วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 4/10




พระอาจารย์

4/10 (540513C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

13 พฤษภาคม 2554




โยม –  พระอาจารย์คะ เวลาเห็นคนที่เขาทำความสงบ ทำสมาธิและเดินจงกรมนี่ค่ะ  เราอยากให้เขาเข้าใจว่า ที่เขาสวดมนต์แล้วก็นั่งสมาธิ นี่คือนั่งอะไร แล้วการเดินจงกรมนี่คือเดินอะไร  โยมคิดว่าถ้าโยมพูดมันจะผิดน่ะ มันจะผิดจากความเป็นจริง มันจะปรุงแต่ง เพราะโยมนี่โยมไม่ได้ทำอะไร โยมเดินแล้วโยมเดินเฉยๆ นั่ง...โยมก็นั่งโยมเฉยๆ แต่โยมก็เข้าใจของโยมคนเดียว

พระอาจารย์ –  คือในลักษณะของการเดินจงกรมนั่งสมาธิสำหรับนักปฏิบัติทั่วไป คือเขาจะมุ่งเน้นเป้าหมายคือความสงบ เข้าใจมั้ย  ด้วยอุบายอะไรก็ตาม พุทโธก็ได้ ลมหายใจก็ได้ หรือว่าดูอากัปกริยาของกายก็ได้ 

แต่ว่าเขาจะมีจุดหมายเป้าหมายคือให้สงบ สงบเพื่อให้จิตมันรวม ให้มันนิ่ง ... เมื่อจิตรวม จิตนิ่ง ก็จะเห็นภาวะใจชัดเจนขึ้นมาในจิตรวมใจนิ่งนั่น

นั่นคืออุบาย ...เพราะถ้าไม่เดินจงกรม นั่งสมาธิ  ในอิริยาบถประจำวันนี่ มันจะหาความสงบไม่ได้ชัดเจน  มันเลยต้องอาศัยรูปแบบ ช่วงเวลาทำให้เกิดความสงบตั้งมั่นโดยชัดเจน ...จึงต้องอาศัยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม

แต่ถ้าลักษณะที่เจริญสติ...อย่างที่เราพูด เป็นสติธรรมชาติ เป็นสติที่ไม่มีเป้าหมาย  ไม่ได้เพื่ออะไร ไม่ได้เพื่อว่าสงบ ไม่ได้เพื่อว่าเห็นหรือว่าเกิดความรู้อะไร หรือให้เกิดสภาวะอะไรขึ้นมา  

แต่เป็นสติธรรมชาติคือ แค่รู้...ว่ามีอะไรปรากฏเดี๋ยวนี้ โดยไม่เข้าไปจำแนกแยกแยะ หรือบอก หรือเลือกว่านี่คือนั้น หรือต้องเป็นอย่างนี้ หรือต้องไม่เป็นอย่างนี้ ...นี่คือสติที่เรียกว่าเป็นสติธรรมชาติ รู้แบบธรรมชาติ

เพราะนั้นในลักษณะที่สติธรรมชาติหรือรู้ธรรมชาตินี่ จึงสามารถจะใช้ได้กับทุกกาลเวลาสถานที่  โดยไม่จำเป็นว่า รู้แล้วจะต้องเป็นอะไร หรือรู้แล้วจะต้องได้อะไร หรือรู้แล้วจะต้องสงบ หรือรู้แล้วจะต้องไม่ให้มีความคิด 

แต่รู้ในทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้ ...ไม่ว่าทางกาย นี่ ได้ยินเสียงมั้ย รู้มั้ย (ค่ะ)  นี่รู้...รู้กับเสียงในปัจจุบัน ...เราไม่ได้ห้าม เราไม่ได้บอกว่ารู้แล้วต้องไม่มีเสียง หรือว่ารู้แล้วปั๊บเสียงนี้จะต้องดับ อย่างนี้

แล้วหลังจากได้ยินเสียง รู้ว่าได้ยินเสียง แล้วก็รู้ต่อไป  มันก็ดูต่อไป...ถ้ายังมีสติอยู่ก็รู้อยู่ว่าพอใจมั้ย หรือเฉยๆ มั้ยกับเสียง  ก็รู้อย่างนี้ ก็ดูอาการตามมาหลังจากที่เสียงปรากฏนี่ มีอะไรปรากฏมาอีก 

หรือว่าเห็น...เห็นผู้ชายหรือผู้หญิงหน้าตาดี ตาพอเห็นปุ๊บ เอ้า เกิดความยินดีพอใจ สวย หล่อ ...ก็ไม่ได้ห้าม แต่ให้รู้ว่ามีความพอใจ อนุโมทนากับเขา หรือว่าชอบว่าดูดี  หรือว่าเห็นคนนี้ทำอากัปกริยาอย่างนั้นอย่างนี้ ปุ๊บ แล้วหงุดหงิดรำคาญใจ  ก็ไม่ได้ห้ามหงุดหงิด...แต่รู้...ว่ารู้สึกหงุดหงิดกับรูปนี้กับอาการนี้ ...แค่นี้

แล้วก็ดูอาการที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ของมัน...แล้วแต่มันจะเป็น ... ไม่ได้เข้าไปเป็นผู้จัดการ แต่เป็นผู้ดูกับผู้รู้แล้วก็ผู้เห็น แค่นั้นแหละ  เหมือนเป็นซี. อี. โอ. เดินไขว้หลัง แล้วก็ดูงาน อือๆๆ อย่างนี้ 

อย่าริอ่านลดชั้นตัวเองเป็นภารโรง เข้าไปเก็บกวาดปัดถู จัดแจงตกแต่งใหม่ ...เหมือนกับการที่นั่ง(สมาธิ) ... ถ้าไม่สงบ แล้วเครียด  เช่นถ้าไม่สงบนี่ก็ว่า 'เฮ้อ ฮื้อ มาปฏิบัติธรรมนี่ไม่ได้อะไรเลย'  นี่ เข้าใจมั้ย  

มันคนละแบบกันนะกับสติที่เราให้เจริญ ที่มันจะเป็นแบบ... สงบ...เออ รู้ว่าสงบ  ฟุ้งซ่าน...เออ รู้ว่าฟุ้งซ่าน  หงุดหงิด เออะ รู้ว่าหงุดหงิด อยากให้สงบ...รู้ว่าอยากให้สงบ  เห็นมั้ย เขาเรียกว่ารู้แบบโง่ๆ น่ะ  อะไรเกิดขึ้นกูก็แค่รู้ ไม่เข้าไปจัดการ แล้วก็ไม่ได้ไปหวังผล

เพราะนั้นถ้าจะกลับเข้ามาทำในรูปแบบ ก็อย่างที่เราว่า ก็รู้เฉยๆ นั่งก็แค่นั่งเฉยๆ แล้วก็รู้  ...ไม่มีอะไรก็รู้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ มีความคิดเกิดก็รู้ ได้ยินเสียงก็รู้ หงุดหงิดกับเสียงก็รู้ เผลอไปอีกก็รู้ อย่างนี้ 

ก็รู้เฉยๆ อย่างนี้  รู้กับอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้น อย่างนี้  นี่คือสติตามธรรมชาติ สติตามความเป็นจริง ...ไม่ใช่สติที่เข้าไปสร้างความเป็นจริงขึ้นมาใหม่

เหมือนนั่งแล้วต้องให้สงบ เดินแล้วจะต้องให้ไม่วอกแวก ไม่ให้มีความคิด มันเหมือนกับเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลเลยนะ  ห้ามทำนั่น ห้ามหยิบห้ามแตะนะ ของๆ ฉันนะ เห็นมั้ย มันเป็นผู้จัดการฝ่ายปกครองอะไรอย่างนี้ เป็นผู้คุมระเบียบ

เพราะนั้นนักภาวนาที่เดินจงกรมเอาเป็นเอาตาย นั่งก็แบบแข็งเกร็ง เหมือนครูผู้ปกครองเลย เหมือนครูฝ่ายปกครอง ห้ามแตกแถว ห้ามนักเรียนแตกแถว ห้ามผิดระเบียบวินัย ห้ามพูดห้ามคุย ห้ามทำตัวอย่างนั้นอย่างนี้  เนี่ย เหมือนครูฝ่ายปกครองเด๊ะเลย

ไม่เอา ...เราเป็นแบบอิสระชน  เราเป็นพวก Let it go and let it be  ให้มันเป็น...แต่เราไม่เป็น  ให้มันไป...แต่เราไม่ไป  เราจะอยู่ที่ใจในปัจจุบัน นั่นแหละ ให้มันไปกับให้มันเป็น...แต่ไม่มีใครไปกับไม่มีใครเป็น  นั่นแหละคือสติที่เรียกว่าสติปัฏฐาน...อยู่ที่ฐานปัจจุบัน

เพราะนั้นอะไรที่มันจะไม่ให้ไปไม่ให้เป็น ง่ายที่สุด คือตัว...รู้ตัวๆ  เพราะว่าถ้าเป็นความคิดความจำขึ้นมา มันมักจะไป มักจะเป็นไปกับมัน  เสียง รูป กลิ่น เวลากระทบสัมผัสปั๊บ มันมักจะเข้าไปอิน เป็น insider  ไม่ใช่เป็น outsider

สติที่รู้จริงเห็นจริงนี่ จะเป็นลักษณะ outside อยู่ข้างนอกจากสิ่งที่รู้  มันอยู่ห่างๆ เห็นห่างๆ รู้ห่างๆ ได้ยินห่างๆ  ได้ยินก็ได้ยินที่ใจ ไม่ได้ยินที่หูน่ะ มันได้ยินอยู่ที่ใจ  เห็นน่ะมันไม่ได้เห็นที่ตา มันเห็นที่ใจ ...มันสองเห็น เห็นแรกแล้วเห็นใจ พอเห็นใจเห็นปุ๊บแล้วมันไม่เห็นที่ตา มันเห็นที่ใจ

ถ้ายังมองไม่ออกอย่างนี้ ก็ทำไปก่อน ... แล้วจะรู้ว่าทุกอย่างน่ะเป็นเครื่องเรียนรู้ เป็นแบบฝึกหัด เป็นข้อสอบ ...ถ้าไม่ผ่าน ก็เจออีก see you again , coming soon  เดี๋ยวก็เจอกัน เดี๋ยวเจอใหม่ ... ถ้ายังไม่ผ่าน แปลว่าสอบตก ก็จะเจอผัสสะนั้นๆ อาการนั้นๆ อีก

แต่อาจจะเปลี่ยนลักษณะบุคคล อาจจะเปลี่ยนลักษณะสถานที่ อาจจะเปลี่ยนลักษณะของกาลเวลา  แต่ความยึดมั่นถือมั่นอารมณ์อย่างนั้น ลักษณะอย่างนั้น...จะเหมือนเดิม ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ...โทษฐานแห่งการโง่ จึงสอบตก ต้องเรียนใหม่ ต้องเรียนอีก  แล้วสอบใหม่ สอบอีก

เวลาผ่าน...ผ่านเอง  ไม่มีใครบอกว่าผ่าน มันรู้ด้วยตัวเอง 'อ้อ จะไม่ไปหลงมัวเมา โง่เขลาเบาปัญญากับอาการนี้ ผัสสะนี้ ความรู้สึกนี้ อาการของบุคคลเช่นนี้อีกแล้ว' ... มันรู้เอง

แล้วก็ไปเรียนข้อสอบใหม่ ...ข้อสอบมันก็จะละเอียดขึ้น หินขึ้น มีความน่าจะเป็นเหมือนมากขึ้น  แบบเคยเป็นช้อยส์ใช่มั้ย เอ บี ซี ดี  คราวนี้มันจะให้ เอกับบีแตกต่างกันไปเลย แล้วจะให้บีกับซีเหมือนกันมาก จนเราตัดสินใจไม่ถูกว่าอันไหนมันถูกที่สุดวะเนี่ย

สุดท้ายหลับหูหลับตาเลือก ปึ้บ...ทุกข์เท่านั้นที่จะสอนว่าผิดอีกแล้ว...ตก  แล้วเดี๋ยวมันก็มาอีก เหมือนกันมากเลยๆ  สงสัยอีกแล้วๆ ลังเล '...เอ๊ ยังงั้นมั้ย อย่างงี้มั้ย ...อื้อ มันเป็นเรา เราเป็นมัน หรือมันไม่ใช่ เราไม่มีเจตนาหรือมันเกิดเองรึเปล่า ...นี่มันไม่ได้เกิด หรือแอบทำรึเปล่าวะ' ... งง อย่างนี้ 

มันจะค่อนข้างละเอียดอ่อน ประณีตขึ้นไปเรื่อยๆ นี่ ไอ้อาจารย์ใหญ่ที่ออกข้อสอบ...มันช่างสรรหาข้อสอบ มีช้อยส์ให้เลือกมากมาย

จนกว่าเราจะฉลาดแจ้งชัดเลยว่า...ทุกปัญหาไม่มีปัญหา ... ก็ถ้ากูไม่กาข้อสอบ แล้วมึงจะมาให้กูผิดได้ยังไง นี่ ถ้ากูไม่กาข้อสอบแล้วมึงจะให้กูถูกได้ยังไง ...กูไม่สน กูรู้อย่างเดียว  ข้อสอบตั้งอยู่บนโต๊ะ ก็อยู่บนโต๊ะ อย่างนี้ ...ไม่มีคนทำ

เพราะเราไม่เอาเกรด...สบายออก  มันอยากออกข้อสอบ ก็มีคนอยากทดสอบเยอะไป ... ก็กูไม่สอบ ก็กูไม่เอาเกรด ไม่เอาความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น เดินตัวเปล่า ไม่มีความรู้ติดตัว เกิดเอง แก่เอง ตายเอง ไม่เห็นมีความรู้ติดเลย ...นี่ ใจ เข้าถึงใจ อยู่ที่ใจ แล้วก็เป็นที่พึ่งสุดท้ายไว้ที่เดียว...เอกังจิตตัง

แต่ตอนนี้เรียนรู้ก่อนจนกว่าจะเข้าใจ แล้วจะเห็นว่าข้อสอบก็คือข้อที่หลอกทั้งสิ้น ไม่ว่าถูกหรือผิด ... เพราะนั้นถ้ายังมีถูกมีผิด แสดงว่าขณะนั้นต้องมีความสงสัยเป็นธรรมดา

จนกว่าไม่มีถูกไม่มีผิด  เมื่อนั้นไม่มีความสงสัยในข้อสอบ ...เพราะไม่เห็นว่ามันเป็นข้อสอบ เห็นเป็นแค่กระดาษแล้วก็มีแค่ตัวหนังสือ หรือ กระดาษเปล่าแล้วก็เส้นยิกๆๆ ...ไม่อ่านก็ไม่มีความหมาย ถ้าอ่านก็มีความหมาย 

ถ้าเป็นผู้อ่านแล้วเข้าใจความหมายและไม่มีความหมายในที่นั้น ก็อ่านไปเถอะ  จะตอบก็ได้ ไม่ตอบก็ได้ ...เพราะนั้นทำก็ทำไปงั้นๆ แหละ ไม่ได้ตามเขาว่าหรือเขาบอกว่า หรือไม่ทำก็ไม่ทำเลย  

แต่พวกเรานี่อ่านปุ๊บ จะว่า...ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ความหมาย เอ๊ จะเอายังไงกับมันดีวะ  พอเข้าไปรู้ความหมายกับมัน กูก็เสร็จมันทุกที  พอจะถอยออกมาก็ไม่รู้อีกว่า มันคืออะไร ความหมายนี้มีจริงรึเปล่า

เนี่ย จนกว่าจะเข้าใจว่า กระดาษคือกระดาษ เส้นขีดเขียนคือเส้นขีดเขียน ความหมายคือความหมาย อือ อย่างนี้แจ้ง ...เข้าใจคำว่ารู้แจ้งมั้ย  ไม่สงสัยในกระดาษ ไม่สงสัยในเส้นที่ขีดเขียน ไม่สงสัยคนที่เขียน ไม่สงสัยในภาษา ตัวหนังสือที่สละสลวยหรือหวัดหรือบรรจง

ก็หมดซึ่งความเข้าไปยินดียินร้ายในกระดาษ ในตัวหนังสือ ในอาการของหนังสือที่สละสลวย หรือหวัดหรือบรรจง แล้วก็ไม่สงสัยในคนที่เขียนหนังสือ  อย่างนี้เรียกว่ารู้จริง 

รู้หมด รู้แจ้งแทงตลอด แยกส่วนสัดส่วนออกได้ชัดเจนว่าอะไรคืออะไร ...แล้วก็จะเห็นว่าอะไรคืออะไร...นั่นคือไม่มีอะไร  เพียงแต่เป็นการเข้ามาสุมหัวรวมตัวกัน เพื่อล่อหลอกให้เราลุ่มหลงและไม่เข้าใจ แค่นั้นเอง

เพราะนั้นอาการของโลกคือการสุมหัวรวมกัน หรือว่าการปรุงแต่ง ความปรุงแต่ง...ได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม รูปขันธ์นามขันธ์  

ในลักษณะที่เรามองเห็น นี่คือส่วนใหญ่ของการปรุงแต่งของรูปขันธ์หรือธาตุขันธ์  ส่วนที่จับต้องไม่ได้ เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นธรรมารมณ์  ลักษณะนี้ก็เป็นการที่มีส่วนประกอบระหว่างรูปธรรมนามธรรมที่ลดหลั่นกันไป 

รูปน้อยบ้าง นามมากบ้าง มีรูปชัดเจนบ้าง นามไม่ชัดเจน รูปชัดเจนกว่านาม นามชัดกว่ารูปบ้าง จนถึงการปรุงแต่งของมนุษย์นั่นก็คือรูปขันธ์นามขันธ์ คือขันธ์ห้า  หรือขันธ์สี่ ขันธ์สาม ขันธ์สอง ขันธ์หนึ่ง ของเทวดาอินทร์พรหม ก็คือการปรุงแต่งของนามธรรม อันนั้นไม่มีรูปธรรม แต่มีแต่นามธรรม  เห็นมั้ย เป็นเรื่องของความปรุงแต่งทั้งสิ้น

นั่นแหละ ที่อุปมาว่าเป็นอาการเขียน หวัดแกมบรรจง หรือว่าตั้งอกตั้งใจคัด หรือว่าสละสลวย หรือว่าเป็นภาษาที่อ่านไม่ออกเลย  เปรียบมันก็เป็นแค่อาการของความปรุงแต่ง ในลักษณะที่แตกต่างไปตามเหตุและปัจจัย

ก็วันนี้โดนเมียด่า กูก็เขียนแบบเหมือนคนเมาน่ะ ภาษามัน  วันนี้อารมณ์ดี ก็เขียนสวย นี่มันตามเหตุและปัจจัย  มันไม่ใช่ว่าอะไรเป็นหลัก หาความแน่นอนกับมันไม่ได้ มันแล้วแต่ว่ามีอะไรมาปรุงแต่งปัจจัยนั้นมาเสริม มาแทรก มาสอด มาสนับสนุน มาตัดทอน 

มันก็ทำให้อาการปรุงแต่งนั้นเปลี่ยนรูปลักษณะ หรือนามลักษณะ  ให้ดูหยาบ ดูอ่อน ดูกระด้าง ดูละเอียด ดูนุ่มนวล ดูประณีต ดูเหมือนเสมือนไม่มี จนถึงที่สุด ...ได้หมด ก็คือความปรุงแต่งทั้งสิ้น 

พระอรหันต์ พระอริยะ ท่านเท่าทันทุกความปรุงแต่ง คือท่านเห็นหมดว่าทุกอย่างคือความปรุงแต่ง แล้วท่านจะไปมีปัญหาอะไรกับความปรุงแต่ง ...ก็ความปรุงแต่งมันมีชื่อมั้ยตามสมมุติ มันมีนามมั้ยตามบัญญัติ มันมีชีวิตในตัวมันมั้ยในความปรุงนั้นๆ ...นั่นแหละ ปัญญา 

ที่ให้รู้ตัวทั้งหมดนี่...เพื่อให้เข้าไปเห็นถึงที่สุดของความเป็นจริง ว่าคือความปรุงแต่งเท่านั้น ซึ่ง ซตพ.ได้ตรงนั้นที่เดียว อย่างที่เคยเรียนเรขาคณิต สุดท้ายต้องมี ซ. ต. พ. ... ซึ่งต้องพิสูจน์

เพราะนั้นในการที่เราอยู่ในโลกทุกวันนี่  ถ้ามองแบบเงียบๆ ดูแบบเงียบนะ ไม่ทำไม่พูดอะไรนะ เจ็ดวันสิบวันสิบห้าวันสามสิบวัน เจ็ดเดือน เป็นปี  แล้วจะเข้าใจเลยว่าทั้งหมดคือความปรุงแต่งจริงๆ เว้ยเฮ้ย ไม่มีอะไร เชื่อมั้ยล่ะ ไม่เชื่อ ลองดู  ไม่ได้บังคับ ไม่ได้จ้าง ลองดูเอาเอง

ลองนั่งเฉยๆ รู้เฉยๆ เงียบๆ กับทุกอาการ ไม่พูดๆๆ  ปากพูดได้แต่ไม่พูดภายใน มือทำแต่ใจไม่พูด รู้ภายในเฉยๆ ลองดู จะเข้าใจว่าอะไรคือความปรุงแต่ง 

ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่ไม่ได้เกิดจากความปรุงแต่งเลย แล้วที่สุดของความปรุงแต่งมันมีที่เดียวกัน คือความดับไป ไม่มีอะไรวิเศษพิสดารกว่านั้นหรอก ไม่มีอะไรวิเศษวิโสพิสดารมากกว่าความดับไปหรอก

สุดท้ายก็คือไม่มีอะไรสูงสุดกว่าความดับไปเป็นธรรมดา นั่นแหละคือความงามสูงสุด  พระอริยสาวกท่านงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด จนถึงที่สุดท่านถึงว่า...ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวไม่มีตน มีความดับไปเป็นธรรมดา คือที่สุดของอนัตตา จึงงามในที่สุด

นั่นน่ะเป็นความงามในที่สุดของการดับ หรือการตาย  จนใจท่านก็งามในที่สุดคือดับจากความหมายมั่นในรูปในนาม ทั้งหลายทั้งปวง ...จึงเรียกว่าดับขันธ์


ค่อยๆ ทำไปนะ อย่าขี้เกียจ อย่าขี้คร้าน ขยันรู้...รู้นิดก็เอานิด รู้หน่อยก็เอาหน่อย  แต่อย่าทิ้งรู้ อย่าปล่อยปละละเลย


(ช่วงท้ายนี้พูดเกี่ยวกับกระแสที่ลือกันเรื่องโลกแตก)

โยม –  พระอาจารย์ครับ มันจะเกิดอะไรขึ้นน้อ

พระอาจารย์ –  อย่าไปถาม บอกแล้วว่าอย่าคิดถึงอนาคต อย่าห้อยกับอดีต

โยม (อีกคน) –  แต่มันเป็นประเด็นที่แบบเคยรู้มา ครูบาอาจารย์องค์ไหนพูดแล้ว โอ้โห เอามาต่อเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์

พระอาจารย์ –  บอกให้ก็ได้... ตายแน่ ตายหมดโลกแหละ ไม่มีใครไม่ตายหรอก 

โยม –  (หัวเราะกัน) ...แม่นมาก

พระอาจารย์ –  เกิดมาตายหมด ไม่เห็นมีใครอยู่น่ะ ... เราดูแล้ว เท่าที่ญาณทัสสนะได้หยั่งลงไป (หัวเราะกัน) เห็นว่าตายทั้งโลกเลย

โยม –  เขาเอามาเขียนกันแบบ มีภาค 1 ภาค 2 เลย

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละคือความปรุงแต่ง คือสังขาร  เพราะนั้นถ้าเราไปไขว่คว้าผูกพันกับสังขารปรุงแต่งในอดีตอนาคต จิตจะเกิดเวทนาตามมา  ความหมายมั่นในเวทนาหรือเวทนาขันธ์ อุปาทานในเวทนาก็ตามมา ความเป็นภพเป็นชาติก็จะเกิด ...ความยึด ความผูก ความพัน ความข้อง ความเข้าไปมีเข้าไปเป็นในมันก็จะตามมา

ฆ่าให้ตาย ขายให้ขาด ...ฆ่าได้ไม่ผิดศีล คือฆ่าความคิด ฆ่าอดีต...ฆ่าได้ ไม่ติดคุก ฆ่าอนาคตยิ่งดี สบายดีออก อยู่แบบชิวๆ ใครว่ายังไง...ดี ใครไม่ว่ายังไง...ก็ดี ฮึ ...ไอ้คนพูดทำนายก็ตาย คนฟังคำทำนายก็เห็นว่าตาย  คนฟังเอง สงสัยไปสงสัยมา...กูก็ตายเหมือนกันว่ะ

เป็นแต่ว่าใครตายก่อน ใครตายหลัง  ใครตายก่อนก็มาเกิดก่อน ใครตายหลังก็มาเกิดทีหลัง  ใครตายก่อนก็เกิดเป็นผู้สูงอายุก่อน ใครตายที่หลังก็มาเกิดเป็นเด็กให้เขาข่มขู่กันต่อไป 

เราเห็นอยู่แค่นี้ เราไม่เห็นความจริงอื่นนอกจาก เกิด...เป็นทุกข์  ตั้งอยู่...เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา...เป็นทุกข์  แล้วก็ตาย...เป็นทุกข์  เห็นอยู่แค่นี้ ...อย่าไปเห็นนอกจากนี้ เห็นนอกจากนี้แล้วฟุ้งซ่าน ข้อง สงสัย หลากหลายความเห็น หงุดหงิด กลัว

บอกแล้ว ต่อให้เขาแตกถล่มทับลงต่อหน้า แล้วกำลังมาก้อนเท่าภูเขามาทับนี่ เหอะๆ สบาย ยินดีๆ เป็นธรรมดา นั่นน่ะ ...ช่างมัน ยอมรับในความจริงที่ปรากฏ นั่นน่ะคือผู้ที่ไม่หวั่นไหวในธรรมทั้งปวง

เอ้า ไป ...พอ


...............................




วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 4/9




พระอาจารย์

4/9 (540513B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

13 พฤษภาคม 2554




พระอาจารย์ –  ดูตอนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ นั่งใต้ต้นโพธิ์น่ะ ...เริ่มจะเข้ายามหนึ่ง ก่อนจะเข้าสู่วิชชาแรก ท่านก็เจอแล้ว...พญามาร  ยกทัพใหญ่น้อยด้วยช้างศึก มีลูกสมุนเป็นนางตัณหา นางราคะ นางอรดี  ชื่อแต่ละชื่อนี่น่าไพเราะทั้งสิ้น นี่ พอเริ่มต้นจิตกำลังจะรวมก็เจอแล้วพญามาร ยกทัพมาเต็มไปหมด

คือลักษณะที่คิดรำพึงถึงว่า “เรามาบวชทำไม ถ้าไม่บวชนี่เราก็เป็นจักรพรรดิ เมียก็มี สวยด้วย เบญจกัลยาณี ทรัพย์สมบัตินี่ไม่ต้องแสวงหามีแต่คนมาให้เต็มไปหมด ด้วยบุญบารมีของเรา สอนคนก็ได้ ปกครองคนก็ได้ ไม่เห็นจะต้องมาหาความรู้อะไรเพิ่มเลย”

นี่ กิเลสมาร ขันธมาร พญามารมาแล้ว มาเคาะประตู ... พระพุทธเจ้าก็เปิดเข้าเปิดออก จนจะล่วงทะลุถึงยามแล้ว ...ก็ไม่เอาแล้ว เริ่มจะไม่เอาแล้ว ... นั่งขัดสมาธิเพชรอยู่นี่ ก็ถึงขั้นจะยกมือออก จะลุกแล้ว ... ที่เรียกว่าปางมารวิชัย หรือปางสะดุ้งมาร  นี่ท่าจะลุก จะเลิกนั่งแล้วเชียว

แต่ว่าด้วยสัจจะอธิษฐาน นะ ท่านมีสัจจะอธิษฐานทวนขึ้นมา ... คือก่อนที่จะนั่งท่านว่า เราจะนั่งภาวนาใต้ต้นไม้โพธิ์จวบจนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้เลือดเนื้อเชื้อไขจะเหือดแห้งหายไป จนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก จนถึงแตกดับตายไป  ถ้าไม่ตรัสรู้...เราจะไม่ลุกจากที่นี้

ด้วยสัจจะอธิษฐาน นี่ จิตใจกลับคืนมาหมด  ขันติ...หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ไม่หวั่นไหว  ด้วยธรรมาธิษฐาน คือความหนักแน่น ขันติเหมือนแผ่นดิน...ท่านเปรียบเหมือนพระแม่ธรณีบีบมวยผม เอาน้ำมาเต็มเลย ไหลเอาพวกเหล่าพญามาร เสนามาร ลูกสาวมารทั้งสาม กระจัดกระจายพลัดพราย ตกทะเล ตกมหาสมุทร ดับตาย สูญหายออกไปเลย

จิตท่านก็ตั้งมั่น ล่วงเข้ายามที่หนึ่งพอดี...ปฐมยาม ปุพเพนิวาสนุสติญาณก็บังเกิด ระลึกถึงว่าเกิดมายังไง แล้วก่อนเกิดล่ะเป็นอะไรมา ทวนไปทวนมาทะลุพรวดถอยหลังเลย จากนี่ไปนี่ๆๆๆ จนนู้น ก็ไม่จบ 

นี่ทวนด้วยญาณ...สัพพัญญุตญาณนะนั่น ไม่จบสิ้นเลย  อเนกชาติสังสารา หาต้นหาท้ายไม่เจอเลย  นี่ญาณสัมพุทธะนะนั่น พุทธญาณ  สามชั่วโมงท่านทวนตรงนั้น ยังไม่หมดเลย  ดูที่ไหนก็เกิด-ตายๆๆ ไม่จบ

พอล่วงปฐมยามแล้ว มาจบยังไง ...ก็มาเห็นว่าอะไรล่ะทำให้เกิด แล้วทำไมเกิดไม่เหมือนกัน เดี๋ยวเป็นสัตว์ เดี๋ยวเป็นพระราชา เดี๋ยวกลับมาเป็นยาจก เดี๋ยวเป็นเทวดา เดี๋ยวเป็นพรหม เดี๋ยวเป็นสัตว์นรก เดี๋ยวเป็นอสุรกาย ไม่ใช่ไม่เคยเป็นนะ  เดี๋ยวเป็นชาย เดี๋ยวเป็นหญิง นี่ ก็อะไรกัน...ทำให้เกิดแตกต่าง

พอล่วงเข้ายามที่สอง อีกสามชั่วโมงต่อมา ก็เห็นเลย...เพราะกรรม กุศลกรรม อกุศลกรรม ...ทำอย่างนี้ๆๆๆ มาเกิดอย่างนี้ๆๆๆ เลย  เพราะทำอย่างนั้นๆๆ อ๋อ ก็เกิดเป็นอย่างนั้นๆๆๆ ...อ้อ เป็นอย่างนี้  นี่จุตูปปาตญาณบังเกิด เป็นวิชชาที่สอง

คราวนี้ก็นั่งดูกรรมแล้ว ... ของตัวเอง ของสัตว์โลก...ทำไมคนนี้มาเป็นพระราชา อ๋อ เพราะมันทำมาอย่างนี้ คนนี้ทำไมเป็นยาจกเพราะทำอย่างนี้  ทำไมเป็นสัตว์ อ้อ ทำมาอย่างนี้  ทำไมเป็นเทวดา เพราะทำมาอย่างนี้  เป็นกรรมส่งผล ก่อให้เกิดวิบากต่างกัน อู้ย ดู ดูแล้วดูอีก ล้านๆๆ เหตุปัจจัยของกรรม... ไม่จบอีก ดูเรื่องกรรมก็ไม่จบอีก มันไม่มีที่สิ้นที่สุด 

แล้วยังไงถึงจบ ...พอถึงวิชชาสาม...มีสามวิชชาตรัสรู้นี่ ...ก็ย้อนกลับมาที่ตัวเอง ขันธ์  เอากรรมตัวเองก่อน มาดูที่การกระทำของตัวเอง ว่าตัวของเรา แล้วใครล่ะที่สร้างเหตุ...ตัวนี้ เอาตัวนี้เป็นจุดเริ่มต้น กรรม ส่งผลมาตั้งแต่ชีวิตนี้เกิดมา อดีตไม่เอาแล้ว ไม่จบ เอาตรงนี้  กลับมาย้อนมา ที่มานั่งอยู่ใต้ต้นไม้โพธิ์ ด้วยกรรมอะไรก็ดู ด้วยการที่เคยเป็นกษัตริย์ ก็กลับมาเป็นนักบวช ก็ดูแค่ตรงนี้ ย้อนกลับมา

จนเหลือแค่ปัจจุบัน ...แล้วก่อนเมื่อกี้ล่ะเกิดอะไร พั้บ...มาอยู่ปัจจุบัน ปั๊บ ปัจจุบัน  มันเห็นกรรมที่ทำมาในอดีตปั๊บ มาปัจจุบันปึ๊บ...ดับปัจจุบัน  พอมีความคิดเกิดขึ้นปุ๊บ ก็เห็นเลยว่า เนี่ย แค่ความคิดนี้ ปั๊บ...กรรมเกิดเป็นมโนกรรม ปั๊บรู้ปัจจุบัน พอปัจจุบันปุ๊บ...ดับ  พอมันจะไปอนาคตปั๊บ...ดับปัจจุบัน ไปอดีตอีก มันย้อนไป ...ท่านเห็นมันออกไป พั้บ ดับปัจจุบัน จะไปอนาคตปั๊บ...ดับปัจจุบัน

จนไม่ไปไม่มาน่ะ จนเหลือแต่กายกับใจในปัจจุบัน ...ไม่ไปแล้ว  ปุพเพฯ ไม่ไปแล้ว  จุตูปปตญาณ ไม่ไปแล้ว  ข้างหน้าข้างหลังไม่ไปแล้ว  เรื่องคนนั้น เรื่องสัตว์เรื่องคน ไม่ไปแล้ว  เอาตรงขันธ์อันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง

พอกลับมาขันธ์อันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง พั้บ เอาล่ะ ขันธ์คืออะไร ความคิดความปรุง...แยกออก ความคิด ความจำ ความปรุง  จำแนกขันธ์...นามขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ กับใจรู้ ... รู้กับขันธ์ทั้งห้า ไม่ไปไหนแล้ว ไม่ไปไหน อยู่ในกายอยู่ในใจ อยู่กับกายอยู่กับใจใต้ต้นไม้โพธิ์ คือปัจจุบัน

จนเข้าใจ ...เห็นขันธ์คืออะไร เข้าใจว่าขันธ์คืออะไร  ไม่มีบัญญัติ ไม่เป็นสมมุติ  พูดได้อย่างเดียวว่าเป็นไตรลักษณ์ คืออาการ เกิดขึ้น...ตั้งอยู่...ดับไป เกิดขึ้น...ตั้งอยู่...ดับไป ทุกขันธ์ไป ...ไม่รู้จะเรียกอะไร ไม่มีความหมายอะไร ไม่ได้เป็นอะไร ไม่ได้เป็นของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ...เข้าใจขันธ์แล้ว

ในขันธ์มีอะไร ดู ไม่มีอะไร เริ่มเป็นขันธ์ว่างแล้ว  เริ่มเห็นความว่างในขันธ์ เริ่มเห็นสุญโญ เริ่มเห็นวิโมกข์ เริ่มเห็นวิมุติ ความไม่มีตัวไม่มีตนในขันธ์ ...แล้วท่านก็ย้อนกลับมาดูว่าใครมองเห็นขันธ์ มีใครเห็น หรือว่าแค่รู้เห็น หรือว่ามีใครเห็น หรือว่ามีแค่รู้เห็น ... นี่ทวน ท่านทวนกลับมาที่ใจ

น้อมไป ดูไปดูมา พิจารณาแยบคาย ถี่ถ้วน จำแนก ชำแรกลงไปที่ใจ ...ก็เห็นความเป็นจริงว่า แค่รู้เฉยๆ  ใจคือแค่รู้เฉยๆ ไม่เป็นใคร  ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้  ไม่มีใครเห็นความว่างในขันธ์ ไม่มีผู้ที่เห็นว่างในขันธ์ มีแต่รู้ว่าว่างในขันธ์ ...จำแนกออกๆ ผู้เห็นกับไม่มีผู้เห็น ผู้รู้กับไม่มีผู้รู้ มีแต่รู้กับเห็น แค่เนี้ย

อาโลโก ... สว่าง แจ้งโลกธาตุเลย ... ขาดสะบั้น  ความเป็นสัตว์เป็นบุคคล ขาดจากขันธ์ ขาดจากใจ  รู้แจ้งเป็นธรรมชาติเดียวกันในสามโลก ซึ่งแตกต่างกันไปตามที่มันตั้งอยู่ด้วยอำนาจของกรรมวิบาก เหตุปัจจัย  เหตุปัจจโย กัมมปัจจโย วิปากปัจจโย อารัมณปัจจโย ชาตปัจจโย เท่านั้นที่แตกต่าง  แต่ในนั้นไม่มีอะไร ทั้งสิ่งที่ถูกเห็นถูกรู้ ทั้งสิ่งที่เห็นทั้งสิ่งที่รู้

จบ...ตรงนั้น วิมุติจนเป็นที่สุด  คือวิสุทธิ เป็นวิสุทธิจิต เป็นวิสุทธิธรรม ความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก ... มันจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน สำหรับพุทธะ เป็นพุทธะครั้งแรกในโลกยุคนั้น ...เหมือนแสงสว่างที่เกิดขึ้นท่ามกลางความมืดมิด หาความสว่างใดจะมาเทียบเทียมได้ในสว่างนั้น


นี่ มันเป็นบุญนะนี่ ที่มาเกิดได้ยินได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้านะ ...จากนี้ไปนี่ พ้นห้าพันปีไปน่ะ ไม่มีใครรู้จักพระพุทธเจ้า ไม่มีใครรู้จักคำว่าใจ ไม่มีใครรู้จักคำว่ามรรค ไม่มีใครรู้จักว่าวิถีของมรรคคืออะไร นิพพานคืออะไร

เพราะฉะนั้น อย่าล้อเล่นในการเกิดการตาย ...ไม่ใช่ง่ายๆ ที่จะได้เกิดพระพุทธเจ้า เกิดสาวกขึ้นมาในโลก...ที่เหมือนกระทะทองแดง ที่เหมือนเตาอบเตาหลอม

ที่มันอยู่กันได้นี่ด้วยพระธรรมนะ ค้ำจุนโลกอยู่ ...เรามาอยู่ในยุคสมัยที่ยังมีพระธรรมค้ำจุนโลกอยู่  เหมือนกับเตาอบหม้ออบที่มันมีความเย็นหล่อเลี้ยงอยู่ภายใน ที่ไม่ให้เตาอบนี่มันระเบิด  มันเป็นยุคนี้นะ นี่แค่ห้าพันปีนะ ซึ่งน้อยนิดเมื่อเทียบกับอายุของโลกไม่รู้กี่ร้อยล้านๆ ปีน่ะ

อย่ามัวแต่เฮๆ ฮาๆ ตาย-เกิดๆ  สนุกสนานกับการตายการเกิด การเที่ยว การทำงาน การเล่น การมีเพื่อน การหาความสุข การได้นั่นได้นี่ การไปช้อปปิ้ง การไปจับจ่ายข้าวของให้มีความสุขทางหูทางตา ...มันจะตายแบบไร้สาระ ตายแบบพลาดโอกาสที่ดี

ด้เกิดมาในยุคนี้สมัยนี้ ...แม้จะเป็นกึ่งกลาง หลังกึ่งกลางพุทธกาลแล้ว  แต่ยังมีพระธรรมปรากฏอยู่ มีผู้ที่ปฏิบัติได้ผลจริงปรากฏอยู่  มีการเล่าขาน การสืบต่อ การสืบทอดคำสอนของแนวทางการปฏิบัติให้ได้ผลตาม ...มีอยู่

นี่ไม่ใช่ดวงดี ไม่ใช่เป็นเคราะห์ ไม่ใช่เป็นชะตาที่ดี ...แต่เป็นเพราะบุญกรรมของตัวเจ้าของนั่นแหละ เกื้อหนุน ส่งผลให้มาเกิดในช่วงนี้ ยุคนี้ สมัยนี้ เวลานี้

ก็ให้เข้าใจ ให้เกิดศรัทธา ให้เกิดความขวนขวาย ...อย่างอมืองอเท้าไปตามกระแสของโลก กระแสของกิเลส กระแสของความลุ่มหลงมัวเมา กระแสของความอยากและไม่อยาก ให้มันเป็นตัวไกด์ชีวิตของเรา

ต้องทวนกลับมา ตั้งมั่นอยู่ภายใน ...เหมือนที่พระพุทธเจ้าทำ เหมือนที่พระอริยสงฆ์สาวกทำ เหมือนผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเขากำลังทำ ... ให้เป็นแนวทาง หรือเป็นตัวชักนำเรา เพื่อจะไม่กลับมาในโลกใบนี้

นี่ยังมี ยังเห็น ยังสบายนะ ...พ้นห้าพันปีแล้ว ไม่ใช่อย่างนี้นะ  ไม่ได้หยุดไม่ได้อยู่หรอก บอกให้เลย ไม่ได้ไปมาหาสู่ ไปไหนมาไหนสบายอย่างนี้หรอก บอกให้เลย  ไม่ได้ขู่  แต่ด้วยเหตุปัจจัย ตามเหตุและปัจจัย มันเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนี้ด้วย...ในโลก

เพราะโลกนี่คือความเสื่อม คือความแปรปรวน ...อย่าไปประมาทกับมัน  เอาแบบอย่างพระพุทธเจ้า เอาแบบอย่างสงฆ์สาวก เอาแบบอย่างผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เราเคารพยกย่อง ใครก็ได้ ในหมู่สงฆ์สาวก เอาเป็นแบบอย่าง ท่านอยู่อย่างไร ท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านอยู่กับธรรมด้วยการยอมรับ 

พระพุทธเจ้าท่านอยู่ด้วยการละ ออก จาก วาง ไม่หา ไม่เพิ่ม มีเท่าไหร่ท่านทิ้งหมด ...ท่านมียิ่งกว่าพวกเราอีก ในสมบัติทางโลกน่ะ ในความมีชื่อเสียง ในความนับหน้าถือตาในทางโลก  ถ้าเปรียบเทียบกับคน ไม่มีใครเท่าพระพุทธเจ้าในสมัยนั้น

ท่านไม่เอา ท่านไม่หลง ท่านไม่เผลอ ท่านไม่เพลินกับโลก ท่านไม่เพลินกับสิ่งที่คิดว่าคาดว่าจะได้มาในความที่ท่านอยู่ในโลก  ท่านเห็นว่ามันมีอะไรที่ดีกว่านี้ มันมีอะไรที่สูงกว่านี้ มันมีอะไรที่ไม่วุ่นวี่วุ่นวายอย่างนี้ มันมีอะไรที่มันไม่เร่าร้อนอย่างนี้

นี่ วิสัยของผู้ปัญญา ท่านมองเห็น  ท่านไม่นอนตายไปกับโลกเปล่าๆ ปลี้ๆ นอนตายไปกับทรัพย์สมบัติ นอนตายไปกับความยกย่องสรรเสริญ นอนตายไปกับชื่อเสียงลาภยศต่างๆ นานา  เพราะท่านเห็นว่าพวกนี้มันเหมือนงูเห่า มันเหมือนไฟ มันร้อน

ได้มาก็ร้อนเวลาถือ เวลาไม่ได้มาก็ร้อนเพราะไม่ได้มา เวลามันหมดไปก็ร้อนเพราะมันหายไป เห็นมั้ย มันร้อนทั้งขึ้นทั้งล่อง ...ท่านมองเห็น  ขนาดท่านยังไม่ได้สัพพัญญูพุทธะท่านก็มองเห็นเลาๆ แล้ว ของเหล่านี้เป็นของร้อน ไม่ใช่ของดี

ความรู้สึกต่างๆ ก็เป็นของร้อน  ความรักก็เป็นของร้อน ความโกรธก็เป็นของร้อน ความได้ดั่งใจ ความไม่ได้ดั่งใจ ล้วนเป็นแต่ของเร่าร้อนทั้งสิ้น ...ไม่มีอะไรสงบร่มเย็นเลย เพียงพอที่จะจับต้องถือครองได้เลย

ท่านจึงว่า มันต้องมีสิ ในการที่จะหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้  นี่ วิสัยของพุทธะ วิสัยของผู้มีปัญญา  แต่ท่านก็ไม่ได้บนบานอ้อนวอนร้องขอ  ท่านเอาตัวเข้าไปพิสูจน์ทดลอง ท่านทดลองทั้งหมด  บำเพ็ญทุกรกิริยา ๖ ปี เกินกว่ามนุษย์ตนใดจะทนได้ ท่านก็ทำมาแล้ว ท่านก็ลองมาแล้ว กว่าจะได้มาสั่งสอนเรา

อย่างพวกเรานี่ โอ้ย สบายจะตาย ...มีคนมายกมายื่น มาหยิบมาจับ มาซอย มาประเคนให้เข้าถึงปาก  เอ้า ..อ้า อ้าปาก เดี๋ยวจะให้กิน มันยังไม่เข้าๆๆ ไม่เอา ไม่กิน ไม่อร่อย  ว่าของไม่มีประโยชน์ ... ใครมันจะมาบีบบังคับ ให้ถึงขนาด ให้อ้าปาก แล้วให้กินนะ ...ก็ขนาดว่าแค่อ้าปาก แล้วก็ของมีให้กินอยู่แล้ว

พระพุทธเจ้านี่ไม่มีของให้กินนะ ท่านยังไม่รู้อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้  ท่านลองกินดูก่อนนะ เกือบตาย ปางตาย กว่าจะได้คัดสรรมาแล้วว่านี่กินได้ กินซะ  ผสมคลุกเคล้ากันเป็นธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

สรุปรวบยอดสั้นๆ ง่ายมีสองตัว กาย-ใจ นี่ มันยังไม่กินเลย  '...จะกินโลภค่ะ จะกินหลงค่ะ จะกินความสุขค่ะ จะกินความทุกข์ จะกินอดีต จะกินอนาคต ...กินหมดทุกอย่าง ยกเว้นกายกับใจ ไม่กินค่ะ'

ครูบาอาจารย์ที่เล่าเรียนฝึกฝนอบรมตนมา ท่านก็ไม่มีใครมาบอกละเอียดลออกันอย่างนี้เลย ไม่มาแยกแยะ ซอยๆๆๆ บั่น ปั่น บด จนกินได้สบายท้องคล่องคอ  ท่านน่ะต้องไปหา ไปเหลา ไปปลูก ไปเพาะ ไปหักล้างถางพงถางป่าถางดอยเพาะปลูกกว่าจะได้ ไม่ใช่ง่ายๆ นะ

ไม่ได้ด้วยวาสนา ด้วยโชค ด้วยบารมีอะไร  เกือบตายกี่รอบ กว่าจะมาบด มาซอย มาย่อย มาปั่นให้  แต่มันไม่กินกันน่ะ ว่า 'สบายเกิน มันง่ายเกิน มันยากเกิน มันไม่ใช่' ... ก็ไม่รู้จะว่ายังไงกันแล้ว มนุษย์


ตั้งใจ ใส่ใจ ขวนขวาย ...อย่านอนตายกับก้อนเนื้อก้อนเลือดโดยเปล่าๆ ปลี้ๆ  มันไม่ใช่ของดีของเด่หรอก ก้อนเนื้อกองเนื้อ ก้อนหนองกองหนองนี่  สกปรกโสมม เร่าร้อน วุ่นวาย แตกหัก เสื่อม พัง ...มันมีแต่ทุกข์ มีแต่ความไม่จีรังถาวร

อย่าไปหลงมัวเมา อย่าไปลุ่มหลงกับมันมากจนเกิน จนหลงลืมตัวเอง...ในการใส่ใจ ในการกลับมาดูกายดูใจตามความเป็นจริง ...จะได้ออกจากโลกได้ จะได้ไม่ต้องกลับมาเกิดตายร่วมกันอีก เดี๋ยวเป็นแม่เดี๋ยวเป็นลูก เดี๋ยวเป็นลูกเดี๋ยวเป็นแม่ เดี๋ยวเป็นพี่เดี๋ยวเป็นน้อง เดี๋ยวก็เป็นผัว เดี๋ยวก็เป็นเมีย น่าเบื่อตายชัก ลำดับญาติไม่ถูก

นั่นแหละการเกิด มั่วไปหมด ไม่รู้ใครเป็นใคร ...หรือเผลอๆ อ้าว ดันมีหางซะแล้ว หรือดันมาอยู่ในหนองน้ำเป็นปลาซะอีกแล้ว เดี๋ยวก็เป็นสัตว์อื่น  ใครจะไปรู้ 

ตราบใดที่ยังไหล หลง เผลอ เพลิน ปล่อยไปตามอารมณ์ ทำไปตามอารมณ์ ทำไปตามความเห็น ที่ไม่ได้คัดสรรคัดกรองออกมาด้วยใจที่บริสุทธิ์ ด้วยใจที่มีปัญญา ด้วยใจที่มีสติสมาธิ หรือญาณทัสสนะ  มันก็มีแต่ผิดพลาดพลั้งเผลอ ไม่เป็นไปเพื่อความสุขสงบสันติหรอก

ธรรมของพระพุทธเจ้าท่านท้าให้ลอง ท้าให้พิสูจน์  เพราะธรรมของท่านจริง ธรรมของท่านเป็นสัจจะ ... เพราะนั้นคนที่จะมาพิสูจน์ คนที่จะมาลอง ต้องเป็นคนจริง มันจึงจะเห็นธรรมจริง ... ไม่ใช่เหลาะแหละ ไม่ใช่เล่นๆ

ให้ใส่ใจ ตั้งใจ  ...ตั้งมันขึ้นมาทั้งวันน่ะ ล้มแล้วก็ตั้งใหม่ ล้มแล้วก็ตั้งใจขึ้นมาใหม่ ตั้งใจรู้ใหม่  ตั้งมันขึ้นมา...รู้น่ะ  ถ้ามันไม่ตั้งน่ะมันล้ม...สติน่ะ   

ล้มอีกก็ตั้งอีกขึ้นมา รู้อีก ... เอาดิ  มันจะชนะความเพียรไปน่ะไม่มี วิริเยนะ ทุกขะมัจเจติ ...จึงจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร ไม่ได้ล่วงทุกข์ได้ด้วยความขี้เกียจ เกียจคร้าน ไม่เอาไหน

มองให้เป็นเรื่องธรรมดา ล้มแล้วตั้งใหม่ๆ ตั้งใจขึ้นมา...ตั้งมันจนได้ทุกขณะจิต ตั้งมันได้ทั้งวัน ตั้งมันได้ จนไม่มีล้ม  เมื่อนั้นแหละ สามารถยืนยันได้เลยว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีจริง ทำได้จริง เห็นได้จริง  ไม่ได้ด้วยความเชื่อความศรัทธา แต่เห็นจริง รู้จริง ได้จริง นั่น ขอให้มันตั้งให้ได้เถอะ

อย่าเหลาะแหละ อ้อแอ้ๆๆ ไปวันๆ ...เวลาก็ผ่านไป ทุกขณะทุกนาที เป็นชั่วโมง เป็นหลายๆ ชั่วโมง  หลายๆ วัน ก็เป็นสัปดาห์  หลายสัปดาห์ก็เป็นเดือน หลายเดือนก็เป็นปี แล้วก็เป็นหลายๆ ปี ...สุดท้ายก็จะไม่ได้อะไรในการเกิด ได้แต่สุขๆ ทุกข์ๆ ...สุขๆ ทุกข์ๆ แค่นั้นเอง...ในการเกิดมา

กว่าจะแหวกท้องแม่ออกมาได้ ไม่ใช่ง่ายๆ  กว่าแม่จะเลี้ยงเรามาอีกนี่ เสียน้ำตา เสียเลือดเนื้อ เสียหยาดเหงื่อและแรงงานไปเท่าไหร่  ไม่มีแม่คอยเลี้ยงมานี่ ตายตั้งแต่ออกจากท้องแล้ว  ไม่ใช่ง่ายนะในการเกิด  ถ้าดันไปเกิดท้องแม่ที่แม่ไม่เลี้ยงทำยังไงล่ะ ตายหมด ไม่รอดหรอก

การเกิดก็เป็นของยากอยู่แล้ว การอยู่โดยการเป็นมนุษย์ก็ยากยิ่งกว่ายาก การใช้ชีวิตให้ได้ดีมีทรัพย์มีสินยิ่งยาก ไม่ใช่ของง่าย ... อย่ามาเล่นๆ เหละๆ หละๆ  ใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ทั้งภายนอกและภายใน 

เราไม่ได้หมายความว่า เอาแต่ประโยชน์สูงสุดเป็นหลักอย่างเดียว  ภายนอกก็ทำ งานก็ทำ  มีชีวิตก็มีไป อยากรักใคร...รัก อยากชอบใคร...ชอบ อยากมีครอบครัวก็มีไป ...จะได้เรียนรู้ว่าทุกข์เป็นยังไง อย่างเนี้ย 

หรือไม่มี เข้าใจแล้วก็ไม่ต้องมี อยู่คนเดียว ตายคนเดียว ... เกิดยังเกิดคนเดียวเลย ไม่มีใครเกิดเป็นเพื่อนนี่  เวลาตายยิ่งไม่มีใครตายเป็นเพื่อนนะ ...มาคนเดียว ตายคนเดียว เห็นมั้ย

นี่ ให้จิตมันเด็ดเดี่ยวกล้าหาญเช่นนี้ ... ภายนอกก็ทำประโยชน์ไป หาสาระไปพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง พอให้ไม่ขัดสนอัตคัด พอให้เพื่อยังสารขันธ์ สังสารขันธ์นี่ ไว้เพื่อประโยชน์ในการฝึกฝนอบรมตน ปฏิบัติให้เกิดปัญญา ...นี่ หน้าที่ของการงานภายนอก พอแล้ว แค่นั้นก็พอแล้ว

ไม่ต้องเอาเท่ากับเศรษฐีไหนหรอก มันเกินพอ ... เอาแค่พออยู่ได้ ไม่ขัดสน พอมีเป็นทุนรอนในการปฏิบัติ ในการที่ว่าไม่อาศัยโลก ไม่ข้องเกี่ยวกับสังคม แค่นี้พอแล้ว 

ไม่ต้องเอาแบบบรรเจิดวิจิตรมากมายก่ายกอง ...เสียเวลา  เอาเวลาที่ควรเสียไปให้มาใส่ใจ ตั้งใจ ตั้งขึ้นมาที่ใจ ตั้งลงมาที่ตัว ตั้งอยู่ที่ใจ  นี่ เอาเวลาส่วนใหญ่มาทุ่มเทกับงานที่มีสาระนี้

เพราะงานนี้ดูเหมือนยาก ...ตั้งอกตั้งใจไป ใส่อกใส่ใจแล้วดูเหมือนยาก ดูเหมือนไม่สนุก  แต่งานอันนี้ มีคำว่า...จบ  สามารถ...จบ เมื่อถึงกาละอันควร ด้วยศีลสมาธิและปัญญาอันควรพอดี...เต็ม

เหมือนหยดน้ำลงในแก้ว ถ้าเต็มเมื่อไหร่...เมื่อนั้นน่ะมีจุดที่ว่ามันจะล้น หมายความว่ามีจุดลิมิทของการเต็มได้หยุดได้  จึงว่างานนี้...มีวันจบ 

งานภายนอกไม่มีวันจบ ...เกิดอีกกี่ชาติก็ต้องทำงาน เกิดอีกกี่ชาติก็ต้องหางานทำ  ทำงานดีที่สุดขนาดไหน มันก็ไม่มีคำว่าสุด หรือว่าจบ หรือว่าหยุด  ที่มันหยุดเพราะมันไม่เอื้อด้วยขันธ์ด้วยสังขาร แต่ถ้ายังทำไหวก็ยังมีงานให้ทำได้ตลอด ไม่จบ นะ

จะทำในสิ่งที่ไม่จบ หรือควรทำในสิ่งที่มันมีวันจบล่ะ ... เพราะงานภายในนี่ เมื่อจบแล้ว...จบ  The end …finish  เก็บฉาก ปิดโรง เก็บเก้าอี้ ไล่คนดูออกนอกโรง เผาโรงทิ้ง ...นี่เรียกว่าจบจริงงานนี้

ไม่ใช่ไปเร่ฉายหนังอยู่ทั้งวี่ทั้งวัน หาเงินไปเปิดวิกนั้นใหม่ ไปเปิดวิกนี้ใหม่ ... รู้จักวิกหนังมั้ย เคยได้ยินรึเปล่า

โยม – เคยได้ยินค่ะ

พระอาจารย์ –  เออ หนังเร่ หนังขายยา  สมัยเราเด็กๆ อยู่ข้างนอกนี่ อู้ย เวลากลางวันอย่างนี้มันวิ่งรถโฆษณา มาแล้ว เด็กๆ วิ่งเห่ตามกัน สนุกสนานเฮฮา

ชีวิตเหมือนวิกหนัง พอจบเรื่องนี้แล้วก็ปิดวิกย้ายที่ เคลื่อนขบวนไปเปิดที่จังหวัดใหม่ ตำบลใหม่ ...สนุกดีนะ แต่ไม่จบ  ระหว่างทางก็ไม่รู้จะเจออะไร ล้มลุกคลุกคลานตกเหวตกห้วย เดี๋ยวล้อแตกยางระเบิด เดี๋ยวฝนตกฟ้าร้องฉายหนังไม่จบเรื่อง เดี๋ยวมีคนดู เดี๋ยวคนก็ไม่มีดู ไม่แน่

เอามันแบบจบ...คือจบ ไม่ต้องฉายหนังอีกแล้ว หมด...งานภายใน งานภายนอกก็จบตรงนั้นแหละ  งานภายนอกก็เหลือแค่ พอประคับประคองขันธ์ จนถึงวาระสุดท้ายของลมหายใจไป

ด้วยความเคารพน่ะ ... อุตส่าห์อยู่กับมัน อุตส่าห์อาศัยมัน อุตส่าห์ใช้มัน เป็นบันไดเหยียบไปถึงมรรคและผล จึงให้ความเคารพ  ...ก็คือเยียวยาไป ไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัวหรือว่าดับขันธ์ซะ  อาศัยขันธ์นั้น ก็ยังขันธ์นั้นให้ประโยชน์ต่อผู้คนสัตว์โลกที่โง่เขลา เท่าตามกำลังอันมีนั้นเกื้อกูลสัตว์โลกไป

เรียกว่าใช้ประโยชน์ของขันธ์ แม้จนถึงที่สุดของขันธ์ ของใจ หรือว่าจบแล้วก็ยังใช้ประโยชน์ของที่เหลืออยู่ของขันธ์ สาระที่ยังเหลืออยู่ของขันธ์ให้เป็นประโยชน์ทิ้งไว้ในโลกนี้


ให้ขยันกัน ...ที่พูดทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจหลัก แล้วสร้างให้เกิดศรัทธาขวนขวาย  เพราะหลักนี่...เข้าใจอย่างเดียวไม่พอ ฟังอย่างเดียวไม่พอ  กลับไปแล้วก็อยู่กับความเข้าใจ กินนอนกับความเข้าใจ...ไม่พอ  เดี๋ยวมันก็หาย เดี๋ยวมันก็ดับ ดับแล้วก็ไม่ค่อยมาฟังใหม่น่ะ มันจะไปฟังแต่เพลง

ถ้าจะไม่ให้มันดับด้วยความเข้าใจ...ต้องเข้าถึงใจ  อันนี้ตัวพ่อเลย เกินความเข้าใจ  คือกูเข้าไปถึงใจเลย ไม่ต้องอาศัยเข้าใจแล้ว ไม่ต้องอาศัยคิดแล้ว  แต่มันเข้าไปอยู่ที่ใจ...อยู่กับใจ นั่นแหละ สบาย 

ชัด...เห็นทุกสิ่งทุกอย่างชัดตามความเป็นจริง 'อ้อ แค่นั้น  อ๋อ อือม์ รับทราบๆ ว. 2 เปลี่ยนๆ' ... เปลี่ยนลูกเดียว ว. 2 ก็รับทราบ ไม่ยินดี-ไม่ยินร้าย มีอะไรก็ได้ ยังไงก็ได้  ว. 2 ๆ 'เรื่องของมึงไม่ใช่เรื่องของกู ไม่เกี่ยว'  จบ...จบไปเป็นล็อกๆๆ ไป  ผ่านๆ สบาย

อยู่กับโลก แต่ไม่ปนเปื้อนแปดเปื้อนกับโลก หรือไม่ถูกโลกนั้นแปดเปื้อนปนเปื้อน นั่นแหละ...อยู่เป็น สมควรแล้วที่เกิดมา  แม้กระทั่งตาย ยังสมควรตาย สมควรแล้วที่ตาย ... ส่วนพวกเราไม่สมควรตาย เพราะตายแล้วมันยังต้องมาเกิด มันจึงไม่สมควรที่จะตายตอนนี้

แต่เมื่อทำถึงที่แล้ว พระอริยะ พระอรหันต์ทั้งหลายท่านตายแบบสมควรตาย  เพราะว่าท่านใช้ชีวิตมา ได้ความเป็นแก่นสารสาระสูงสุดแล้ว  เมื่อตายท่านก็สมควรแก่เหตุและปัจจัยที่ท่านประกอบมา ... เพราะท่านไม่เกิดอีกแล้ว การตายนั้นจึงสมควร สมบูรณ์ พร้อมที่สุด ในการตายครั้งนั้นของขันธ์นั้น ของใจดวงนั้น

แต่พวกเรานี่ ตายแบบไม่สมควร ตายแบบมืดๆ บอดๆ ตายแบบ...จะไปเกิดในท้องใครกูยังไม่รู้เลย ท้องคนหรือท้องหมาก็ไม่รู้ เป็นเทวดาหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือลงนรกรึเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน  เห็นมั้ย มันจะสมควรตายมั้ยนี่

หรือไม่ได้ถึงไม่กลับมาเกิดอีกเหมือนพระอรหันต์ อย่างน้อย โสดาบัน เอ้า ไม่เป็นไร เหลืออีกนิดนึง สมควรตายเหมือนกัน เหลืออีกเจ็ดชาติเอง นี่สมควรหน่อย  หรือสกิทาคา...แค่สาม เอาวะ กัดฟันเกิดหน่อยวะ ...นี่ รู้เองนะเนี่ย  จนกระทั่ง อ้อ เออ สบาย ชาติเดียว...อนาคา เอาวะ  นี่เรียกว่า เออ ตายแบบมีเหตุมีผลหน่อยในการเกิดมา สมควรอยู่แก่การตายนั้นๆ

อย่าตายแบบผีไม่มีป่าช้า ตายทิ้งตายขว้าง ตายแบบเร่าร้อน ให้โลกมันร้อน  คือตายแล้วเผาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ให้โลกร้อนขึ้นมาอีกหนึ่งองศาประมาณนั้น ไม่สมควรตาย ทำให้โลกร้อนอีกต่างหาก (หัวเราะ)

แต่พระอริยะ พระอรหันต์ท่านตาย แม้โลกร้อนแต่ให้ความร่มเย็นเพิ่ม พยุง หล่อหลอม หล่อเลี้ยงให้เกิดธาตุเย็น แก่ขันธ์ แก่โลก  โลกนี่ขันธ์ใหญ่ ขันใบใหญ่ ...เพราะนั้นการตายของท่านนี่ แม้ขันธ์นั้นจะดับ จิตท่านจะดับ แต่ที่ทิ้งไว้นั่นคือความเย็น

แม้ความเย็นของพระพุทธเจ้านี่ อยู่หล่อเลี้ยงโลกได้ถึงห้าพันปีนะ โดยมีพระอริยสงฆ์สาวกช่วยประคับประคองให้เย็นต่อเนื่องไป ภายในห้าพันปี ...หมดห้าพันปีแล้ว ตัวใครตัวมันล่ะเว้ยเฮ้ย

แป๊บเดียวนะ ห้าพันปี ...อายุเท่าไหร่กันล่ะ  ลองมองถอยหลังดู ตั้งแต่เกิดมาแป๊บเดียวนะ ผ่านมา แป๊บเดียวเองจริงๆ นะ  นี่ ห้าสิบกว่านี่ หันไปดู แป๊บเดียวเอง ข้างหน้านี่ ไม่รู้จะถึงห้าสิบรึเปล่า ก็อีกแป๊บเดียวเองเหมือนกันนะ เหมือนแลบแปล๊บๆ เอง

ชีวิตนี่เหมือนหยาดน้ำค้างกลางแดดน่ะ ไม่ได้ยืนยาวคราวไกลเลยหนา ... เหมือนอย่างที่พวกเราประมาท ที่ว่านั่งอยู่เดินอยู่นี่ เหมือนกับลืมตายไปเลยน่ะ ลืมไปว่าต้องตายน่ะ ทั้งวันนี่ไม่เคยคิด ไม่เคยนึกเลยว่า เราจะต้องตาย ...เหมือนเราอยู่แบบลืมตายน่ะ

พอความตายมาปรากฏตัวต่อหน้า ...เอาล่ะว่ะ เฮ้ย ไม่พร้อมๆ ไม่พร้อมอย่างเดียว  ไม่พร้อมแล้วยังไม่ยอมด้วย ไม่ยอมแล้วแถมยังด่าความตายอีก ทะเลาะเบาะแว้งกับความตาย กับพระยามัจจุราช อย่านะ ต่อสู้กันนะ อย่าเอาฉันนะ ฉันต้องเอาชนะพระยามัจจุราชให้ได้นะ นี่ โง่ๆๆๆ ...อะไรจะไปชนะธรรมชาติ ไม่มีหรอก ผลที่ได้คือความเร่าร้อนและร้อนรุ่ม

มีชีวิตแล้ว ได้ฟังธรรมแล้ว ได้อยู่กับผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว ได้มีกัลยาณมิตร กัลยาณธรรมแล้ว ใช้ให้เป็นประโยชน์ ...ให้สงเคราะห์กลับมาถึงใจให้ได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง 

ไม่ว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจมีความคิดอารมณ์อะไร ...ทั้งหมดทั้งปวงให้สงเคราะห์ลงที่ใจ คือรู้ คือกลับมารู้กับสิ่งนั้นได้

เพราะนั้นอาศัยทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นกระจกสะท้อนกลับสู่ใจ เรียกว่าสงเคราะห์ลงที่ใจในที่เดียวเท่านั้น ...ง่ายมากๆ ไม่ทำอะไรเลย แค่กลับมาที่ใจในทุกอาการที่ปรากฏ แค่นั้นแหละ...ให้ต่อเนื่อง 

แล้วจะเข้าใจ แล้วจะเหนือมัน แล้วจะเหนือปัญหา แล้วจะเป็นอยู่ในลักษณะที่เหนืออดีตเหนืออนาคต เหนือกาลเวลา เป็นผู้ที่ไปในทุกที่โดยเหนือกาลเวลา

ไม่มีการรอ ...เคยรอรถเมล์มั้ย เคยรอเพื่อนมั้ย ...ทุกข์มั้ยตอนรอ นี่ไม่มาสักที ...มันมีเวลานะ ถูกเวลานั้นบีบบังเอาความทุกข์มาให้  ทั้งๆ ที่ว่าจับต้องได้มั้ยเวลานี่ มีมั้ย จับมาดูหน่อยซิ ทำไมถึงทุกข์กับการรอคอย

เห็นมั้ย ถ้าไม่แยบคายนี่ มันจะทุกข์แบบโง่ๆ โดยไม่เข้าใจเลยว่า กูกำลังทุกข์กับอะไรวะเนี่ย หือ  ทุกข์กับเข็มวินาทีหรือ เดี๋ยวก็ดูๆ  ดูไปหงุดหงิดไปๆ ...หงุดหงิดกับสิ่งที่ไม่มีอะไรหรือเปล่า แยบคายดู  ถ้าไม่มีปัญญาให้เห็น ก็จะถูกสิ่งพวกนี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์โดยใช่ที่เลย

ขอให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่มีปัญหา ...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นปัญหา


(ต่อแทร็ก 4/10)