วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 4/14



พระอาจารย์
4/14 (540527)
27 พฤษภาคม 2554



พระอาจารย์ –  รู้ตัว... รู้ ดูกาย  ดูกายเงียบๆ รู้กายเงียบๆ เห็นกายเงียบๆ ไม่ต้องพูดอะไร ...แล้วก็พอมันมีคำพูดหรือว่าปรุงขึ้นมา ก็ให้ทันแล้วก็...ละได้ก็ละ ดับได้ก็ดับ ไม่ตามมัน 

แล้วก็กลับมาอยู่กับกาย สอดส่องอยู่กับกาย แยบคายอยู่ที่กาย ดูอากัปกริยากายเงียบๆ เห็นกายเงียบๆ ก็รู้เงียบๆ ตามที่กายมันปรากฏอยู่ ...อย่าปล่อยให้มันปรุงมาก ไหล เดี๋ยวก็คิดไปเรื่อย ตามความคิดไม่ทัน 

สติเบื้องต้นนี่...ต้องเท่าทันความคิด  เพราะส่วนมากมันจะไหลไปตามความคิด  เวลาอยู่คนเดียว ใจลอย ลอยไปกับความคิด คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องอดีตเรื่องอนาคต คิดไปเรื่อย

กลับมา เงียบๆ ดูกายเงียบๆ เบาๆ ...ไม่ต้องแยกรู้อะไรหรอก รู้กาย รู้ตัวไปเลย ว่านั่งนอนยืนเดิน แล้วก็ดูอาการทางกาย ดูความรู้สึก...ดูความรู้สึกทางกาย เงียบๆ

เพราะความรู้สึกมันก็ปรากฏขึ้นเงียบๆ อยู่แล้ว ใช่ป่าว ... กายมันเงียบ ใจก็ต้องเงียบ อย่าไปปรุง ...ไม่ต้องหาเหตุหาผล ไม่ต้องไปคิดว่าคืออะไร จะทำอะไร 

พอมันเริ่มมีความคิดอย่างนี้กรุ่นๆ ขึ้นมา จางๆ เบาๆ นี่ ต้องตัดไฟแต่หัวลม ...ละได้ ละไปเลย  ไม่ต้องคิด ...ก็กลับมาเพียรเพ่งอยู่ที่กาย เรียกว่าเพียรเพ่งก็ได้ 

เพ่งเข้าไป ...ถ้าไม่เพ่งแรงๆ เดี๋ยวก็ไหลลอยไปกับความคิดแล้ว ...พอมันเริ่มกรุ่นๆ อย่าเพลินกับมันนะ ...รู้ตัว ดูกายไปตรงๆ ชัดๆ อยู่อย่างนั้น แล้วความคิดมันก็จะค่อยๆ สลายไป

อย่าไปเสียดายเรื่องนี้เรื่องนั้น เรื่องที่ยังไม่ได้คิด เรื่องที่คิดแล้วกำลังจะทำ หรือจะทำอะไรข้างหน้า ...ไม่ต้องไปคิด มันเป็นปริโพธิ นิวรณ์ นิวรณธรรม 

ทั้งวันทั้งวี่นี่มันอยู่กับนิวรณธรรม ติดข้องอยู่กับนิวรณธรรม...เป็นตัวที่ร้อยรัด ไม่ให้เกิดศีลสมาธิปัญญา คือนิวรณ์ ๕ ...ซึ่งมันไม่ได้มีแค่ตอนนั่งหลับตาภาวนานะ มันไม่ได้มีตอนที่นั่งพุทโธๆ แล้วก็เรียกว่ามีนิวรณ์ครอบงำ 

นิวรณ์นี่มันครอบงำทั้งวัน ...ฟุ้งซ่าน ยินดี ยินร้าย พยาบาท อย่างนี้ ...พอไม่มีอะไรเงียบๆ ก็ซึม เหงา ลอย โมหะครอบงำ นี่ เขาเรียกถีนมิทธะ ก็มีแค่นี้นิวรณธรรม


โยม –  อย่างไปทำให้มันดูซึมๆ รึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  มันรู้ไม่ชัด ระลึกรู้ขึ้นมาเป็นขณะไปเลยชัดๆ ...ดูความรู้สึกที่ขาซิ ที่ก้นซิ ดูเงียบๆ แข็งๆ อ่ะ ตึงๆ น่ะ ดูมันเข้าไป ให้มันชัดตรงนั้น  ตรงไหนก็ได้ที่มันชัดขึ้นมา 

ดูไปเรื่อยๆ ดูบ่อยๆ เดี๋ยวจิตมันก็ตื่นขึ้นมาเองน่ะ แล้วก็รักษาภาวะรู้ไว้ ... สติ ระลึกรู้ รักษาใจ ...พอเริ่มรู้ตัวต่อเนื่องได้สักระยะหนึ่งนี่ จะจับอาการของใจได้ มันก็ต้องประคับประคองไว้ 

สติ เหมือนกับเดินถือแก้วน้ำเต็มๆ แล้วพวกเรา...เออ เดินยังไงไม่ให้มันน้ำหกน่ะ  เวลาเริ่มต้นมันจะต้องประคับประคองอย่างนี้ก่อน ประคับประคองสติให้ใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็ให้เกิดความต่อเนื่อง รู้เห็นกับกายต่อเนื่อง

ใครจะว่าประคับประคอง ใครจะว่าเพ่ง ก็เอาไว้ก่อน ...ถ้าไม่งั้นน่ะ ลอย ไหล ...หลักมันเลื่อนลอยอยู่แล้ว มันพร้อมที่จะเลื่อนลอยตลอดเวลา ...ก็พยายามกลับมา  พอชำนาญแล้วคราวนี้ก็ไม่ต้องถึงขั้นเดินประคองแก้วน้ำเต็ม

ทำความเพียรอยู่อย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าความเพียร...ระหว่างวัน ตลอดวัน ตลอดเวลา ไม่มีเวลาว่าง ไม่มี Time out  ไม่มีเวลานอก ...ต้องทำเป็นงาน จนมันเกิดความเคยชินที่จะอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ลืมเนื้อลืมตัว

คุยก็ได้ ...เราไม่ห้ามคุยนะ  แต่ตั้งสติให้ดี ก่อนจะพูด กำลังพูด พูดเสร็จแล้ว นี่เขาเรียกว่าสติมันจะต้องสมบูรณ์ ...แล้วถ้ามันตั้งสติอยู่ ก่อนพูด กำลังพูด แล้วระหว่างฟังอย่างนี้ ถ้ามีสติอยู่นี่มันจะคุยไม่ค่อยมัน


โยม –  คุยไม่มัน

พระอาจารย์ –  เออ มันไม่มัน มันจะไม่เพลิน มันจะไม่เผลอ  เดี๋ยวมันก็จะคุยน้อยลงไปเอง นี่ เราถึงไม่ได้ห้ามคุยไง แต่ว่าห้ามลืม ลืมว่ากำลังพูดอยู่ ...พอรู้ตัวว่ากำลังพูดอยู่ เดี๋ยวมันก็พูดน้อยลงไปเอง 

พอเริ่มจะพูด ตั้งใจจะพูดปุ๊บ มันก็... 'เอ๊อะ ไม่พูดดีกว่า' ...แต่มันไม่สนุก เงียบ มันเลยกลายเป็นเงียบๆ รู้เงียบๆ ...ให้คุยน้อยเพื่อให้ตั้งสติให้ดี ก็เรียกว่ากลับมาเรียนรู้อยู่กับเนื้อกับตัวก่อน อย่าไปเลื่อนลอย

เอาแค่ช่วงนี้แหละ ช่วงมาอยู่วัด ...ซัดจังด้วย(บอกโยมรุ่นเด็ก) อย่าช่างคุย  ชอบคุย (หัวเราะกัน) ...โอ้ย ยังมีเวลาคุยอีกเยอะในชีวิตนี้ ต่อไป ไอ้เวลาที่ไม่ได้คุยนี่น้อย 

ข้างนอก มันไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระหรอก  สนุกสนานเฮฮาก็เกิดๆ ดับๆ เกิดแล้วก็ดับไป ก็แค่นั้น มันไม่ได้มรรคได้ผลหรอก ได้แต่ความสนุกเพลิดเพลินแล้วก็ดับ ...ติดข้องด้วย ทุกอย่างที่ออกไปนอกกายใจนี่ ติดหมดน่ะ

มันเหมือนมีกาวน่ะ ใจอันนี้...มันเหมือนมีกาว อะไรมากระทบปุ๊บ มันติดปั๊บเลย  ออกไปหาเรื่องไปทำอะไรปั๊บนี่ ติด...ติดกับดักเลย  ติดข้องกับโลกไปเลย ...แล้วถอนออกยาก เพราะว่ามันไปติดจนแนบแน่น ด้วยความเคยชิน

เพราะนั้นว่าในระหว่างที่อายุยังน้อย ยังเด็กยังเล็ก ยังมีเวลาในการปฏิบัติภาวนาอีกเยอะ มีกำลัง มีเรี่ยวแรงอยู่ ก็ต้องขวนขวาย ตั้งใจขึ้นมา ...มันไม่ได้ประโยชน์ของใคร ประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น 

ไม่ได้ภาวนาเพื่อพระพุทธเจ้า ไม่ได้ภาวนาเพื่อเรา ไม่ได้เพื่อพ่อเพื่อแม่เพื่อใครน่ะ ...มันประโยชน์ของตัวเอง เป็นประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ ...แต่ว่ามันจะได้เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่ใช่ประโยชน์แบบแค่ฉาบทาผิวเผิน 

ด้วยคำพูดของคนภายนอก ก็แค่นั้น ไม่ต้องใส่ใจมาก ฟังแล้วก็ผ่านๆ ไป ใครจะว่ายังไง เวลาเขาด่า ...เออ ดี เขาให้กำลังใจ  เขาติก็ว่า...ดี มันจะได้เป็นการขัดเกลากิเลสเจ้าของออก จะได้รู้ว่าเรายังมีสนิมอยู่ที่ใจ อย่างเนี้ย 

อะไรๆ กระทบสัมผัสมาก็ถือว่าเป็นเครื่องชำระใจ ได้เห็นกิเลสเจ้าของแสดงตัว หัวฟัดหัวเหวี่ยง หงุดหงิด รำคาญ หรืออะไรก็ตาม ...นี่มันคือสนิมที่มันกัดกร่อนอยู่ที่ใจ ก็จะได้เอาออกไป เห็นแล้วก็ละ แล้วก็วางออก

แต่ว่าถ้ามันไม่มีสติเห็น...มันก็ไม่ละวางได้  พอไม่มีสติปึ้บ มันมีแต่ว่าจะไปปรุงต่อ จะไปเพิ่มสนิม ...ทั้งวันน่ะ มันเพิ่มมากกว่า หรือว่ามันขัดออกมากกว่า ไปชั่งน้ำหนักดู กี่โลกี่ขีด 

คือที่เอาสนิมกลับเข้ามาเก็บนี่กี่ขีดกี่โล หรือเป็นตัน หรือว่านับไม่ถ้วน  กับการเอาออกได้แค่ ขณะนึงๆ ...ดูซิมันจะพอมั้ยนี่ มันจะพอทันกิเลสมั้ย  ...เพราะนั้นมันต้องตั้งอกตั้งใจ


โยม –  แล้วอย่างอาจารย์บอกว่า ให้ดูกายให้ชัดขึ้น ก็คือทั้งตาหูจมูกลิ้นกายสัมผัสอย่างนี้เลยหรือคะ

พระอาจารย์ –  ใช่  แต่จริงๆ ก็ไม่ต้องไปเน้นตรงนั้นหรอก เอาเน้นตัวก้อนๆ ที่ไหว ที่นิ่ง ที่ตึง ที่อ่อนที่แข็งนี่ก่อน ...แล้วมันจะแผ่ขยายออกไปเอง เมื่อมันชำนาญหรือว่ามันอยู่ตัวแล้ว 

เมื่ออยู่กับเนื้อกับตัวแล้วนี่  คราวนี้พอมันเผยอจะออกไปไหน กระเพื่อมไปทางตามันก็รู้ กระเพื่อมไปทางหูมันก็ทัน กระเพื่อมไปทางความคิดมันก็ทัน

ถือว่าได้หลัก มีหลัก เอากายเป็นหลัก  เหมือนกับตอกหลักให้มั่นน่ะ ตอกหลักให้แน่น ...ไม่ใช่หลักแบบปักบนขี้เลนน่ะ ใช่ป่าว ถ้าหลักมันปักบนขี้เลนนี่ อะไรแตะนิดนึงก็ล้มแล้ว นี่เขาเรียกว่าไม่ตั้งมั่น

เพราะนั้นที่ให้มาเน้นที่กายนี่ เหมือนกับปักหลักให้มันแน่น ผูก ให้มันตอกตรึงอยู่กับหลัก ไม่โยกไม่คลอน ...พอมีอะไรมากระทบปั๊บ มันก็จะรู้ เห็น เท่าทัน เร็วขึ้น ชัดขึ้น ในอาการทางหูทางตาด้วย

เพราะว่าอาการพวกนี้ ภายนอกนี่  เวลามันมากระทบสัมผัสนี่ มันมาแบบไม่คาดไม่ฝันนะ ใช่มั้ย มาแบบไม่คาดไม่ฝันน่ะ มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวนะ...ผัสสะน่ะ 

อย่างเดินอยู่ เห็นหน้าเขาดีๆ เดินมา ก็ไม่นึกว่าเขาจะว่าอะไร เขากลับด่าตรงนั้นเลยก็ได้ อย่างนี้ เห็นมั้ย ผัสสะมาไม่คาดไม่ฝัน ...เพราะนั้นถ้าหลักไม่แม่น หลักไม่มั่น ปุ๊บนี่ ควันออกหูไปแล้ว ยังไม่รู้เลย ด่าไปแล้ว  

หรือไม่ก็หงุดหงิดรำคาญแล้วเดินไปด่าไป ใจนะ เดินไปบ่นไป จนถึงบ้าน จนถึงกุฏิ ถึงเพิ่งนึกได้ ...เอ๊ย โกรธว่ะ แน่ะ ...หูย มันทิ้งช่วงห่างขนาดนั้น เขาเรียกว่ามันล้มแล้ว อย่างเนี้ย

เพราะนั้นหลักต้องมั่น ต้องแน่น ...ถึงให้กลับมารู้กาย ไม่มีอะไรก็รู้ ไม่มีอารมณ์อยู่ก็ต้องรู้ ถือว่าเป็นธรรมเตรียมพร้อม...เตรียมพร้อมออกรบ  ถ้าไม่เตรียมพร้อม...ตายลูกเดียว ถูกฆ่า กิเลสมันลากเอาไปฆ่าแล้ว เป็นทุกข์แล้ว เร่าร้อนแล้ว

เราเปรียบว่า กายอันนี้ เหมือนเรานั่งเล่นหน้ากองไฟ ...เคยเล่นมั้ยแคมป์ไฟน่ะ ก็นั่งอยู่หน้ากองไฟ แล้วขณะที่ไฟมันลุกอยู่นั่นน่ะ เห็นมั้ย เห็นสะเก็ดไฟมันแตกมั้ย อือ มันก็แตกโป้งป้างๆ กระเด็นไปกระเด็นมา มันก็เป็นสะเก็ดไฟออกมา

แต่เราถ้ารู้อยู่ ดูอยู่ เห็นอยู่  แล้วก็ดูสิว่ามันไม่ไปลาม ไม่ไปไหม้ที่ไหน ที่สุดมันก็ดับ อย่างเนี้ย ...ถ้าเรานั่งเฝ้าอยู่หน้ากองไฟนี่ มันก็เห็นน่ะ อะไรจะกระเด็นออกมา อะไรจะกระเด็นเข้ามา มันก็เห็น

แต่ถ้าจุดกองไฟแล้วก็ไปเดินเล่น เที่ยวชมสวนเดินป่าดูดอย เพลิดเพลินกับธรรมชาติ ...กลับมาบ้านช่องไหม้หมดแล้ว ไม่รู้ว่าไหม้เพราะอะไร ...ก็ไอ้ไฟกองนี้

เพราะนั้น ถ้าเรานั่งเฝ้า ดูอยู่กับกองไฟ นั่งอยู่หน้ากองไฟไม่ไปไหน มันจะแตกออกมาเป็นสะเก็ดก้อนใหญ่ก้อนเล็กก้อนน้อย ก็ดูซิ มันมีไปลุกไปลามมั้ย แล้วไม่ต้องไปพยายามก่อไฟเพิ่มด้วยการหาเชื้อมาสุมกับสะเก็ดไฟที่กระเด็นออกมาต่อ อย่างเงี้ย

ความคิดความปรุงทั้งหลายนี่เหมือนสะเก็ดไฟที่มันแตกออกมา  ส่วนไอ้ไฟกองใหญ่ที่เรานั่งหน้ากองไฟนั้น ก็คือกายกับใจในปัจจุบันนี่แหละ คือไฟ กองไฟ... ตอนนี้เรานั่งอยู่กับไฟนะนี่

แต่ไม่มีใครรู้หรอก นึกว่านั่งกับรูปภาพที่สวยงาม รูปภาพที่มีคุณประโยชน์ รูปภาพที่มีสาระ รูปภาพที่จะสามารถเอามันไปใช้ประโยชน์ หาความสุข หาความสบาย หาความสนุกเพลิดเพลินได้ ...มันไม่เห็นว่าขณะนี้มันนั่งหน้ากองไฟ

มันจะไปเห็นก็ตอนที่เข้าโรงพยาบาลน่ะ หรือไปเห็นตอนใกล้ตาย นั่น ทุกข์จริงๆ ทุกข์จริงๆ ...แล้วก็ลืมนะ พอหายแล้วก็ลืม มันเลยไม่เห็นว่ากายอันนี้ใจอันนี้...เป็นไฟยังไง ...ไม่เห็นไม่พอ มันยังไปสุมไฟเพิ่มอีก 

เวลาสะเก็ดมันแตกออกมาเป็นความคิด เป็นความจำ เป็นอดีต เป็นความรู้ เป็นความอยาก เป็นความไม่อยาก อะไรก็ตาม ...มันเอาไฟไปสุมต่อให้ไม่รู้กี่กองต่อกี่กอง ลุกลามใหญ่โตเร่าร้อนไปหมด 

เนี่ย เล่นกับไฟ เล่นไม่เป็น คิดว่าจะได้ประโยชน์ถ่ายเดียว มันมีแต่โทษ ...แล้วแต่ละคนก็ก่อกองไฟ มีไฟเป็นของตัวเองคนละกองๆ แล้วต่างคนต่างสุมไฟขึ้นมาใหม่อีกนี่ ...โอ้โห เหมือนไฟนรก ในโลกนี่ มันร้อนเหมือนนรกบนดิน

เพราะมันสุมไฟด้วยความคิด สุมไฟกับอารมณ์ สุมไฟกับความปรุงแต่งต่างๆ นานา  ความจะได้ ความจะมี ความจะเป็น ...ก็เติมเชื้อ ไขว่คว้าด้วยการกระทำ เจตนา ด้วยกายวาจาใจออกไป 

เห็นมั้ย อวิชชามันปัจจยามาทั้งนั้น แต่พวกเราไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยสักอย่าง ...นี่ เพราะขาดสติ ...เพราะนั้นเมื่อสติระลึกรู้นี่ เหมือนจับมันมานั่งหน้ากองไฟนะ ...ยังไงก็ร้อน ยังไงก็ต้องอดทน หนีไม่พ้นหรอก ไฟกองนี้ 

เวลาเรามาอยู่ในกาย เกิดมากับกายอันนี้ เหมือนกับถูกขังคุกน่ะ ถูกจำคุกแล้ว ถูกพิพากษาจำคุกแปดสิบปี เก้าสิบปี ร้อยปี ไม่เกินนี้หรอก ...ถูกพิพากษาจำคุกในหนึ่งชาติ หนีไม่พ้นหรอก ยังไงก็ต้องอยู่กับกาย

แต่ทำยังไงถึงจะเรียนรู้กับมัน เข้าใจมัน เท่าทันมัน ...อย่างนั้นไฟกองนี้มันก็มอดไปดับไปเป็นธรรมดา เราก็ไม่ได้ไปให้คุณค่าของไฟนี้ที่จะต้องไปไขว่คว้าต่อ ให้มันมีไฟยืดยาวออกไป หรือหวังว่าไฟกองหน้าจะเย็นกว่านี้...ไม่มี  

เพราะนั้นก็ต้องมานั่งอยู่หน้ากองไฟนี่ ด้วยศีลสมาธิปัญญา สติสัมปชัญญะ  ไม่ต้องหนีไปไหน แล้วก็ไม่ไปเล่นกับไฟกองอื่น หรือไปสุมไฟกองใหม่ ...คือกลับมาอยู่กับกายบ่อยๆ ให้ต่อเนื่อง จนถึงขั้นปักหลักปักฐานเลย เอากายเป็นมรรค เอากายเป็นผล

ไม่งั้นเราจะกลายเป็นกบเฝ้ากอบัว มีใจอยู่กับกายตั้งแต่เกิด แต่เหมือนกับกบที่อยู่บนกอบัว ไม่รู้คุณค่าของบัว กระโดดไปมาหาจับแมลงกิน สุดท้ายก็กลับมานอนใต้กอบัว ไม่มีประโยชน์สาระอะไร มันไม่เห็นคุณค่า เหมือนกบเฝ้ากอบัว

เมื่อไหร่ที่เราเห็นคุณค่าของกาย ในแง่ของการเจริญปัญญากับกายได้ ให้เกิดเป็นมรรคเป็นผลแล้วนี่ ... มันจะไม่หนีไปไหน มันจะไม่ออกไปส่ายแส่ในรูป ในเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ภายนอก

มันไม่ออกไปส่ายแส่ แต่มันก็ไม่ปฏิเสธ ...มันก็รับรู้ แล้วก็มาทำความแยบคาย ว่าเสียงนั้นคืออะไร รูปคืออะไร กลิ่นคืออะไร รสคืออะไร เย็นร้อนอ่อนแข็งคืออะไร 

มันมีความหมายมั้ย มีความเป็นตัวเป็นตนมั้ย มันมีชีวิตจิตใจมั้ย มันมีใครเป็นเจ้าของมั้ย เสียงนี้รูปนี้ มันเคยบอก มันเคยพูดมั้ยว่ามันคือใคร มันมีประโยชน์ตรงไหน มันเคยบอกมั้ยมันมีโทษมีคุณตรงไหน

ก็มาเรียนรู้แยบคายกับอาการของผัสสะที่กระทบ ...มันจะได้เข้าไปลบล้างความเห็นผิด ที่ไปก่อให้เกิดความยินดียินร้ายในรูปเสียงกลิ่นรส

แต่ตอนนี้ถ้าเราไม่เฝ้าดูสังเกตหรือว่าเท่าทัน เราก็จะไม่เข้าใจอาการพวกนี้ที่มันปรากฏ ที่มันตั้งอยู่ หรือที่มันดับไป ...มันก็อยู่ด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้อะไรสักอย่าง 

มีแต่ว่ามันกระทบปั๊บก็มีอารมณ์ พอมีอารมณ์มันก็ทำตามอารมณ์ไป ทำตามความรู้สึกไป ผิดชอบชั่วดีไปตามความเชื่อต่างๆ นานา นี่มันทำด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้นเลย

ด้วยความไม่รู้นี่แหละจึงจะไม่รู้จักจบสิ้น มันจะถึงเข้าไปสู่ความที่เรียกว่าไม่จบสิ้น ไม่มีหัวไม่มีท้าย ไม่มีต้นไม่มีปลาย ...จนกว่าเราจะมีปัญญา แยบคาย เท่าทัน เข้าใจ อาการทั้งหมดตามความเป็นจริง 

ว่าเสียงคืออะไร รูปคืออะไร ขันธ์คืออะไร ตั้งมาทำไม มันตั้งมาเพื่อใคร เป็นของใคร ...เนี่ย ปัญญามันจะเข้าไปแยบคาย จนเห็นความเป็นจริงทุกเม็ดทุกส่วน 

ไม่มีที่ไหนที่มันจะไม่แยบคายไม่เข้าใจ หรือไม่ชัดเจน ... มันก็ละเอียดถี่ถ้วนในทุกอณูของขันธ์ที่ปรากฏ หรือว่าทุกขณะของขันธ์ที่ปรากฏ จนมองเห็น จนเข้าใจ 

ว่าขันธ์ก็คือธรรมชาติหนึ่งของไตรลักษณ์เท่านั้นเอง ไม่มีชื่อเสียง ตามบัญญัติตามสมมุตินั้นๆ ที่มนุษย์คนในโลกเขาสมมุติบัญญัติขึ้นมาว่านั่นว่านี่ 

มันก็ยอมรับตามความเป็นจริงที่เป็นความเป็นจริง จริงๆ ...ที่ไม่ใช่เป็นความเป็นจริงแค่ตามสมมุติบัญญัติ ...เพราะมันจะเข้าใจว่าถ้าไปยอมรับแค่ความจริงตามบัญญัติตามสมมุตินั้นแหละจะเกิดทุกข์ ดีบ้าง ร้ายบ้าง 

เพราะว่าโดยสมมุติน่ะมันมีอยู่แปดอย่าง ที่ท่านเรียกว่าโลกธรรมแปด ยินดียินร้าย มีสุขมีทุกข์ มีติมีชม มีทรัพย์เสื่อมทรัพย์ มีลาภเสื่อมลาภ นี่แหละ ...มันจะเกิดอาการนี้ตามที่เราให้ความเชื่อกับสมมุติและบัญญัติ

นี่จนกว่าเราจะเข้าใจ ทะลุ ถึงความเป็นจริงของโลก ...ก็จะยกจิตข้ามโลกธรรมแปด ข้ามเลย

(บอกโยม) หลับแล้ว ...ลืมตา


โยม – (หัวเราะ) มีวูบไปนิดหน่อย

พระอาจารย์ –  เออ กลับมารู้ กลับมาฟังที่เสียงเป็นคำๆ ไป  อย่าใจลอย เพลินไปกับเสียง นั่นมันไหล กลายเป็นฟังเสียงเราเป็นเสียงกล่อม หลับเลย (หัวเราะ)

ฟัง ...เห็นคำเป็นคำๆๆๆ กระแทกลงไป แล้วก็ดับตรงนั้นน่ะ ...ไม่ต้องเอาเนื้อความ  แต่ให้เห็นความเป็นจริงของเสียงว่ามันเป็นยังไง กระทบมาๆ แล้วก็ดับ  เป็นคำๆ ประโยคๆ เป็นท่อนๆ ไป

เนี่ย ถ้าไม่มีสติมันไม่สำเหนียกความเป็นจริงอะไรได้เลย  เข้าไปอยู่ในภพหลับ ภพไหล ภพหลง ภพเผลอ ภพเพลิน ภพที่เป็นโมหะภพ สมาธิก็เป็นโมหะสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิ 

ตั้งมั่นไปตั้งมั่นมา ทำไมมันหายไปได้ยังไง เห็นมั้ย มันไม่มีอารมณ์อะไร แต่มันหายไปดื้อๆ เลย เขาเรียกว่า ไอ้โจรตัวนี้มันมาขโมยเอาไปต่อหน้าต่อตาเลย 

คือมันฉุดลากไปฆ่าต่อหน้าต่อตาครูบาอาจารย์เลยนะเนี่ย ... มันบังอาจมากเห็นมั้ย (หัวเราะกัน)... ยังจะเลี้ยงมันไว้อีก ไปเลี้ยงมันได้เหรอกิเลสโมหะ กิเลส


โยม –  ... ไม่ดีเลย

พระอาจารย์ –  กินข้าวอิ่มมา ธรรมดา ...อาหารมันจะไปมีการย่อย ระบบนี่มันมีอาการย่อยอยู่ที่กระเพาะ ลำไส้  

เวลามันจะเอาสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายทั้งหมดนี่ มันก็ต้องผ่านเส้นเลือดขึ้นมา เพราะนั้นเลือดมันจะดึงมารวมที่กระเพาะลำไส้ มันทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองข้างบนน้อย ...มันเลยเกิดความซึม เบลอ

เพราะนั้นเวลาปฏิบัติธรรม ตอนเราฝึกเริ่มปฏิบัติธรรม เวลากินข้าวเสร็จนะ ล้างบาตรอะไรเสร็จนี่ เรากลับกุฏิ ยังไม่เอาบาตรขึ้นกุฏิหรอก เอาวางไว้ตรงตีนบันได เดินจงกรมก่อนเลย 

ขนาดเดินยังหลับเลย เดินเซไปเซมาอย่างนั้น ...ก็เดินไปอย่างงั้น เพื่อให้จิตมันตื่น  นี่ ความพากความเพียร คือเอาชนะกิเลสที่มันจะมาครอบงำใจ มาปิดบังใจ ทำให้ใจหายไป ทำให้ใจเสียหาย 

คือมันหาย ใจมันหาย รู้หายก็คือใจหาย ไม่รู้ก็คือไม่มีใจ  ...มันถูกโมหะ ความมืด ความมัว ความซึมเซา ครอบคลุมเหมือนกับหมอกตอนหน้าหนาวที่คลุมปิดถนนหนทางไม่รู้จะไปไหนดีน่ะ 

เหมือนเดินอยู่กลางหมอกอย่างนี้ มันซึม มะงุมมะงาหรา นี่โมหะ ...เพราะนั้นโมหะจริงๆ เป็นกิเลสที่ละเอียด ยาก...เท่าทันยาก แต่ว่าต้องฝึกนะ

(ถามโยม) ซัดจังเป็นไงมั่ง สบายดีขึ้นมั้ย


โยมอีกคนบอก –  เก่งนะ เมื่อคืนออกไปเดินจงกรม

พระอาจารย์ –  ดี เดินจงกรมเยอะๆ ...รู้จักกับเขาบ้างรึเปล่า คำว่าเดินจงกรมน่ะ

โยม –  ไม่รู้จัก

พระอาจารย์ –  ก็เดินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดอะไร เดินแล้วก็ดู...ดูว่าอะไรมันไหวๆ อยู่ ดูขามันไหวๆ  แล้วพอมันบอกว่าขาก็ให้เห็นว่า คำว่าขาดับ แล้วก็มีแต่อะไรไหวๆ ...เห็นมั้ย เคยเห็นมั้ย 

พอมันคิดว่าขากำลังเดินนี่ ว่า "กำลังเดิน" ก็รู้ว่ามันบอกว่ากำลังเดิน ใจมันบอกว่า "กำลังเดิน"  แล้วพอรู้ทันว่าบอกว่ากำลังเดิน เดี๋ยวไอ้ “กำลังเดิน” มันก็หายไป แล้วมันก็จะเหลือแต่อะไรไหวๆ ไม่มีคำพูด

เนี่ย ให้ดูเงียบๆ อย่างนี้ เขาเรียกว่า รู้ดูเห็นกายเงียบๆ ...แต่เดี๋ยวสักพักมันก็บอกว่า “กำลังเดิน” ขึ้นมาอีกแล้ว ขากำลังเดิน ขากำลังเหยียบ 

พอรู้ว่ามี “ขากำลังเดิน ขากำลังเหยียบ” ปุ๊บ เดี๋ยวที่ว่า “ขากำลังเดิน ขากำลังเหยียบ” ก็ดับ  แล้วก็มีแต่เหยียบ เดิน เงียบๆ ไม่รู้อะไรเหยียบ ไม่รู้อะไรเดิน ...นั่นแหละกาย

เนี่ยกลับมารู้ การเดินจงกรมนี่ ทำอยู่แค่นี้ ...ไม่ต้องไปว่า เดินยังไงให้สงบ เดินยังไงให้ไม่มีความคิด ไม่ต้องน่ะ  ...เอาว่า เดินยังไงให้เห็นตามความเป็นจริง อย่างนี้เรียกว่าเดินเป็น

เพราะนั้นตลอดชีวิตมานี่พวกเราเดินไม่เป็น ...การมีชีวิตอยู่ทั้งชีวิตนี่ เดินไม่เป็น นั่งไม่เป็น ยืนไม่เป็น นอนไม่เป็น ไม่รู้ว่าอะไรมันนั่งมันนอน 

มันรู้โง่ๆ รู้แบบไม่รู้เรื่องรู้ราวว่า "เรากำลังนอนอยู่ หรือบอกว่าเรากำลังนั่ง" ...แล้วมันก็เชื่อด้วยนะว่า...เรากำลังนั่ง เห็นมั้ย


................................




วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 4/13 (3)


พระอาจารย์
4/13 (540526)
26 พฤษภาคม 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ : ต่อจาก แทร็ก 4/13 ช่วง 2

พระอาจารย์ –  ถึงบอกว่ารู้จริงน่ะ...รู้น่ะไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต จึงเรียกว่าอนันตาจักรวาลครอบคลุมหมด ...แต่มันยังไม่เข้าไปแจ้งถึงอนัตตาเท่านั้นเอง 

ยังอยู่ในมรรคอยู่นะ แค่นั้นนะ ไม่ใช่ว่ากลมกลืนผ่านแล้ว มันยังไม่ไปถึงสุญญตา หรืออนันตมหาสุญญตา ยังไม่ถึง ยังไม่เข้า ...มันเข้าไปเชื่อมธรรมเป็นหนึ่งเดียว 

แล้วมันจะสังเกตในขณะนั้นด้วยความเป็นปัจจัตตังมากขึ้นเรื่อยๆ เห็น เข้าไปจับสังเกต จับผิดได้ จับอาการได้ในขณะนั้นน่ะ ที่มันเข้าไปอยู่ได้ด้วยความไม่มีตัวตนในของสองสิ่ง

มันก็เข้าไปเรียนรู้ด้วยภาษามรรคภาษาผล หรือภาษาบัญญัติเขาเรียกว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ มันถึงเป็นสภาวะนี้ เพราะความเป็นจริงที่เกิด คืออันนี้

จึงเรียกว่าเป็นที่สุด...สุดทางของมรรค เข้ามาสุดทางนี้ สุดทางของสมมติและบัญญัติก็มาสุดตรงนี้ สุดของโลกก็มาสุดตรงนี้ สุดของธรรมก็มาสุดที่นี้...ที่เดียวกันหมด 

นี่ถือว่าที่สุดของธรรม แล้วก็ที่สุดของโลกด้วย แล้วก็ที่สุดของบัญญัติสมมุติด้วย ...มันสุดในที่เดียวกัน ว่าเป็นอนัตตา แล้วมันจะเข้าไปเรียนรู้ความเป็นอนัตตาถึงที่สุด

ที่พูดนี่ไม่ได้ให้ไปคิดต่อ หรือว่าไปหานะ พูดเพื่อให้เกิดความเข้าใจแค่นั้นเอง พอแล้ว ไม่ต้องจำ

อนัตตา คือความดับ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีตัวตนในกาย ในนี้(เสียงสัมผัส) เป็นกายกลวงๆ น่ะ ขันธ์ก็เป็นขันธ์กลวงๆ ไม่ได้ต่างกันเลยกับดินกับน้ำที่วางอยู่ตรงนี้ มันก็ตั้งอยู่ด้วยความไม่มีอะไรในนั้น 

ไม่มีผีสิงในนี้ ...ถ้ามีผีสิงมันก็จะต้องเดือดร้อนแล้ว ไม่มีอะไรสิงเลยใช่มั้ย ...มันก็จะมีตัวตนตรงไหนล่ะ ...นี่ มันเหมือนกันน่ะ มีอะไรในก้อนนี้ ดินน้ำไฟลมอันนี้...ที่ก่อร่างสร้างรูปขึ้นมานี่ มีอะไรในนี้ 

มันก็เข้าไปเห็นกายในกาย จิตในจิต ธรรมในธรรม เวทนาในเวทนา  มันก็เชื่อมโยงกัน...เป็นอันเดียวกันหมด ...ความรู้ก็ครอบคลุมทั่วสามภพ รู้ก็แจ้งทั่วสามภพ เป็นหนึ่งในสามภพ ด้วยความเป็นอนัตตา หาตัวตนไม่ได้ในสามภพ  ...ผู้หาก็ไม่มี ผู้รู้ก็ไม่มี เป็นแค่รู้

ก็กลับไปสู่ธรรมชาติเดิมของใจ คือแค่รู้ ไม่มีใครรู้ ...ตอนนี้มีใครรู้อยู่ล่ะ นั่นแหละคือความเป็นสัตว์บุคคลในใจ แม้จะไม่มีชื่อเสียงเรียงนามอยู่ในนั้นก็ตาม แต่มันเป็นความเป็นบุคคลอยู่

เพราะนั้นสติปัฏฐานนี่ คือเข้าไปเห็นแค่นี้เอง  ทั้งหมดที่เจริญสติมา เพื่อให้เห็นจุดนี้ ให้เข้าใจความหมาย เพื่อให้เข้าถึงความจริงที่เรียกว่าเป็นสัจจะ...สัจธรรมคือความเป็นจริงของที่สุด 

ดูมาแทบตาย ทำมาแทบตาย เพื่อให้เห็นแค่นั้นเอง ...จนยอมรับเลย จนไม่มีใคร จนหมดสิ้นซึ่งผู้เข้าไปรู้เข้าไปเห็นน่ะ ...แล้วยังจะได้อรหันต์ตรงไหน จะได้มรรคผลตรงไหน มีใครได้ มีใครเสีย 

ถ้ามีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย ...มันก็เลยไม่ได้เข้าไปเสวยอะไรทั้งสิ้น ไม่มีขั้นไม่มีภูมิอะไรในความหมายของใจนะ ...ก็เหลือแต่ใจเปล่าๆ ที่อยู่กับขันธ์เปล่าๆ  ไม่มีใคร ไม่เป็นของใคร ก็เลยไม่มีธรรม 

ก็ถึงบอกว่าสิ้นโลกสิ้นธรรม (หัวเราะ) ไม่ได้ธรรม ไม่มีธรรม ...แต่เหนือธรรม

เพราะนั้นธรรมที่เรากำลังทำทั้งหมดนี่ มันเป็นสังขารธรรม ...มันยังไม่แจ้งในสังขารธรรม ไม่เข้าไปเห็นในสังขารธรรม หรือลักษณะของอาการที่ถูกจูงขึ้นมา 

ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม หรือความไม่มี มันปรุงขึ้นมาได้ในสามโลกธาตุนี่ ปรุงขึ้นมาได้ในลักษณะอาการต่างๆ กันไป ...แต่เมืื่อเข้าไปเห็นในนั้นว่าไม่มี นั่นแหละ มันจะเหนือการปรุง

มีแต่มหาสติมหาปัญญาน่ะ จึงจะเข้าไปเห็น เข้าไปซึมซาบ สำเหนียกถึงความจริงบทนี้ ...เรียกว่าอนัตตธรรม เหนือความเห็นทั้งปวง เพราะไม่มีความเห็น 

รูปก็ไม่มีความเห็น กายมันก็ไม่มีความเห็นในตัวของมัน ใจก็ไม่มีความเห็นอะไรกับกายที่ไม่มีความเห็น นั่นแหละ มันสิ้น...ละซึ่งความเห็นทั้งปวง ออกจากความเห็นทั้งปวง

ไม่งั้นมันก็จะตกอยู่ใต้เงื่อนไขของความเห็นนั้นๆ ...ยังทะเลาะกัน เถียงกัน แบ่งสั้นแบ่งสายกัน แบ่งวิธีการปฏิบัติกัน แบ่งครูบาอาจารย์กัน ก็เพราะเหตุนี้  

มันเข้าไปหมายเอาด้วยอาการ ว่าเป็นอย่างนั้น ว่าไม่เป็นอันนี้  ว่ามันเป็นอย่างไร แล้วก็มีการเล่าไม่เหมือนกัน ซึ่งนี่ไม่ใช่ลักษณะอาการ มันไม่เห็นในอาการตามลักษณะความเป็นจริง 

ว่าอาการของกายตามความเป็นจริงคืออะไร อาการของจิตตามความเป็นจริงคืออะไร อาการของเวทนาตามความเป็นจริงคืออะไร อาการของธรรมตามความเป็นจริงคืออะไร

ถ้ามันเห็นจุดนั้น...มันไม่มีคำพูดเลย หมดสิ้นคำพูด มันสิ้นเลยในคำพูด ไม่เหลือคำพูดใดๆ ไม่มานั่งถกนั่งเถียง นั่งทะเลาะเบาะแว้งกันหรอก เหนื่อยว่ะ

มันจะเอาอะไร ในเมื่อไม่มีอะไร ...ขันธ์ถูกมั้ย ขันธ์ผิดมั้ย  กายถูกมั้ย กายผิดมั้ย  ความคิดถูกมั้ย ความคิดผิดมั้ย...ในตัวของมันเองนะ  เวทนาผิดมั้ยเวทนาถูกมั้ยในตัวของมันเองน่ะ มันไม่เคยบอก 

ใครบอก ไอ้นั่นน่ะตบปากมันซะ อย่าพูด อย่าปรุง...ถ้าเราไม่ทัน แล้วแค่ถ้าไม่ทัน...ถ้าไม่เห็นความหมายของตัวนี้แล้วเท่าทัน มันก็จะไหว กับสิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่เห็น บอกให้เลย

มันก็ไปจับความเห็นคนอื่น แล้วมันจะหวั่นไหวไปตามอาการความรู้ความเห็น ... ตราบใดที่ตัวเองยังไปว่ากับทุกสิ่ง หรือเข้าไปให้ค่าดีร้ายถูกผิดกับมัน 

เมื่อได้ยินแล้วก็เกิดการให้ค่า ไหว หวั่น หวั่นไหว ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวได้เดี๋ยวเสื่อม เดี๋ยวพอใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวกังวล เดี๋ยวกลัว ... เห็นมั้ย มันหวั่นไหวไปทั่ว

แต่ถ้ามาอยู่อย่างนี้ ไม่หวั่นไหว ...ก็เห็นเป็นอาการ ไม่หวั่นไหว  จะยังไงก็ได้ เหมือนกับลมพัดผ่าน งั้นๆ น่ะ เกิดขึ้นมา แล้วก็ดับ  แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ ก็แค่นั้นน่ะ

ไม่เห็นมันอุทธรณ์ฎีกาอะไรในการเกิดการดับ ไม่เห็นมันฟ้องร้องศาลปกครองขอความคุ้มครองชั่วคราวในการที่ว่า ทำไมกูดับวะ มึงให้กูดับได้ยังไง ทำไมกูต้องดับด้วย 

นี่ มันไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาใช่ไหม ในการแปรปรวนของมัน ในการดับไป หรือในการเกิดขึ้นมาเองก็ตาม

นั่นแหละ จิตมันก็กลางเข้าไปเรื่อยๆ ตรงอยู่ในองค์มรรค ...เพื่ออะไร เพื่อที่จะเข้าไปถึงที่สุดของมรรค คือเห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม

อย่างที่ว่านี่ ภาษามันก็พูดกันเยอะแยะ คนก็จำได้กันเยอะแยะไอ้คำนี้ วลีนี้ ประโยคนี้ ...แต่ไม่เข้าใจหรอก  มันได้แต่พูดไป ก็คิดเอาว่าหมายความว่ายังไง 

จนกว่ามันจะเข้าใจ ว่าในธรรมบทนี้ ในอนัตตา ...ในสัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ก็เข้าใจ ว่าในนี้ไม่มีอะไร ในสุขในทุกข์ไม่มีอะไร  จึงเรียกว่าสุญโญ ...เนี่ย ถึงเรียกว่าว่าง

แต่ไม่ใช่ว่างแบบดับ เช่นขันธ์ดับ รู้ดับ รู้แล้วก็ดับๆ ...ถ้าจะไปจับ จับปุ๊บตรงดับนั้นจะเป็นอรูปภพ...เป็นภพนึงนะ ดับนี่ ...ไม่ใช่ว่างตัวนั้น 

แต่มันว่างในนี้ ว่างในนี่(เสียงสัมผัสกาย) มันมีความว่างในนี้... อันนี้ไม่ใช่อรูปภพ 

แต่เวลาความคิดเกิด รู้ทันแล้วดับ พั้บ นี่ มันจะมีความดับในขณะนึง ...ถ้าไม่เข้าใจ ไม่แยบคาย มันก็จะไปจดจ่ออยู่กับความดับ ต้องดับๆๆ  แล้วก็ไปแช่อยู่กับความดับ ...เดี๋ยวเข้าอรูปแล้ว 

แต่บางครั้งก็จิตเข้าไปเรียนรู้ตรงนั้น เข้าไปโง่เป็นพักๆ ไป แล้วมันหมดกำลัง มันก็จะถอยออกมา กลับมาเป็นธรรมดา ...เพราะนั้นเวลาเข้าไปติดในนั้น แล้วพอกลับมาเป็นธรรมดา นี่ มันจะเสียดายตรงที่ตรงนั้น 

ถ้าเกิดอาการขึ้นๆ ลงๆ กับอาการที่เกิดแล้วดับนั้น...ให้รู้ว่าเข้าไปหมายมั่นแล้ว เข้าไปเสวยภพแล้ว ...เพราะนั้นเมื่อเข้าไปเสวยภพปุ๊บนี่ ชาติชราพยาธิมรณะโสกะปริเทวะโทมนัสอุปายาสมาแล้วเป็นธรรมดา 

ก็ต้องเสวยวิบากแห่งกรรมนั้นๆ ของการกระทำนั้นด้วยความไม่รู้ ... เห็นมั้ย ด้วยความไม่รู้นะนั่น  แต่มันคิดว่ามันรู้ มันได้  

ก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม ไม่ไปทำ ไม่มีใครทำ ...นี่ มันก็เป็นอย่างนี้ เท่าที่ปรากฏ ... เนี่ย มันก็เข้าใจความหมายของคำว่า "ตถตา" มากขึ้นเอง


โยม –  ตถตาหรือเจ้าคะ   

พระอาจารย์ –  อือฮึ   

โยม –  หมายถึงอะไรเจ้าค่ะ   

พระอาจารย์ –  มันเป็นแค่นั้นเอง   

โยม –  มันเป็นเช่นนั้นเอง  

พระอาจารย์ –  มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก มันเป็นเท่านี้ ...เพราะทุกอาการที่ปรากฏ มันก็เป็นเท่าที่เห็นนี่ ตอนนี้ รูปก็มีเท่านี้ ไม่มากไม่น้อยกว่านี้แล้ว ...คือพอดีตรงนี้ 

เสียงก็เท่านี้ ไม่รู้ว่าเบาหรือค่อย ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดนะ ...แต่มันพอดีตรงนี้ เนี่ย เท่านั้นเอง ...ถ้าเกินนี้ ผิดหมดน่ะ ถ้าจะเกินหมายความว่า อดีตแล้ว อนาคตแล้ว กลืนแล้ว ต่อเนื่องจากปัจจุบันไปแล้ว 

จนกว่าจะเงียบกับทุกสิ่งที่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ...นั่นแหละ กลาง พอดี สมดุล มัชฌิมา  พระพุทธเจ้าบอกตรงนี้...มรรค อยู่ในองค์มรรค ให้แนบแน่นอยู่กับมรรค ไม่ไปแนบแน่นกับอดีตอนาคตที่ยังไม่ปรากฏ

เห็นมั้ย มันก็จะแนบแน่นกับความหมายที่ว่า “เออ ก็แค่นี้” ...ถึงมันจะพูดๆๆ มีใครมาพูดๆๆๆ ก็อยู่กับมันตรงนี้ ไม่ชี้ว่าเมื่อไหร่ 'มันจะหยุดวะ ถ้าหยุดแล้วจะดีกว่า' เห็นมั้ย มันมีภพล่วงหน้าแล้ว เออ ก็รู้ๆ ไป

สุดท้ายมันก็รู้ตัวขึ้นเองน่ะ ...ก็แค่นั้นแหละ มันก็มีแค่นั้นเท่าที่มันพูด แล้วก็เท่าที่มันดับไป ...แล้วไม่ต้องไปดีใจ แล้วก็ไม่ต้องไปเสียใจกับการเกิดการดับ

ก็ต้องเรียนรู้ให้เป็นปกติกับ ก่อนพูด มันกำลังพูด แล้วก็มันพูดเสร็จ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยวะ อย่างเนี้ย ...มันจะดับ ละหมด ดับหมดซึ่งสัญญาอุปาทานถึงสังขารอุปาทาน ดับหมด ก็มีเท่านั้นน่ะ

เนี่ย เขาเรียกว่า พอดีเลย ...แหม พอดีเกิดมา  เออพอดีตั้งอยู่  เออ พอดีมันดับไปเอง เห็นมั้ย ... แต่ถ้าใจไม่พอดีนะ ... 'ฮื้อ รำคาญมันฉิบหายเลย พูดไปเรื่อย' นี่เริ่มแล้วเริ่มไปข้างหน้าแล้ว บอกให้เลย


โยม –  โยมเคยเห็นอย่างนี้ แต่ว่ามันเริ่มเท่าทันแล้ว บางทีพ่อพูดอะไรให้โกรธแล้วเราก็เห็น พอมีอารมณ์ขึ้นมาเราก็เห็นแล้วว่า มันออกไปทำแล้ว แต่ว่ามันอยู่ในช่วงที่เหมือนมันกำลังดูของมันอยู่  

พระอาจารย์ –   อือ ให้มันเท่าทัน พอเท่าทันแล้วเดี๋ยวดับ ...แต่ว่าพ่อไม่ดับนะ เสียงมันดับ  


โยม –  ก็ยังอยู่  แต่เราเริ่มเห็นแล้ว ที่มันออกไปนี่มันเหมือนสร้างภาระอะไรอย่างนึง  

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นไอ้ที่ปรากฏนั่นคือขันธ์ตามความเป็นจริง  

แต่ไอ้ที่เราพอใจ-ไม่พอใจนี่ เพราะเราไปหลงในขันธ์ที่ไม่จริง คือเป็นรูปในอดีต รูปในอนาคต เป็นเวทนาในอดีต เป็นเวทนาในอนาคต เป็นสัตว์บุคคลในอดีต เป็นสัตว์บุคคลในอนาคต

มันก็เลยเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ ...แต่ทุกข์ที่ปรากฏนี่เป็นทุกข์เงียบๆ เขาไม่ได้บอกว่าเป็นทุกข์ เขาไม่ได้บอกว่าเป็นสุข เขาก็เป็นอาการนึง ที่เกิดๆ ดับๆ เงียบๆ 

แม้จะพูดเสียงดังอยู่ มันก็เงียบ ...เห็นความเงียบในเสียงดัง ก็ไม่มีตัวไม่มีตนในเสียง  นี่ มันเข้าไปแยบคายอย่างนี้ ไม่ได้ไปทำอะไรเลย ... แต่มันเห็น เข้าใจ 

เห็นมั้ย ปัญญามันเข้าไปเห็นแจ้ง แทงเข้าไปทะลุถึงอาการนั้นๆ ...จนตลอดหมด ไม่มีอะไรมาปิดบังความเป็นจริงภายในธรรมนั้นๆ เลย มองเห็นเป็นธรรมเรื่องเดียวกันหมดเลย ไม่มีอะไรในธรรม 

'มีเหมือนไม่มี ไม่มีเหมือนมี' เหมือนพูดเล่นคำ เหมือนพูดเล่นลิ้นน่ะ ... แต่มันจะเข้าใจเองน่ะ 'มีเหมือนไม่มี ไม่มีก็เหมือนมี' ...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันตั้งอยู่บนความไม่มี แต่เปลี่ยนไปตามสังขารปรุงแต่ง 

หรือเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งให้สังขารนั้นเป็นรูปบ้าง เป็นนามบ้าง เป็นรูปหยาบบ้าง เป็นรูปละเอียดบ้าง เป็นนามหยาบบ้าง เป็นนามละเอียดบ้าง เป็นนามประณีตบ้าง แล้วแต่ว่าเหตุปัจจัยมันจะปรุงแต่งมา

แต่บนความปรุงแต่งนั้นน่ะมันไม่มี...ไม่มีความหมายใดๆ ... มันวูบๆ วาบๆ เหมือนพลุ ปุ้ง เป็นแสงสี แล้วแต่ว่าใครจะบรรจุอะไรในพลุนั้น ก็ปรุงแต่งเป็นแสงสีออกมา จะช้านานจะเร็ว จะกว้างจะแคบ มันก็แค่นั้นน่ะ แล้วก็ไม่มีอะไร

แน่ะ วูบๆ วาบๆ อย่างนั้นน่ะขันธ์...มีตัวตนมั้ย มีความหมายในนั้นมั้ย ...แต่ที่ไป โอ้โห อู้หู ไอ้นั่น ความไม่รู้มันว่า เวลาเห็นมัน เวลาเราดูพลุน่ะ ดีใจ เฮ้ ตบไม้ตบมือ นั่นน่ะคือจิตบ้า จิตที่มันเกิดความหมายมั่น

ทั้งที่ว่าตัวเขานั่น “กูไม่เคยเกิดมาให้มึงมาตบมือให้กูเลย” ใช่ป่าว ในพลุน่ะ ความเป็นตัวของมัน มันไม่มีเจตนาใดๆ ในตัวมันเลย 

แต่ว่ามีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง คือด้วยมือมนุษย์ ด้วยคนทำ ปรุงใส่มา แล้วก็เหตุปัจจัยมันพอดี ปุ๊บ กูก็เกิด ปุ้ง หมดเหตุปัจจัยกูก็ดับ ...มึงมาตบมือให้กูทำไม มึงมาเสียใจดีใจร้องไห้กับกูทำไม


โยม –  มันคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนว่า เห็นสักแต่ว่าเห็นใช่ไหมเจ้าคะ 

พระอาจารย์ –  ใช่ ด้วยสติปัฏฐาน มันจะเข้าไปเห็นจุดนี้...ความเป็นจริง  แล้วเมื่อเห็นสักแต่ว่าเห็นแล้ว มันจึงจะเห็นกายในกาย ในนั้นไม่มีอะไร ...มันจะเป็นเรื่องเดียวกัน คือจุดนั้นที่สุดแล้ว ไม่มีสุดกว่านั้นแล้ว

พระพุทธเจ้าบอกว่า หามาภพทั่วแล้ว ไม่มีอะไรยิ่งกว่านี้แล้ว ที่เป็นธรรมชาติที่เหนือธรรมชาติ เรียกว่าโลกุตระ เป็นโลกุตรธรรม จิตที่เข้าไปเห็นโลกุตรธรรมก็เรียกว่าโลกุตรจิต ก็เรียกว่าเป็นธรรมเหนือโลก เหนือขึ้นไปอีก

มันเหนือ คือไม่อิงอยู่กับภาวะของโลกที่มันขึ้นๆ ลงๆ หรือมากหรือน้อย หรือผ่องหรือขุ่นหรือมัว...ไม่เกี่ยว ในนั้นไม่มีอะไร อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นธรรมที่เหนือกว่า ...ก็เรียกว่าเป็นโลกุตรธรรม โลกุตรจิต

สุดท้ายก็ทิ้งหมดน่ะ ทั้งโลกุตรจิตโลกุตรธรรม ไม่เหลืออะไรเลย ...ถึงว่าดับสิ้น สิ้นโลกหรือว่าภพดับ ดับสิ้น ...ดับในความหมายว่าการเข้าไปให้ค่าของทุกสิ่ง

แค่นั้นแหละ การปฏิบัติ ไปฝึก ขัดเกลา ...ไม่มีอะไรที่รับไม่ได้ ดูเอา ... อะไรที่ยังรับได้-รับไม่ได้ ดูเอา... ให้ทัน  เอาจนไม่มีอะไรที่รับไม่ได้


.............................