วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 4/7




พระอาจารย์

4/7 (540512B)

(แทร็กต่อ)

12 พฤษภาคม 2554




พระอาจารย์ –  รู้ไป รู้อย่างเดียว ไม่ต้องคิดอะไร ...จนกว่าจะหายงง  

แล้วมันจะหายงง ...มันจะเห็นเองว่า อันนี้คือแอบทำ อันนี้ใจแอบทำ อันนี้ใจไม่ได้แอบทำ ... แต่ตอนนี้ยังงง เพราะเรายังไม่ทัน  ยังเห็นปัจจัยที่มาประกอบอาการไม่หมด ไม่ขาด ... มันจึงสงสัย

ไม่ต้องสงสัย ... รู้ไปเรื่อยๆ คือการเจริญมรรค ...มรรคจึงจะไปแก้ความสงสัย ... มรรคไม่ได้แก้ด้วยความคิด การกระทำ ค้นหา 

รู้เข้าไป รู้ต่อไป ... มันจะเป็น “เรา” ทำขึ้นมา หรือมันเป็นอาการของมันโดยธรรมชาติ  อย่าไปพัวพัน  เกิดอะไรก็รู้ไปอย่างนั้น ... มันจะเกิดความรู้ชัดเห็นชัด จำแนกออกเป็นส่วนๆ ได้เอง

เขาจำแนกเอง เราไม่ต้องไปช่วยจำแนก ... ถ้าเราช่วยจำแนก ไอ้ตัวที่ช่วยจำแนกนั่นน่ะคือตัณหาหรือความอยาก ... อยาก...อยากรู้ใช่มั้ย อยากเข้าใจใช่มั้ย  เห็นมั้ย...แค่นี้เราก็ไม่ทันแล้วว่าเราอยาก  

รู้ไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นว่ามันมีปัจจัยอะไรมาประกอบเหตุนั้น ที่ปรากฏออกมาเป็นรูปขันธ์หรือนามขันธ์นี้  ...มันจะถอยกลับไปเรื่อยๆ จนชัดเจนในทุกกระบวนการของการปรากฏขึ้นมา  ตรงนั้นน่ะ จะแจ่มแจ้ง จะแจ้งขึ้นมา ชัดเจนขึ้นมา ทั้งในส่วนที่รู้และส่วนที่ถูกรู้  ...ความสงสัยก็จะหมดไป


โยม – นี้ก็เหมือนกับว่าเรารู้ว่าเราโกรธเพราะอะไร

พระอาจารย์ – มันจะรู้ในตัวของมันเอง


โยม – หรือว่าที่เกิดขึ้นมาเพราะอะไรนี่ หมายความว่าเราพยายามหาเหตุผลขึ้นมา

พระอาจารย์ – นั่นมันเรื่องของความอยาก ... ไม่ต้องหาเหตุหาผล เอาแค่ว่ามันปรากฏยังไง


โยม – รู้ว่าโกรธ ก็โกรธ

พระอาจารย์ – ใช่ โกรธมากมั้ย โกรธน้อยมั้ย


โยม – คือแค่รู้ว่าโกรธเท่านั้น แต่ไม่ต้องพยายามหาว่าใครทำอะไรเราหรืออย่างไร

พระอาจารย์ – ไม่ต้องไปหา ไม่ต้อง ไม่ต้องไปฟุ้งซ่าน  ไอ้นั่นน่ะความอยาก ไอ้นั่นน่ะความปรุงแต่ง  ... ยิ่งคิดยิ่งหา...ยิ่งโกรธ   ยิ่งคิดยิ่งหา...โกรธยิ่งอยู่นาน  ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าโกรธน่ะเป็นขี้ เขาเรียกว่า “ขี้โกรธ” ใช่ป่าว  โกรธจึงเป็นขี้ โกรธจึงเป็นไฟ ...จะไปถือมันทำไม

จะถือมาเพื่อพิจารณาทำอะไร มันร้อน ...มันร้อนแล้วจะไปถือหรือ  มันร้อน...ก็ละ ก็วาง ก็ทิ้งสิ  เข้าใจมั้ย  ...ไม่ต้องไปหาเหตุหาผลกับขี้หรอก ขี้ก็คือขี้ เขามีแต่กลบฝังทิ้ง ทำลายให้หายไปจากโลกนี้ ใช่ป่าว  ท่านไม่สะสมหรอกขี้น่ะ ท่านไม่มาวิจัยขี้หรอก  วิจัยก็คือ...ขี้ก็คือขี้...จบ  เห็นมั้ย รู้ตรงๆ

โกรธมาก...รู้ว่าขี้นี่กองใหญ่ เออ เหม็นมาก ...ขี้นี้กองน้อย เออ เหม็นน้อย  นั่นแหละ ความรู้แค่นี้พอแล้ว เพียงพอที่จะเข้าถึงนิพพานแล้ว


โยม – แล้วมันจะไปทำยังไงให้เราเข้าใจ ถึงจะตัดได้

พระอาจารย์ – ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องถาม รู้อย่างเดียว รู้ว่าสงสัย...จบ แค่นั้นจบ  เข้าใจคำว่าจบมั้ย  จบให้ได้ในปัจจุบัน  

ถ้ายังคิดต่อ เดี๋ยวมันก็จะมีมรรคผลในความคิดขึ้นมา เดี๋ยวจะมีนิพพานอีกหลายนิพพานขึ้นมา เดี๋ยวก็จะมีนิพพานของเรา นิพพานของหลวงตาบัว เดี๋ยวก็มีนิพพานของหลวงพ่อปราโมทย์ เดี๋ยวก็มีนิพพานของหลวงปู่มั่นมาสิ เดี๋ยวก็นิพพานของพระพุทธเจ้า  เอ้า ไม่รู้อันไหนนิพพานแท้แล้ว

จบ ... โง่เข้าไว้ ไม่รู้อะไรเลย  เหมือนอย่างที่บอกว่าความรู้ทั้งหมดน่ะเหมือนฐานปีรามิด ... “รู้” นี่คือยอดปีรามิด รู้ในปัจจุบัน  เห็นมั้ย จบมั้ย 

ไม่ไปไม่มา ไม่เหนือไม่ใต้ ไม่ซ้ายไม่ขวา ไม่ออกไม่ตก ไม่มาหน้า ไม่ไปหลัง  อยู่ตรงนี้  รู้...แล้วก็ไม่รู้อะไรนอกจากรู้ นอกจากรู้ว่านั่ง นอกจากรู้ว่าเห็น นอกจากรู้ว่าได้ยินเสียง นอกจากรู้ว่าคิดหรือไม่มีความคิด  สั้นมั้ย...สั้น ง่ายมั้ย...ง่าย ยากมั้ย...โคตรยากเลย

ช้างม้าวัวควายยังฝึกได้  คนนะเนี่ย ทำไมมันจะฝึกไม่ได้ ขอให้มันตั้งใจเหอะ ... มันฝึกไม่ได้เพราะมันไม่ตั้งใจ ไม่จริง ทำไม่จริง ไม่ตั้งใจจริง ... มันไม่เคารพธรรม  

มันเคารพอะไรล่ะ ... มันเคารพความสงสัย  มันเคารพความกังวล มันเคารพความกลัว มันเคารพความถูกความผิด มันเคารพความน่าจะใช่ มันเคารพความน่าจะไม่ใช่ เคารพไปหมด นี่ อย่ามาบอกว่าเป็นลูกศิษย์ตถาคน

มันไม่เคารพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน ... มันเคารพความคิด มันเคารพความเห็น มันเคารพความถูกต้องไม่ถูกต้อง มันเคารพสิ่งที่จดจำมา ที่วิเคราะห์วิจารณ์ คาดเดามา ... เคารพไปหมด เชื่อฟังไปหมด เชื่อฟังยิ่งกว่าควายถูกลากไปเชือด  บูชามัน...ไม่บูชาธรรม  

ไม่ต้องมากราบเรา ไม่ต้องเอาดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้เจดีย์เรียกว่าบูชาธรรม...ไม่ใช่ ... รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กายที่เย็นร้อนอ่อนแข็ง นี่คือธรรม ... บูชาธรรมตรงนี้ ถึงจะเรียกว่าเป็นปฏิบัติบูชา  ไม่ใช่อามิสบูชา กราบไหว้โดยอาการ ก็เป็นบุญ ...แต่ก็แค่นั้น

แต่ที่พูดคือปฏิบัติบูชา ... อันนี้ไม่เป็นบุญ แล้วก็ไม่เป็นบาป แต่อยู่เหนือบุญและบาป  เหนือโลก  นี่คือโลก ...“รู้” เหนือโลก

ทำแค่นี้ พอ ... ท-สระอำ...ทำ แค่นี้พอ  ธ-ร-ร- ม แค่นี้พอ  อย่าไปเกินทั้งสองทอ ทั้งสองธรรม  ส่วนมาก “ทำ” ก็เกิน ด้วยกริยาการกระทำทางกายวาจาจิต  ธรรมะก็รู้เกิน เกินปัจจุบัน ... มันเลยไม่พอดี มันเลยไม่เต็ม มันเลยมีแต่ว่าขาดตกบกพร่องอยู่เสมอ ไม่เคยอิ่มในธรรมที่กำลังหา ไม่เคยพอในสภาวะที่เกิด หรือยังไม่เกิด

เหมือนวิ่งแข่งกับเงาน่ะ ... จะเอาชนะเงา จะให้ทันเงาน่ะ ไม่มีทาง ... ต้องถามก่อนว่าเงาคือใคร ต้องถามก่อนว่าต้นเหตุของเงาคืออะไร จึงจะเข้าใจ ... พูดง่าย ฟังยาก ทำยาก  สติตัวเดียวกับปัจจุบัน รู้กับสิ่งที่ปรากฏโดยไม่มีเงื่อนไขกับมัน หรือมีเงื่อนไขกับมันน้อยที่สุด  แค่นั้นแหละแล้วจะเข้าใจ

เข้าใจนี่ไม่ใช่เข้าใจแบบเกิดขึ้นมาเป็นความรู้ใดความรู้หนึ่ง แต่เข้าใจคือเข้าไปสู่ความเป็นปัจจัตตัง คือรู้จำเพาะจิต ... จะเหลือความรู้เดียวคือแค่รู้จำเพาะจิต จะรวมลงที่รู้เดียวคือรู้จำเพาะจิตเป็นปัจจัตตัง  ไม่ออกนอกใจปัจจุบัน ไม่ออกตามอาการของจิตไปในที่ทั้งปวง

อย่าสงสัยในธรรมทั้งปวง ตั้งมั่นกับปัจจุบันของกาย ถือกายเป็นปัจจุบัน ถือผัสสะเป็นปัจจุบัน  รู้อยู่แค่นี้พอแล้ว ...แล้วให้ทันทุกความคิด ความปรุงแต่ง  แล้วละความคิดนั้น ความปรุงแต่งนั้นๆ ให้ได้...ให้เร็วที่สุด  จะคืนสู่ความเป็นปกติธรรมดา...นี่เป็นผล  

ไม่ได้อะไร แล้วก็ไม่เสียอะไร  ไม่เป็นอะไร แล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ... เหมือนเดิม ปกติ เท่าเดิม ธรรมดา นั่นแหละคือผล

แรกๆ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ผลก็เกิดแล้ว แต่เรายังไม่คุ้นเคยกับผลนี้  เพราะมันยังอ้างอิงในธรรมทั้งหลายทั้งปวงอยู่ มันจึงมีการคอยจะกระหวัดกวัดแกว่งไปในอดีตอนาคตอยู่เสมอ  เหมือนม้าพยศ เหมือนไส้เดือนถูกขี้เถ้า ... จนกว่าไส้เดือนตายน่ะ มันก็เหลือแต่ไส้เดือนนอนบนขี้เถ้า นอนเฉยๆ เพราะมันตายแล้ว

จนกว่าความคิดความปรุงนี่มันจะตาย ... แต่ตอนนี้มันยังไม่ตาย มันเหมือนไส้เดือนถูกขี้เถ้า  มันดิ้น มันกวัด มันแกว่ง มันจะออกไปหามรรค หาผล หานิพพานอยู่เรื่อย มันจะออกหาความดี ความเด่น ความดัง ความถูก ความใช่ ความเลว อยู่ตลอด

กลับมาอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ ไม่ไปในที่ที่ไม่ควรไป  กลับมาเกิดมาตายอยู่ในที่เดียว อย่าไปเกิดตายหลายที่  เกิดตายหลายที่จนนับศพไม่ถ้วน เลยไม่รู้ว่าศพไหนจริง ศพไหนไม่จริง เข้าใจมั้ย  แค่นี้แหละ พอแล้วๆ


โยม (อีกคน) – พระอาจารย์คะ ที่พระอาจารย์ให้กลับมารู้กาย เพราะว่าตัวกายนี่จะเห็นในปัจจุบัน ในความเป็นกลางตอนนี้มันจะทำให้รู้นี่เป็นกลางไปด้วยใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ – อือ  เป็นรู้ปกตินั่นแหละ กายมันไม่หลอกหรอก ... คือพวกเรายังไม่สามารถจะรู้เป็นกลางกับความคิด รู้เป็นกลางกับอารมณ์ได้  เพราะมันอดไม่ได้ในความรู้อันนั้น เมื่อออกไปรู้กับคิด รู้กับอารมณ์นี่  มันมักจะมีความยินดียินร้ายปรากฏอยู่เสมอ แล้วเราจะไม่ทัน

บางทีมันรู้ด้วยความยินดี รู้ด้วยความยินร้าย  ก็ยังไม่ทันว่ากำลังยินดีกับมัน ยินร้ายกับมัน ... มันถูกหลอกง่าย เพราะจิตยังไม่ตั้งมั่นพอ ปัญญายังไม่เฉียบแหลมพอ...ที่จะดูว่าแค่รู้เป็นปกติกับความคิด รู้เฉยๆ กับอารมณ์ รู้เฉยๆ กับความรู้สึก ... มันยังรู้เฉยๆ อย่างนี้ไม่เป็น ยังไม่ชัดเจน ... ยาก มันจึงเป็นของยาก

แต่กายนี่ยังไงมันไม่หลอกหรอก  มันไม่มีความยินดีความยินร้ายออกมาให้โกหกหรอก  ง่ายๆ รู้ง่ายกับกาย มันก็เห็นเป็นก้อนของมันบ่ดาย เฉยๆ ซื่อๆ อยู่แล้ว  เพราะนั้นเมื่อจิตรับรู้ตรงๆ ก็เป็นปกติ  จิตก็จะบ่มความเป็นปกติ บ่มสติปัญญาอยู่ในที่ตรงนั้น  ...ถือเอากายเป็นวิหารธรรม ปัจจุบันกาย

ก็จะอาศัยปัจจุบันกายเป็นวิหารธรรม จิตก็จะมีวิหารจิตโดยปัจจุบันที่อยู่กับกายนั้น  ความตั้งมั่นเด่นชัดเป็นกลางก็แนบแน่นมากขึ้น ... ความคิดวุบวับแวบขึ้นมา หรือเมื่อใดที่เผลอหลงแล้วไปเห็นความคิดขณะแรก  วึบที่จับขณะแรกนั่นน่ะ รู้แค่นั้น เป็นกลาง แล้วก็จะทิ้งตรงนั้นทันที  

มันก็ดับ  นามนั้นก็ดับไป ดับจากความหมายมั่นในนามนั้น ...ถึงแม้นามนั้นจะไม่ดับในขณะเดียวกันก็ได้  มันก็จะเกิดความเข้าใจแยกแยะได้ชัดเจนขึ้น

ถึงเน้นให้รู้กาย ปัญญายังไม่เฉียบคมพอ จะไปรู้จิตทีเดียวไม่ได้ ... มันไม่เหมือนบางบุคคล บางจิต ที่ฝึกอบรมมา ด้วยสมถะปัญญาในระดับหนึ่ง สามารถตั้งมั่นด้วยการรู้อยู่กับรู้ได้ ... นี้เคยทำมา เขาเคยทำมา เขาก็เห็นอาการของความคิดความปรุง หรือสัญญาอารมณ์เป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ชัดเจน ... มันไม่เหมือนกัน



..................................



วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 4/6






พระอาจารย์

4/6 (540512A)

12 พฤษภาคม 2554




พระอาจารย์ –  รู้จักคำว่า “กรรม” มั้ย  กรรมแปลว่าผลการกระทำในอดีตที่ล่วงมาแล้วของเราในชาติก่อนๆ  ความต่อเนื่อง ความผูกพัน มันก็ต่อเนื่องสืบเนื่องกันมา  

มีแรงผลักดัน ปัจจัยจากอดีตส่งผล...ให้มันเป็นตัวกำหนดวิถี ว่าชีวิตมันจะต้องเป็นยังไง ... มันจะต้องเจอ มันจะต้องพลัดพราก มันจะต้องอยู่คนเดียว มันจะต้องมารู้จักคนนั้น มันจะต้องมาอยู่ในสถานที่นี้ พวกนี้

บางทีเราอยากบ้าง หรือไม่อยากบ้าง ...แต่ว่าเราไม่สามารถจะไปกำหนดวิถีมันได้หรอก เอาชนะวิถีไม่ได้  ... ถ้าเราคิดว่าจะเอาชนะวิถีนี่ นั่นแหละเป็นเหตุหนึ่งให้เกิดทุกข์ เพราะเราจะไม่สามารถชนะมันได้เลย  ถึงได้ก็ได้แค่ชั่วคราว สุดท้ายมันก็จะบีบบังคับให้กลับมาเดินในวิถีของมัน ครรลองของมันอยู่อย่างนั้น

เพราะนั้นพระพุทธเจ้าถึงบอกว่าต้องมาฝึก มาปฏิบัติธรรม ... ต้องมาทำให้เกิดปัญญา เพื่อจะได้เข้าใจวิถีนี้ เพื่อให้เข้าใจว่ามันเป็นวิถีอย่างนี้ ... เพื่อให้เข้าใจและรู้ว่าวิถีนี้ไม่ใช่ของเรา มันเป็นวิถีโลก วิถีกรรม ... พยายามรู้เท่าทัน ยอมรับ ...ต้องยอมรับความเป็นจริง 

ถ้าเราไม่ยอมรับความเป็นจริง  มันจะนั่งฝัน นอนฝัน ยืนฝัน เดินฝัน ...ฝันว่าทำไม ฝันว่าเพราะอะไร ฝันว่าไม่น่าจะเป็น ฝันว่าไม่น่าจะจริง ฝันว่าทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ฝันว่าทำไมไม่เป็นอย่างนี้  พวกเนี้ย คิดไป ฝันไป ... สุดท้ายก็นั่งอยู่ที่เดิมไม่ได้ไปไหน มันก็ทุกข์

แต่ถ้าไม่คิดไม่ฝัน  อยู่ตรงนี้...ใจก็อยู่ตรงนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน ทำอะไร เจอใคร ...อยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหน ไม่ไปกับความฝัน  คือไม่ไปกับความคิด ไม่ขยันคิด ไม่หาเหตุหาผลกับมัน ... เดี๋ยวมันก็มีเอง...ความสุข แต่ว่าสุขนี่ไม่ใช่มันสุขแบบปีติ ยิ้ม นั่งอมยิ้ม ...ไม่ใช่  

สุขคือไม่ทุกข์...ไม่ทุกข์ก็สุขแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องให้สุขแบบ แหม สนุกสนานเบิกบานแจ่มใสอะไรอย่างนั้น ... ให้สังเกตดูถ้าเราไม่คิด เมื่อนั้นแหละ สบาย จะสบายขึ้น ... แก้อะไรไม่ได้หรอก ไม่ต้องแก้ด้วย และก็อย่าคิดแก้ด้วย ยอมรับให้ได้

เราน่ะเป็นผู้หญิงรึเปล่า ไม่ใช่ผู้ชายใช่มั้ย ... เปลี่ยนได้มั้ย หน้าตานี่เปลี่ยนได้ไหม  จะชอบมันไม่ชอบมันนี่ เปลี่ยนได้ไหม เลือกได้ไหม  เห็นมั้ย นี่คือวิถีมันกำหนดมาอย่างนี้  นี่คือความจริงใช่มั้ย ...อย่างนี้เรียกว่าจริงใช่มั้ย  

แต่ถ้าคิดว่าเป็นผู้ชายน่าจะดีกว่านี้ ...เนี่ย ถูกหลอกแล้ว  และถ้าไปจริงจังด้วย คิดไปเรื่อยๆ นี่ แล้วก็กลับมาดู มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี ... ถึงบอกว่าความคิดน่ะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

แต่ถ้าไม่คิดแล้วยอมรับ เออ มันอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้  เลือกเกิดยังไม่ได้เลย เลือกที่เกิดยังไม่ได้เลย  อ้าว สามปีสี่ปีไปอยู่ญี่ปุ่นแล้ว ก็ไม่ได้ว่าอยากอยู่ญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ว่าไม่อยากอยู่ญี่ปุ่น แต่มันอยู่ญี่ปุ่นน่ะ  

ไอ้เรานี่ก็ไม่ได้อยากอยู่เมืองไทย ก็ไม่ได้ไม่อยากอยู่เมืองไทย อ้าว มันอยู่เมืองไทยซะแล้วนี่  ไม่ได้เลือกเลย ... จะพอใจมัน หรือไม่พอใจมัน ทำไมมาเกิดในดินแดนอันศิวิไลซ์ ไม่รู้ ... มันอยู่แล้วน่ะ จะทำยังไงล่ะ  แล้วจะทำยังไงดี หา จะให้ทำยังไง

ก็ไม่ต้องทำยังไง ใช่มั้ย  ก็ทำยังไงให้ดีที่สุดก็คือ...อยู่กับมันไป เท่าที่มันมี เท่าที่มันเป็น ... นี่คือการระงับดับทุกข์ในเบื้องต้น เห็นมั้ย นี่แค่เบื้องต้นนะ ... ถ้าเรายังละทุกข์ในเบื้องต้นไม่ได้ เราก็จะไขว่คว้าหาไปเรื่อย คิดไปเรื่อยน่ะ

มันมีเหตุผลมาอยู่ตลอดน่ะ คอยหาเหตุหาผล  ทำไมต้องเจอคนนั้น ทำไมเราต้องมาอยู่วัด ทำไมจะต้องมาอยู่เมืองไทย ทำไมแม่เราคิดอย่างนี้ ทำไมแม่เราไม่เข้าใจเรา ทำไมเราน่าจะไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็นั่งร้องไห้ แค่นั้นแหละ ... แล้วสุดท้ายก็ต้องมานั่งอยู่อย่างเนี้ย จะทำยังไงล่ะ ใช่มั้ย

ยอมรับ ... เดี๋ยวก็ตายแล้ว ไม่กี่ปีก็ตาย เราก็ตาย  มีอะไร สุดท้ายก็ตายหมดน่ะ ... ไอ้ที่อยากได้ ไม่อยากได้  เคยได้ หรือกำลังได้ ... ตายแล้วก็หมดแล้ว หมดเท่ากัน เสมอกัน ทั้งญี่ปุ่นทั้งไทย ทั้งโลก ทั้งในโลกไม่มีใครเหลือ มันจะยุ่งอะไรกันนักกันหนา จะเอาอะไรมาทำไม เพื่ออะไร  

สุดท้ายก็ตาย...ตายแล้วลืมหมด  มันเป็นอย่างนั้นแหละ ... จะหาความรู้หาอะไรนอกๆ ที่เป็นโลกๆ เป็นเรื่องโลกๆ ภูมิอกภูมิใจดีอกดีใจว่าได้ความรู้ เหนือกว่าคนนั้น ต่ำกว่าคนนี้ สูงกว่าคนนั้น เหนือกว่าคนโน้น ... มีแต่ความรู้ที่เบียดเบียนกันในโลก ตายไปก็เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้

แต่ไอ้ที่เราสอนนี่ เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ ...ใช้ได้  ตายไปแล้วเกิดใหม่มันยังใช้ได้เลย  เพราะมันไม่หายไปไหน ... ความรู้ความเข้าใจในขันธ์ นี่คือขันธ์  ความรู้ความเข้าใจในโลกคืออะไร ...มันก็จะจดจำได้ด้วยปัญญา ไม่หายไปไหน  เนี่ย เป็นความรู้จริง ปัญญาที่แท้จริง เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาเยอะๆ ความรู้เช่นนี้

ไอ้ความรู้ข้างนอกน่ะ  ม.4 ม.5 ม.6 ปริญญาตรี-โท-เอก ดอกเตอร์อะไรก็ตาม ... เราอยู่อย่างนี้นะ เราเจอคนมาหาเยอะ  มีอายุสัก 60 กว่า 70 ปี  อดีตเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นอธิบดีกรมนู่นนี่ เป็นรองปลัดกระทรวง เป็นปลัดกระทรวง ฯลฯ  เดินมานี่เหมือนคนแก่คนนึง ไม่มีอะไรเลย เหมือนเป็นคนธรรมดาคนนึงน่ะ ไม่เห็นวิเศษวิโสอะไรเลย

เข้าใจคำว่าสวมหัวโขนมั้ย สวมหน้ากาก หลอกกันไปหลอกกันมา  มันเป็นเครื่องหลอกลวง ...แต่ว่ามนุษย์ทั้งโลกน่ะ จริงจังเหลือเกิน ... พอถึงวาระสุดท้าย เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย  

พอถึงวาระใกล้ตาย...ดิ้นทุกคน  ทุรนทุราย กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ...ความรู้ท่วมหัวเต็มไปหมด ยศถาบรรดาศักดิ์เคยมีเคยได้เต็มไปหมด คนยกย่องสรรเสริญมา...ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ก็ยังร้องจะเอาชนะความตายอยู่นั่น 

จะเอาใจไปไว้ตรงไหนก็ไม่รู้ จะเอาใจถอนออกจากความเจ็บยังไงก็ไม่รู้ จะอยู่กับความเจ็บโดยที่ไม่เจ็บยังไงก็ไม่รู้ จะอยู่กับความตายโดยที่ว่าไม่กลัวตายยังไงก็ไม่รู้ ... เห็นมั้ย ความรู้ในโลก ช่วยอะไรได้มั้ย

ต่อให้พระพุทธเจ้ามายืนตรงหน้า แล้วบอกให้ทำตรงนั้น มันก็ยังทำไม่ได้ ... หลงคิดว่าตัวเองรู้ หลงคิดว่าตัวเองเข้าใจ สุดท้ายตายสูญ ตายเปล่า ... แล้วก็ไปเกิดใหม่ แล้วก็มาโง่งมงายเหมือนเดิมอีก  มานั่งดีใจเสียใจ ร้องไห้กับอะไรลมๆ แล้งๆ หากับสิ่งที่มันเป็นความคิดแค่นั้นเอง

สังเกตดูสิ  ความจริงอยู่ไหน ยังไม่รู้เลย ความเป็นจริงน่ะ ... แต่บ้าบอกับความคิด ถูกแค่อะไรลมๆ แล้งๆ กระตุ้น แล้วก็เชื่อเป็นตุเป็นตะ น้ำหูน้ำตาไหล หรือหัวเราะดีอกดีใจ เหมือนคนเมา  เขาเรียกว่าเมาความคิด เมาอารมณ์

มัวเมาในสิ่งที่...ถ้าดูง่ายๆ ตรงๆ น่ะ มันเป็นอะไรยังไม่รู้เลย...ความคิดน่ะ  จับต้องก็ไม่ได้ รูปร่างที่แท้จริงของความคิดเป็นยังไงยังไม่รู้เลย เอามาแบกเอามาชั่งน้ำหนักดู ก็ไม่เห็นมันมีน้ำหนัก มีมวลตรงไหน ใช่มั้ย  

แต่ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงเข้าไปมัวเมา คิดว่าจริงจัง  คิดว่าเป็นจริงเป็นจัง จับต้องได้ ...เป็นสุขเป็นทุกข์ทันที แค่คิดขึ้นมานิดนึงก็ทุกข์เลย ...ทุกข์เกิดได้เลย

ทำยังไงถึงจะฉลาดเท่าทันมัน ...  ฝึก...ฝึกสติ รู้ตัว ...คิดอีกแระ...รู้อีกๆ ... รู้อย่างเนี้ย เพื่อมันยับยั้งความคิด เพื่อให้ทันความคิด เพื่อไม่ให้ไหลไปตามความคิด เพื่อไม่ให้จับเงามาเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์  คิดอีกรู้อีก เอาจนกว่าเราจะเหนือความคิด ไม่ให้ความคิดเหนือเรา

ถ้าความคิดมันเหนือเรา...เคยเห็นควายมั้ย เวลาเขาจะเอาควายไปทำนานี่ เขาจะมีสายลากตรงจมูก เห็นมั้ย สายจูงควาย  นั่นแหละ เราน่ะเหมือนควาย ถูกความคิดน่ะจูงไป  จูงไปไหนก็ไม่รู้ จูงควายไปฆ่าก็ไม่รู้ ควายต้องไป  เนี่ย แล้วยังว่าฉลาดมั้ย มนุษย์นี่

โง่เหมือนควาย ...ถูกความคิดจูงทั้งวัน ลงเหวบ้างขึ้นภูเขาบ้าง ขึ้นสวรรค์บ้างลงนรกบ้าง เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็บ้าบอคอแตก เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เสียใจคร่ำครวญพิรี้พิไร ปริเทวนาโสกะ คับแค้น  เกิดความคับแค้นแน่นอกแน่นใจ ขัดข้องหมองใจ พวกเนี้ย  เพราะถูกความคิดนี่ลากออกไป

อย่าเป็นควาย อย่าตามมัน ... ทำไงไม่ตาม ... รู้อยู่ในปัจจุบัน ... ขยับรู้มั้ย เห็นมั้ยมือ รู้มั้ย รู้สึกมั้ย ...เออ ดูหน้าสิ เห็นกล้ามเนื้อที่หน้ามั้ย รู้สึกมั้ย  ขยับคอรู้มั้ย  รู้อยู่อย่างนี้ มันจะได้ไม่มีความคิด  พอเริ่มคิดกลับมารู้อยู่ตรงนี้ อยู่แถวนี้ในเนื้อในตัวนี่  ขยับคอนี่รู้มั้ย เห็นหน้ามันยิ้มนี่ หัวเราะนี่ รู้สึกมั้ย  เนี่ย ให้รู้อยู่ตรงนี้ รู้อยู่กับตัวนี่

เห็นมั้ย ขณะที่รู้อยู่อย่างนี้ไม่มีความคิด ... แต่ถ้าเผลอไม่รู้ตรงนี้นะ เดี๋ยวคิดแล้ว เดี๋ยวมีภาพลอยมาแล้ว ... เหมือนเมฆลอยมา เหมือนเมฆเหมือนหมอกมันคลุมขึ้นมา ... ก็กลับมาดูว่ากำลังนั่งอยู่ ขยับคอ  เดี๋ยวหมอกก็หาย เดี๋ยวหมอกแห่งความคิดก็กระจายหายไปเอง

ให้รู้อย่างนี้บ่อยๆ  อย่าท้อ ... พอเริ่มท้อ เริ่มเศร้า เริ่มคร่ำครวญ โดยที่ไม่มีความคิดแล้วมีอารมณ์เศร้า ขุ่น หมอง ... รู้ตัวอีก รู้ที่กายอีก  ขยับมือยกมือก็ได้ เดินก็ได้ เคลื่อนไหวก็ได้  ดูอาการเคลื่อนไหว movement ขยับ ไหว นิ่ง  ให้เห็นว่าตัวกำลังนิ่งหรือขยับ คอนี่ขยับ รู้สึกมั้ย  เออ ให้รู้อย่างนี้ ให้กลับมารู้อยู่อย่างนี้ ในตัวนี่ อาการความรู้สึกในตัวนี่

นี่ของจริง  ไอ้นี่น่ะจริงที่สุดเลย ... ที่อื่นไม่มีนะตอนนี้ สถานที่อื่นไม่มีนะ  มีแต่เสียงเรา ใช่มั้ย  มีแต่ตัวที่กำลังขยับใช่มั้ย  เออ อันนี้จริงนะ ที่อื่นไม่มี  มันจะมีที่อื่นเมื่อคิดนะ ...ถ้าคิดปั๊บเจอ เจอภาพแล้ว  แต่อยู่ตรงนี้มันไม่มี ...มันเป็นภาพในความคิดนะ

แม่ก็ไม่มี ถ้าไม่คิดถึงแม่ แม่ก็ไม่เกิด  ที่ยังมีแม่อยู่เพราะจำได้ว่ามีแม่ เป็นความจำ ... ถ้าอยู่ตรงแค่นี้ แม่ก็ไม่มี พ่อก็ไม่มี  มีแต่ไหวๆ ขยับๆ ตรงนี้ ... นี่คือความจริง นี่คือความเป็นจริง  อยู่กับความเป็นจริง อย่าไปอยู่กับความฝัน

ความฝันคือความคิด ความคิดคือความฝัน ... คิดกับฝันนี่คือภาษาเดียวกัน ถ้าฝันเมื่อไหร่ไม่จริง แล้วไปหลงว่าจริงน่ะ  นี่ถูกหลอกแล้ว ถูกความฝันหลอกแล้ว  กลางคืนนอนเคยฝันมั้ย เคยเหงื่อแตกเคยกลัวมั้ยในความฝัน  เวลาตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกยังไง รู้สึกถึงความกลัวที่กลัวอยู่ใช่มั้ย  แต่พอมารู้สึกตัวว่าเป็นความฝัน แล้วก็หายใช่มั้ย

เหมือนกัน...ความคิดนี่ ให้เข้าใจ  ผู้มีปัญญาแล้วจะเห็นว่าความคิดนี่..อ๋อ ก็เป็นแค่ความฝัน ไม่มีอะไร ไม่จริง ใช่มั้ย  พอเรารู้ว่าเราฝันตื่นมา ...ในความฝันอาจจะดูเหมือนจริง โอ้โฮ วิ่งหนีผีแทบตาย หรือว่าเสือมาไล่กัด หรือว่าเจอคนมาทำร้าย หรือว่าคนตายหรือว่าอะไร กลัวตัวสั่นเลยในความฝัน แต่พอตื่นขึ้นมารู้ว่าฝันก็หายกลัวเลย เห็นมั้ย

เหมือนกัน  เมื่อเราเข้าใจว่าความคิดนี่เหมือนกับฝันอย่างนี้  ไม่มีอะไรหรอก มันเป็นแค่ภาพเงา เป็นแค่ภาพ เป็นแค่เงา ... เป็นแค่รูป รูปของความคิดแค่นั้นเอง เป็นรูปของสัตว์ของบุคคลในความคิดเท่านั้นเอง ... ไม่มี ในความเป็นจริงไม่มีหรอก

แต่ด้วยความคุ้นเคย มันเป็นจริงเป็นจัง ... มันเลยกลายเป็นเชือกที่ล่ามควายลากควาย...คือใจเรา  พาขึ้นเขา ลงนรก ทั้งวี่ทั้งวัน  

พระพุทธเจ้าบอกว่าการแก้ทุกข์นี่ ไม่ใช่แก้ทุกข์ด้วยการจับทำตามความคิดแล้วหาย มีความสุข  แล้วเข้าใจว่านี่คือการแก้ทุกข์  พระพุทธเจ้าบอกอย่างนี้แก้ไม่จบ รักษามันไม่ได้ความสุขนั้น  สุดท้ายเดี๋ยวก็ต้องไปตามวิถีอีก เอาชนะไม่ได้

แต่ถ้ามารู้ทันตรงนี้  จะอยู่ที่ไหนก็ได้...เท่ากัน มีความจริงอันเดียวกัน ... อยู่ญี่ปุ่นเหมือนกับอยู่เมืองไทย อยู่เมืองไทยเหมือนกับอยู่ญี่ปุ่น  เพราะไม่ได้อยู่ทั้งญี่ปุ่นทั้งเมืองไทย ...แต่อยู่กับตัว  มีแต่ตัว มีแต่ก้อนเนื้อ ก้อนหนัง ก้อนเลือด กองเนื้อ กองหนัง กองเลือด

ไปที่ไหนก็กองนี้ ใช่ป่าว  ญี่ปุ่นก็กองอันนี้เลือดเนื้ออันนี้ ไทยก็เลือดเนื้ออันนี้ ... มันตัวเดียวกันรึเปล่า ... ก็ตัวนี้แหละ ไปไหนมาไหนก็ตัวนี้  มันจะไปอยู่ที่ไหนล่ะ มันก็อยู่ในตัวนี้ มันก็อยู่กับตัวนี้  มันจึงไม่เห็นว่าข้างนอกคือที่ไหน

ยากหน่อย ... มันยากสำหรับคนที่ขี้เกียจขี้คร้าน ขี้เกียจทำ ขี้เกียจกลับมารู้ตัว จะยาก ... เพราะมันไม่สนุก เพราะมันฝืน  เวลาไม่คิดแล้วมันจะฝืน ไม่คิดตามความคิดแล้วมันจะฝืน มันจะฝืด มันจะอึดอัด

อย่าท้อๆ ... ค่อยๆ กลับมารู้ตัวมากๆ  ขยับก็รู้ เคลื่อนไหวก็รู้ ทุกย่างก้าวให้เห็น  จะหยิบจะจับอะไรให้รู้ว่ามือขยับ คอขยับ ตากระพริบ  มีอะไรให้รู้ตั้งเยอะ อย่ามัวไปนั่งฝันนอนฝัน เช้าเย็นค่ำกลางคืน หลับก็ยังฝันอีก  ตื่นมาก็ทุกข์กับทุกข์อย่างเดียว เพราะอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วไม่เหมือนที่ฝันเลย ...ทุกข์แน่นอน

เอาชนะไม่ได้ด้วยวิธีคิดหรือหาวิธีทำ  คิดถึงวิธีทำหลายร้อยวิธีแล้วก็ยังทำไม่ได้ แก้ไม่ได้ เห็นมั้ย  ก็แก้ไม่ได้ทำไม่ได้ แล้วจะไปแก้ทำไม ไปคิดทำไม ... ก็ไม่คิดเลย อยู่กับตัวไป ตัวนี้ตัวเดียว  ก็ตัวเก่า กายอันเก่าใจอันเก่า ... ไม่หาใหม่

ต้องขอบคุณแม่เยอะๆ ที่ส่งมาให้ได้ยินได้ฟัง ไม่ใช่จะได้มีโอกาสง่ายๆ ที่จะได้ยินได้ฟังนะ ... เพราะความรู้ในโลกน่ะเยอะ มันหลากหลายแขนงเหลือเกิน แต่ความรู้ที่สอนแบบนี้มีน้อยหน่อย  

เคยเห็นปีรามิดไหม  เห็นฐานปีรามิดมั้ยมันใหญ่ขนาดไหน แล้วเห็นยอดปีรามิดมั้ย ... นั่นแหละคนรู้จริงน่ะเหมือนยอดปีรามิด แต่คนที่เป็นอาจารย์สอนความรู้ทั้งหลายในโลกนี่เหมือนฐานปีรามิด เยอะแยะไปหมด  

แต่ผู้ที่รู้จริงน่ะ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าน้อย เหมือนกับเขาวัว...มีกี่อันในหนึ่งตัว  แต่ว่าคนที่ให้ความรู้อื่นในศาสตร์ต่างๆ เหมือนขนวัว เพราะมันเยอะ  …สอนให้ลุ่มหลงมัวเมา สอนให้เอารัดเอาเปรียบ สอนให้เบียดเบียนคนอื่น

วิชาชีพทั้งหลายน่ะ ส่วนมากมันสอนเพื่อให้เอารัดเอาเปรียบ บอกให้เลย  สอนให้เอากำไร ไม่เคยสอนให้ขาดทุนเลย  สอนให้อยู่ด้วยการเบียดเบียนกัน ใครเบียดเบียนใครได้มากกว่ากัน ได้รับการเชิดหน้าชูตาถือว่าประสบความสำเร็จก้าวหน้า ...อุตส่าห์กำหนดขึ้นมาเป็นศาสตร์ ถึงขั้นปริญญาเอก

แต่ศาสตร์ของพระพุทธเจ้า ของพระอริยสงฆ์ ท่านสอนให้ถอดความรู้ทั้งหมดทิ้งเลย  ความรู้ทางโลก ทิ้งให้หมด ไม่ต้องไปจริงจัง  ท่านให้รู้นิดเดียว เห็นมั้ย ไอ้ที่เราบอกให้รู้ตรงนี้ นิดเดียวเองใช่มั้ย  ไม่ต้องหาด้วย ใช่มั้ย  

พอกลับมาดูอยู่ก็เห็นแล้ว ว่ากายนั่งอยู่  พอกลับมาดูก็รู้แล้วว่ากายอันนี้ กำลังคิด พอกลับมาดูก็เห็นแล้วกายนี้กำลังเศร้า พอกลับมาดูก็เห็นแล้วว่ากายนี้กำลังสงสัย กำลังงง ก็เห็น  เห็นมั้ย ไม่ต้องหาเลย กลับมาดูก็เห็นแล้ว  กลับมารู้ตัวอยู่ก็เห็นแล้วว่ามันมีอะไร เนี่ย พระพุทธเจ้าสอนให้รู้แค่นี้ นี่คือความรู้อันหนึ่ง นี่คือวิชาอันหนึ่ง

ศาสตร์อื่นๆ ก็เป็นวิชาเหมือนกัน  แต่วิชาพวกนี้ไม่ได้มีประโยชน์กับการที่จะมาเข้าใจความเป็นจริง ให้มาเข้าใจแจ้งในโลก เข้าใจความเป็นจริงของการเกิด ... อะไรเป็นตัวพาให้เกิด อะไรเป็นตัวทำให้ทุกข์ อะไรเป็นตัวที่ทำให้หมดทุกข์ อะไรเป็นตัวที่ไม่มีทุกข์เกิดอีกเลย  เห็นมั้ย วิชาอื่นพวกนี้สอนไม่ได้เลย  มีแต่เอาไปโอ้อวดกัน

'โหย ไอ้นี่แค่ ป.๔ ...โอ๋ ไอ้นี่จบมาจากเมืองนอก ไอ้นั่นจบปริญญาตรีเมืองไทย'  เห็นมั้ย วิชาพวกนี้มันกลับไปสร้างความรู้ที่ก่อให้เกิดอัตตาตัวตนใหม่  รู้จักอัตตามั้ย ego ความเป็นตัวตน ... ฟังเข้าใจไหม  ไม่เป็นไร ใช้ภาษาใจฟังทำความเข้าใจภายใน รู้ลงไป ความเข้าใจจะมีเองว่าตัวของเราจริงๆ คืออะไร

เห็นตัวจริงมั้ย ตัวที่นั่งอยู่นี่ จริงใช่มั้ย ... ถ้าเราลุกขึ้นไปตบหัวนี่โกรธมั้ย  โกรธใช่มั้ย อย่างนี้ตัวจริง  นี่คือตัวจริงของเราใช่มั้ย รู้จักคำว่าตัวจริงมั้ย  

แต่ถ้าเรารู้ว่าโกรธแล้วไม่ดี แล้วพยายามแกล้งทำเป็นไม่โกรธเมื่อถูกตีอย่างนี้ เหมือนกับว่าไม่โกรธ...ทั้งที่มันโกรธอยู่  อย่างนี้เขาเรียกว่าสร้างตัวไม่จริงขึ้นมาแทน เข้าใจมั้ย นี่คือเรียกว่าตัวตนที่ไม่จริง

เพราะฉะนั้น วิชาความรู้ที่เรียนไปมากๆ นี่มันจะไปสร้างตัวที่ไม่จริงนี่มาหลอก ว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เหมือนกับที่คนอื่นเขาเป็น ... มันจะคิดว่าตัวมันเหนือกว่าคนอื่น มันก็เลยเอาตัวที่ไม่จริงไปหลอกคนอื่น  หลอกไปหลอกมามันก็หลอกกระทั่งตัวเอง มันยังหาตัวเองไม่เจอเลย หาตัวจริงของตัวเองไม่เจอ

แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้กลับมารู้จริง ก็จะเห็นตัวจริง ... เมื่อเห็นตัวจริงแล้วน่ะแก้ได้ จะแก้ได้  เพราะของจริง ตัวจริง ตัวของเราจริงๆ กิเลสตัวจริง ... แต่ถ้ามีตัวปลอม ตัวตนที่ไม่จริง ปกปิด ปิดบัง หรือเราพยายามสร้างขึ้นมาปกปิด ปิดบังตัวเอง  มันจะงง จะเสียดายตัวตนนั้น จะไม่กล้าที่จะละตัวตนของเรานั้น

อย่างเช่นบวชเป็นพระ บวชเป็นชี  มันจะมีสถานะตัวตนที่สูงกว่าธรรมดา ห่มขาวก็มีฐานะที่สูงกว่าชาวบ้าน เห็นมั้ย มันสร้างตัวตนหลอกขึ้นมา ว่าเราดีกว่าในระดับหนึ่ง ... แต่ตัวที่ไม่หลอกเลย คือเวลาที่ถูกตบหัวแล้วโกรธ นี่จริง อันนี้ของจริง ตัวจริง  

อย่าไปกลัว อย่าไปอายมัน อย่าไปอายที่มีความรู้สึกเช่นนี้ขึ้น ... นี่แหละของจริง  ต้องการให้เห็นของจริง ปัญญาคือให้รู้จริงเห็นจริง  อย่าไปทำเป็นไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร หรือว่าดีแล้ว ... มันยังไม่ดีจริงหรอก

อย่าไปอายตัวเอง อย่าไปอายกิเลสตัวเอง ... เสียใจก็ยอมรับว่าเสียใจ รู้ว่าเสียใจ รู้ว่าร้องไห้ก็รู้ว่าร้องไห้ เศร้าก็รู้ว่าเศร้า ... อย่าไปหาอะไรมาปกปิด อย่าไปหาอะไรมาว่าเป็นเพราะอย่างนั้นอย่างนี้  อย่าไปอายมัน 

ดูมันไปตรงๆ แล้วก็จะเห็นความเป็นจริง...เกิดจริง ตั้งอยู่จริง แล้วมันก็จะดับไปเองของมันจริง ...ไม่มีใครทำให้มันดับ  ไม่ต้องทำให้มันดับ มันจะดับเองจริง

อาจจะยังไม่เข้าใจโดยตลอด ... รู้ไป รู้ตัวไปเรื่อยๆ รู้กับตัวนี้ เดี๋ยวเข้าใจ ... เดี๋ยวเข้าใจโลกกับความเป็นจริงคืออะไร มันก็จะเข้าใจโลกสองโลก  โลกข้างนอกนี่โลกนึง นี่คือโลก  ต้นไม้ แดด อากาศ เสียง คนหมา สิ่งที่ล้อมรอบที่เรารู้สึกสัมผัสได้นี่  นี่คือโลกภายนอก โลกนึง

แล้วก็จะเห็นโลกภายใน คือตัว อีกโลกนึง  มีสองโลกอยู่กัน นี่คือความเป็นจริงสองความเป็นจริงในเบื้องต้น ... แล้วมันจะไปเห็นอีกสภาวะนึงที่เหนือทั้งสองโลก เหนือกว่าสองโลกนี้  มันจะเห็นความเป็นจริงมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

จากที่เราไม่เคยเห็นความเป็นจริงเลย  เราอยู่กับความเป็นจริง แต่เราไม่เคยเห็นความเป็นจริง ...เรากินนอนอยู่กับมัน อาศัยมัน เสพมัน ใช้มัน สัมผัสกับมัน  แต่ไม่เคยรู้ความเป็นจริงเลย ไม่เคยเห็นความเป็นจริงเลย  

แต่เมื่อเรากลับมารู้ เริ่มต้นกับรู้ตัวนี่ เราจะเห็นความเป็นจริงอย่างที่พูดนี่ไปเรื่อยๆ  จนถึงเห็นความเป็นจริงที่สุด เห็นที่สุดของความเป็นจริง  เมื่อนั้นแหละ หมดการบ้าน ไม่มีการบ้านต้องทำแล้ว  เพราะมันเห็นหมดแล้ว เข้าใจหมดแล้ว ไม่มีอะไรข้องคาใจแล้ว ไม่สงสัยอะไรอีกแล้ว  

ไม่สงสัยว่าเราคือใคร ไม่สงสัยว่านี่คืออะไร ไม่สงสัยว่าความคิดคืออะไร ไม่สงสัยว่าในความคิดมีอะไร ไม่สงสัยว่าสุขคืออะไร ไม่สงสัยว่าในความสุขมีอะไร ...ไม่สงสัย

แต่ทุกวันนี้ยังสงสัย สงสัยไปหมด เพราะไม่รู้ความเป็นจริงเลย ... เมื่อมันรู้ไปตามความเป็นจริงเรื่อยไปๆ มันหายสงสัยหมดเลย มันจะหายสงสัยหมดเลย  แม่คืออะไร คิดถึงคืออะไร ผูกพันคืออะไร หมองคืออะไร ไทยคือที่ไหน ญี่ปุ่นคือที่ไหน โลกนี้คืออะไร จักรวาลคืออะไร อนันตาจักรวาลอะไร อนันตมหาสุญญตาคืออะไร  หายสงสัยหมดเลย

แต่ตอนนี้สงสัย  สงสัยว่าทำไมต้องคิดถึงแม่ ก็ยังสงสัย  สงสัยว่าทำไมเราต้องมาอยู่ตรงนี้ ก็ยังสงสัย  เพราะมันไม่รู้ ไม่รู้ความเป็นจริง ... แต่อย่าคิดเพื่อจะหาความเป็นจริง ไม่ต้องคิด  รู้ตัว รู้ตรงนี้ มีความรู้อันเดียวตรงนี้ที่จะทำความรู้แจ้งหมดเลย...ในทุกที่ ในทุกอาการ ในทุกความรู้สึก ในทุกผัสสะ

เห็นมั้ย พระพุทธเจ้าสอนสั้น สอนง่าย  แต่ครอบคลุมทั่วโลกธาตุ ครอบจักรวาล ครอบสามโลก  ด้วยรู้อันเดียวนี่ รู้ในปัจจุบันอันเดียวนี่แหละ ...ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องกังวลในวิถีการปฏิบัติ ไม่ต้องว่ามันถูกมั้ยมันผิดมั้ย ... ก็ดูว่า ผิด..มีรู้มั้ย ถูก...มีรู้มั้ย สงสัย...มีรู้มั้ย กาย...มีรู้มั้ย ความคิด...มีรู้มั้ย  

เนี่ย เห็นมั้ย ความรู้ของพระพุทธเจ้าที่พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราน่ะ คือให้รู้ในทุกสิ่ง แม้แต่ผิดก็รู้ แม้แต่ถูกก็รู้  เห็นมั้ย มันมี “รู้” ทั้งในผิดนะ แล้วก็มี “รู้” ทั้งในถูก มี “รู้” ทั้งในสงสัย มี “รู้” ทั้งในเข้าใจ มี “รู้” อันเดียวในทุกที่

นั่งก็รู้ ใช่มั้ย ขยับก็รู้ ใช่มั้ย  รู้ตอนขยับกับรู้ตอนนั่งน่ะ รู้อันเดียวกันนะ เป็นรู้ตัวเดียวกัน  สงสัยก็รู้ใช่มั้ย ก็รู้ตัวเดียวกันกับรู้ว่านั่ง เห็นมั้ย  เป็นอาการเดียวกันนะ เห็นมั้ย  ไม่ว่าจะมีอาการที่แปรเปลี่ยนในการรู้นั้นๆ ก็ตาม แต่รู้อันเดียวนี่ คือรู้ว่าเป็นอะไรอยู่ตรงนั้นน่ะ ไม่เคยเปลี่ยน มีได้หมด มีได้ตลอดเวลา 

เห็นมั้ย ความรู้ที่พระพุทธเจ้าสอนน่ะ การปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าสอน ให้รู้อันเดียว เข้าใจความหมายรึยังว่ารู้อันเดียวน่ะรู้ยังไง

ไม่ต้องไปหาความรู้อันใหม่ ไม่ต้องหาความรู้ที่นอกจากรู้อันเดียวอันนี้  เช่น หาความรู้ว่าทำไมเราจะต้องมาอยู่ตรงนี้ เพื่อจะไปหาว่า รู้ว่าทำไม อย่างนี้อย่าไปหา อย่าไปสร้างความรู้นี้ ... ให้เอารู้อันเดียว รู้ว่ากำลังอยาก รู้ว่ากำลังคิด รู้ว่ากำลังสงสัย  นี่ รู้อันเดียวอย่างนี้ จึงจะเรียกว่ารู้จริง

ไอ้รู้ที่ว่าจะไปหาความรู้ด้วยการคิดว่าเพราะอะไร ไอ้อย่างนี้ถึงรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น มีความรู้อะไรเกิดขึ้น เข้าใจอะไรเกิดขึ้น  อันนี้ไม่จริง มันจะหลอก เดี๋ยวก็เปลี่ยน

รู้มั้ยว่าเมื่อย ... รู้  อย่างนี้ อะไรเกิดขึ้นก็ได้ ไม่ว่า รู้อย่างเดียว  เราไม่ได้บอกว่าผิด เราไม่ได้บอกว่าถูก ไม่มีใครบอกว่าผิด ไม่มีใครบอกว่าถูก ... เมื่อยไม่เคยบอกว่าถูก เมื่อยไม่เคยบอกว่าผิด ขยับไม่เคยบอกว่าถูกหรือผิด  เห็นมั้ย ขยับก็รู้ว่าขยับ เมื่อยก็รู้ว่าเมื่อย อยากขยับก็รู้ว่าอยากขยับ ขยับแล้วก็รู้ว่าขยับแล้ว สบายขึ้นก็รู้ว่าสบายขึ้น

เห็นมั้ย ไม่เห็นมีตรงไหนผิดเลย แล้วก็ไม่เห็นมีตรงไหนถูกด้วย  จะไปเอาอะไรกับถูกผิด  เอาแต่รู้อย่างเดียว ว่ากำลังทำอะไรอยู่  

ท่องไว้ ท่องไว้ให้ขึ้นใจ ว่า ทำอะไรอยู่’ … เป็นคาถากันโง่ เป็นคาถาที่จะไปล้างความโง่  เพราะนั้นคาถากันโง่ “ทำอะไรอยู่”  กลับมาดูตรงนี้ กายกำลังนั่งก็รู้ว่านั่ง จิตกำลังคิดก็รู้ว่ากำลังคิด จิตกำลังหมองก็รู้ว่ากำลังหมอง กำลังขุ่นมัว กำลังกังวล กำลังหัวเราะ กำลังดีใจ

เห็นมั้ย ท่องไว้ว่า ทำอะไรอยู่  แล้วกลับมาดูกายดูจิตของตัวเอง มันอยู่ในอาการไหน ... แค่ดูนะ แค่กลับมาดูว่าทำอะไรอยู่แค่นั้นนะ  ห้ามไปแตะต้อง ห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับอาการ ...อย่าเกินรู้ อย่ารู้เกิน อย่ารู้ล่วงหน้า  ให้รู้เท่าที่มันปรากฏ ว่ากำลังกังวล กำลังเสียใจ  

อย่าไปแตะต้องกับมัน อย่าไปแตะต้องความคิด  อย่าไปบวก อย่าไปลบ อย่าไปผลัก อย่าดึงมา  ให้แค่รู้ แล้วอยู่กับมัน  ดูมัน โง่ๆ อย่าไปฉลาดกว่ามัน ... ถ้าเราคิดว่าเราฉลาดกว่ามัน แปลว่าเราเริ่มโง่แล้ว เราเริ่มโง่กว่ามันแล้ว  เพราะถูกมันหลอกให้เข้าไปกลืนกินมัน ไปอยู่ใต้อิทธิพลของมัน

แต่การที่ว่ารู้เห็นโง่ๆ เฉยๆ ไม่แตะต้องมัน  นี่ถือว่ารู้ ฉลาดกว่ามัน ไม่อยู่ในอิทธิพลของมัน แม้มันจะดึงรั้งเหนี่ยวนำเราขนาดไหน  ก็ฝืด...ฝืนมัน อดทนกับมัน อยู่กับมันด้วยความตั้งมั่นและเป็นกลางให้ได้ 


อย่างเมื่อวันนั้นไงที่หมอบอกว่า “สงบ ระงับ ตั้งมั่น รู้เป็นกลางกับปัจจุบัน” แค่นี้สั้นๆ หมอยังบอกเลย โอ้โห ยากจะตาย ทำได้ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว’ ... ทำได้ตลอดเวลา จนไม่ทำเลยแล้วมันเป็นอยู่อย่างนั้น ก็หมายความว่าเป็นพระอรหันต์

นั่นล่ะคือจิตของพระอรหันต์ เป็นจิตที่สงบ เยือกเย็น ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เหมือนแผ่นดิน  ต่อให้โลกแตกดับ ทั้งสามโลกแตกดับต่อหน้า จิตดวงนี้ใจดวงนี้ ไม่มีอาการหวั่นไหว แม้แต่เคลื่อนออกหนึ่งอณู ... นั่นล่ะของจริง นั่นล่ะรู้จริง นั่นล่ะเห็นจริง นั่นล่ะคือที่สุดของความรู้

นั่นล่ะคือความรู้เหนือสรรพสิ่ง ครอบธาตุครอบจักรวาล ครอบธรรม ต้นธาตุต้นธรรม ต้นสรรพสิ่ง เหนือสรรพสิ่ง เหนือเหตุเหนือผล นอกเหตุเหนือผล ที่สุดของบัญญัติและสมมุติ  

ถึงภาวะนั้นจึงเรียกว่าภาวะนั้นเป็นภาวะที่ขาด ละสิ้นซึ่งโลกและธรรม  ไม่ได้ละแต่โลกอย่างเดียว ธรรมยังละเลย ไม่เหลือ  ไม่เหลืออะไรให้อยู่ให้ทรงได้ นั่นล่ะคือยอดปีรามิด

พวกเราอยู่ทุกวันนี้ด้วยความรู้หลากหลายที่เรียนมาที่จำมานี่ เหมือนอยู่ในฐานปีรามิด  มันกว้างเหลือเกิน ไกลเหลือเกิน  ความคิดก็ยาวเหลือเกิน ความจำก็มากมาย เรื่องสัตว์บุคคลนี่ ...รู้เรื่องคนนั้น รู้เรื่องคนนี้ ความเป็นไปของคนนั้น ความเป็นมาของคนนี้ การกระทำของคนนั้นคนนี้ เป็นความรู้ทั้งนั้น เหมือนฐานปีรามิด

พอกลับมารู้ตัว ไอ้ฐานปีรามิดนี่มันจะหาย หดๆๆๆ สั้น  สั้นลงในปัจจุบันเรื่อยๆ จนเหลือหนึ่ง ยอดเป็นหนึ่ง ยอดปีรามิด  นั่นล่ะเหนือมนุษย์ เป็นภาวะที่เหนือโลกเหนือธรรม ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของอะไรแล้ว

อย่าประมาทแค่คำว่า “รู้” แค่นี้เหรอ แค่รู้นี่ แค่นั่งก็รู้นี่ ขยับก็รู้แค่นี้ อย่าประมาท ... อย่าประมาทพระธรรม อย่าประมาทคำสอนของพระพุทธเจ้า  อย่าบังอาจลบหลู่คำสอน ตราบใดที่ยังไม่ลองเอาไปปฏิบัติ

ทุกวันนี้ สาวกผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ปฏิบัติธรรมด้วยความลบหลู่ ไม่เคารพในธรรม ไม่เคารพพระธรรม  เมื่อไม่เคารพพระธรรม มันก็คือการลบหลู่พระพุทธ พระอริยสงฆ์  เพราะท่านทำมาอย่างนี้แหละ แค่นี้แหละ ไม่เกินนี้หรอก 

ไม่ใช่อย่างที่พวกเราคิดหรือคนอื่นพูดหรอก  คนอื่นมันแค่ฐานปีรามิด  แต่ธรรมของพระพุทธเจ้า หรือว่าธรรมที่ออกมาจากปากของสาวกน่ะ คือยอดของปีรามิด ... จะไปฟังอะไรกับความคิดของเราเอง ความเชื่อความเห็นของเราเอง หรือความคิดของคนอื่น ความเชื่อความเห็นของคนอื่น

กลับมารู้ตัว เพื่อให้หดๆๆๆ หดเข้าไปถึงยอด จนเหลือแค่หนึ่ง ...จากหนึ่งแล้วนั่นจึงเข้าไปถึงศูนย์ ... ตราบใดที่ยังไม่ถึงหนึ่ง จะไม่เข้าถึงศูนย์   

ตราบใดที่ยังอยู่กับสิบ กับร้อย กับพัน กับหมื่นแสนล้านโกฏิ กับอินฟินิตี้นี่  อย่าไปพูดถึงศูนย์  อย่าไปพูดถึงสุญโญ อย่าไปพูดถึงวิโมกข์ อย่าไปพูดถึงวิมุติ อย่าไปพูดถึงอนันตมหาสุญญตา ...ไม่มีทางจะเข้าใจเลย ตราบใดที่จิตยังไม่หยุดอยู่เป็นหนึ่งกับศูนย์ หนึ่งกับสูญ

จิตหนึ่ง...ธรรมหนึ่ง  นั่ง...รู้ว่านั่ง ยืน...รู้ว่ายืน จิตหนึ่ง...ธรรมหนึ่ง คิด...รู้ว่าคิด  จิตหนึ่ง...ธรรมหนึ่ง  ไม่ไปสอง ไม่ไปเป็นอดีต ไม่มีอนาคต  อันนั้นเป็นสองสามสี่ห้า ไม่จบไม่สิ้น  นิ่ง..รู้ คิด..รู้ ขยับ..รู้ ไหว..รู้ จิตหนึ่ง...ธรรมหนึ่ง นี่ เอกังจิตตัง เอโกธัมโม

จิตหนึ่งคู่ธรรมหนึ่ง มีอยู่แค่นี้  ไม่มากกว่านี้ ไม่น้อยกว่านี้  พอดี เป็นกลาง สองสิ่ง จิตหนึ่ง...ธรรมหนึ่ง  ธรรมคือสิ่งที่ถูกรู้ จิตคือใจที่รู้อยู่กับธรรมนั้นๆ เรียกว่าปัจจุบันธรรม ปัจจุบันจิต กายถือเป็นปัจจุบันกาย รู้กายถือเป็นปัจจุบันจิต  คิด...รู้ว่าคิดถือว่าเป็นปัจจุบันจิต

ธรรมพระพุทธเจ้าสอน สั้น ง่าย ตรง  ละทุกข์ได้เลย เห็นผลได้เลยในปัจจุบัน ... อยู่ให้ได้ในปัจจุบัน รู้ให้ได้ในปัจจุบัน  ถ้าทำจริง...ผลเกิดจริง ไม่ต้องให้ใครมาบอกเลย ไม่ต้องมีใครมาบังคับให้เชื่อเลย  

มันยอมรับโดยศิโรราบ ...ใจดวงนี้ หมอบราบคาบแก้วเลย  ไม่ดื้อแพ่ง ไม่ดื้อต่อพระพุทธ ไม่ดื้อต่อพระธรรมคำสั่งสอน คำบอกคำกล่าวของพระอริยสงฆ์ จะยอมรับด้วยความนอบน้อม นโม ตัสสะ ภะคะวะโต

จิตพระอริยะทั้งหลาย ท่านอยู่ด้วยความนอบน้อมในธรรม ท่านไม่กระด้างกระเดื่องต่อธรรม ท่านไม่เบียดเบียน ท่านไม่ต่อต้านธรรมที่ปรากฏ ไม่คิดว่าตัวเองใหญ่กว่าธรรม ด้วยความอหังการ ด้วยความไม่รู้ ด้วยความนึกคิดความเห็นว่ามันเหนือกว่าธรรม เหนือกว่ากาย เหนือกว่าเวทนา... แก้มันได้ ชนะมันได้ 

ท่านไม่อยู่ด้วยความอหังการ  แต่ท่านรับรู้ทุกอย่างที่ปรากฏต่อหน้า...ด้วยอาการนอบน้อมในธรรม เคารพในธรรม ... ท่านอยู่กับขันธ์ด้วยความสันติ  ท่านยอมรับด้วยความนอบน้อม สันติ สงบ ระงับ และเป็นกลาง ... เพราะไม่มีใครใหญ่กว่าธรรม มีแต่ความเป็นจริงคือธรรม  

พวกเรามาอยู่ในเขตของสันติ แต่ใจไม่เคยสันติเลย  ก้าวร้าวล่วงเกิน แม้แต่ดินฟ้าลมฝน  อย่าว่าแต่สัตว์บุคคลเลย อะไรเกิดขึ้นกูโทษได้หมด ทำไมวันนี้แดดออกวะ ทำไมวันนี้ฝนตกวะ ทำไมวันนี้ฝนตกมากล่ะ’ ...ช่างล่วงเกินได้โดยไม่อายกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าสัตว์และบุคคล เหนือความเป็นสัตว์และบุคคล

ไอ้ความเป็นสัตว์และบุคคลนี่ มันคิดว่าตัวเองมันครอบจักรวาลรึไง  สุดท้ายก็ถูกจักรวาลนี้กลืนหายไป ด้วยความดับไปสิ้นไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรเหนือธรรมชาติที่อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์  ใครจะมาใหญ่กว่าธรรมชาติ ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั่นแหละใหญ่ อันนี้สิใหญ่จริง


(ถามโยม) ลืมรึยัง ลืมตัวรึยัง ... อือ ตกใจ..รู้มั้ย  ...เห็นมั้ยว่าตกใจไปไหนแล้ว เดี๋ยวนี้ยังมีตกใจมั้ย เห็นมั้ย มันดับไปใช่มั้ย มันดับไปเองรึเปล่า  เห็นไหม ตกใจเป็นของใครรึเปล่า เป็นเรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเราใช่มั้ย ไม่มีใครตกใจใช่มั้ย  ตอนนี้นะ 

แต่เมื่อกี้นี้มีใช่มั้ย เมื่อกี้มี “เรา ตกใจ”  ตอนนี้ “เราตกใจ” ก็ดับ “ตกใจ” ก็ดับ “เรา” ก็ดับ  เห็นมั้ย “เรา” ไม่เที่ยงใช่มั้ย  เห็นไหมว่า “เรา” ไม่เที่ยง “เรา” มีแป๊บเดียว ตอนที่มาพร้อมกับตกใจน่ะ “เราตกใจ”  พอ “ตกใจ” หายไปปุ๊บ “เรา” ก็หายไปพร้อมกับตกใจ เห็นไหม

เอ้า “เรา” ไม่อยู่แล้วทำไมยังมีตัวนี้นั่งอยู่ ... งง ใช่มั้ย มันก็น่าสงสัย มันต้องสงสัย เป็นธรรมดา  จนกว่าจะหายสงสัย ... เออ จริงเว้ยเฮ้ย เวลา “เรา” ดับ ทำไมยังมีไอ้ก้อนๆ นี้นั่งอยู่ได้วะ แล้วทำไมยังรู้ว่านั่งอยู่ได้  ทั้งที่เมื่อกี้ “เรา” เกิด แล้ว “เรา” ก็หายไปแล้ว เห็นมั้ย  

เพราะนั้นไอ้ที่นั่งอยู่นี่มัน “เรา” จริงรึเปล่า ไอ้กองนี้ก้อนนี้ที่นั่งอยู่นี่มันเป็น “เรา” จริงรึเปล่า หรือมันเป็นแค่ก้อนดินก้อนน้ำก้อนเลือดก้อนเนื้อ

ฟัง, จำ, เข้าใจ ... ไม่พอ ต้องเอาไปทำ ... แค่ฟัง แค่เข้าใจ ไม่มีประโยชน์  ต้องทำ ต้องเจริญขึ้นความรู้ตัว สติให้ต่อเนื่อง  

อย่าเอาเวลาไปเสียกับการคิดถึงบ้าน อย่าเอาเวลาไปเสียอยู่กับการคิดถึงคนอื่น  ไม่มีประโยชน์ มีแต่ทุกข์ จะไปคิดทำไม ในเรื่องที่ก็รู้อยู่แล้วว่ายิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ มันก็อดไม่ได้ที่จะคิด เนี่ย ไม่เรียกว่าเป็นผู้ที่ฉลาดเลย ใช่ป่าว ยังโง่เขลาเบาปัญญา

เพราะนั้นเมื่อมีปัญญา อย่าคิด รู้ตัวดีกว่า  อย่าไปฟังความคิดความเห็นที่มันจะทยอยขึ้นมา

(ต่อแทร็ 4/7)