วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 4/1







พระอาจารย์

4/1 (540509A)

9 พฤษภาคม 2554



พระอาจารย์ – เรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ ... 
จนถึงที่สุดแล้ว มันจะเห็นว่าสองสิ่งนี้เป็นสิ่งเดียวกัน  
โลกกับธรรมคืออันเดียวกัน จิตกับธรรมอันเดียวกัน  
เมื่อใดที่เห็นจิต เมื่อใดที่เห็นธรรม ที่ปรากฏต่อหน้าจิต 
ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีอะไรในนั้น  
นั่นแหละ จิตและธรรม...เป็นหนึ่ง ...ไม่แบ่ง

เพราะไม่มีอะไรในจิต ... จิตในที่นี้หมายถึงใจนะ  
ไม่มีอะไรในใจ แล้วก็ไม่มีอะไรในขันธ์  
มีอะไรในขันธ์ มีอะไรในใจ...ไม่มีอะไร  
แล้วมันมีอะไร  มีแต่ความไม่มีอะไร...คืออนัตตา  นั่นแหละ สูญ..โญ 
จิตกับธรรมเป็นหนึ่ง  เอกังจิตตัง เอโกธัมโม กลายเป็นธรรมเอก 
จิตหนึ่งธรรมหนึ่ง กลายเป็นธรรมเอก เป็นอันเดียวกัน


เบื้องต้นต้องแยกใจกับขันธ์ก่อน ... รู้กับขันธ์ รู้กับอาการ  

บอกไว้เลยว่าแค่รู้กับอาการ แค่รู้ ... แค่รู้ ก็เกินพอแล้ว  


แต่เวลาไปทำน่ะมันไม่ค่อยพอ มันจะให้รู้มากกว่านั้น ... ชอบมาก ชอบเกิน  ไม่เกินก็ขาด มีอยู่สองอย่าง มันไม่ยอมพอดีอ่ะ ... มันไม่พอดีเพราะมันเข้าไปยินดียินร้าย มันก็เลยจะให้เกินมั่ง ให้ขาดมั่งอยู่ได้น่ะ 'ไอ้นี่ก็ไม่ใช่ ไอ้นี่ก็ถูกแล้ว ไอ้นี่ก็ต้องเอาไว้เยอะๆ'  เนี่ย  มันมีสองอย่างอ่ะ ไม่เกินก็ขาด  เอ๊อ คือสุดโต่งทั้งคู่น่ะ  

ทำไงถึงพอดี ... ก็คือ 'ธรรมดา'...รับได้  ก็รู้มันไป อยู่กับมัน ด้วยความอดทน

เบื้องต้นต้องอดทนก่อน ขันติ...ต่อเสียงที่มันเสียดแทงจิต ต่อรูป ต่อการกระทำของสัตว์บุคคลที่มัน..'ไม่ได้เข้าแก๊บความเห็นกูเลย'  แน่ะ มันเสียดแทงอ่ะ... ต้องอดทนน่ะ  

จนกว่ามันจะเป็นปกติกับอาการนั้น ... เท่าทันอยู่บ่อยๆ  อย่าให้มันเผยอ อย่าให้มันขยับขยายไปตามความยินดียินร้าย  เนี่ย ไม่ให้มันงอกเงยออกมา  มันต้องทวน ด้วยฐานความอดทน อดกลั้น เรียกว่า ขันติ


โยม –  แล้วถ้ามันไม่ได้อดทนตรงนั้น แล้วเราเปลี่ยนมุมคิดหรือหนีไปเลย อย่างนี้ล่ะคะ  

พระอาจารย์ –  มันก็เป็นอุบายได้ชั่วคราวน่ะ  แต่เราไม่แนะนำ ... ถ้าจะหนีให้หนีกลับมาอยู่ที่กาย ให้กลับมารู้ตัว  

คำว่ารู้กายเนี่ย  พอกลับมารู้กายนี่ มันจะไม่ขาดจากผัสสะภายนอกหรอก  แต่มันจะลดการให้น้ำหนัก เข้าใจมั้ย  มันจะลดการเข้าไปมีน้ำหนักในผัสสะหรือในอาการของรูปที่เคลื่อนไหว เสียงที่กำลังดำเนินอยู่  เหมือนกับมันจะเฉลี่ยออกมา ... จริงๆ อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าหนีเลยนะ 


โยม   มันเข้าไปดูกายเพิ่ม 

พระอาจารย์ –  เออ  


โยม –    แต่จริงๆ แล้วอาการมันก็ยังคงอยู่ 

พระอาจารย์ –  ยังอยู่  แต่ว่ามันจะเห็นว่า...จะค่อยๆ กลางขึ้นน่ะ  ค่อนข้างเบาขึ้นในอารมณ์ หรือว่าความยินดียินร้ายก็จะน้อยลง เข้าใจมั้ย   


โยม –  อันนี้เป็นหนทางที่ถูกไหมคะ  

พระอาจารย์ –   ถูก ... แต่ไม่ใช่หนีในลักษณะที่ว่าไม่อยากเจอมันอีก อันนั้นน่ะเป็นเจตนาที่เข้าไปงด เจตนาที่จะไปกดข่ม

ให้กลับมารู้ตัว ... พอรู้ตัวแล้วก็ไม่ได้ปฏิเสธรูป ไม่ได้ปฏิเสธเสียง หรือหนี...ตั้งใจจะหนีมัน  แต่ให้มันเป็นสมดุลมากขึ้น  เพราะเมื่อใดที่เราไปอยู่กับเสียง หรือว่าเสียงมันดึงดูดเราเข้าไป อย่างนั้นน่ะเขาเรียกว่ามันไม่สมดุล

เพราะนั้น กลับมาอยู่กับกายปัจจุบัน เพื่อรักษาสมดุล  แล้วมันจะเป็นกลางได้กับเสียงได้มากขึ้นๆๆ  แล้วก็จะเห็นว่า 'เออ สักแต่ลมๆ แล้งๆ'  ก็ไม่ค่อยเอาถูกเอาผิดกับเสียง 

บางทีเวลาพูดไปแล้วฟังอยู่น่ะ  ลองสังเกตสิ  ลองนั่งฟังเป็นคำๆ รู้เป็นคำ รู้ปัจจุบันคำ  พอจบเรื่องแล้วจะรู้สึก 'ฮึ้ย ไม่รู้เรื่องเลย พูดอะไรวะ'  แต่รู้นะ รู้ปัจจุบันเป็นคำเป็นขณะๆ ไป กับเสียงน่ะ แล้วดูเป็นปกติกับเสียงที่มากระทบๆ ...แล้วรู้ตัวอยู่ตรงนั้นน่ะจบ


โยม   เหมือนไม่มีความหมาย 

พระอาจารย์ –  เออ มันไม่มีอะไรเลยนั่นแหละ  แต่เมื่อไหร่ที่ไม่พอดีในปัจจุบันนะ ไม่รู้ตัวอยู่กับปัจจุบันเป็นฐานนะ...เดี๋ยวเป็นเรื่อง  เสียงดับไปแล้ว ยังมีสัญญาตามหลังอีก  แล้วในขณะที่มีเสียงเกิดก็ด่าไปด้วย ชมไปด้วย ในขณะฟังเสียง  นี่อย่างนี้เรียกว่าไม่กลาง มันเข้าไปแล้ว อย่างเนี้ย

แต่ถ้าเป็นปัจจุบัน แค่เสียงกับรู้นะ ไม่มีเรื่องเลย จบๆๆ  จบเป็นขณะๆ ไป จบเป็นปัจจุบันๆ ไป  นี่เขาเรียกว่าเป็นกลางกับเสียง ก็จะเห็นว่าเสียงเป็นแค่อาการหนึ่ง  ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี ไม่มีความหมาย  

มีความหมายแค่ตั้งอยู่ในขณะนั้น แล้วก็ดับไปในขณะนั้น ... เหตุเกิดที่ไหน มันก็ดับอยู่ตรงนั้น  มันดับ ณ ที่เกิดเหตุแล้ว

แต่ถ้าไม่กลางเมื่อไหร่  มันไม่ยอมดับ ณ ที่เกิดเหตุ  มันไปเกิดใหม่ในใจ มันกลับมาเกิดในใจเราอีกต่อเนื่อง  ทั้งที่เหตุจริงๆ น่ะมันดับแล้ว เหตุของเสียงน่ะมันดับตั้งแต่ขณะที่มันปรากฏแล้ว เป็นคำๆ น่ะ  สังเกตดูดิ

เพราะนั้นถ้าจิตมันพอดีกับตรงนั้น ในปัจจุบันของเสียงน่ะ  ไม่มีเรื่องตามหลัง แล้วก็ไม่มีเรื่องข้างหน้า  บางทีก็ลืมไปเลยว่าพูดอะไร สัญญาก็ไม่มี

ตั้งใจไว้...ตั้งแต่ตื่นนอนเลย อย่าเพิ่งรีบลุก รู้ตัวก่อน  ตั้งสติกับตัวก่อน แล้วค่อยๆ ดูอาการเคลื่อนไหวต่อเนื่องไป  ขาดแล้วก็ตั้งใจใหม่  หยุด ทำอะไรอยู่...หยุด...รู้...ตั้งใจอยู่กับเนื้อกับตัวก่อน แล้วตั้งใจจะทำอะไรก็ทำต่อ ให้มันต่อเนื่อง เนี่ย


โยม –   แม้ว่าบางที ณ ขณะนั้นมันจะมีความคิดเข้ามา วึบ เราก็รู้ความคิดดับไป แล้วกลับมาต่อที่กาย ณ ขณะที่นั้น

พระอาจารย์ –  ไม่ไปยุ่ง ไม่สนใจความคิดเลย  ต่อให้มันไม่ดับ ก็ไม่ยุ่ง  ต่อให้มันมีความคิดวนอยู่ในสมอง ก็ไม่เดือดร้อน     


โยม –  ก็ใช้กายเป็นฐานที่ตั้งอย่างเดียว 

พระอาจารย์ –  ใช่ ... ก็เป็นเรื่องสักแต่ว่าคิด ไม่สนใจความคิด  เมื่อสักแต่ว่าคิดไม่สนใจความคิด ก็หมายความว่ามันไม่เข้าไปยินดียินร้ายกับความคิดน่ะ ... อยากมีก็มีไปดิ อยากปรุงก็ปรุงไปดิ เรื่องของความคิด ...ไม่เกี่ยว  ก็รู้ตัวอย่างเดียว


โยม –  โดยปกติของมัน มันก็ปรุงอยู่แล้วใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ ... คำว่าจิตเงียบ คือไม่ไปยุ่งกับมัน ไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์มัน ไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับมัน ไม่เข้าไปเออออห่อหมกกับมัน ไม่เข้าไปยกย่องมัน อย่างเนี้ย ... ก็เงียบ รู้เงียบๆ รู้แบบสำรวม  รู้แบบไม่มีคำพูด นั่นแหละ

ส่วนอาการพวกนี้ของขันธ์นี่ มันจะบ้าบอคอแตกก็เป็นเรื่องของขันธ์  ก็เป็นขันธ์ปรุงแต่ง...ไม่ใช่ของเรา  เป็นเรื่องของขันธ์มันดำเนินน่ะ  ทำไมจะไปยุ่งกับขันธ์โดยเข้าใจว่า ขันธ์จะต้องเป็นอย่างนั้น ขันธ์ต้องไม่เป็นอย่างนี้  ...ไอ้นี่หมายความว่าขันธ์เป็นของเราสิ ใช่ป่าว  

จะไปยุ่งทำไม ก็เรื่องของขันธ์น่ะ  อยากคิดก็คิดไปดิ มันอยากวนไปวนมา มันก็วนไปดิ  มันบ้าบอคอแตกคิดก็คิดไปดิ ...ไม่เกี่ยว  รู้ตัวอย่างเดียว  แล้วก็อยู่กับความรู้ตัว เป็นปกติกับความรู้ตัว  แล้วมันก็เลยปกติกับขันธ์ กับความคิด ความจำ อารมณ์ ...คือ 'ช่างหัวมัน'

ลักษณะอย่างนี้ มันถือว่าเป็นการชำระตะกอน  ความฟุ้งซ่าน ความช่างคิด ช่างหาเหตุหาผล ช่างจดช่างจำ พวกนี้ มันก็จะเป็นตะกอนที่ขึ้นมาให้วุ่นวี่วุ่นวายอยู่อย่างนั้นแหละ 

สักพักนึง เมฆหมอกก็จะกระจาย ฟ้าก็จะใส  ความฟุ้งซ่านในขันธ์มันก็ถูกจัดเรียงลำดับ ให้เกิดความสมูธราบเรียบ แล้วเกิดความสมดุล  แล้วใจก็จะว่าง ใจก็จะเบาขึ้น ขันธ์ก็จะว่างขึ้น เบาขึ้นจากความปรุงความแต่งอดีตอนาคต  มันก็จะค่อยๆ กลมกลืน สมูธแบบพอดี

แต่ตอนนี้มันกำลังฟุ้งกระจาย ... อย่าไปสนใจมัน  อันเนี้ย จะโทษใครไม่ได้  มันเป็นโทษจากความโง่เขลาต่อเนื่องที่เคยทำมา  มันไปสร้างนิสัยความคิด ชอบคิด ช่างหาเหตุหาผล เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ต้องคิดต้องหา  มันก็เลยเป็นสันดานที่มันฟุ้งกระจายอยู่ตลอดเวลา ... ต้องเสวยวิบาก เป็นวิบากขันธ์ที่เราไปสร้างไว้ด้วยความไม่รู้

พอเราเริ่มปล่อย รู้กลาง รู้วาง รู้ปล่อยรู้วางกับมัน ช่างหัวมันปุ๊บ มันก็จะหมดกำลังของมัน  ความฟุ้งซ่านในใจก็น้อยไป ความปรุงแต่งแบบไม่มีเหตุไม่มีผลก็จะน้อยลง  

มีมั้ยล่ะ...ความคิดแบบมันลอยของมันมาเองน่ะ ห้ามก็ไม่ฟัง อย่างเนี้ย  มันก็มีอ่ะ  จะไปโทษใครล่ะ  บอกเท่าไหร่มันยิ่งไม่หยุด ยิ่งบอกให้มันหยุดยิ่งหงุดหงิดน่ะ มันก็ยิ่งคิดแบบไม่มีหูรูดไปใหญ่เลย  นั่นแหละ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน 

ถือว่า...ถ้าเป็นหมอเขาเรียกว่ารักษาไปตามอาการ แล้วแต่อาการของมันจะแสดง  ก็ช่างหัวมัน ให้มันแสดงอาการของมันไป  เหมือนม้าที่มันพยศ พอมันพยศจนได้ที่ได้ทางแล้ว มันก็สงบเสงี่ยมเดินเป็นปกติของมัน  จิต-ขันธ์ก็จะดำเนินเป็นปกติของมัน

เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาเราใช้ขันธ์แบบไม่ปกติกับมันเลย มีแต่ขาดกับเกิน  แล้วก็ไปบังคับกดข่ม ข่มขู่มัน ไปสร้างให้มัน ผสมโรงกับมัน ไปเขย่ามัน ไปอะไรกับมัน วุ่นวี่วุ่นวายจับต้นชนปลายไม่ถูกน่ะ  เพราะฉะนั้นอานิสงส์ตกค้างน่ะมันมี

พอเริ่มมาเรียงลำดับของศีลสมาธิปัญญาแล้ว  ไอ้ขันธ์มันจะไม่ยอมเรียงลำดับให้ มันจะมั่วซั่วกันไปหมดอยู่อย่างนั้น  เป็นผลจากการที่เราไปเขย่ามันซะมั่วไปหมด มันก็ฟุ้งกระจายอยู่อย่างนั้นแหละ  ความคิดความปรุงมันก็ยังติดค้าง ตามมาหลอกมาหลอนอยู่

สักพักนึง สักระยะนึง ดูไป  ไม่ต้องสนใจกับมัน ไม่ต้องไปดับ ไม่ต้องไปละมันหรอก  เกิดเอง แก่เอง ตายเอง ก็คือว่าความเป็นทุกขัง  มันไม่เที่ยงหรอก ความฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยง มันก็แปรปรวนของมันไป  ตราบเท่าที่รู้ทันมันแล้วไม่เข้าไปประกอบเหตุกับมัน ให้มันเป็นกลางซะ

จนเป็นกลางกับทุกสรรพสิ่ง จนเห็นว่าทุกสรรพสิ่งไม่ใช่เรื่องของเรา  ไม่มีเราในสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่เราในสิ่งนั้น  นั่นแหละ มันจะถอยออก...ถอยออกไปเรื่อยๆ  จิตก็จะคืนสู่ความเป็นปกติธรรมดามากขึ้น


พอเริ่มปฏิบัติ พวกเราก็จะวาดภาพให้ค่าของการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบว่า จิตจะต้องเงียบ ไม่มีอะไร ไม่มีอารมณ์ ไม่มีความรู้สึก  แค่นี้มันก็เกิดเงื่อนไขขึ้นมาแล้ว ... ตัวตนของนักปฏิบัติ รูปแบบของจิตของนักปฏิบัติ ก็เป็นโมเดลขึ้นมาแล้ว...โมเดลที่จะไปละโมเดลเดิม ... มันก็ทุกข์ซ้อนทุกข์ อุปาทานซ้อนอุปาทาน

ก็ให้มันเป็นของจริงทั้งหมด เรียกว่าเป็นธรรมในปัจจุบัน  แล้วก็รู้ธรรมในปัจจุบันนั้นด้วยความตรง  รู้เฉยๆ  ไม่เฉยก็เอามาอยู่กับกาย รู้กายเป็นเครื่องกำกับ

ไม่ต้องสนใจอะไรเลย ไม่ต้องสนใจจิต ไม่ต้องสนใจอารมณ์ ไม่ต้องสนใจความคิดเลย  เอากายอย่างเดียวให้ต่อเนื่อง เอาสิ ลองดู  มันอยู่ตลอดนี่  ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องทำอะไรมากด้วย ไม่ให้ลืมตัว ไม่ให้ลืมว่าอยู่ในท่าไหน  แล้วให้เห็นท่านั้นต่อเนื่องไป  เอาแค่เนี้ยพอแล้ว มันเข้าใจเองน่ะ

ไม่งั้นก็จะมานั่งงมเข็ม งมหอยในมหาสมุทรอยู่เนี่ย จะจับนั่นจะจับนี่ จะคอยจ้องจับผิดมันอยู่เนี่ย  มานั่งปฏิบัติก็จ้องจับผิดจิต ฮึ  เขาเรียกว่าดักรู้ เข้าใจป่าว เข้าใจที่ว่าดักมั้ย '..มันจะมีอะไรเกิดขึ้นวะ มีอะไรมั้ย  เดี๋ยวจะมีนี่มั้ย' ... นี่มันดักรออยู่

ไม่ต้องไปสนใจ ... กายมี ทำไมไม่ดู ทำไมไม่รู้ ... นั่งรู้ว่านั่ง เดินรู้ว่าเดิน เฉยๆ รู้ว่าเฉยๆ  เย็นร้อนอ่อนแข็งรู้อยู่อย่างนี้ เป็นปัจจุบัน  ตาเห็นรูป..รู้ หลุดไปจากกายไปเห็นรูป อ้อ รู้ว่าเห็น ได้ยินรู้ว่าได้ยิน หลุดจากกายก็รู้ว่าได้ยิน แล้วก็กลับมารู้กายต่อ

พอรู้กายต่อแล้วมีสัมปชัญญะ มันก็ทั้งรู้กายแล้วก็ได้ยินด้วย เอาดิ  แต่ถ้าหลุดไปมันก็รู้ว่าหลุดไป ด้วยสติ  แล้วก็กลับมารู้กาย แล้วก็เห็นกาย ปุ๊บ มันก็จะเห็นกายพร้อมกับได้ยินเสียง  เนี่ย สัมปชัญญะ จะเห็นในอายตนะ  เพราะอายตนะก็เป็นส่วนหนึ่งของกาย เมื่อเห็นกายโดยรวมแล้ว มันจะเห็นหมดโดยรอบ มันจะเห็นอายตนะ  เพราะว่ากายกับอายตนะเป็นตัวเชื่อมต่อกับโลกภายนอก

แต่ถ้ามาเพ่งอยู่ที่กายที่เดียว มันจะขาดจากโลก  ถ้าลักษณะนี้เขาเรียกว่ากายคตาสติ เป็นกรรมฐาน  แต่ถ้าอยู่กับความรู้ตัว ไม่ได้เพ่งกาย  มันจะรู้รอบเห็นรอบ  มันเชื่อมต่อกับโลกยังไง ทางเสียง ทางรูป ทางกลิ่น ทางรส ทางเย็นร้อนอ่อนแข็ง  เนี่ย มันจะเห็น แต่ไม่ห้าม 

แต่ถ้าไปเพ่งอยู่ที่กายหรือว่ารู้กายด้วยการเพ่งโดยไม่รับรู้อายตนะนี่ มันจะไม่รู้เรื่องภายนอกเลย  มาค้นคิดเพ่งอยู่ที่แขน ที่ขา ที่มือ โดยไม่ใส่ใจภายนอกเลย  นี่เรียกว่าเป็นกายคตาสติ เป็นกรรมฐานหนึ่ง  หรือว่าอยู่กับลมหายใจ มีแต่ลมๆๆ กับรู้ ข้างนอกนี่ดับหมด


โยม –  มันก็เป็นสมถะ   

พระอาจารย์ – ใช่  ก็ทำได้...ด้วยความเข้าใจ เป็นช่วง  แต่อย่าเอามาทำตลอด  

ถ้าทำตลอดต้องอยู่ด้วยความรู้ตัว รู้ตัวกาย ยืนเดินนั่งนอน  ให้รู้เห็นอาการ เหมือนกับมีตาอีกดวงหนึ่งมองอยู่  มองอยู่ว่ากำลังขยับ กำลังสืบเนื่อง เห็นเจตนาในการก้าว การเดิน การไหว การหยิบ การจับ  อย่างนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ รู้รอบเห็นรอบ

แล้วระหว่างนั้นอะไรจะเกิดขึ้นมาภายใน ช่างหัวมัน  แค่เห็น แล้วก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับมัน  ไม่ห้าม ไม่บังคับ ไม่ดีใจไม่เสียใจกับมัน ไม่สงสัยกับมัน ไม่หาเหตุหาผลกับมัน  

เนี่ย มันก็มี...ในระหว่างดำเนินรู้กายเห็นกายอยู่นี่ รู้อายตนะภายในภายนอกอยู่นี่  มันก็มีไอ้ภายในคิดมั่งปรุงมั่งอะไรมั่ง ...มันก็มี  แต่ไม่ต้องหาเหตุหาผลมันหรอก ไม่ต้องจับผิดมันหรอก ช่างมัน  เราก็ทำหน้าที่ของเรา ทำงานของเราต่อ คือรู้ตัว รู้อายตนะไป อยู่กับกายไป

แล้วมันก็จะเกิดความแยบคายสังเกตได้เองว่า '..อ๋อ พอรู้อย่างนี้ปุ๊บ มันก็ต่างคนต่างอยู่' นามก็ผลุบๆ โผล่ๆ ไปๆ มาๆ ไม่เห็นมีอะไร  ไม่เห็นมีอะไรเป็นสาระแก่นสารในตัวของมันเองเลย  เป็นแค่อาการวูบๆ วาบๆ เกิดๆ ดับๆ ไม่รู้จะเรียกอะไรดี  

ดีก็ไม่ว่า ไม่ดีก็ไม่ใช่  มันเป็นอะไรไม่รู้ ...เป็นแค่ปรากฏการณ์ภายใน แค่นั้นเอง  เป็นธรรมชาติภายในที่ปรากฏวูบๆ วาบๆ อยู่  เราไม่ต้องไปบัญญัติไปสมมุติกับมัน หรือหาที่มาที่ไปของมัน  ก็จะเห็นความเป็นจริงโดยรวมของมัน  ก็คืออาการที่เกิดดับ...เป็นปกติของมันอยู่อย่างนั้น

แล้วต่อไปมันก็ราบเรียบไปเรื่อยๆ  ไอ้อาการที่มันเกะๆ กะๆ ภายในน่ะ  ฟุ้งซ่านโดยไม่มีเหตุมีผล คิดโดยไม่มีเหตุมีผล ไปหยิบจับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ในสัญญา ในอนาคต มาโดยไม่มีเหตุไม่มีผล  มันก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ

อันนั้นเป็นผลตกค้างมาแต่เก่าก่อน  นิสัยช่างคิดช่างหา ช่างจดช่างจำ ช่างประเมิน ช่างคาดการณ์ช่างหาเหตุหาผล ช่างวิเคราะห์พวกเนี้ย  มันก็ฟุ้งกระจายทั้งวันทั้งวี่  อย่าไปเดือดร้อนกับมัน ทำงานของเราไป  งานคือรู้กายเห็นกาย รู้เห็นอายตนะภายในภายนอก เท่าทันความยินดียินร้ายในอายตนะภายในภายนอก

ภายนอก...เสียง ยินดีมั้ย ยินร้ายมั้ย เท่าทัน  ไม่ต้องไปต่อเติมเสริมแต่งกับมัน ด้วยความคิดความจำ  หรือมีเหตุมีผลกับเสียงนั้น หรือไปหาเหตุหาผลกับเสียง กับรูป กับการกระทำของสัตว์บุคคลนั้นๆ ..ทำไมทำอย่างเนี้ย ทำไมไม่ทำอย่างเนี้ย มันน่าจะทำอย่างนี้ซิ อย่างเนี้ย

ไปหาเรื่องกับเขาทำไม  จิตมันชอบหาเรื่อง ทำไมจะรู้เฉยๆ ไม่ได้รึไง เห็นเฉยๆ ไม่ได้รึไง เนี่ย  พอรู้ทันรู้ตัวปุ๊บ ก็ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม  

เพราะมันไปถอดถอนความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไปในตัวด้วย ...  คือไม่ได้ไปหมายเอารูปนั้นเป็นสัตว์ ไม่ได้หมายเอารูปนั้นนามนั้นนามนี้ รูปนามนั้นเป็นสมมุติบัญญัติว่าชื่อนั้นชื่อนี้  ก็เป็นแค่รูปธรรมหนึ่งนามธรรมหนึ่ง ที่วูบๆ วาบๆ ข้างหน้าเรา

มันเป็นภาพ... จริงๆ ไอ้ที่เราเห็นทั้งหมดมันเป็นภาพนะเนี่ย  แต่มันมี ๖ มิติ  รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์  มันเลยเหมือนจริงมาก  แต่โดยรูปที่เห็นจริงๆ คือแค่ภาพ  

แต่เราก็ไปหมายมั่นว่าภาพนั้น...เป็นชาย เป็นหญิง ชื่อนั้น ชื่อนี้  แล้วภาพที่เคลื่อนไหวนี้ การเคลื่อนไหวนี้ถูก การเคลื่อนไหวนี้ผิด การเคลื่อนไหวนี้ดี การเคลื่อนไหวนี้ไม่ดี  อันนี้ก็คือหมายมั่นในภาพด้วยความไม่รู้เท่า ...ทั้งที่ว่าภาพคือภาพ

เงียบ  เห็นขันธ์เงียบๆ มั้ย  เขาก็แสดงอาการเงียบๆ ของเขาน่ะ ในความเป็นจริงนะ  เสียงก็แสดงออกมาเป็นเสียงเงียบๆ  แม้แต่เสียงมันจะดังขนาดไหนก็ตาม มันก็แสดงอยู่ในนั้นด้วยความเงียบ  มีความเงียบอยู่ในมัน 

เงียบยังไง ... เงียบจากความเป็นตัวตน เงียบจากเจตนา เงียบจากความสมมุติเอาตัวเองว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล...ไม่มี ไม่มีอยู่ในนั้น

จิตก็รับรู้ด้วยอาการที่เงียบ กับขันธ์ที่เงียบที่เรียกว่าทุกขสัจ  ก็เห็นเป็นแค่ทุกขสัจ หรืออาการที่เคลื่อนไหวไปมา หรือแปรปรวน มากบ้างน้อยบ้าง ตามลักษณะของการปรุง  เหตุปัจจัยที่มาปรุงมาแต่ง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้น


รู้กาย...ให้แน่ ให้ชัด ให้ต่อเนื่อง  แล้วทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกันหมด สติปัฏฐานสี่รวมเป็นหนึ่งหมด  

รู้อยู่กับตัว ตัวในปัจจุบัน  ตัวอดีตตัวอนาคตไม่ต้องรู้ ตัวคนอื่นก็ไม่ต้องรู้  รู้ที่ตัวเอง ตัวนี้  แต่ละคนมันมีคนละตัว...คนละตัวอยู่แล้ว  

แล้วก็ตัวเนี่ยมันมีแค่ตัวนี้ คือตัวตรงนี้  ตัวข้างหน้าไม่มี ไม่เอา  ไอ้ข้างหน้าเป็นรูปในความคิด ข้างหลังก็เป็นรูปในสัญญา  เขาเรียกว่ารูปสัญญากับรูปสังขาร  ข้างหน้าข้างหลังไม่เอา เอารูปเดี๋ยวนี้  เพราะนั้นรูปเดี๋ยวนี้จึงจะเป็นความจริง หรือว่าเป็นสัจจะ เท่านั้น  

เพราะนั้นการที่กลับมาอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน นั่นแหละปัญญา เพื่อเข้าใจว่าไอ้ที่อยู่ในปัจจุบันมันคืออะไร  

เมื่อรู้อยู่กับกายปัจจุบันเนี่ย ก็จะเห็นว่าที่ตัวคือตัว ไม่เป็นชายไม่เป็นหญิง ไม่เป็นใครไม่เป็นของใคร เป็นแค่ตัว เป็นแค่ก้อน เป็นแค่สังขารหนึ่ง เป็นแค่กองซากหนึ่งรวมกันกองหนึ่งเท่านั้นเอง  เนี่ย ก็จะเห็นธรรมปัจจุบันตามความเป็นจริงได้ชัดเจนขึ้น  

แต่ถ้าไปเห็นตัวเราในอดีต ตัวเราในอนาคต กายนี้ในอดีต กายในอนาคตนี่  มันประกอบด้วยสมมุติบัญญัติ ที่มาปิดบังความเป็นจริงหมด  ทำให้ก่อเกิดความเห็นที่มาลบเลือนความเป็นจริง มีตัณหามาประกอบกับรูปในอดีต มีตัณหามาประกอบรูปอนาคตอย่างนี้ สัญญาอารมณ์มันก็เข้ามาปรุงแต่ง ทำให้ปิดบัง ความเป็นจริงก็เลอะเลือนเลื่อนลอยไป

กลับมารู้กับตัวในปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าตัวคือตัว  รู้ตัว ตัวคืออะไร  ตัวเป็นก้อน ตัวเป็นชิ้น ตัวเป็นแค่เหมือนกับหุ่นยนต์  เป็นก้อนดินก้อนน้ำที่มารวมกัน แค่นั้นเอง จริงๆ เราไม่ต้องไปรู้ด้วยเป็นก้อนดินก้อนน้ำ แค่สิ่งจับต้องที่ไม่มีความเป็นเราอยู่ในตัวมัน

รู้อยู่แค่นี้แหละ ความเป็นจริงทั้งหมด  แล้วทุกอย่างมันร้อยเรียงกันว่าสิ่งที่ถูกรู้คือสิ่งที่ถูกรู้จริงๆ  ไม่ได้เป็นอะไร ไม่มีความหมายอะไรในสิ่งที่ถูกรู้เลย 

(เล่าถึงพระยสกุลบุตร)

พระยสกุลบุตร เป็นลูกเศรษฐี วันนึงตื่นขึ้นมาก็เห็นนางระบำ นางข้าทาสบริวารนอนกันระเกะระกะผ้าผ่อนหลุดลุ่ย เหมือนผีเหมือนเปรตเหมือนซากศพ  รู้สึกเดือดร้อน ทนไม่ได้  จิตมันหวน... ก็บอกว่า 'ที่นี่วุ่นวายหนอๆ ที่นี่ขัดข้องหนอๆ' 

เดินไปตามทางเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ยินพระยสเดินบ่นไปตามทาง 'ที่นี่วุ่นวายหนอๆ ที่นี่ขัดข้องหนอๆ'  พระพุทธเจ้าก็เข้าไปใกล้ๆ บอกพระยสว่า 'ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง' ...  แค่บอกแค่นี้พระยสะเข้าใจเลย

เพราะที่พระยสะเห็นน่ะ ..ที่นี่วุ่นวาย...รูปที่เห็นวุ่นวาย  ที่นี่ขัดข้อง...เสียงที่ได้ยินขัดข้อง  แต่พระพุทธเจ้าพูดเพื่อให้ได้สติว่า 'ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง'  คือที่ตรงนี้...ที่ปัจจุบัน  ตรงที่รู้กับสิ่งที่ปรากฏคือตรงนี้จึงไม่วุ่นวาย ... ให้รู้อยู่กับตรงนี้ ไม่ใช่ไปรู้อยู่ตรงโน้น

ไปอยู่กับที่รูป ไปอยู่กับที่เสียง  มันก็จะวุ่นวายไม่จบสิ้น ไม่มีที่หยุดอยู่   มันมีแต่ความขัดข้องแล้วก็วุ่นวายตลอด  ตราบใดที่เรายังออกไปกับมัน ให้ค่าให้ความสำคัญกับมัน  

แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าที่นี่ คือปัจจุบันไม่วุ่นวาย  ที่นี่คือปัจจุบัน  พระยสจึงย้อนกลับสู่ปัจจุบัน  ก็เห็นเลย  กลับมาเห็นเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ แล้วก็ปัจจุบัน จิตคืนสู่สมดุลของมัน

เพราะนั้นว่าพระพุทธเจ้าเวลาท่านสอน คือท่านไม่ต้องสาธยายธรรมมากมาย  แค่พูดเพื่อให้ได้สติ รู้ตัว  ด้วยภูมิปัญญา...สามารถแยบคายได้เลย

เหมือนองคุลีมาล  เห็นมั้ย จะฆ่าแม่ พระพุทธเจ้าก็เดินขวาง  องคุลีมาลน่ะวิ่งไล่ตามจะฟันพระพุทธเจ้า ซึ่งก็เห็นพระพุทธเจ้าน่ะเดินธรรมดา  แต่องคุลีมาลน่ะวิ่ง วิ่งเท่าไหร่วิ่งจนเหนื่อยก็ไม่ทันพระพุทธเจ้า  องคุลีมาลก็ตะโกนเรียกว่า 'สมณะหยุดก่อนๆ'  พระพุทธเจ้าก็หันมาพูดกับองคุลีมาลว่า 'เราน่ะหยุดแล้ว เธอน่ะยังไม่หยุด'

พูดแค่นี้ องคุลีมาลเข้าใจเลย ว่าต้องหยุดที่จิต  ตราบใดที่จิตยังเดินไปข้างหน้า ไม่เจอ ไม่ทัน วิ่งตามเท่าไหร่ก็ไม่ทัน  เนี่ย ท่านน้อมกลับเป็นโอปนยิโกเลยนะ  พอพระพุทธเจ้าหันมาบอกว่า 'เราน่ะหยุดแล้ว เธอน่ะยังไม่หยุด'  

คราวนี้คนก็ไปตีความว่าหยุดการฆ่า...ก็ว่ากันไป  แต่ในความหมายจริงๆ คือหยุดที่จิต รู้ในปัจจุบัน  

องคุลีมาลเข้าใจความหมายตรงนี้เลย ถึงกราบพระพุทธเจ้าเลย  โสดาปัตติมรรคปัตติผลเกิดตรงนั้นเลยนะ  จิตหยุดจริงๆ แล้วก็เห็นเลย ปุ๊บนี่ ทุกอย่าง...ตรงนี้หยุด ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ  ไม่มีการเข้าไปหาเข้าไปทำ ไม่ทำอะไรเลย มันเป็นอยู่อย่างนั้นเลย ... เห็น เนี่ย อารมณ์

จิตก็เห็นตามเป็นจริง สิ่งหนึ่งวิ่ง สิ่งหนึ่งหยุด  สิ่งหนึ่งเป็นไตรลักษณ์ สิ่งหนึ่งรู้  นี่เบื้องต้นพระโสดาบัน  หยุดการกระทำทั้งปวง หยุดเจตนาในการที่จะไปอะไรกับขันธ์  โลกก็คือความหมุนไป โลกก็คือไตรลักษณ์ สิ่งที่อยู่หน้าใจทั้งหมดคือไตรลักษณ์ นี่เบื้องต้นพระโสดาบัน ท่านเห็นอย่างนี้ก่อน

แต่จนต่อเมื่อถึงพระอนาคา จึงจะมาเห็นสองสิ่งเป็นธรรมเดียวกัน เป็นหนึ่ง คือความไม่มีตัวไม่มีตน ... แต่เบื้องต้นนี่คือเห็นตรงนี้หยุด ตรงนี้ไม่หยุด เป็นธรรมดา แล้วไม่ยุ่งกับมัน

เนี่ย ละซึ่งเจตนาทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม อัพยากฤต  ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน  เห็นขันธ์ตามความเป็นจริงก่อน นี่ แค่นี้ก็ละสักกายแล้ว ละความเห็นผิดว่าขันธ์เป็นเรา ขันธ์เป็นของเรา  แต่ยังไม่แจ้งนะ จะไปแจ้งต้องไม่เห็นว่าขันธ์หรือใจนี่เป็นสัตว์บุคคล 

อย่าไปประมาทการดูกาย การรู้กาย อย่าคิดว่ามันหยาบ ... เมื่อศีลสมาธิรวมลงที่ใจเมื่อไหร่ ตั้งมั่นปั๊บอยู่ภายในที่เดียวปั๊บ ก็จะเห็นขณะแรกของการเกิดและดับของนามทั้งหลายทั้งปวง  คำว่านามนี่รวมกันทั้ง ๔ ตัวนะ สัญญา เวทนา สังขารและวิญญาณ เป็นเรื่องเดียวกัน

เอาให้มันตั้งมั่นก่อน ใจมันตั้งมั่นลงที่ฐานใจ ... เพราะนั้นมันจะร้อยเรียงให้ใจรวมลงเป็นหนึ่งในปัจจุบัน ต้องมาอาศัยกายนี่เป็นกระจก กลับมาสู่ใจ รู้ในปัจจุบัน  จนไม่แตกกระสานซ่านเซ็นออกไป ในอดีตในอนาคต ในนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง  มันจึงมาเรียนรู้ส่วนที่เป็นนามธรรมว่าเป็นไตรลักษณ์

แต่ในระหว่างที่เรารู้กายรู้ตัว มันก็จะเห็นอารมณ์ที่มันวูบๆ วาบๆ  จรมาเป็นระยะๆ  มันก็เห็นอยู่ในตัวอยู่แล้ว ... จนสติมันรักษาใจได้ มีความตั้งมั่นเป็นหนึ่งได้  ตอนนี้ไม่ต้องหาใจแล้ว มันไม่หายไปไหนแล้ว  มันอยู่ตรงนี้ อยู่ภายในนี่แหละ 

มันกลายเป็นสภาวะบุคคลนึงที่อยู่กับอีกบุคคลหนึ่ง  กลายเป็นทวิภพ มีสองตัว  ตัวหนึ่งเป็นซาก อีกตัวหนึ่งเป็นตัวเรา ตัวรู้ ... ตัวรู้ก็จะเห็นว่าเป็นตัวที่มีชีวิต แล้วเห็นอีกตัวหนึ่งไม่มีชีวิต สองตัว  เหมือนเป็นผีสิงอยู่ในศพ อย่างเนี้ย 

นั่นแหละว่าสติสมาธิปัญญาเริ่มรักษาใจอยู่ในที่เดียว มันถึงจะเห็น แต่ยังมีความเป็นบุคคลอยู่ข้างใน คือเป็นผู้รู้ ... มันก็เป็นไปตามกำลัง



(มีต่อ แทร็ก 4/2)