วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 4/11 (2)


พระอาจารย์
4/11 (540517)
17 พฤษภาคม 2554
(ช่วง 2)


(ต่อจาก แทร็ก 4/11 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ทำไงถึงจะเข้าใจ ...เพราะนั้นแค่ฟังนี่น่ะ เข้าใจนะ  แต่มันยังไม่จริง มันยังเห็นไม่จริง มันยังไม่เชื่อ 

พอออกจากนี่ ก้าวข้ามกุฏิออกไป ก็เริ่มไม่เชื่อแล้ว ...ใจมันบอกไม่ฟังแล้ว ใจมันไม่ฟังหรอก  กูก็เชื่อเงาของกูต่อ กูก็เล่นกับเงากูต่อ เอาดิ

มันดื้อ มันด้าน เห็นมั้ย ...คำว่ากิเลสมันดื้อด้านน่ะ มันดื้อด้านอย่างนี้  มันไม่ยอม มันไม่ยอมละความหลงผิด  มันก็เข้าใจว่ากูฉลาดอยู่นั่นแหละด้วยความรู้อย่างนี้ 

ก็เขาเห็นกันทั้งโลก ...นี่ รูปกูเป็นอย่างนี้  เขาบอกว่าสวย ก็สวยจริงๆ น่ะ  เขาบอกว่าดำก็เลยดำ บอกว่าอ้วนก็อ้วนอย่างนี้ ...เชื่อ เชื่อหมด

ทั้งที่ว่ากายมันไม่เคยป่าวประกาศโพนทะนา ...เหมือนกับแผ่นดิน เหมือนกับน้ำนองอยู่ในมหาสมุทรน่ะ ใครจะทุบ ใครจะถอง ใครจะเยี่ยว ใครจะขี้ใส่ มันก็เฉย ไม่ได้ว่าอะไร 

ท่านถึงบอกให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ใจน่ะ ไม่ใช่แค่แตะเบาๆ ด้วยคำพูด แปล้บ...อ๊าย ร้องลั่นบ้านลั่นช่องไปหมด...รับไม่ได้  ดูเหมือนเสียงมันเป็นมีดดาบมาแทงลงที่หูทะลุใจ

กลับมารู้ตัวบ่อยๆ  สังเกตด้วยความแยบคาย จะได้หายโง่ แล้วจะ..."อ๋อ" ไปตามลำดับลำดา ว่าอะไรคืออะไร 

เรากำลังลุ่มหลงมัวเมาหรือเปล่า ...ไอ้ที่ว่าจริง ไอ้ที่ว่าใช่ ไอ้ที่ว่าเป็นเรื่อง ไอ้ที่ว่ามีเรื่องที่รับได้-รับไม่ได้ มันรับไม่ได้ตรงไหน รับไม่ได้กับเสียงตรงไหน ห๊า

ดูสิ ดูมันเข้าไป ... ปัญหามันอยู่ตรงไหน  ปัญหามันอยู่ที่เสียงรึ ปัญหาอยู่ที่ปากคนพูดรึ ปัญหาอยู่ที่แก้วรูหูรึ  หรือปัญหามันอยู่ที่ตัวนี้ หรือปัญหามันอยู่ที่ “กูรับไม่ได้” ...เอาดิ ดูซิว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน

นี่เขาเรียกว่าพิจารณา ด้วยสติรับรู้ ...ไม่ใช่กระโดดปุ๊บโกรธ เอาความโกรธเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งของสติสมาธิปัญญาที่เป็นมิจฉา 

คือมันตั้งอกตั้งใจเพ่งอยู่กับความโกรธ เอาความโกรธเป็นกำลัง..."เดี๋ยวกูต้องด่าคืน" ...เห็นมั้ย มันเอาสติสมาธิปัญญาไปตั้งอยู่กับความโกรธ ...ถึงเรียกว่าเป็นมิจฉาหมด

เวลาทำงานนี่ สติสมาธิปัญญาก็ไปจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือ อยู่กับเรื่องราวที่ข้างหน้า ...มันก็เป็นสมาธิอยู่ แต่มันเป็นมิจฉาเพราะมันออกข้างนอก มันเลยได้งาน ...แต่แถมมาด้วยทุกข์ เอาดิ 

แต่มันคิดว่าจะได้สุข มันก็เลยดันทุรัง ...เกิดอาการที่ว่าความดันทุรังสูงอยู่ตลอดเวลา จะเอาชนะมัน แล้วจะให้มันถาวร ...เนี่ย ไอ้ตัวผลักดันขับเคลื่อนน่ะอยู่ตรงนี้ ...ดู ปัญหาจริงๆ มันอยู่ตรงไหน 

รูปมันเป็นปัญหาตรงไหน  รูปไม่ดี รูปไม่สวย รูปสวย รูปดี ...มันดีตรงไหน หือ  มันดีตรงรูป มันดีตรงตา มันดีตรงแก้วตา มันดีตรงประสาทแก้วตา มันดีตรงสมอง ... หรือมันดีตรงใจ หรือไม่ดีตรงใจ

ให้มันเห็นเหตุที่เกิดที่แท้จริง แล้วต่อไปจะไม่มีปัญหากับรูป ...แต่ถ้าไม่เห็นเหตุที่แท้จริง ก็จะมีปัญหากับรูปซ้ำซาก ก็จะมีปัญหากับเสียงตลอดชีวิต

กระทบนิดกระทบหน่อย ด้วยเสียงด้วยรูปด้วยกลิ่น ก็เหมือนกับช้างตกมัน  เป็นเรื่องหมด บ้าดีเดือดเลือดพล่านแล้วแสดงอาการต่างๆ ออกไป ...นั่นแหละมนุษย์ ไอ้คนพูดก็โง่ ไอ้คนฟังก็เง่า โง่ผสมเง่า ออกไปนี่เลยโคตรเง่าเลย 

เนี่ย ยังถูกกิเลสมันใช้อยู่ตลอดเวลา กิเลสมันเป็นตัวนำนะ ...อย่านิ่งนอนใจ อย่าประมาทว่าเรารู้แล้ว ฉลาด เราความรู้สูง ...สูงอะไร เอามาใช้ประโยชน์ได้รึเปล่า ถามว่าอะไรนั่งยังไม่รู้เลย 

ถาม "อะไรนั่ง" น่ะ บื้อเลย  ใครนั่งน่ะ...ไม่รู้ ยังตอบไม่ได้ แค่นี้ยังตอบไม่ได้ ...ของดีติดกับเนื้อกับตัวตั้งแต่เกิด ยังไม่แจ้ง ไม่เรียกว่ารู้จริง ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้ ...ยังใช้ประโยชน์แห่งการเกิดมาหลายสิบปีนี่...ไม่คุ้ม

เอาให้มันคุ้ม ...กลับมารู้อยู่เห็นอยู่กับกายใจก้อนนี้ ขณะนี้ เป็นนิจ ...เอาจนมันเข้าใจ ไม่มีสงสัยในที่ทั้งปวง ว่ากายคืออะไร อาการที่มันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเป็นยังไง ...อะไรมันขยับ อะไรมันเขยื้อน 

แล้วอะไรที่เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ในการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว  อะไรที่เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อมีรูปเสียงกลิ่นรสมากระทบปาก กระทบลิ้น กระทบตา กระทบหู ...อะไรที่มันพะเยิบพะยาบ

เอามันให้รู้ว่าเหตุจริงๆ มันเริ่มจากที่ใด แล้วจะได้แก้ให้ถูกที่ ...ไม่อย่างนั้นเราจะแก้อยู่กับภายนอกเป็นหลัก ไปเอาสาระประโยชน์กับการแก้ภายนอก ...ไม่จบ จะไม่จบ

ต้องเห็นเหตุที่แท้จริง ด้วยการน้อมกลับเข้ามา ...ตรงที่พอใจ ตรงที่ไม่พอใจ ดูตรงนั้นแหละ ตรงที่จะเข้าไปมีเรื่อง-ไม่มีเรื่องกับมัน ...ดูมันตรงนั้น ภายในนั่นแหละ เรื่องมันอยู่ตรงนี้ ณ ที่เกิดเหตุ

เวลาไปดูหนังในโรงหนังน่ะ เห็นแต่ภาพ ก็หลง ...ถ้าย้อนกลับมาก็จะเห็นว่า ภาพมันมาจากตรงไหน อ้อ มันมีตัวฉาย มันมีแค่ไฟน่ะ มีไฟดวงนึงแล้วก็มีแผ่นฟิล์ม ...เนี่ย เห็นไหมที่เกิดเหตุที่แท้จริง 

เพราะนั้นภาพไม่ใช่เหตุนะ ...ถ้าย้อนกลับเข้ามาจะเห็นไอ้ที่มันเกิดภาพ แหล่งที่ให้เกิดภาพ จริงๆ คืออะไร ...อยู่ดีๆ ภาพไม่มีนะ  ...ปุ๊บ ถ้าไฟดับ เห็นมั้ย 

นั่นแหละ ต้องดูจนเห็นน่ะ ...ย้อนกลับ มันถึงจะเห็นความเป็นจริง ... เพราะนั้นถ้าไฟดวงนี้ดับ ทุกอย่างดับหมดน่ะภาพ

แต่ถ้าไฟดวงนี้ยังเปิดอยู่นะ ...เปลี่ยนแผ่นฟิล์มก็เปลี่ยนเรื่อง sad movie, happy movie ending, tragedy movie ...มันว่าได้หมดน่ะ แล้วแต่ผู้กำกับเขาจะเขียนบท จ้างผู้คนมาเล่นแสดงละคร  แล้วก็มานั่งร้องไห้ นั่งดีใจหัวเราะตลกกับ comedy เหล่านี้

ถูกหลอกแล้ว ...พอตอนมาดูที่ต้นเหตุจริงๆ น่ะ  มันจะมีดีใจ เสียใจ หัวเราะกับแสงมั้ย ฮึ  มันมีอาการอะไรที่แสดงออกมาว่าน่าหัวเราะไหม ... ไม่สนุกด้วย ไม่เป็นเรื่องด้วย ไม่มีเรื่องด้วย ...มีแต่แสงน่ะ

นั่นล่ะ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า นี่แหละ ที่นี้เป็นที่อยู่ เป็นที่เกิดเหตุแล้วก็ละ แล้วก็ให้อยู่ที่ตรงนั้น คือใจ ...เพราะนั้นสติทั้งหมด ที่ให้ฝึกให้รู้ให้ดูให้เห็นนี่ เพื่อให้กลับมาสู่ใจ 

ไม่ได้รู้เพื่อไปเอาเรื่องเอาราวกับมัน ว่าอะไร น่าจะอย่างไร ควรเป็นอย่างไร ...ก็อย่างโยมมาถาม ...จะเป็นไก่ก็ได้ จะเป็นเป็ดก็ได้ จะเป็นหมูก็ได้ จะเป็นนางกินรีก็ได้

ทำไม มีปัญหาอะไรนักหนากับมัน หือ จะไปเอาถูกเอาผิดอะไรกับมันนักหนา ก็มันเป็นแค่ภาพยนตร์น่ะ หือ จะต้องไปเข้าถามพระอินทร์มั้ยนี่ ว่าพระอินทร์เลี้ยงไก่หิมพานต์ตัวนี้มั้ย


โยม –  ถามพระอาจารย์ก็พอ

พระอาจารย์ –  ถามเรา...ก็ได้คำตอบนี้ ...จะไปดูที่ไก่ หรือดูที่เกิดเหตุของไก่ ...ก็บอกว่าฝัน มันฝันได้ทั้งกลางวัน ทั้งยืน ทั้งหลับ  หลับก็ฝัน ตื่นก็ฝันน่ะ  ...นี่ ที่เห็นกันอยู่อย่างนี้ ก็บอกว่า นี่คือภาพ 

ภาพ ...หลับตาปุ๊บนี่ภาพไม่มีแล้ว เห็นป่าว นี่คือภาพ ไม่มีจริงหรอก มันเป็นแค่ภาพ กระจกสะท้อนเงา มีแสง ...ถ้าไม่มีแสงสว่างนี่มองไม่เห็น รูปก็ดับ ภาพที่เห็นก็ไม่เห็น นี่รูปดับโดยธรรมชาติ

เพราะนั้นไอ้ที่เราเห็นว่ามี ว่าเป็น ว่าจริงนี่  มันเป็นแค่ภาพที่กระทบลูกตา ...ถ้าไม่มีลูกตามันไม่เห็นใครหรอก ใช่ไหม ...จะไปเอาถูกเอาผิดอะไรกับมัน จะไปเอาถูกเอาผิดอะไรกับรูป 

ไอ้แค่รูปหน้าตานี่ก็ปวดหัวจะตายชักแล้ว จะมาถามว่าไก่คืออะไร ...จำเป็นต้องตอบมั้ยว่าไก่คืออะไร


โยม –  มันมียักษ์ด้วยไงพระอาจารย์  ไม่ได้มีแต่ไก่

พระอาจารย์ –  วันนั้นก็มาองค์นึงแล้ว มาถามเรื่องยักษ์อีกแล้ว บอกว่ายักษ์เดินมา ....เราก็บอกว่า โอ้ย ยักษ์มาเปิดประตูก็ทักเลย  ไม่มีปัญหาเลย ไม่มีปัญหากับยักษ์เลย

จะตกอกตกใจ ดีใจเสียใจไปกับมันทำไม ... มันก็เป็นแค่อาการ ไม่ว่าอะไรนั่นน่ะ ...นั่งอยู่นี่ ขยับไปขยับมา เย็นร้อนอ่อนแข็ง นี่ก็คืออาการ ...ไอ้นี่ไม่ดู ไม่ตื่นเต้นรึไง มันธรรมดาไปใช่มั้ย


โยม –  ยักษ์มันน่าตื่นเต้น

พระอาจารย์ –  อื้อ มันชอบอะไรที่มันมีสีสันน่ะ ...พอให้กลับมาดูธรรมดานี่ “เซ็งว่ะกู ไม่รู้จะดูไปทำไม (หัวเราะกัน) คุยเล่นสนุกกว่า มันส์กว่า เห็นมั้ย

พอกลับมาอยู่กับธรรมดา ปกติ ล่ะเอาแล้ว มีข้ออ้างข้อแม้เงื่อนไขอย่างนั้นอย่างนี้ “ไม่คิดก็โง่ดิ ไม่เข้าใจแล้วไม่พูดไม่คุยไม่สอบถามไม่มีความเห็น ก็ไม่รู้อะไรแล้วก็ปฏิบัติไม่เป็นสิ ไม่ถูกสิ”  เอาล่ะ 

เชื่อมันเข้าไปกิเลสน่ะ บูชาเทิดทูนเคารพนบนอบมันเข้าไป กราบไหว้เอาดอกไม้ธูปเทียนบูชาไปเลยมั้ย

เราต้องบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ...คือพุทธะ บูชาพุทธะ พุทธะคือผู้รู้ พุทธะแปลว่าตื่น พุทธะแปลว่ารู้ นั่นแหละ ของควรบูชาไม่บูชา ของควรสร้าง ควรเจริญ ควรนับถือ ควรน้อมนำอยู่ตลอดเวลา เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัย...ไม่ทำ 

บูชาคุณกิเลส บูชาความสนุก บูชาความรู้ต่างๆ นานา ความเห็นต่างๆ นานาที่ออกไปจากกายจากใจนี่ บูชามัน ตื่นเต้น ดีใจ ชอบ...เล่าสู่กันฟัง เหมือนกับเพลงเบิร์ดเลย

เพราะนั้นพยายามเปลี่ยนจากเวอร์ชั่น “เล่าสู่กันฟัง” ของเบิร์ดมาเป็นว่า “อยากอยู่เงียบๆ คนเดียว” มั่ง (หัวเราะกัน)


โยม –  อยู่เงียบๆ คนเดียว

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ อยู่เงียบๆ ให้เป็น ...ให้ใจมันเงียบ แล้วก็จะเห็นทุกอย่างตรงขึ้น ชัดเจนขึ้นว่ามันคืออะไร ความเป็นจริงของมันคืออะไร 

มันไม่มีอะไรหรอก ที่มันมีเพราะเราคิด ...มีบ้าน บ้านมันคือความคิด  มีงาน ตอนนี้งานก็คือความคิด ...ก็ลองไม่คิด มันก็ไม่มีทั้งบ้านไม่มีทั้งงาน ใช่มั้ย


โยม –  ใช่

พระอาจารย์ –  ประเทศยังไม่มีเลย ...วันนั้นเด็กญี่ปุ่นมันมา...ซัดจัง มาบอก “หลวงพ่อ ทำไมถึงเสียใจ ร้องไห้ คิดถึงญี่ปุ่น คิดถึงแม่” 

เราก็บอก “ซัดจัง ญี่ปุ่นอยู่ไหน ไหนเอาญี่ปุ่นมาให้หลวงพ่อดูหน่อยซิ ...มันอยู่ตรงที่คิดถึงรึเปล่า ถ้าอยู่ตรงนี้ ที่รู้ว่านั่งอยู่ตรงนี้ มีญี่ปุ่นมั้ย ไอ้ตรงที่นั่ง แม้แต่นั่งตรงนี้ ประเทศไทยมีรึเปล่า” ...ก็ยังไม่มีเลย

เพราะฉะนั้น ไอ้แค่ว่าญี่ปุ่นน่ะ มันคือความคิด ...ถ้าเห็นความคิดหรือรู้ว่าความคิดคือเป็นอาการหนึ่งเท่านั้นเอง มันจะไม่มีเวทนาในนั้นเกิดขึ้นได้เลย ...บ้านก็ไม่มี ญี่ปุ่นก็ไม่มี อย่าว่าแต่ไม่มีญี่ปุ่นนะ เมืองไทยยังไม่มีเลย ใช่ป่าว

แต่ถ้าคิดเมื่อไหร่ก็บอกว่าอยู่เมืองไทย ถ้าคิดก็บอกว่าอยู่ที่กุฏิเรา ...เห็นมั้ย ทุกอย่างนี่เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร ...แต่ด้วยความที่จิตปรุงแต่งขึ้นมา แล้วเราก็หลงอยู่ในความปรุงแต่ง  จริงจัง จนน้ำหูน้ำตาไหล

เห็นมั้ย เห็นความโง่จนถึงขั้นน้ำหูน้ำตาไหลเลยไหม ...กะแค่คิดว่ามีญี่ปุ่นและเราอยู่ห่างจากญี่ปุ่น มันมีแผนที่ในใจขึ้นมาว่าห่างจากญี่ปุ่น นั่งเครื่องบินหนึ่งคืนหนึ่งวัน ...ทุกข์เกิดทันทีเลย 

ทั้งๆ ที่ว่า ไม่มีทั้งญี่ปุ่น ไม่มีทั้งเครื่องบิน ไม่มีอะไร ...เป็นแค่ความปรุงใช่ไหม ...เมื่อสองวันก็มาแล้วเราถาม "ซัดจังร้องไห้รึเปล่า"  ก็ว่า ... "ไม่ร้องไห้แล้ว"


โยม –  พระอาจารย์คะ แม้แต่ “เรา” นี่ก็คิดเอาเองใช่มั้ย

พระอาจารย์ –  คิดเอาทั้งนั้นแหละ ...บอกแล้วให้อยู่เงียบๆ  ถ้าใจเงียบๆ รู้อยู่กับสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีคำพูดอะไรแล้วนี่ จะเห็นความเป็นจริงเลยว่า...อนัตตา  เป็นอนัตตาอย่างไร คือไม่มีอะไร ไม่มีตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแค่ภาพ รูปนิมิต นามนิมิตหนึ่ง

เพราะนั้นสวดมนต์ทุกวันทั้งเช้าทั้งเย็น อาการ ๓๒ ...ทำไมท่านเรียกว่าอาการ ๓๒ หือ  กายนี่คืออาการ ๓๒ โดยสมมุติที่ว่าให้ตรงที่สุด ที่จะใกล้เคียงกับปรมัตถธรรมที่สุด คือเป็นแค่อาการ ๓๒ ลักษณะ รวมกัน

แต่ถ้าเติมลงไปด้วยสมมุติบัญญัติว่า ตา หู จมูก ลิ้น ตับอ่อน เลือด เนื้อ กระดูก หนัง เอ็น กระเพาะอาหารใหม่อาหารเก่า ไขมันเปลว ฯลฯ ...แต่โดยความจริงท่าน นี่คือการพิจารณาอาการ ๓๒

ทำไมถึงเรียกว่าอาการ ...กายคืออาการหนึ่ง ใจหรือจิตนี่คืออาการหนึ่ง ขันธ์ก็คือลักษณะอาการขันธ์ที่ปรากฏ ธรรมชาติของขันธ์ที่ปรากฏเป็น ๕ ลักษณะอาการ แบ่งโดยสมมุติได้ว่าเป็นรูปกับนามโดยใหญ่ๆ 

แบ่งโดยพิจารณาโดยละเอียด ก็เป็นรูป กับเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ  เป็นลักษณะที่ต่างกัน เขาเรียกว่าโดยโมเดล ...คือการปรากฏขึ้น หรือการปรุงและรวมลักษณะขึ้นมาเป็นโมเดล ต่างลักษณะกันได้ ๕ ลักษณะในบุคคลหนึ่ง ในสัตว์ตัวหนึ่ง

เพราะนั้นลักษณะอาการ  พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าเป็นแค่โมเดล ท่านจึงเรียกว่าขันธ์ ...คำว่าขันธ์นี่แปลว่ากอง ขันธ์ห้าคือตัวนี้คือมีกองห้ากองรวมกัน ...นี่ท่านมองแบบผู้มีปัญญาท่านแบ่งอย่างนี้ ท่านเรียกว่า กองขันธ์

เพราะนั้นการที่เอาสติสมาธิปัญญามาจดจ่อ ใส่ใจ อยู่ที่ขันธ์ห้าหรือรูปและนาม หรือกายและใจ ... อยู่ตรงนี้ เพื่อจะให้เข้าไปแจ้งในกองสังขารทั้งห้า 

ว่าความเป็นจริงของกองทั้งห้ากองนี้มันคืออะไร...ถึงหลอกกูได้นักหนา ถึงกูได้บ้าบอคอแตกกับมันได้ตลอดไม่รู้กี่ร้อยกี่ล้านชาติ เนี่ย ...ก็แค่อะไรวูบๆ วาบๆ แค่นี้ ทำไมมันหลอกเราได้ขนาดนี้วะ

ถึงบอกว่าให้กลับบ้านแล้วไปฉีดสเปรย์ดู แล้วจะเห็นว่าสเปรย์นั่นแหละคือความคิด  ถ้าไม่เห็นว่าสเปรย์คือความคิด ก็ไปเอากระป๋องสีมาฉีดกับสเปรย์ฉีดผม ก็จะเห็นความแตกต่างของสเปรย์สองลักษณะ 

นั่นคือขันธ์ที่แตกต่างกันในลักษณะของความจำหรือความคิด เห็นมั้ย มันแล้วแต่เหตุปรุงแต่ง ก็เกิดลักษณะอาการที่ดูเหมือนต่างกันว่า...นี่เป็นสุข นี่เป็นทุกข์ นี่เป็นความจำ นี่เป็นความคิด นี่เป็นความรู้ทางหูทางตาทางจมูก 

มันคือลักษณะปรากฏขึ้นในอาการ  การปรุงตามคุณลักษณะที่ไม่เหมือนกัน นั่นคือความแตกต่างของกองขันธ์ ท่านแยกแยะอย่างนี้

เอ้า เอาแล้ว แค่นี้ ทั้งหมดนี่


โยม –  โห ... (หัวเราะกัน) พระอาจารย์สรุปหน่อย

พระอาจารย์ –  สรุปแล้วว่า คือ ไม่มีอะไรนอกจากนี้แหละ เท่านี้แหละ ...การปฏิบัติคือให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน แล้วไม่ต้องไปทำอะไรกับสิ่งที่ถูกรู้  อดทน ดูมัน สังเกตมัน แยบคายกับมันว่ามันคืออะไร


โยม –  เวลาอ่านหนังสือแล้วถ้าเรามีตัวรู้ แล้วเรารู้นี่ มันจะอ่านไม่รู้เรื่องใช่มั้ย

พระอาจารย์ –  ก็อ่านไม่รู้เรื่อง ...ให้รู้ ให้ดูตัว ให้เห็นตัว

โยม –  ถ้าเรามีความรู้สึกตัวว่าเราเห็นอยู่ตลอด แล้วอ่านๆ ไปนี่ มันจะแบบอ่านไปก็ไม่รู้เรื่อง

พระอาจารย์ –  อ่านไป ให้รู้ว่ากำลังนั่งอ่าน ให้เห็นตัวกำลังนั่งอ่าน ไม่ใช่ไปจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือ

โยม –  ใช่ ไม่ไปแช่กับตัวหนังสือ ก็เห็นตัวว่ากำลังนั่งอ่าน แต่มันก็จะรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง

พระอาจารย์ –  ใช่ มันต้องขยับเข้าขยับออกอยู่อย่างนี้ เพราะมันจะต้องไปแชร์กับความรู้ภายนอก

โยม –  เพราะเราจะต้องไปคิดเกี่ยวกับตัวหนังสือตรงนั้นด้วย

พระอาจารย์ –  อือ แต่พยายามอย่าให้มันจมหายไปกับตัวหนังสือ

โยม –  อ๋อ มันต้องมีเป็นพักๆ บ้าง

พระอาจารย์ –  ใช่ ให้รู้ว่ากำลังนั่ง กำลังขยับ กำลังเคลื่อนไหว


โยม –  พระอาจารย์ เวลาทำงาน แล้วทีนี้มันต้องหาย เพราะว่าเราต้องใช้ความคิดไง แล้วมันหายไปสักสองสามชั่วโมงอย่างนี้

พระอาจารย์ –  ถ้าหายก็หายไป แต่พยายามกลับมาเมื่อเสร็จธุระการงานนั้น ให้กลับมาอยู่ที่กาย เป็นรูทีน

โยม –  ถ้าเกิดเราคิดแล้วปัญญามันก็จะดับ เพราะความคิดมันเหมือนกับที่เราทำงานแล้วมันก็จะหาย เพราะมันใช้ความคิดมากๆ

พระอาจารย์ –  ก็ปล่อย เพราะมันต้องใช้ ก็ต้องใช้มันไป แต่ว่าอย่าให้มันหลุดสายป่าน ขาดไปนาน ...พอเสร็จเรื่องหรือหมดเรื่องหมดราวให้กลับมารู้ตัวอยู่เฉยๆ ไม่ต้องคิดต่อ

โยม –  แล้วความต่อเนื่องมันก็หายไปช่วงที่เรามีความคิด

พระอาจารย์ –  ถือเป็นกรรม วิบากที่เราจะต้องชดใช้ ที่เราจะต้องจมปลักอยู่กับงานภายนอก มันเป็นกรรม ...ต่อไปมันก็จะค่อยๆ เรียนรู้ แล้วก็ค่อยๆ เป็นกลางมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น


โยม –  พระอาจารย์ ตอนนั่งสมาธิแล้วมันมีเวทนา เราจะดูความดิ้นของมัน แล้วพอมันเจ็บมากๆ มันก็จะดิ้น สักพักเราก็จะรู้ว่ามันไม่เหมือนปกติ มันดิ้นๆๆๆ แล้วเราก็มองไปเรื่อยๆ มันก็คืออย่างนั้นใช่มั้ย

พระอาจารย์ –  อือ ไม่ต้องไปห้าม ไม่ต้องไปบังคับมัน ดูอาการตามความเป็นจริง ไม่ใช่จะต้องไม่ให้เกิดอาการนี้ ไม่ใช่ ไม่ตั้งเป้าอะไร ดูไป ...แต่ว่าให้ระวัง อย่าไปปรุงต่อ อย่าจับอาการนั้นแล้วมาปรุงต่อ

โยม –  คือจะดูว่าให้มันผิดปกติ จากปกติเป็นผิดปกติ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ พอแล้ว เพราะมันทำอะไรไม่ได้หรอก ...ไม่ได้ให้ทำอะไร เรียนรู้ตามความเป็นจริงของกิเลส ของความไม่รู้ มันแสดงอาการอย่างนี้ 

แต่ว่าถ้าเราเห็นแล้วไม่ปรุงต่อ หรือไม่จับมาเป็นอารมณ์ต่อปุ๊บ มันก็จะไม่มีความต่อเนื่องในความหลงออกไปข้างนอก ข้างหน้า ข้างหลัง อดีตหรืออนาคต ...มันก็จะแสดงตัวแล้วก็ดับ ดับอยู่ตรงนั้นน่ะ


โยม –  พระอาจารย์ แล้วมันมีความอยากที่ว่า เอ ทำไมมันถึงอยากดู แต่เราไม่เห็น  เพราะอะไรคะ มันไม่เห็นน่ะ แล้วเราจะดูว่าทำไมถึงเราอยากดู

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ มันอยากเกินไป

โยม –  แล้วทำไมเราไม่เห็น ทีความอยากอย่างอื่น เรายังเห็น

พระอาจารย์ –  มันเป็นเรื่องของความอยาก ให้ทันความอยาก แล้วก็ไม่ต้องอยาก ละความอยากนั้น เห็นก็เห็น ไม่เห็นก็ไม่เห็น

โยม –  มันเป็นความอยากที่ละเอียดหรือ เราถึงไม่เห็น หรือเราหลงมาก

พระอาจารย์ –  ใช่ มันกลืนกินอยู่ในใจนั่นแหละ อยู่ในสติสมาธิปัญญาเรานั่นแหละ ...มันยังมีความอยากอยู่ ยังมองไม่เห็นตัวมันเองหรอก

โยม –  แต่อยากที่จะเห็นนะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  อือ ความอยากน่ะมีไปจนถึงพระอรหันต์น่ะ อยากรู้ธรรม คืออุทธัจจะ ภายใน


โยม(อีกคน)  พระอาจารย์คะ โยมลองนั่งดูเฉยๆ มันไม่ค่อยอยู่ จิตมันกระจาย ก็ต้องมีเครื่องอยู่ โยมใช้การเคลื่อนไหวอะไรพวกนี้  เพราะมันฟุ้งมาก

พระอาจารย์ –  เคลื่อนไหว ได้ อือ

โยม –  อะไรที่เป็นเครื่องอยู่ก็ได้

พระอาจารย์ –  อะไรก็ได้ ที่ให้อยู่ในกรอบของกายให้ได้

โยม –  พุทโธได้ไหม

พระอาจารย์ –  ได้ แต่ต้องให้อยู่ในฐาน...พุทโธกับรู้ รู้พุทโธ ให้มีแบบ...รู้กับพุทโธ  ไม่ใช่มีแต่พุทโธ

โยม –  ค่ะ มีรู้กับพุทโธ เมื่อกี้พระอาจารย์บอกว่ามีตัวรู้กับตัวที่ถูกรู้ แต่ไม่สำคัญในสิ่งที่ถูกรู้ ให้มาอยู่ที่ตัวรู้ แต่โยมลองสังเกตแล้วมันรู้ทั้งสอง

พระอาจารย์ –  ก็รู้ทั้งสองนั่นแหละ นั่นแหละคือการให้ความสำคัญกับรู้แล้ว

โยม –  อ๋อ รู้ทั้งสองก็คือใช่แล้ว โยมก็คิดว่าจะให้มันอยู่อย่างเดียว ไม่ให้มัน

พระอาจารย์ –  ไม่ได้ ถ้าอยู่อย่างเดียวนั่นมันเพ่งที่ใจ หมายถึงกำลังเพ่งใจแล้ว

โยม –  อย่างนั่งนี่นะคะ

พระอาจารย์ –  ก็ต้องรู้ว่านั่ง ก็มีนั่งกับรู้ รู้ตัวว่านั่ง


โยม –  คืออยากจะถามพระอาจารย์ว่า การที่รู้อย่างถูกต้องโดยมีสตินี่น่ะฮ่ะ กับรู้แบบรู้เรื่อยๆ นี่ มันต่างกันที่ว่า ตามที่โยมเข้าใจว่า ถ้ามันมีรู้เฉยๆ นี่ มันจะคิดไปด้วย แต่ถ้ารู้จริงๆ แล้วเขาไม่คิด รู้อย่างเดียว

พระอาจารย์ –  ก็ใช่

โยม –  ถูกแล้วหรือคะ

พระอาจารย์ –  ถ้ามันรู้ที่ใจจริงๆ อะไรก็ตั้งอยู่ตรงนั้นไม่ได้


โยม –  สมมุติว่ามันหลง โยมเอาพุทโธเป็นเครื่องอยู่นะฮะ ถ้ามันหลงไปจากพุทโธก็รู้ แต่พระอาจารย์ มันไม่รู้ทันที มันรู้นาน

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร ทำไปตามกำลัง

โยม –  มันไม่รู้เร็วนะคะ รู้ช้า

พระอาจารย์ –  แล้วมันก็จะไวขึ้น สติก็จะไวขึ้น

โยม –  ทีนี้เครื่องอยู่นี่ บางทีโยมใช้สองอันได้มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ได้ ยังไงก็ได้ให้เป็นอาการปัจจุบัน

โยม –  อ๋อ นึกว่าต้องมีอย่างเดียว

พระอาจารย์ –  อะไรก็ได้ที่มันเป็นอุบายที่จะให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันของกายหรือว่าของเสียงของกลิ่นของรสที่จะกลับมารู้อย่างนี้ นี่ แค่เห็นแล้วรู้ว่าเห็นตรงนี้ก็ได้

โยม –  อ๋อ รู้แค่นี้ก็ได้

พระอาจารย์ –  ก็ได้ หรือว่าได้ยินเสียงฝนมั้ย นี่ รู้ว่าได้ยิน แค่นี้ หรือว่าทุกอย่างที่เป็นปัจจุบัน เสียง รูป นี่เป็นปัจจุบันแล้ว

โยม –  รู้ว่าได้ยินก็เหมือนปกติธรรมดา

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วไง แต่ว่าธรรมดาเราไม่รู้เลยว่าได้ยินนะ เข้าใจมั้ย เราไม่รู้เลยว่าได้ยินน่ะ มีแต่ได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าได้ยินอยู่ 

มันต่างกันนะ ได้ยินธรรมดา นี่เขาเรียกว่าได้ยินด้วยความหลง แต่ว่ารู้ว่าได้ยินนี่ รู้ที่ใจนะ มีใจดวงนึงที่รู้อยู่ว่ามีเสียงแล้วได้ยินอยู่

โยม –  อ๋อ พร้อมกัน ...ที่ว่าได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน อันนี้รึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ยังไม่ต้องคิดมาก

โยม –  (หัวเราะ)

พระอาจารย์ –  ให้รู้แค่นี้ ฝึกเจริญอย่างนี้ก่อน ให้กลับมารู้อาการในปัจจุบันให้ชัด

โยม –  ไม่ต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเฉพาะนะคะ

พระอาจารย์ –  ได้ทั้งนั้นแหละ ขอให้เป็นอาการใดก็ได้ในปัจจุบัน


..............................