วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 4/18 (3)


พระอาจารย์
4/18 (540531B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 พฤษภาคม 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 4/18  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นน่ะ สำคัญนะ เราไม่อยากสอนให้ใครไปเดินอ้อมเดินค้อม ...แต่เราจะย้ำอยู่ที่เดียวว่าการปฏิบัติของเราไม่มี ไม่มีวิธีการปฏิบัติ มีแต่หลัก

ไม่ต้องให้บอกอุบายหรอก ...มันไปทำเอาเดี๋ยวมันก็รู้เองว่ามันใช้ยังไงแล้วมันอยู่น่ะ  มันรู้เองน่ะ ค่อยๆ เรียนรู้เอา ...โง่นัก ก็ทุกข์มาก ...ก็ให้ทุกข์มันสอน ให้ธรรมชาติมันสอน 

เอาดิ จะนอนตายอยู่กับมันมั้ย ตายอยู่กับความโง่ความหลงมั้ย ... มันก็หาทางรอด...ต่อให้ซากศพลอยมาก็คว้าจับ เป็นที่พึ่ง อาศัยพยุงตัวไป ...เมื่อพยุงตัวว่ายน้ำเป็น ก็ต้องทิ้งซากศพแล้ว

แต่ถ้าได้ลองว่าครูบาอาจารย์บอกเมื่อไหร่แล้วล่ะก้อ...เดี๋ยวติด มันยึดเอาเป็นสรณะเลย มันยึดเอาเป็นมรรคเป็นผลเป็นวิธีการ ...เดี๋ยวจะติด บอกให้ 

เพราะนั้นเราจะไม่ค่อยเน้นอุบาย แต่ว่าก็ไม่ได้ให้ทิ้งอุบาย หรือว่าไม่ให้ทำอุบาย ...แต่พูดในฐานที่เข้าใจในทุกคนว่า จะให้มารู้ตรงๆ อย่างที่เราพูดเนี่ย...ไม่มีทาง 

มันก็ต้องมีเอ๊อะ มีอ๊ะ มีการเข้าไปด้วยอุบายใดอุบายหนึ่ง ด้วยคำพูดใดคำพูดหนึ่ง ด้วยกลวิธีใดกลวิธีหนึ่ง ...แต่อย่าให้ออกนอกหลักนี้เท่านั้นน่ะ

เพราะนั้นเราจึงไม่ปฏิเสธอุบายเลยสักอุบายเดียว  พอใจจะทำ...ทำอะไรก็ได้ให้มันอยู่กับปัจจุบันแค่นั้นแหละ 

เราถึงบอกไง ...ต่อให้เอาตีนชี้ฟ้าเอาหัวทิ่มดินแล้วสติมันอยู่กับเนื้อกับตัว ทำไปเลยตลอดชีวิต...ดี ไม่ผิดด้วย จะพิจารณาอะไรก็ได้...ไม่ผิด ขอให้มันเข้าใจหลักก่อน อยู่ในหลัก ไม่ออกนอกหลัก ไม่ออกนอกมรรค 

ไม่งั้นทำไปทำมามันจะไหลเลื่อนลอยออกไป ...ไปคว้าไปจับ ไปบูชา ไปสำคัญอุบายเป็นหลักไปเลย ...แล้วมันก็เลยมองว่าไอ้หลักที่เราพูดนี่เป็นแค่อุบาย

เขาบอกว่าดูจิตง่ายยย ไม่เห็นต้องทำอะไร ใครก็ทำได้ เขาพูดกัน...นี่ ไม่เห็นทำอะไร ไม่มีการกดข่มบังคับ ไม่มีกำลัง ไม่มีฐานอะไรสักอย่าง เขาก็พูดกันอย่างนี้ 

มันเลยสำคัญว่านี่เป็นอุบาย ที่จะให้พอเอาตัวรอด ...ซึ่งเราบอกว่า ถ้าคนที่ไปสำคัญอุบายเป็นหลักเมื่อไหร่ มันจะเห็นหลักเป็นอุบายทันที 

เราก็บอกว่า มันต้องมาทำ ...มันทำจริงรึเปล่า จะมาคิดเอาเองแล้วปฏิเสธเลยไม่ได้ ...ให้ทำแล้วถึงจะรู้...สติปัฏฐานจริงๆ น่ะคืออะไร 

มันยังแยกไม่ออกเลยระหว่างสติปัฏฐานหรือมิจฉาสติ  สมาธิ...สัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ

ทำไมเราถึงบอกว่าสมาธิที่เรียกว่าสงบ กายวิเวก จิตวิเวก เกิดจากการสงบระงับ ไม่ใช่สงบกระทำ แต่สงบระงับการปรุงแต่ง ก็เกิดธรรมชาติของใจที่สงบเองแล้ว 

เพราะมันระงับความปรุงแต่ง ไม่ตามความปรุงแต่ง ...ด้วยสติเท่าทัน ใจก็สงบระงับ ตั้งมั่น แล้วก็เป็นกลางในตัวของมันเอง ...ไม่ได้ทำเลย ไม่ใช่ว่าไปนั่งเอาเป็นเอาตาย ทำไงให้มันนิ่ง ใช่มั้ย  

ถ้าทำอย่างนี้เราบอกเลย อย่ามาคุยกัน ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ยังเถียงกันไม่จบ ...แล้วเราไม่เถียงด้วย เราก็บอก ดี ทำเยอะๆ เอาให้ตายไปเลย เอาให้มันไม่ให้หลุดออกมาเลยนะ เออ แล้วค่อยมาคุยกัน

คือถ้าเป็นอย่างนั้นน่ะ ถ้ายังทิฏฐิยังไม่ตรงนะ ยังแยกไม่ออกระหว่างสัมมากับมิจฉา คุยกันอธิบายกันมันเหมือนว่า ..มึงไปไหน ..เออ ได้ยิน ...มันคนละเรื่อง (โยมหัวเราะ) มันคุยกันไม่จบหรอก อย่างเนี้ย

แต่ในลักษณะที่ปลูกฝังในลักษณะของปัญญา ก็จะสามารถอธิบายได้ว่า...สงบอย่างไรที่เรียกว่าสมถะ สงบยังไงที่เรียกว่าสมาธิ สงบยังไงที่เรียกว่าไม่จงใจ สงบยังไงที่เรียกว่ามันเกิดเอง ใช่ป่าว


โยม –  แต่คนที่ทำเป็น ก็ไม่รู้จะบอกไปยังไง 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปเถียงกับเขาเลย เราก็บอกไปว่า...อนุโมทนา สาธุ เจริญเข้าไปมากๆ เดี๋ยวคุยกันไม่รู้เรื่องเอง ต้องสนับสนุนไปเลย ...ลดละทิฏฐิความเห็นแม้กระทั่งถูกหรือผิดของตัวเองด้วย 

ไม่เอาอะไรทั้งสิ้นในโลกนี้ ไม่เอาสาระใดๆ ทั้งสิ้นในธรรมทั้งหลายทั้งปวง ...มึงว่าถูกก็ถูกไปสิ (หัวเราะ) ก็ไม่ได้ว่าอะไร อย่างเนี้ย ...ละไปก่อน 

เพราะธรรมเป็นเรื่องของโอปนยิโก ...แม้แต่คนฟังธรรม ต้องโอปนยิโก ไม่ใช่ไปบังคับให้เขาฟัง ด้วยความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง 

จนกว่าดวงจิตของสัตว์นั้นบุคคลนั้นมีอาการน้อมเข้าสู่ธรรม หรือว่าน้อมมาฟังธรรม ...มันจึงจะรับธรรมได้เข้าใจ 

แต่เมื่อใดที่จิตเขาไม่มีการโอปนยิโก หรือมีการน้อมในธรรม หรือว่าน้อมที่จะฟังธรรม ...ลักษณะเช่นนี้แล้ว เหมือนข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า มีแต่โทสะกับปฏิฆะ 

เพราะนั้นน่ะถ้าไม่เข้าใจถึงสัมมาทิฏฐิจริงๆ มันยาก ...แล้วมันจะเกิดความขัดแย้งและแบ่งแยกมากขึ้น เกิดความร้าวฉานยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้มันก็ร้าวจนจะแตกระแหงแล้ว จนจะปริ จนจะขาดจากกันอยู่แล้ว บอกให้เลย ...นักปฏิบัติบ้าบอคอแตกอะไรมาทะเลาะกันเรื่องไร้สาระสิ้นดี

เพราะนั้นว่าต้องปรับทิฏฐิให้ตรงก่อนว่า ที่พระพุทธเจ้าสอนน่ะคืออะไร  เป้าหมายจริงๆ ของพุทธ ...เราถึงบอกวิถีแห่งพุทธ...คือวิถีพุทธะ 

มันเหมือนพูดแบบตีกินหมด ถ้าคนโง่ๆ แล้วมันก็หาว่าเล่นภาษา ...แต่จริงๆ น่ะพุทธะคือผู้รู้ ผู้ตื่น ...อยู่ในวิถีแห่งพุทธะไม่ต้องกลัวหลง รู้เข้าไป ตื่นไว้ ตื่นกับปัจจุบัน แค่นี้ 

หลวงปู่ก็สอนเราในดวงจิตผู้รู้นี่แหละ เพราะนั้นแรกๆ ของการปฏิบัติของเรานี่ อะไรเกิดขึ้น...รู้ๆ กำลังทำอะไร...รู้ อะไรเกิดข้างใน...รู้ ไม่ว่าอะไร...รู้ รู้ไว้ก่อน พ่อสอนไว้ ว่าให้รู้ 

คือหลวงปู่สอนไว้ ว่าอะไรก็ให้รู้ เป็นผู้รู้ ...นั่งก็รู้ ยืนก็รู้ เดินก็รู้ คิดก็รู้ ไม่คิดก็รู้ ดีใจรู้ เสียใจรู้ กิเลสเกิดรู้ ราคะเกิดรู้ โมหะเกิดรู้ โทสะเกิดรู้ ...รู้เข้าไว้ ไม่แก้ไม่หนี รู้อย่างเดียว 

สงสัยรู้ จะคิดรู้ จะคิดตามความสงสัยรู้ ...รู้เข้าไปหมด รู้แก้หมดน่ะ เอารู้เข้าไปแก้ด้วยการรู้  ไม่ได้แก้ด้วยการกระทำ แต่แก้ด้วยการรู้ ...เนี่ย เราถือว่าวิถีนี้คือวิถีของพุทธะ รู้แบบโง่ๆ ไม่แก้ รู้แบบงอมืองอตีน

ก็ทำมาอย่างนี้ เวลาสอนเราก็สอนให้ทุกคนอย่างนี้ ให้ทำแค่นี้ ไม่เห็นมันมีความยากเย็นตรงไหน ...เพราะมันจะมีอะไรเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็รู้มันเข้าไป เห็นมั้ย รู้โง่ๆ

พวกเรามันขี้เกียจรู้น่ะ ...แล้วขี้เกียจรู้เมื่อไหร่ก็คือขี้เกียจเจริญสติ ขี้เกียจเจริญสมาธิ ขี้เกียจเจริญปัญญา ...นี่ ขี้เกียจอีกก็รู้อีก เอา ดูซิมันจะรอดจากรู้ไปได้ยังไง 

แต่ว่าในลักษณะวิสัยของพวกโยมนี่ มันมีการเกี่ยวข้องมาก มันไม่สามารถจะรู้เป็นอาชีพได้หรอก  เพราะนั้นเราจึงให้รู้กายเป็นอาชีพ...ต้องมีอุบาย เห็นมั้ย 

ไอ้อย่างเรานี่อาชีพหลักคือภาวนา เกิดมาเพื่อภาวนา มาเป็นนักบวชโดยตรง ไม่มีอาชีพรอง ไม่มีการเกี่ยวข้องกับผู้คนโดยตรง เพราะนั้นอาชีพหลักของเราคือ...รู้ (หัวเราะ)

รู้ไปตรงๆ เลย...ทุกอย่าง ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น อะไรจะเกิด อะไรจะดับ อะไรจะไม่เกิด อะไรจะไม่ดับ กูไม่สน ใครจะเกิด ใครจะตาย ใครจะมีความคิดความเห็นอย่างไร ใครจะมองยังไง...ไม่สน รู้อย่างเดียว

แต่อย่างพวกโยม...ไม่ได้ มันต้องหาอะไรเป็นที่พึ่งที่ยึด เป็นอุบาย...ก็คือสติปัฏฐาน ที่ฐานใดฐานหนึ่ง 

ที่ชัดเจนที่สุดคือกายคตาสติ หรือว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ...เพราะนั้นพอรู้กายคตาสติ มันก็จะเห็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะเห็นกายเป็นวิปัสสนาญาณขึ้นมาเอง ตามลำดับ 

เพราะนั้นดูมันไป...กาย  ผมขนเล็บฟันหนัง ดูมันลงไป ...ดูตรงนี้นะ ไม่ใช่ไปดูในความคิด ดูของจริง ดูผมจริงๆ รู้สึกที่ผม รู้สึกที่หนัง ที่เนื้อตัว เนี่ย กายคตาสติ

อย่างบวชมาเป็นพระ เห็นมั้ย เวลาเป็นพระ ท่านให้กรรมฐานเบื้องต้นเลย พระอุปัชฌาย์ต้องสอนกรรมฐาน ๕ ทุกองค์ไป คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ 

พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้เลย ว่าอุปัชฌาย์ต้องสอนกรรมฐาน ๕ นี้ เพราะนั้นนักบวชทุกคนต้องรู้กรรมฐาน ๕ ว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง  ...ทีนี้คนนี้มันไม่เข้าใจ

นี่สำคัญ เรื่องกายนี่ทิ้งไม่ได้ ...แม้แต่พระพุทธเจ้ายังบอกไว้เลยว่าผู้บวชใหม่ทุกคนนะ ให้พิจารณากรรมฐานห้าเป็นหลัก ผมขนเล็บฟันหนัง 

แต่ไม่ใช่พิจารณาด้วยคิดหรือว่านั่งสมาธิแล้วก็นึกภาพขึ้น ...แต่ให้รู้ตรงๆ ลงไป มันมีอยู่ตลอดเวลา ผมขนเล็บฟันหนัง อย่าให้ขาด อย่าให้หายไป ...มีกายเป็นฐาน 

แล้วเมื่อกายแน่น เข้าใจมากขึ้นหรือว่าชัดเจนว่าเป็นสิ่งหนึ่งแล้ว แล้วก็มีรู้อีกสิ่งหนึ่งกับกายแล้ว จากนั้นสติปัฏฐานสี่ รวมลงเป็นหนึ่ง กายเวทนาจิตธรรมเป็นอันเดียวกันหมด

ก็คือเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ถูกรู้ ไม่เข้าไปว่าชื่ออะไรโดยสมมุติบัญญัติแล้ว ...มันก็จะกระจายออกไปครอบคลุม จนครอบคลุมไปทุกสรรพสิ่ง จนครอบคลุมไปถึงอนันตาจักรวาล 

เห็นมั้ย แค่กายคตาสตินะ มันออกไปรู้ทุกสิ่งในอนันตาจักรวาล ด้วยอุบายของกายคตา กายานุสติปัฏฐาน

แต่ถ้ามานั่งคิดนั่งค้นนั่งหาอะไรกันอยู่ มันก็มั่วไปหมด แล้วจับต้นชนปลายไม่ถูก เหมือนกับเคยภาวนา แต่ก่อนแรกๆ เริ่มมางงเป็นไก่ตาแตก จับต้นไม่ถูก จับปลายไม่ถูก 

จะทำอันไหนดี อันไหนถูกจริต จะหาจริตตัวเองให้เจอก็ไม่เจอ ...ก็บอกเจอแต่วิกลจริต(หัวเราะกัน) จะเอามั้ยล่ะ วิกลจริต...มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 

มันจะไปเอาแน่อะไร จริตวันนึงไม่รู้กี่จริต บอกไม่ได้หรอกเป็นราคะจริต โทสะจริต ...มันอยู่ด้วยอาการวิกลจริต คือมันแปรปรวนไปตลอดน่ะ

เพราะนั้นอุบายที่ใกล้เคียงกับหลักที่สุดก็คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ ...กรรมฐานทั้งหลายก็หนีไม่พ้นสติปัฏฐานหรอก 

มัวแต่ไปแบ่งแยกกันไป มองไม่แจ้ง มองไม่กระจ่าง มันก็กับเหมือนพายเรือในอ่าง มันไม่ได้ออกไปสู่มหาสมุทร ...ก็จะเห็นว่าน้ำในตุ่มกับน้ำในมหาสมุทรก็น้ำ แต่มันกว้างกว่าเยอะ ไม่ใช่แค่ในตุ่มเท่านั้น 

ก็บอกแล้วเนี่ย ...ความเป็นจริง มันยังมีความเป็นจริงที่กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่านั้น เปิดกว้างยิ่งกว่านั้น 

เพราะนั้นตัวสติปัฏฐานทั้งหลาย เวลาเจริญสติให้ถี่ถ้วนแล้ว เหมือนของคว่ำที่หงายขึ้นมา เหมือนของมืดที่ทำให้แจ้ง ...ปัญญานี่เข้าไปเปิด เปิดให้แจ้ง ในสิ่งที่ลังเล มืดมน มืดมัว มะงุมมะงาหราอะไรกันอยู่ 

มันก็จะเปิดหงายออก ของคว่ำก็จะเป็นของหงาย ...ไม่ใช่คว่ำอยู่กับกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่ง รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง 

พอเปิดขึ้นมานี่ ...โหย เคยโง่แทบตาย...ถึงเข้าใจ


……………………




วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 4/18 (2)


พระอาจารย์
4/18 (540531B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 พฤษภาคม 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 4/18  ช่วง 1


พระอาจารย์ –  กายน่ะ มันไม่ดับหรอก ...มันเกิดดับต่อเนื่อง มันสืบเนื่องกันมา จะไปดับเอาจริงๆ โน่นน่ะ เจ็ดสิบแปดสิบนั่นน่ะ...ตาย  

ตอนนี้ดูยังไงมันก็ยังมีอยู่ ความสืบเนื่อง ไม่ต้องไปหาดูหรอก ...แต่ไอ้ที่เห็นเกิดดับชัดเจนคือนามขันธ์ รู้ตรงไหน หยั่งตรงไหน ทันตรงไหน พั่บ ดับๆๆ 

พอเราไม่เอากับมันแล้ว ไม่เล่นด้วยกับมันแล้ว ..กูไม่เล่นกับมึง กูไม่เอาอะไรกับมึง กูไม่เอาสาระแก่นสารอะไรกับมึง...พั่บ ดับ ขาดเลย  ไม่ว่ามันจะหนักหน่วงขนาดไหน...เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

กำลังวุ่นวี่วุ่นวายสับสนอลหม่าน ในความคิดกำลังหาอะไร หาเหตุหาผลอยู่ ...พอรู้ กลับมารู้ตัว พั่บ มันดับเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย มันหายไปต่อหน้าต่อตาเลย 

นามขันธ์...มันจะเห็นชัดในความเกิดดับของไตรลักษณ์ สภาวะจิตมันก็ดับไปพร้อมกัน ...การเข้าไปหมายในอารมณ์ ในความคิด มันก็ดับไปพร้อมกัน

เนี่ย การงานในมรรค ทำอยู่แค่นี้ เรียกว่าเป็นมัชฌิมา ระหว่างของสองสิ่ง ...อย่าไปสาม อย่าไปสี่ อย่าไปห้าหก หรือเป็นอันเดียว...ไม่ได้ หลงหมดแหละ 

ต้องเป็นของคู่ มีใจเป็นคู่ ตีคู่อยู่ตลอด ...แล้วก็อาศัยใจนี่เป็นทางเดินของสติปัญญา ก็คือตัวรู้  ใจนั่นน่ะ ที่รู้นั่นน่ะคือสติปัญญา รู้ไปตรงๆ กับสิ่งที่ถูกรู้ แล้วแยกออกมานั่นน่ะคือสติปัญญา 

ไม่ใช่ความรู้อะไร ไม่ใช่เป็นข้ออรรถข้อธรรม หรือว่าข้อความใดๆ อย่างที่เราเข้าใจว่า ปัญญาคือจะต้องมีข้อความ หรือเป็นเมสเสจภาษาอะไร

แค่ใจออกมารู้และเห็นกับสิ่งที่ถูกรู้ แค่นี้คือปัญญา ...นี่คือปัญญาวิมุติแล้ว ให้รู้เห็นแค่นี้

ในส่วนอื่นที่ว่าจะให้เห็นว่ามันเป็นอสุภะ ให้เข้าใจว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ...ไม่ต้องแล้ว หรือพอมันจะไปหาความเข้าใจอย่างนั้น พอรู้แล้วก็ละ ความปรุงมันก็จะดับไป ความอยากรู้อยากเห็นมันก็ดับไป

ถ้าฝึกแรกๆ สำหรับคนเบื้องต้นน่ะ มันก็จะละล้าละลัง เสียดาย อยากรู้ ...เพราะเคยได้ยินมาว่ามันต้องเห็นอย่างนั้นซะก่อนถึงจะละกายได้ ถึงจะวางกายได้ หรือว่าถึงจะเห็นความไม่เที่ยงกับกายได้ 

มันก็เลยลังเลสงสัย จะทิ้งก็ไม่กล้าทิ้ง จะทำต่อก็กลัวจะไม่มีไม่ได้ มันเลยไหลออก ตัดสินใจไม่ถูก

บอกแล้วต้องยืนกระต่ายขาเดียว...ด้วยสติสัมปชัญญะ  สติปัฏฐานคือ สักแต่ว่ารู้น่ะ ...รู้ก็สักแต่ว่ารู้ ไม่รู้จะรู้ไปทำไม ไม่รู้จะไปเอาอะไรกับมัน แล้วก็สักแต่ว่ารู้...เนี่ย สติปัฏฐาน 

ไม่ใช่รู้แล้วจะเกิดมรรคเกิดผลกับสิ่งที่ถูกรู้นั้น หรือไปหามรรคหาผลกับสิ่งที่ถูกรู้นั้น ...มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ไปๆๆๆ แล้วมันก็จะม้วนตัวกลับเข้ามา อยู่ในฐานของปัจจุบัน ของใจ 

แล้วก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ในของทุกสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา ไม่เว้นอะไรสักอย่าง แม้แต่ธรรมหรือสังขารธรรม ดับหมด ไม่เหลือเลย ...เป็นผู้หมดสิ้นซึ่งธรรมโดยสิ้นเชิง ไม่มีธรรมอย่างที่เราเข้าใจ 

คือเป็นผู้รู้ธรรมแต่ไม่มีธรรม เป็นแค่ผู้ที่รู้เห็นธรรมตามความเป็นจริง ...เพราะนั้นทุกอย่าง...ตาเห็นรูป...นี่ธรรม หูได้ยินเสียง...นี่ธรรม ปรากฏตามความเป็นจริง...แล้วก็ดับๆ 

ดับแล้วดับเลย ไม่มีว่า...ทำไมไม่เกิดอีกวะ ทำยังไงถึงจะให้เสียงนี้มาอีก...ไม่มี ...ก็ดับไปพร้อมกับเสียงแล้ว ดับพร้อมกันเลย ...นี่เขาเรียกว่าผู้รู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริง 

มันเลยไม่ได้ธรรมอะไรสักอย่าง ไม่มีธรรมด้วย ไม่เอาธรรมด้วย ...ถ้ายังคิดว่ามี หรือว่าเอาธรรม หรือว่าเป็นผู้มีธรรมอยู่ ...ก็มีแต่ทุกข์ 

แต่ว่าเป็นแค่ผู้รู้เห็นธรรม ผู้แจ่มแจ้งในธรรม แล้วก็ทิ้งหมด ...มันก็ดับไปพร้อมกับสิ่งที่มันเกิด

เอ้า มีอะไรสงสัยอีกมั้ย


โยม –  อยากจะถามท่าน มันก็มีความรู้สึกว่ามันก็ยังชะแว้บ ไปเห็นชะแว้บ มันก็ดับ    

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้ทัน แล้วก็ดับไป   


โยม –  คือจริงๆ แล้ว ข้างในมันก็ทำงานของมันตลอด เพียงแต่ว่า...เออ ไปเห็นมันชะแว้บ ก็รู้ว่ามันชะแว้บ  พอฟังท่านเมื่อกี้ที่บอกว่า พอนานๆ ก็รู้ มันก็หายไป แล้วเราก็ไม่ต่อมัน ก็คือมันก็จบอยู่ตรงนั้น 

พระอาจารย์ –  ลักษณะอย่างนี้...ดัก จะไปดักคอย เข้าใจมั้ย ดักคอย ...ไอ้ที่ดักคอยอยู่ มันไปรอดักอยู่บนความเลื่อนลอย 

เพราะนั้นอย่าไปดัก ...ให้รู้ตัว อยู่กับความรู้ตัว รู้กับกาย เห็นกาย  รู้ตัวว่านั่ง รู้ว่ากำลังเดิน กำลังเฉยๆ กำลังขยับ กลืนน้ำลาย ...ให้รู้ตัวอยู่อย่างนี้ 

ไม่ใช่ไปดักคอยดูว่าอะไรจะผุด อะไรจะโผล่ อย่างนั้นน่ะ เดี๋ยวจะเลื่อนลอยแล้ว บอกให้ ...พอลุกจากนี่นะ หายแล้วนะ บอกให้เลย ไอ้สภาวะที่กำลังทำอยู่เมื่อกี้จะหาย ...จะโม้ จะเพลิน จะคุยไปเรื่อยล่ะ

ถึงบอกว่ากายเป็นหลัก ก็ปักหลักให้มั่น อย่าลืมตัว รู้อยู่ ต้องรู้อยู่กับกาย ยืนเดินนั่งนอน ใจถึงจะมั่น แน่นอยู่ตรงนี้ ...แล้วตรงนี้มันถึงจะเห็นอาการผุดโผล่ชัดเจน 

อย่างนี้อย่างที่โยมทำนี่ มันไปดักอยู่ บนไหนก็ไม่รู้ ไปนั่งบนสวรรค์แล้วก็รอดูว่าอะไรจะผ่านมา ...มันลอยนะ เดี๋ยวมันจะไปร่อนเร่เลย      


โยม  วันไหนที่มันพอใจนี่ อื้อหือ มันจะนั่นเลย  

พระอาจารย์ –  อย่าไปดัก ...อย่าไปดักรู้ อย่าไปดักอะไร อย่าไปอยากจะไปทันความเกิดดับ เข้าใจมั้ย 

ให้อยู่ที่รู้ตัว แล้วมันเห็นเท่าทันเอง บอกให้เลย ...เพราะนั้นน่ะ การที่กลับมารู้ตัวนี่ มันจะเห็นในลักษณะที่เป็นลักขณูปนิชฌานนี่ชัด 

แต่ถ้าเราไปดักคอย คอยดูอยู่อย่างนี้ มันจะเข้าไปเป็นอารัมณู ...คือมันจะเข้าไปในอารมณ์โดยไม่รู้ตัว เข้าไปอยู่ ไปตกอยู่ในอารมณ์ ตกอยู่ในความคิด ตกอยู่ในรูป ตกอยู่ในเสียง ด้วยความไม่รู้ตัว  

แต่พอเรากลับมารู้กายเป็นฐาน รู้ตัวอยู่ มีการรู้ตัวอยู่ ปุ๊บ มันก็จะเห็นอาการเกิดดับ ลักษณะที่ผุดโผล่ขึ้นมาชัดเจน ...ก็จะเห็นเป็นแค่ลักษณะ 

เป็นลักษณะของความคิดเกิด เป็นลักษณะของความอยากเกิด เป็นลักษณะของความรู้สึกเกิด เป็นลักษณะของการเข้าไปเห็นเข้าไปได้ยินเกิด ...มันจะเห็นเป็นลักษณะ 

เห็นเป็นลักษณะ...แล้วก็จะดับทันที ... แต่ว่าตัวที่ไม่ดับคือรู้ตัว...ไม่ดับนะ ต้องมีตัวนี้อยู่ ...ไม่อย่างนั้นน่ะ มันจะลอยๆ หายแล้ว เดี๋ยวก็หายเลยพอเห็นดับโดยที่ไม่มีหลักหรือว่ารู้ตัวอยู่ 

คือพอเห็นความคิดดับ ...สติก็ดับ สมาธิก็ดับ ปัญญาก็ดับไปพร้อมกัน บอกให้เลย ...คือมันไม่อยู่แล้ว สมาธิก็หาย สติก็หาย สัมปชัญญะก็หายไปพร้อมกับไอ้ที่มันดับ 

พอขี้เกียจ พอไม่ขยันนะ เดี๋ยวหายแล้ว จะหายไปหมดเลย มันอยู่ได้ไม่นานหรอก สติสัมปชัญญะหายแล้ว ลอยไปพร้อมกับไอ้ที่มันดับๆ ไปน่ะ 

เพราะนั้นมันต้องอยู่ในฐาน ต้องมีฐานปัจจุบันอยู่ เอากายเป็นจุดยึดโยงอยู่ เอารู้ผูกไว้กับกาย รู้ตัว มันจะเห็นลักขณูปนิชฌาน หรือว่าลักษณะของขันธ์ที่เกิดขึ้น...เกิดดับชัดเจน 

ไม่งั้นสติปัญญามันจะดับไปพร้อมกัน คือได้สักพักนึงก็ดับหายไปเลย ...พอหายแล้วนะ กู่กลับคืนยากด้วยนะ ปล่อยน่ะ บางทีหายไปเป็นชั่วโมงเลยนะ หายไปเป็นวันเลยนะ 

กว่าจะกลับมาได้นี่ หืดขึ้นคอ ไม่หืดขึ้นคอก็เจ็บตัว ทุกข์แบบ หูย เศร้าหมอง ขุ่นมัว กังวลวิตก โอย กว่าจะสลัดออกจากอารมณ์ได้น่ะ เหมือนกับดินพอกหางหมูเลย ...ขยันพอกมันเข้าไป  


โยม –  แล้วอาจารย์ไม่ให้ใช้อุบายเลยใช่มั้ยคะ  

พระอาจารย์ –  ไม่มีอุบาย ไม่มีวิธีการปฏิบัติ


โยม –  อันนึงก็ไม่เอา อย่างนี้

พระอาจารย์ –  ไม่เอา    


โยม  (หัวเราะ)

พระอาจารย์ –  ลองถ้าได้ทำอะไรขึ้นมานะ บอกให้เลย จะติดอุบายหมด บอกให้


โยม –  ก็...ให้เขาติดไปก่อน  แล้วค่อยมาแงะออก

พระอาจารย์ –  ไม่ให้ติด...ไม่ติด ...แค่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่ก็คืออุบายแล้ว  แต่เป็นอุบายที่พร้อมไปกับหลัก เอากายเป็นที่ตั้ง นี่คือเอากายเป็นอุบายแล้วนี่ ...นี่คือกายเป็นอุบายนะ


โยม –  อย่างที่เป็นโทสะจริต ...ไม่มีอะไรสงเคราะห์

พระอาจารย์ –  จะเป็นอะไร...ไม่มีข้อแม้ ไม่มีจริต ...ไปเรียนรู้เอาเอง ... อยากโกรธดีนักใช่มั้ย รับผลเอาเลย


โยม  อุ๊ย พระอาจารย์ (หัวเราะ) ...ไม่อยากมีกรรมเยอะ

พระอาจารย์ –  เอ้า บอกแล้วว่าให้ธรรมชาติมันสอน สอนเอาเลย อยากโกรธ โกรธไป ...เพราะนั้นในลักษณะอย่างนี้คือทำความเข้าใจแจ่มชัดขึ้น ให้ทำความเข้าใจแจ่มชัดขึ้นว่า เลิกหาอุบายมาแก้ได้แล้ว


โยม –  มันใช้อุบาย แต่ให้รู้ว่า...เออ เราใช้อุบายอยู่นะ  

พระอาจารย์ –  ไม่อนุญาตให้ใช้อุบาย ...คือเราไม่พูดเป็นภาษาให้...แต่บอกให้เลยว่า โดยแต่ละคนมันมีอุบายในตัวของมันเอง บอกให้แล้ว ให้มันหาอุบายเอาเอง ...มันจะเข้าไปหาเอาเอง ของใครของมัน

เคยมี...ตอนที่เราอยู่กับหลวงปู่ แล้วมีพระองค์นึง พระบวชใหม่ มาถามหลวงปู่ ...มันช่างกล้าๆ ...บวชยังไม่ทันถึงพรรษาเลย มันถามกลางที่หลวงปู่นั่งเทศน์ ...คือก่อนจะเทศน์ท่านนั่งอยู่ พระก็จะมานั่งฟังท่านคุยอย่างนี้ 

พระองค์นั้นก็ถามว่า...ขอเมตตาหลวงปู่ช่วยบอกอุบายในการภาวนาให้หน่อยว่า หลวงปู่ใช้อุบายยังไงในการภาวนา จนมาถึงทุกวันนี้ ผมจะได้เอาเป็นอุบาย จะได้เอาไปใช้ 

เหมือนกับเจริญตามมรรคผลของหลวงปู่เลย ว่าหลวงปู่ใช้อุบายอะไรเป็นเครื่องกำหนดใช้อยู่ ... หลวงปู่ท่านมองแล้วก็บอกว่า ...ท่าน ท่านจะบ้ารึเปล่า (โยมหัวเราะกัน) 

หลวงปู่ท่านพูดอย่างนี้เลย ...ท่านจะบ้าไปรึเปล่า ไอ้เรื่องพวกนี้ ขาใครขามัน มือใครมือมัน ตีนใครตีนมัน ของใครของมัน บอกไม่ได้ 

จะมาบอกว่าผมนอนกี่ชั่วโมง ผมเดินจงกรมท่าไหน บริกรรมเวลาไหน กี่นาที นั่งสมาธิเท่าไหร่นี่ ท่านจะมาตามผมไม่ได้ ... หลวงปู่ท่านบอก...เดี๋ยวท่านจะบ้า

แล้วเชื่อมั้ย ในพรรษานั้น ...ออกพรรษาแล้ว พระองค์นั้น...บ้า เป็นบ้าจริงๆ นะ เป็นลักษณะบ้าแบบไม่มีสติสตังเลย เป็นครูใหญ่ด้วยนะ นี่ วิ่งไล่จับกันทั่ววัดเลย


(ต่อแทร็ก 4/18  ช่วง 3)



วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 4/18 (1)


พระอาจารย์
4/18 (540531B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 พฤษภาคม 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น 3 ช่วงบทความค่ะ)

โยม –  ช่วงแรกที่ลุงหวีดติดอยู่สองปี ลุงหวีดบอกติดอยู่ในความว่าง คือจะฝึกด้วยการเห็นอะไรแล้วพยายามไม่อ่าน จนสุดท้ายแล้วจิตมันไม่ออกมาทำงานอะไรเลย ไม่เหมือนกับตัวนี้ใช่ไหมคะ 

พระอาจารย์ –  ไม่เหมือน เพราะในลักษณะอย่างนี้หมายความว่ามีแต่ว่าง...ไม่มีรู้  เข้าใจไหม 

คือของเพิ่นมันละเอียดจนไปแยกไม่ออก ไปเข้าไปว่าจิตคือว่าง จิตคือไม่มีอะไร ใจคือไม่มีอะไร ก็เลยไปถือสภาวะจิตว่าเป็นสภาวะใจ 

เนี่ย เห็นมั้ย โมหะเข้ามาดึง เข้าไปกลมกลืนกับสภาวะจิต โดยปัญญาแยกไม่ออกว่าสภาวะจิตไม่ใช่ใจ มันเป็นแค่สภาวะจิต คืออารมณ์ ...คือเป็นแค่อารมณ์หรือเป็นแค่ขันธ์หนึ่ง


โยม –  แค่อาการว่างใช่มั้ยคะ   

พระอาจารย์ –  เออ เพราะนั้นใจไม่ว่าง ใจไม่ได้ว่างนะ...ใจคือรู้ นะ ต้องมีรู้อยู่คู่กันกับทุกสิ่ง ...นั่นแหละ มันถึงจะออกจากอรูปได้ 

เพราะเวลาเราปฏิบัติไป...ด้วยใจที่เราหมายมั่นไว้ตั้งแต่แรกว่าผลมันคือไม่มีอะไรหรือว่าว่าง  พอเจอสภาวะนี้มากๆ เข้าปุ๊บ มันเข้าไปกลืนกินสภาวะ...โดยเข้าใจว่า เนี่ย ใจเราเป็นอย่างนี้


โยม  แต่ว่างอย่างที่ว่าใจเป็นมรรคอย่างนั้น คือมันมีรู้อยู่

พระอาจารย์ –  ต้องมีรู้อยู่ 


โยม –  เรียกว่ารู้ มีรู้ ถึงมันจะเงียบของมันไปเรื่อยๆ นั่นคือเป็นเส้นทางของมัน  

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นน่ะ ไอ้ตัวว่างตัวนั้นน่ะ คือกาย เข้าใจมั้ย นั่นแหละคือกายอันนึง เป็นกายสังขารนึง เป็นรูปอันนึง บอกให้เลย เป็นรูปนิมิตนึง แค่นั้นเอง เพราะนั้นรูปนี่เป็นแค่นิมิต เป็นนิมิต

เพราะนั้นในส่วนนี้ที่เรียกว่ากายวิเวก จิตวิเวก และก็ปรมัตถวิเวกนี่ คือรวมหมดเลยนะ ว่าสิ่งที่ถูกรู้น่ะ ไม่ว่าเป็นรูปหรือนาม นั่นแหละคือกายวิเวกหมด 

คือมันปรากฏขึ้นเฉยๆ ไม่มีตัวตนในนั้น...วิเวก  แล้วต้องออกมารู้เห็นเฉยๆ กับสิ่งที่ปรากฏนั้นด้วยความชัดเจน จึงจะเห็นความไม่มีตัวตนในของสองสิ่ง 

จึงจะเข้าไปถึง...สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ  ก็จะเห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงหาความเป็นตัวเป็นตนไม่ได้...ทั้งสองอย่าง อย่างนี้ พั้บ

แต่ว่ามันจะมาเห็นไม่ต่อเนื่องหรอก มันก็เป็นปหานตัพพธรรมไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ ...จนกว่ามันจะเต็มรอบ เต็มเปี่ยม เต็มพร้อม พอดี 

เพราะนั้นตัวอาสวักขยญาณสุดท้าย ก็เหมือนกับน้ำหยดสุดท้ายที่ลงบนแก้ว แล้วก็น้ำล้นน่ะ  นั่นแหละ หยดนั้นแหละ ปั๊บ...น้ำล้นแก้วพอดี แปลว่าเต็ม 

นั่นแหละ เรียกว่าญาณทัสสนะเต็มเปี่ยม มันก็ขาดออก มันพอดี พอดีปุ๊บเลย...ขาด

แต่ในขณะนี้ เดี๋ยวมันก็เข้าไปอีกๆ เดี๋ยวมันก็เข้าไปกลืนกิน...เป็นอารมณ์ เดี๋ยวก็ไปเหมาเอาว่าว่างเป็นใจ ใจเป็นว่าง ... ก็เหมือนกับที่พวกเราบอกว่ากายเป็นเรา เราเป็นกาย 

เบื้องต้นมันก็กลืนกินกับขันธ์หยาบๆ ต่อไปมันก็กลืนกินกับขันธ์ละเอียด ประณีต ...จนถึงขั้นไม่มี มันก็เข้าไปหมายมั่นเอาความไม่มีเป็นตัวเป็นตน เป็นของเรา เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นใจ

เพราะนั้นสติมันก็ทันทุกที่ สถาน เวลา ทุกขณะว่า...ว่างก็คือว่าง...รู้ก็คือรู้  มีก็คือมี ไม่มีก็คือไม่มี...รู้ก็คือรู้ ...ก็ใครรู้อยู่ มันมีอยู่ตัวนึง ไม่มีก็ไม่ใช่มีรู้อยู่ในไม่มี ไม่มีก็คือไม่มี มันแยกออกอย่างนี้ 

แล้วเมื่อแยกออก มันก็จะเห็นเป็นสองสิ่ง สองสิ่งปุ๊บมันก็จะเห็นในความไม่มีนั้นน่ะ ในความไม่มีอะไร ก็มีไม่มีอะไรในความไม่มีอะไร คือไม่มีตัวตนในความไม่มีอะไร 

นี่คือเข้าไปเห็นอนัตตาในตัวนั้น ...ก็เห็นความไม่มีอะไรเปล่าๆ คู่กับใจที่เห็นเปล่าๆ รู้เปล่าๆ

ระหว่างนั้นที่มันทำความแยบคายกับอาการสองอาการตรงนี้ เป็นธรรมคู่ตรงนี้  มันก็ไปสลายความเห็นผิดที่เป็นอาสวะ...ว่าว่างเป็นเรา เราเป็นว่าง 

ในขณะเห็น...นี่เรียกว่าปหานตัพพธรรม ประหารมันเข้าไป  เข้าอีกรู้อีกๆ ไม่ว่าหยาบ-ละเอียด เดี๋ยวก็กระโดดไปหยาบอีก เดี๋ยวก็กระโดดไปละเอียด เดี๋ยวก็กระโดดไปประณีต 

แล้วแต่มันจะไปมันจะมา ไม่แน่ไม่นอนหรอก ...แต่ว่า curve  มันจะมี curve ของมันอยู่...ไปตามขั้นภูมิของสติปัญญา ความถี่ถ้วนละเอียดรอบคอบของปัญญา ...มันจะไม่ทอดธุระ 

อย่าไปทอดธุระนะ อย่าไปสบายกับการปล่อยแล้วไม่มีอะไรนะ อย่าทิ้งรู้ อย่าทิ้งรู้นะ...สำคัญที่สุด  แม้จะเป็นรู้สัตว์รู้บุคคล มีความรู้เป็นสัตว์เป็นบุคคลอยู่ ก็อย่าทิ้งนะ 

ต้องอาศัย...ด้วย อัตตาหิ อัตโน นาโถ  ต้องอาศัยรู้ตรงนี้ เป็นบันได เป็นมรรค ... ถ้าไม่มีรู้อ่ะ...ถูกมันหลอกไปแล้ว 

เพราะนั้นเห็นมั้ยว่าอย่าทอดธุระ อย่าทิ้ง ทิ้งแบบคนนอนตาย ...มันทิ้งแบบยังไม่ปล่อยวางหรอก มันทิ้งแบบทอดอาลัยตายอยาก สบาย เห็นว่าไม่ต้องทำอะไรแล้ว

มันทอดธุระไม่ได้ มันเข้าไปแช่แล้ว มันเข้าไปนอนเนื่องแล้วเมื่อใดที่ทอดธุระ ...เพราะตัวเองมันยังไม่รู้เลยว่า มันยังไม่ขาด ยังไม่หมด ยังไม่สิ้น ...มันทอดธุระไม่ได้นะ 

เพราะนั้นไอ้การที่ไม่ทำอะไรแล้วทอดธุระ หรือปล่อยให้รู้หายไปแล้วก็ไม่ทำอะไร ให้รู้ไว้เลย...โมหะกิน หลงแล้ว ...ต้องตื่นขึ้น สะดุ้งตื่นขึ้นมา ลุกขึ้นมา 

เหนื่อยหน่อย ...เหมือนกับยังมีงานต้องทำอยู่ ต้องรู้อยู่  ...เอาจนมันเป็น ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหิ คือขาดแล้ว หมดแล้ว ไม่ต้องทำอีกแล้ว ไม่ต้องรู้กับอะไรอีกแล้ว 

นั่นแหละ มันจะรู้เอง มันจะเกิดภาวะนั้นเอง เรียกว่า โลกวิทู แจ้งหมด


โยม –  ในช่วงนี้อยากทำความเพียรช่วงไหนเราก็ทำตามที่เราเห็นว่าทำแล้วสติเรา... 
  
พระอาจารย์ –  ทำยังไงให้มันต่อเนื่อง เกิดอาการต่อเนื่อง ...แล้วก็ระหว่างทำก็ให้เรียนรู้ว่าสมดุลคืออะไร จงใจคืออะไร เจตนาคืออะไร มันเข้ม มันหนัก มันเบา หรือมันปล่อย ...คือยังไงให้มันพอดี 

เรียนรู้ไปอย่างนี้ แล้วก็เกิดความต่อเนื่องไป ...แยบคาย จำแนกธาตุ จำแนกขันธ์ จำแนกใจออกจากธาตุจากขันธ์จากอายตนะ ออกจากสภาวะธาตุ สภาวะจิต สภาวธรรมที่ครอบงำล้อมรอบตัวเราอยู่ 

แยกใจออกมาจากทุกสภาวะ  เพราะใจก็คือสภาวะใจ แล้วก็สิ่งที่เรารู้นี่ มันก็มีหลายอย่างตอนนี้ ...แต่เรายังมองไม่ออก ยังจำแนกไม่ชัดเจน 

ก็แค่สภาวะกาย สภาวะจิต สภาวธรรม สภาวะขันธ์ แค่นี้ ...มันก็เป็นแค่มองเห็น แยกสภาวะใจมาก็จะเห็นสภาวะๆ เป็นต่างอันต่างเป็นสภาวะ เกิด-ดับ 

สภาวะเกิดดับๆ แล้วก็มีสภาวะจิตที่เข้าไปแทรกแซงอยู่ตลอด กับสภาวะกายบ้าง กับสภาวะขันธ์บ้าง กับสภาวธรรมบ้าง รูปเสียงกลิ่นรสบ้าง อารมณ์บ้าง ความรู้สึกบ้าง

ให้เห็น เท่าทัน ในสภาวะทุกสภาวะที่ปรากฏ ...โดยที่ว่าไม่เลือก ไม่เลือกสภาวะ แล้วแต่จิตมันจะพาไป หรือว่าสภาวะจิตจะไปเกิดกับอะไร ...วิญญาณน่ะมันจะไปเกิดกับอะไร 

เพราะไอ้วิญญาณนี่คือตัวพาไปเกิด ไปเกิดทางขันธ์ ไปเกิดทางกาย เกิดทางเสียง เกิดทางตา ...แล้วแต่ว่าสภาวะจิตมันจะพาไปเกิด 

ด้วยความไม่รู้...มันจะไปจับอะไรมาเป็นอารมณ์ จับอะไรมาเป็นที่อยู่ จับอะไรมาเป็นมรรคเป็นผลในความเข้าใจของมันนี่ ...ก็ให้ทัน รู้...แล้วก็แยกใจออก 

แล้วก็จะเห็นสภาวะทุกสภาวะ...ดับ เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนก็ดับ  ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ก็เปลี่ยนก็ดับอยู่อย่างนี้ ...นี่คือการเห็นไตรลักษณ์ด้วยญาณทัสสนะ 

ไม่มีอะไรหรอก ทำอยู่แค่นี้แหละ มันก็จะถอยห่างจากกันเรื่อยๆ ...สภาวะใจก็จะถอยห่าง แยกออก มันจะแยกออกจากสภาวะทุกสภาวะ


โยม  ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็จะแยกของมันออกเอง 
 
พระอาจารย์ –  แยก...แยกเอง ไม่ต้องหาแล้ว จะไม่ต้องหาแล้วว่าใจอยู่ไหน  พอหยั่งลงไปตรงไหนก็ พั่บ ขาดตรงนั้นเลย ไม่เข้าไปนอนตรงนั้น

แต่แรกๆ นี่ยังหา...ใจอยู่ตรงไหนวุ้ย  อันไหนรู้ อันไหนเห็น ...แต่ว่าถ้ามันถึงระดับที่มันชำนาญแล้ว หรือว่าสติปัญญามันกล้าแล้ว ปุ๊บนี่ 

ไม่ว่าหลงเผลอเพลิน หายไปกับอะไร...ปุ๊บ พอรู้ระลึกขึ้นได้ปั๊บนี่ ถอยออกเลย แยกออกเป็นสองสิ่งทันที ...เป็นผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ทันที เป็นใจกับสิ่งที่ถูกรู้

แต่ว่าระหว่างที่มันแยกออกมาแล้ว งานต่อไปก็คือสัมปชัญญะ ...คือความต่อเนื่อง ให้มันเห็นต่อเนื่องไปเท่านั้นเอง 

ถ้าสัมปชัญญะน้อยนะ แยกออกได้สักหน่อยเดี๋ยวหายยย กลืนแล้ว ไปกลืนกับสภาวะขันธ์ สภาวะจิต สภาวธรรมแล้ว ...ก็ต้องระลึกขึ้นใหม่ 

บางทีระลึกขึ้นใหม่ยังงงเลย ไม่รู้จะไปรู้ตรงไหนดี อย่างนี้ เขาเรียกว่ายังไม่ทันแยบคายดี ปัญญายังอ่อน (หัวเราะกัน) มันก็แยกไม่ออก

แต่ถ้ามันชำนาญ ด้วยความสมดุล ปั๊บ มันหยั่งลงตรงไหนปุ๊บ..พั่บนี่ เป็นรู้กับสิ่งที่ถูกรู้เลย ทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เป็นรู้เลย ...มันเห็นเป็นสองสิ่งเลย 

นี่ด้วยความที่เขาเรียกว่าเป็น วสี ชำนาญ วสี...หรือที่พระพุทธเจ้าท่านว่า ภาวิตา พาหุลีกตา  เป็นผลจากการประกอบเป็นนิจ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ในศีลสมาธิปัญญา ไม่ขาดระยะ ไม่ขาดสาย 

ปั๊บ หยั่งตรงไหนปั๊บ ขาดๆๆ ออกมา ...ใจแยกออกมาเลย ใจแยกออกจากขันธ์ ใจแยกออกจากกาย ใจแยกออกจากนาม ใจแยกออกจากธรรม ...มันเป็นคนละส่วนกัน ไม่เข้าไปกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยศีลสมาธิปัญญา  มันแยกยังไงมันแยกไม่ออก นั่งคิด นั่งหา นั่งค้นเท่าไหร่ มันก็แยกไม่ออก ...ใจอยู่ไหน หาอยู่นั่นแหละ มันแยกไม่ออกหรอก  

แต่ถ้าคนเคยฝึกเคยทำมาแล้ว แค่ระลึกขึ้นมามันก็แยก ไม่เห็นมันต้องทำอะไรเลย มันก็รู้ มันก็เห็นน่ะ มันคนละอันกันแล้ว...ชัดเจน มันมีความเชื่อ เห็นมั้ย  

แต่ไอ้คนที่ไม่เคยทำนี่มันไม่เชื่อ มันก็เห็นกายก็เป็นเรา "ไหน ใจอยู่ตรงไหนล่ะ"...มันไม่รู้เลยนะ  ก็ความคิดน่ะ...ก็เป็นเราแท้ๆ เลย ความคิดของเราเลย "ไหน ใครรู้ใครเห็นล่ะ แล้วมันจะดูตรงไหนล่ะ" 

ก็พยายามคิดพิจารณา ยิ่งคิดยิ่งโง่นะ ๆ ยิ่งหายิ่งไปออกไกลเลยนะ...ไม่เจอหรอก  เพราะนั้นเราถึงบอก หาง่ายๆ หาใจง่ายๆ รู้มั้ยว่านั่งนี่ รู้ว่ากำลังนั่งคิด เออ ดูตรงนั้น ดูตรงที่รู้ว่านั่งคิด 

ให้เห็น “นั่ง” แล้วก็ “คิด” แล้วก็ “รู้” มันมีอยู่สามสี่ห้าตัวปนอยู่ ...แต่ว่ามีรู้ว่านั่งคิดอยู่ เอาอย่างนี้ก่อน หยาบๆ ...แล้วก็ไล่มาตามลำดับไป 

ศีลสมาธิปัญญาก็กลับมาไล่อยู่ในปัจจุบัน ในแวดวงของปัจจุบันธรรม ...แล้วมันก็จะคัดกรองไปเรื่อยๆ ว่าปัจจุบันธรรมไหนเกิดดับๆ ทันที ปัจจุบันธรรมไหนที่มันเกิดดับต่อเนื่อง มีการตั้งอยู่โดยต่อเนื่อง


(ต่อแทร็ก 4/18  ช่วง 2)