปฏิบัติจริง จึงจะเรียกว่าอยู่ในวิถีของพุทธ เป็นลูกศิษย์ของพุทธเจ้า 

เพราะพุทธเจ้า คำว่าพุทธเจ้า ก็มาจากคำว่าพุทธะ ...พุทธะก็หมายความถึงว่ารู้...เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

เพราะนั้นถ้าจะเป็นลูกศิษย์ของพุทธเจ้า ก็อยู่ในวิถีของพุทธะ วิถีแห่งการรู้ตื่น...ตลอดเวลา ...ไม่ใช่หลับๆ ไหลๆ  ลุ่มๆ หลงๆ  มัวๆ เมาๆ  เผลอๆ เพลินๆ  ไหลไปไหลมา 

นั่น ไปกับเรื่องราวอย่างนั้น เรื่องอดีต เรื่องอนาคต  เรื่องสัตว์คนนั้น เรื่องบุคคลคนนี้  เรื่องราวข้างหน้า เรื่องราวข้างหลัง ...อย่างนี้ ไม่ได้เป็นลูกศิษย์ของพุทธเจ้าที่ท่านสอนให้อยู่ในวิถีแห่งพุทธ

เราใช้ชีวิตก็ต้องอยู่ในวิถีแห่งพุทธ วิถีแห่งการรู้อยู่ เห็นอยู่ ในอาการของตัวเองนะ ในปัจจุบัน ...เอาจนต่อเนื่องไปไม่ขาดระยะ 

มันจะต่อเนื่องไปไม่ขาดระยะด้วยอะไร ...ด้วยไม่ขี้เกียจ  อย่าขี้เกียจ อย่าขี้เกียจกลับมาดู อย่าขี้เกียจกลับมาสอดส่องดูการกระทำทางกายวาจาจิตของตัวเอง

มันจะตายกับความขี้เกียจน่ะ แล้วมันก็ขี้เกียจกลับมาดูกลับมาเห็น มันก็เกิดความท้อถอย เพราะมันก็ว่า...“ฮื้อ ไม่เห็นได้อะไร ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่เกิดความปล่อย ละ วาง จางคลายตรงไหนได้เลย”

มันก็เลยอ้างข้างๆ คูๆ ว่า...ไม่มีวาสนาซะล่ะมั้ง บารมีไม่พอ บารมีไม่ถึง เดี๋ยวเราจะต้องไปทำบุญอ้อนวอนร้องขอ บนบานศาลกล่าว แก้กรรม ชำระกรรมซะก่อน เจ้ากรรมนายเวรเขาคงมาปิดมาบัง

อู้ย มันมีความเห็นบ้าบอคอแตกอะไรไม่รู้ให้มันออกนอกวิถีแห่งพุทธะเสมอ ...อย่าไปฟังมัน อย่าไปฟังกิเลส อย่าไปฟังความเผลอเพลิน...ตามมัน

รู้ตื่นอยู่ ...ไม่มีก็ต้องสร้างขึ้น เจริญขึ้นมา ...การปฏิบัติก็ให้ทำอยู่แค่นี้ ไม่ได้ทำอะไรหรอก ไม่ได้ไปว่าแบกหิน แบกทราย แบกปูน ไปขุดดิน ไปดำนา ไปลากควาย ไปจูงช้างอาบน้ำซะเมื่อไหร่

แค่กลับมารู้น่ะ...มันยากมั้ย  กลับมารู้โง่ๆ  กลับมารู้ว่าเดินนี่ มันยากเกินไปมั้ย ...มันยากเหมือนกับควาญช้างที่เอาช้างไปอาบน้ำมั้ย หรือต้องไปค้าไปขายไปหาเงินหาทอง มันยากกว่ารึเปล่า

กับไอ้ที่ว่านั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งนี่ ทำไมทำไม่ได้ ...มันขี้เกียจ มันชอบปล่อยให้ล่องลอยไปกับกิเลส ความคิดนั้น คิดนี้ คิดโน้น ฝันหวานมั่ง อมยิ้มไปอมยิ้มมา เครียดไปเครียดมา ...มันก็ฝันทั้งนั้นแหละ

กลับมารู้บ่อยๆ ดูตัวเองบ่อยๆ ...ให้รู้เฉยๆ ไม่ใช่รู้แล้วต้องไปทำให้ดีกว่านั้น ต้องทำให้แย่ลงกว่านั้น เออ มืออยู่ยังไง ขาอยู่ยังไง ใบหน้ามันอยู่ลักษณะยังไง บึ้งตึง อมยิ้ม หรือว่าเฉยๆ  นี่ ลมพัดเย็นมั้ย เย็นแล้วดีมั้ย หรือไม่ดีมั้ย 

ดูมันไป ดูอะไรที่มันอยู่ตรงนี้ กลับมารู้ตรงนี้ ...ไม่ตายหรอก มันไม่ได้ทำให้สมบัติชื่อเสียงเงินทองเราลดลงหรอก  อย่าไปกลัวที่จะไม่คิดไม่ปรุง ไม่หาไปข้างหน้าไปข้างหลัง

ให้มันรู้อยู่ตรงนี้ การปฏิบัติมันจึงจะอยู่ในชีวิตประจำวันได้ ...ไม่ใช่ต้องมาอยู่วัดถึงจะปฏิบัติได้ ต้องอยู่ในป่าในเขาถึงจะปฏิบัติได้  ต้องอยู่คนเดียวไม่มีเมียผัวลูกหลานถึงจะปฏิบัติได้ หรือรอให้แก่ก่อนถึงจะปฏิบัติได้

รอไม่ได้ ...ทำไมถึงว่ารอไม่ได้ ...เพราะความตายมันไม่เคยรอ ความตายไม่เคยรอใคร ตายเมื่อไหร่ก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ บทมันจะตาย...ตายเลย

ไม่มีนิมิตหมายใดๆ มาบอกล่วงหน้า ไม่มีลางสังหรณ์ ไม่มีคำเตือน ไม่มีฝันมาบอก เดี๋ยวต้องตายวันนั้นเวลานั้น  บทจะตาย...ตายเลย ใครจะไปรู้ ...เห็นมั้ย ถึงบอกว่ามันรอไม่ได้...การปฏิบัติน่ะ

แล้วมันพอมั้ย สมควรตายรึยัง เดี๋ยวนี้มันสมควรตายรึยัง ...ยัง...ทุกคนบอกเลย ยังไม่สมควรตาย ...เพราะอะไร ...เพราะเดี๋ยวก็กลับมาเกิดอีกๆ

แล้วก็เกิดมาโง่ๆ เซ่อๆ ต่อ ค้นหาการปฏิบัติใหม่ ...กว่าจะเจอครูบาอาจารย์ กว่าจะเจอคนสอนที่ถูกจริต ถูกนิสัย ทำแล้วได้ผล โอ้ย อายุเท่าไหร่แล้ว ห้าสิบแล้ว เกือบแล้ว ...แล้วไอ้ห้าสิบปีมันหายไปไหน

เห็นมั้ย มันไม่สมควรตายซะตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ...เกิดมาก็ไม่รู้ไม่ชี้ใหม่ กว่าจะหาแนวทางการปฏิบัติได้ แล้วกว่าจะสร้างวิริยะความพากเพียรให้เกิดความตั้งอกตั้งใจในการปฏิบัติได้ ...โอย อีกหลายปี

กว่าจะเกิดความขยันหมั่นเพียร ตั้งอกตั้งใจ เอาจริงเอาจัง ...ไปถึงวาระนั้นก็...หงั่กๆๆ  จะยกมือก็ต้องให้คนมาช่วยยกแล้ว แล้วก็ตาย ...ก็สมควรตาย


(ต่อแทร็ก 4/24)