วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 4/3






พระอาจารย์

4/3 (540510A)

10 พฤษภาคม 2554



พระอาจารย์ – จนกว่ามันจะเข้าใจว่า...ทั้งหมดที่จิตรับรู้น่ะ...มันเป็นธรรม 

ทั้งหมดเป็นธรรม  อะไรก็เป็นธรรม  ตาเห็นรูปก็เป็นธรรม  หูได้ยินเสียง เสียงที่ปรากฏก็เป็นธรรม  ใจที่คิด ความคิดก็เป็นธรรม  อารมณ์ก็เป็นธรรม  ทุกอย่างเป็นธรรม ... ธรรมแปลว่า ความทรงอยู่

ไอ้ที่ไม่เป็นธรรมก็คือ...เราไปเดือดร้อนกับธรรม  ดิ้นรน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย กระเสือกกระสน ต่อต้าน รักษา หวงแหน ... พวกนี้เกินธรรม...เป็นความรู้ที่เกินธรรมที่ปรากฏ

อยู่ด้วยปัญญา ... ถ้าอยู่ด้วยปัญญาแล้วไม่ต้องอดทน  ถ้าไม่มีปัญญาก็ต้องอยู่ด้วยความอดทนไปก่อน...ด้วยขันติ  จนกว่ามันเข้าใจ ฉลาดขึ้น...ว่าโลกกับธรรมมันเป็นอย่างนี้ ...เราตายไปแล้ว โลกก็ยังเป็นอย่างนี้  มันไม่เปลี่ยนไปไหนหรอก มันแก้อะไรไม่ได้ หนีไม่ได้ด้วย ...นี่โลกภายนอก โลกใบใหญ่

แล้วโลกภายใน คือขันธ์ นี่โลกใบเล็ก ...โลกใบเล็กก็อยู่ในโลกใบใหญ่  ก็เป็นธรรมอันหนึ่งเหมือนกัน ถ้าพูดเป็นภาษาก็เรียกว่าธรรมภายในกับธรรมภายนอก

ที่มันเดือดร้อน กระวนกระวาย กระสับกระส่ายทุกวันนี่ เพราะใจมันไม่มีปัญญา  มันอยู่กับธรรมมันอยู่กับโลกนี่...แต่ไม่เห็นว่าเป็นธรรม ไม่ยอมรับความเป็นธรรม ด้วยใจที่เป็นธรรม หรือว่ายุติธรรม หรือว่าเป็นกลาง 

เพราะนั้นน่ะ ต้องยุติกับธรรมนั้นๆ จึงจะเป็นกลาง ... ยุติคือหยุด ไม่ไปไม่มา ไม่ซ้ายไม่ขวา ไม่หน้าไม่หลัง  ไม่เลือก 

อยู่กับมัน ... ต่อให้มันจะเป็นยังไงก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ... ไม่ใช่ให้ความอยากหรือความไม่อยากเป็นตัวกำหนดวิถี  ไม่งั้นน่ะ...ไม่จบ

เหมือนคนพเนจรไปในโลกน่ะ สองเท้าก้าวไป มันก็เดินไปได้ในโลกนี้ ...ไปไหนล่ะ  มันก็ไปวนไปวนมาในโลกนี้ มีทางเดินมันก็ไปได้นะในโลกนี้ ... มันก็ดูเหมือนแตกต่าง แต่ไปไหนมันก็กลับมาที่เก่าอ่ะ โลกนี่ ... มันวนอยู่ตรงนี้ มันไม่ไปไหน  ไม่มีอะไรใหม่หรอก สุดท้ายก็กลับมาเหมือนเดิมนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไม่ใช่ทาง...ไม่ใช่ทางไปของพระอริยะ  มันเป็นทางไปของสามภพ มันก็วนอยู่นั่นแหละ ถ้ายังไม่ยอมหยุด แล้วก็อยู่ในองค์มรรค...คืออยู่ด้วยความเป็นกลางกับทุกสรรพสิ่งที่ปรากฏ  ไม่แก้ไม่หนี ไม่เข้าไปมีปัญหา ไม่เข้าไปมีเงื่อนไขกับอะไร ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าบุคคล หรือว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล

ได้น้อยก็เอาน้อย ... ปัญญาน้อยก็ทำความเข้าใจกับมัน แล้วก็สะสมปัญญาไปเรื่อยๆ  จนเห็นว่า เหมือนกันหมดแหละ เป็นธรรมอันเดียวกัน ...เปลี่ยนที่หน้าตาตัวตน สถานที่ ... ดูเหมือนเปลี่ยน ดูเหมือนไม่ใช่ ดูเหมือนแตกต่าง  แต่ด้วยปัญญาที่มันร้อยเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็จะเห็นเป็นธรรมอันเดียวกันหมดแหละ

คือเป็นโลก ...เป็นอยู่อย่างนี้ มันเป็นอยู่อย่างนี้  มันเป็นมาตั้งแต่ตั้งโลกตั้งฟ้าตั้งแผ่นดินมานี่ ความเป็นสัตว์ความเป็นบุคคลปรากฏขึ้น กิเลสก็อาศัยครอบครองอยู่ในสัตว์บุคคลนั้นๆ ...ก็แสดงอาการไปต่างๆ นานา ด้วยความไม่รู้  มันก็มีการเบียดเบียนกัน กระทบกระทั่งกัน ด้วยคำพูดวาจา กริยาอาการภายนอก

เป็นเรื่องปกติของโลก ... เพราะในโลกนี่มันไม่ใช่คนส่วนใหญ่เป็นพระอรหันต์  ไม่ใช่ยุคพระศรีอาริย์ ในยุคนี้ไม่ใช่ยุคของพระศรีอาริย์ ...เป็นยุคของพระสัมมาสัมพุทธโคดม  เป็นยุคที่กลียุค วุ่นวี่วุ่นวาย เร่าร้อน ...ยุคต่างกัน

เพราะนั้นนี่เรามาเกิดในช่วงนี้ ยุคนี้ สมัยนี้ ในห้าพันปีนี้...จะต้องเจอโลกที่เป็นอย่างนี้ กลียุค  ความคิดแตกต่าง การกระทำหลากหลาย ตามความเชื่อความเห็น  เราไม่ได้เกิดในยุคของพระศรีอาริย์  ในยุคพระศรีอาริย์โลกก็เป็นอีกแบบนึง ไม่ใช่โลกเป็นแบบนี้ ...มันก็ต่างกัน  

เพราะนั้นหนีไปไหน หนีไม่ได้หรอกในยุคนี้ ... เมื่อหนีไม่ได้จะหนีทำไม หนีไปไหน  ทำอะไร ไม่ทำอะไร ไม่หนี ไม่แก้  อยู่กับมันด้วยปัญญา

เพราะพระพุทธเจ้าในยุคนี้สมัยนี้ ท่านเป็นปัญญาธิกะ ... ปัญญาธิกะ คือบำเพ็ญด้านปัญญาโดยตรง  เพราะนั้นหลักธรรมที่สามารถจะอยู่ได้ในโลกยุคนี้สมัยนี้ คือต้องอยู่ด้วยปัญญา ด้วยความรอบรู้เข้าใจมัน...แล้วถอยห่างออกมา

ไม่ใช่เราไปผลักให้เขาห่างจากเรา เราน่ะต้องถอยห่างออกมา ... แต่ไม่ได้ห่างด้วยกายวาจา แต่ห่างด้วยใจ เอาใจออกห่าง

ห่างยังไง ...พระพุทธเจ้าให้อุบายวิธีไว้แล้ว  หลักการมี คือสติระลึกรู้ในทุกสิ่งที่ปรากฏ อะไรเกิดขึ้นรู้  ถ้าไม่รู้ล่ะมันเข้าไปแนบกัน เข้าไปเกลือกกลั้วกัน  เข้าไปมีในมัน มันมามีอยู่ในเรา 

เพราะนั้นถ้ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วรู้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้  นี่ ให้อยู่ตรงนั้น...ให้อยู่ที่รู้  ให้อยู่ด้วยรู้ ไม่ได้อยู่ด้วยความไม่รู้  ถ้าอยู่ด้วยความไม่รู้ มันก็โลกเต็มๆ น่ะ กลายเป็นโลกของเราไปแล้ว เรากับโลกเป็นอันเดียวกัน ...ก็ทุกข์สิ

เพราะนั้นจะอยู่กับโลกยังไง ...ก็อยู่ด้วยความรู้ อยู่กับรู้  รู้อยู่กับโลก  จนกว่าจะเห็นโลกนั้นเป็นธรรม ... ธรรมอะไร ธรรมคืออะไร  ธรรมไม่มีคำพูด ธรรมคือความเป็นจริง  ความเป็นจริงคืออะไร  ความเป็นจริงในโลกก็คือไตรลักษณ์นั่นแหละ

จึงอยู่กับไตรลักษณ์...ด้วยความที่ว่าเป็นธรรมเดียวกัน ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล  มีแต่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา  คาดไม่ได้ เดาไม่ได้ หวังมันไม่ได้ พึ่งมันไม่ได้ อาศัยมันไม่ได้ เอามาเป็นที่ยึดที่ถือไม่ได้ ...ก็ต่างคนต่างอยู่ไป มันแยกออกจากกัน

เข้าไปอีก รู้อีก ...โง่อีกแล้ว เริ่มโง่อีกแล้ว  รู้ไว้เลย จิตมันโง่ มันชอบหาเรื่อง มันชอบมีเรื่อง  มันชอบไปมีเรื่องกับโลก มันชอบจะไปเจ้ากี้เจ้าการกับโลก มันชอบจะเข้าไปจัดการโลก  เหมือนกับเป็นธุระของมัน เหมือนกับเป็นหน้าที่ของมัน นี่ มันคือความไม่รู้

คือเหมือนจะเข้าไปแก้มัน เหมือนจะทำให้มันสมบูรณ์ จะทำให้มันดีขึ้น ไปทำให้มันเป็นระเบียบขึ้น ...ไปอยู่ในสังคมไหนก็จะต้องให้สังคมนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไปอยู่กับกลุ่มคนไหนก็จะต้องให้กลุ่มคนนั้นต้องเป็นคนอย่างนั้น ต้องเป็นนิสัยอย่างนี้  

นี่ ใจมันมีความต้องการ ความอยากจะเข้าไปแก้ไข ชอบเข้าไปแก้ไข ... เมื่อแก้ไม่ได้ก็เดือดร้อนตัวเองสิ  เพราะมันแก้ไม่ได้ สุดท้ายก็คือเดือดร้อน  

แต่ถ้าอยู่ด้วยปัญญา ก็ว่ากันไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ  จนมองเห็นว่าไม่มีการกระทำของใคร ไม่มีชื่อ ไม่มีเสียง ...เป็นแค่รูปนามหนึ่งประกอบกัน เป็นเรื่องการกระทำของรูปหนึ่งนามหนึ่ง เท่านั้นแหละ  ไม่เป็นใครอะไรทั้งสิ้น ไม่เป็นไปตามบัญญัติสมมุตินั้นๆ  เป็นแค่รูปธรรมกับนามธรรม  

แล้วรูปธรรมกับนามธรรมนั้นมีเหตุปัจจัยของกิเลสเป็นตัวขับเคลื่อน ...เมื่อมีเหตุของกิเลสเป็นตัวขับเคลื่อน การกระทำออกมาก็เป็นอย่างเนี้ย  มากบ้างน้อยบ้าง ดีบ้างเลวบ้าง ตามความหมายต่างกันไป  

อยู่ที่ไหนไม่ได้ อยู่ที่ไหนไม่ดี  ให้อยู่ในที่อันเดียว คือที่ใจ ... หาใจให้เจอ กำหนดใจให้เจอ ด้วยสติ แล้วก็แยบคายลงไป  เพราะว่าใจมันมีอยู่ตลอด เมื่อมีสติ

ไม่ใช่ว่ากำหนดสติไปก็ไม่รู้ว่ากำหนดไปทำอะไร กำหนดไปเพื่ออะไร รู้ตัวไปทำไม ...ก็ได้แต่ความรู้ตัวโดยไม่เข้าใจ ไม่แยบคาย ไม่โยนิโสมนสิการ ...มันก็ไม่เข้าใจ มันก็ไม่เกิดปัญญา

เพราะนั้น สติ การรู้ตัว การกลับมารู้กับปัจจุบันนี่  เพื่อให้แยกให้เห็น โยนิโสให้เห็น...ว่ามันมีสองอาการในขณะนั้น ... รู้เป็นอาการหนึ่ง สิ่งที่ถูกรู้หรือขันธ์คืออาการหนึ่ง 

ชีวิตอยู่ที่ไหน แยบคายลงไป ... มันก็จะเห็นตามความเป็นจริงมากขึ้น ว่าขันธ์มันเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต  ขันธ์มันเป็นแค่สิ่งหนึ่ง ... ชีวิตอยู่ที่รู้  เหตุทั้งหลายทั้งปวงน่ะเกิดที่นั่น  ถ้าจะเข้าไปละเหตุ ดับเหตุทั้งหลายทั้งปวง ต้องเข้ามาดับที่ใจ  

อย่าไปดับที่ตา อย่าไปดับที่รูป อย่าไปดับที่หู อย่าไปดับที่เสียง อย่าไปดับที่กลิ่น ที่รส ที่อากาศ เย็นร้อนอ่อนแข็ง หรือความคิด อารมณ์ ความสุข ความทุกข์ ...ดับไม่ได้  เพราะมันเป็นธรรม เป็นธรรมชาติที่ไม่ได้เป็นของใคร ไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร

ต้องกลับมาดับที่เหตุ ... เหตุคืออะไร เหตุคือใจ  แต่ใจดวงนี้มันยังมีเหตุภายในที่ประกอบด้วยความไม่รู้  ให้ดับความไม่รู้นั้นซะ ... ไม่รู้ยังไง  ไม่รู้ว่ามันไม่เที่ยง ไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์ ไม่รู้ว่ามันแปรปรวน ไม่รู้ว่ามันหาความเป็นตนเป็นตัวไม่ได้ในสรรพสิ่ง  เนี่ย ต้องดับที่เหตุนั้น

เพราะเมื่อไม่รู้เมื่อไหร่ว่ามันไม่เที่ยง เมื่อไม่รู้ว่ามันไม่มีตัวไม่มีตนที่แท้จริง  เมื่อไม่รู้อย่างนั้น มันจะเป็นยังไง ...มันก็มีแต่ความอยากกับความไม่อยากออกมา เป็นมือเป็นเท้าของมัน  เป็นเครื่องมือของกิเลส เป็นเครื่องมือในการที่จะไปแสวง ไปหา ไปจัดการ ไปแก้ไข

ก็ต้องแก้ตรงจุดนั้น ด้วยการเท่าทัน ...แล้วละความอยาก ความไม่อยาก ความยินดี ความยินร้าย ความรับไม่ได้ ความตั้งใจจะให้มันเป็นอย่างนั้น จะให้มันเป็นอย่างนี้ 

สอบทานลงมาให้เห็นถึงจุดนั้นให้ได้...ที่ใจ...ที่มันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอยู่ภายในนั่นแหละ  มันเริ่มจากจุดนั้นก่อน ...ก่อนที่จะเกิดความคิด ก่อนที่จะเกิดอารมณ์ ก่อนที่จะเกิดความหมายมั่นในอดีตอนาคตน่ะ มันจะมีจุดเริ่มต้นของมัน

พยายามสอบทานลงมาบ่อยๆ ภายใน ...มันไม่อยู่ที่ไหนหรอก มันอยู่ภายในนี้แหละ ทุกคนน่ะ อยู่ภายในตัวนี้แหละ ...จนกว่าจะเท่าทัน จนกว่าจะชัดเจน จนกว่าจะแจ้ง จนกว่าจะไม่เผลอ ไม่หลง จนกว่าจะไม่มีอาการเข้าออก  เมื่อนั้นแหละ จะอยู่กับโลกโดยที่ไม่มีปัญหา

โลกก็ไม่มีปัญหา ...แล้วก็ไม่มีเราไปมีปัญหา มีแต่รู้อย่างเดียวกับสิ่งที่ถูกรู้ ... แต่ถ้าตราบใดที่ยังตามกิเลสออกไป โดยมีข้ออ้าง โดยมีความเชื่อ โดยมีความเห็นเป็นตัวรับรอง เป็นตัวชี้นำ ให้รู้ไว้เลยว่า...ทุกข์อุปาทานจะตามมา

แรกๆ อาจจะหลอกว่าดี แรกๆ อาจจะบอกว่าใช่  ไปๆ มาๆ สุดท้ายก็เหมือนเดิม เท่าเก่า  ไปที่ไหน แรกๆ ดูดี  สุดท้ายเหมือนเดิม ... ทุกข์เหมือนเดิม 

ไม่จำ...มันไม่จำ อาการนี้น่ะไม่จำ  มันจะไปจำแต่อาการที่เป็นทุกข์ คนนั้นคนนี้มันน่าจะทำอย่างนั้น มันไม่น่าจะทำอย่างนี้  เนี่ย จำได้จำดีจัง หาเรื่องจำ  แต่ไอ้ผลของการกระทำที่เกิดทุกข์นี่ ไม่รู้จักจำ

มันไม่เข็ด...มันไม่จำ มันไม่เข็ด มันก็เลยไม่เกิดความเบื่อหน่ายคลายออก หรือนิพพิทาจากการหมุนวนไปกับกระแสของโลก หรือหมุนวนไปตามกระแสของโลก ...มันเลยไม่รู้จักหยุดจักอยู่ซะที

ก็ต้องอาศัยพยายามน้อมนำจิตกลับมาภายในบ่อยๆ ให้มันตั้งมั่นอยู่ภายในรู้ ... จึงเอาความรู้ตัวนี่เป็นอุบาย  จนกว่าใจมันจะตั้งมั่นไม่วอกแวก ไม่เล็ดลอดออกไป  จนมันอยู่ในที่อันเดียว ...ที่ไหนไม่รู้อ่ะ แต่มันมีที่เดียวตรงปัจจุบันนั่นน่ะ ภายในนั่นน่ะ  ถ้าอยู่ได้อย่างนั้นน่ะ สังเกตดูสิ มันไม่มีหรอกทุกข์

จะไปหาอะไร พอเริ่มจะหาอะไร ทันอีก...ไม่หา  พอจะเอาอะไร...ทันอีก...ไม่เอา  แล้วดูซิ ตรงนั้นน่ะ มันดีกว่าในการหา ในการเอามั้ย ... ให้จำ...ให้จำ  สติมันจะต้องจดจำสภาวะ เกิดปัญญาขึ้นมาด้วยการจดจำสภาวะได้  รู้เพื่อให้จดจำสภาวะ...มันจะได้ไม่โง่อีก  สติที่แท้จริงน่ะ

ไม่งั้นก็จะทำผิดซ้ำซาก ผิดไปตามกระแส...ที่มันเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปเรื่อย...ความอยาก  มีข้ออ้างให้มันเรื่อย เป็นธรรมมั่ง ไม่เป็นธรรมมั่ง ดีกว่ามั่ง ละเอียดกว่ามั่ง ประณีตกว่ามั่ง เร็วกว่ามั่ง ตรงกว่ามั่ง ใช่กว่ามั่ง  นี่พวกนี้ มันจะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตามา ดึงให้เราไหลออกไปตามกระแสความปรุงแต่งตามความอยาก-ไม่อยาก

มันก็ปรุงแต่งให้สวยหรูขึ้นมาภายใน เอาเรื่องธรรมมาเป็นบรรทัดฐานอ้างไปอ้างมาอยู่นั่น ...ไม่เอา ไม่เอา  ธรรมะธรรมแมะก็ไม่เอา ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา กุศลก็ไม่เอา อกุศลก็ไม่เอา  มีอย่างเดียวคือเอารู้ในปัจจุบัน รู้เปล่าๆ ในปัจจุบันนั่นแหละ  รู้ตัว รู้ตัวเฉยๆ นั่นแหละ

อย่าไปเบื่อ อย่าไปหน่าย อย่าไปเซ็ง อย่าไปขี้เกียจ อย่าไปหาอะไร อย่าไปอยากได้อะไร อย่าไปอยากเห็นสภาวะอะไร ... ไม่มีสภาวะอะไรหรอก  ตาเห็นรูปก็มีแต่สภาวะในปัจจุบัน  มันทำไมอยู่ตรงนี้ไม่ได้  เสียงนี่สภาวะปัจจุบัน ทำไมต้องเดือดร้อน  มีให้ดูไม่ดูอ่ะ จะไปวิ่งดูอะไร หาอะไร

จะดูแต่ความเงียบ ความไม่มีอะไรหรือไง  ถ้าอยากดูความเงียบความไม่มีอะไร ไม่ยาก ...ไปขุดรูอยู่ไป๊  ไปขุดรูไว้ลึกๆ หาฝาปิด เจ็ดวันออกมา ...ไม่มีเสียง ไม่มีรูป ไม่มีกลิ่น ไม่มีสัมผัส ไม่มีธรรมารมณ์  ให้มันตายอยู่ในรูนั้นน่ะ

มันทำไม่ได้ ... พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้แก้อย่างนั้น ไม่ให้หนี ไม่ใช่จะไปผูกจับจองเป็นเจ้าของ ว่าใจของกูจะต้องไม่มีอะไร ... ก็บอกว่าใจไม่ใช่ของกู ใจไม่ใช่ของเรา จะไปบอกมันได้มั้ย ว่าต้องเลือกให้ได้อย่างนั้น ให้ได้อย่างนี้ ...ใครที่มันบอกให้เลือก นั่นแหละ ปัญหามันอยู่ตรงนั้น

ใจไม่มีปัญหา ...มีเสียงมันก็ได้ยิน มันห้ามไม่ได้  มีรูปของสัตว์บุคคลปรากฏก็ต้องเห็น มันห้ามไม่ได้ ... หนีมากก็ไปขุดรูอยู่ไป๊  อยู่ไม่ได้ พอไปอยู่ในรูก็หงุดหงิดตัวเองอีก  เอ้า ไม่เห็นมีอะไรให้ดูเลย  อยากดูอีกแล้ว อยากได้สภาวธรรมใหม่อีกแล้ว  มันไม่รู้จักพอ

หยุด  จนยุติธรรมน่ะ จนธรรมนั้นยุติ  ธรรมภายในก็ยุติ ภายนอกก็ยุติ  ยุติที่จะเป็นอดีตอนาคต  แล้วถึงจะรู้ว่าแต่ก่อนกูนี่บ้าจริงๆ ...โง่ จะได้รู้ว่าตัวเองโง่ ไม่ใช่ไปมองแต่คนอื่นโง่  แต่เห็นว่าตัวเราน่ะโง่ จิตน่ะโง่ งมงาย โง่งม มัวเมาไปตามสัญญาอารมณ์ ไปตามความยินดียินร้าย ไปตามความเห็น ไปตามความคิด ตามความเชื่อ  มันปั่นหัวเราอยู่ตลอด

กิเลสน่ะมันเป็นตัวผลักไสขับเคลื่อน ...ตอนนี้ กายวาจาใจทั้งหมด มันขับเคลื่อนออกมาด้วยอำนาจกิเลส ความไม่รู้ทั้งสิ้น ...ไปตามมันได้ยังไง  คิดก็ไม่เอา ให้มันตายไปเลย ให้ความคิดตายไป ความเห็นมันตายไป  อย่าไปเสียดายมัน อย่าไปกลัวมันตาย อย่าไปเลี้ยงมัน

อยู่กับใจเปล่าๆ กับกายเปล่าๆ เสียงเปล่าๆ รูปเปล่าๆ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ... คิดนั่น คิดนี่ คิดโน่น คิดเล็ก คิดน้อย คิดมาก คิดหยาบ คิดละเอียด  มีแต่คิดๆๆๆ คิดไปทั่ว อะไรก็ไม่รู้ความคิด  ไปเชื่อมันเป็นตุเป็นตะ

กลับมาหยุดให้ได้ ด้วยการรู้ตัว  แล้วให้สังเกต รู้อันหนึ่ง ตัวอันหนึ่ง อยู่แค่นั้นแหละ  แล้วก็ให้แยบคายกระจายออกมาในรู้อันหนึ่งกับเสียงอันหนึ่ง แล้วก็รู้อันหนึ่งกับรูปอันหนึ่ง รู้อันหนึ่ง-ยินดีอันหนึ่ง รู้อันหนึ่ง-ยินร้ายอันหนึ่ง มันจะแยกออกมาเป็นสองส่วน เสมอกันหมด แล้วมันจะค่อยๆ ธรรมนี้จะกระจายออก

ร้อยรวมกัน  แม่น้ำร้อยสายล้านสายในโลกก็รวมลงในมหาสมุทรเดียวกัน เป็นธรรมเดียวกัน เนื้อความเดียวกัน กฎเดียวกัน  ก็จะเห็นธรรมชาตินี่อยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎเดียวกันเลย คือกฎของไตรลักษณ์  ไม่มีเล็ดรอดไปจากนี้เลย

มีอะไรที่ไม่ดับ มีอะไรที่ไม่แปรปรวน มีอะไรที่มันมีความเป็นตัวเป็นตน ... ทุกอย่างที่เห็นมันมี มันตั้งอยู่นี่ ...อะไรมันตั้งอยู่ อะไรตั้งอยู่ในมัน มันตั้งอยู่บนอะไร มีอะไร มันมีความเป็นตัวเป็นตนของมันมั้ย  เนี่ย เสียง รูป กลิ่น รส ความคิด อารมณ์เหมือนกัน มันตั้งอยู่บนอะไร  ตัวมันคืออะไร ตัวมันยังไม่รู้ว่าตัวมันคืออะไรเลย ... นั่นน่ะ อนัตตา


หลับแล้ว...(ทักโยมคนฟัง) ...ง่วง รู้ว่าง่วง รู้เข้าไว้ อย่าไปคล้อยตามมัน อ่อนไปตามมันน่ะ มันซึม หาย กลืนกันน่ะ  เห็นมั้ย เวลามันกลืนนี่มันหายไปแล้ว ใจน่ะมันหาย เพราะมันถูกกลืนกิน   

สติอ่อน ปัญญาอ่อน สมาธิอ่อน มันจะกลืน ขันธ์นี่ มันจะเข้าไปกลืนกับขันธ์ ...เข้าไปกลืนกับขันธ์น่ะคือไม่รู้ไม่ชี้อะไรแล้ว เข้าเฝ้าพระอินทร์แล้ว  รู้จักพระอินทร์มั้ย นั่นฝัน อยู่ในฝัน

เวลาแต่ก่อนเราอยู่กับหลวงปู่ เวลาท่านพูด พระก็นั่งงับเงากันอยู่ งับๆๆ  หลวงปู่บอกให้ลืมตาๆ  มันก็ยังหลับหูหลับตางับอยู่นั่นแหละ  มันกลัวอะไรกันนักกันหนาลืมตาขึ้นมานี่ นั่งสมาธิฟังเทศน์ลืมตาไม่ได้ มันเป็นโรคอะไร หรือว่าโรคที่ว่าสมาธิจะต้องหลับตา  ขนาดหลวงปู่บอกให้ลืมตา มันยังไม่ยอมลืมตาเลยพระน่ะ

มันกลัวอะไร มันขัดขวางการปฏิบัติธรรมรึไงในการลืมตาหลับตานี่ มันยึดอะไรกันนักกันหนา  ท่านแก้ให้เห็น...ให้เห็นถึงเหตุของการตื่นขึ้น จากความหลับใหล อย่าให้นิวรณ์ครอบงำ  นิวรณ์น่ะคือความมัวเมา ความเศร้าหมอง มันทำให้จิตไม่ตื่น

ไม่ตื่นคืออะไร หลับตา...เคยหลับตาเดินมั้ย ลองหลับตาเดินดูสิเป็นยังไง  มันจะเดินชน ตกทาง หรือรถชนใช่มั้ย  นั่นน่ะ เหมือนกับจิตมันหลับ แล้วเราอยู่ด้วยความที่ว่าจิตหลับ จิตไม่ตื่น  เนี่ยๆ เราลืมตาอย่างนี้ แต่จิตหลับน่ะ มันไม่ตื่น  มันไม่รู้ มันจะเดินไปได้มั้ยล่ะ

มันจะไปตามทางถูกมั้ยเนี่ย  ใครเขาลากไปไหนก็ไปหมดแหละ ใช่มั้ย  เหมือนคนตาบอดที่หมาจูงไป หมามันพาไปบนกองกระดูกก็ไปกับมัน ไม่รู้เป็นอะไร  เนี่ย เหมือนกับหลับตาเดิน มันไม่ตื่นน่ะ

แต่พอรู้ขึ้น นี่ ลืมตาเดิน เดินถูกนะ  ก็เห็นอยู่นะ นี่ต้นไม้ นี่ถนน นี่รถจะชน  ก็ไม่ได้แก้ไขเขานะ ก็ไม่ได้ไปห้าม ...ก็ลืมตาอยู่จะโง่ไปชนเขาทำไม  แน่ะ ก็อยู่ได้กับโลก เดินไปในโลกได้โดยที่ไม่เดือนร้อน ไม่เป็นทุกข์ ไม่เบียดเบียน ไม่ถูกเบียดเบียน  

นี่แหละอานิสงส์ของการที่จิตตื่น ตื่นรู้ขึ้นมา เหมือนลืมตาเดิน ... มรรคมันก็มีทั้งโลกนั่นแหละ เดินไปไหนก็ได้ ...ก็มันลืมตาเดิน  นี่อานิสงส์ของสติ คือจิตให้ตื่นขึ้น...รู้  

อะไรอย่าทิ้งรู้ อย่าให้มันไม่รู้ ทำด้วยความไม่รู้ ฟังด้วยความไม่รู้  มันจะถูกโมหะนี่ครอบคลุมครอบงำอยู่ เป็นนิจสินเลย  คือเป็นนิสัยประจำของมนุษย์ ...อนุสัยน่ะ  

พอเริ่มสบายๆ หน่อยก็เอาล่ะ เพลิน เริ่มปล่อยเนื้อปล่อยตัว เริ่มหลับตาเดินอีกแล้ว  หลับตาเดินแล้วไปไหนล่ะ ฝันเอา ไปในความฝัน แต่คิดว่าจริง ...ฝันถูกบ้างฝันผิดบ้างก็ว่ากันไป

เหมือนซื้อลอตเตอรี่ ...เวลาเรามีความคิดหรือมีอารมณ์ แล้วเราทำไปตามความคิดหรือทำไปตามอารมณ์นี่  สมมุติว่ามันได้ผลนี่ ดีใจ ภูมิใจ เชื่อเลยว่าความคิดเราดี ความเห็นเราดี ... เราบอกให้เลยว่าเหมือนซื้อลอตเตอรี่ ซื้อสักสิบครั้งร้อยครั้งนี่ บางครั้งก็ถูกครั้งเดียว บางครั้งก็ไม่ถูกเลย  หาความแน่นอนไม่ได้ ใช่มั้ย

แต่พอถูกเข้าปุ๊บนี่  อู้หู มันยิ่งทุ่มทุนซื้อหมดตัวเลยเพราะกูเคยถูก ... มนุษย์มันเชื่อความคิดเหมือนซื้อลอตเตอรี่  มันเชื่อความเห็นของตัวเอง เพราะเข้าใจว่า เออ มันเคยทำแล้วมันได้น่ะ มันได้ผลดีอ่ะ ...แต่มันไม่เคยจดจำเวลาที่มันไม่ได้ผล  

เหมือนคนติดหวย มันเล่นอยู่นั่นน่ะ ทั้งที่ถูกได้มาร้อยบาทดีใจ แต่ที่เสียไปเป็นพันเป็นล้านไม่เคยจำได้เลย  ก็ยังงมงาย มัวเมา ...เห็นความงมงายมั้ย มัวเมากับความคิด มันจริงจังอยู่นั่นแหละ  

จนกว่าจะฉลาดขึ้นน่ะ  ฉลาดเมื่อไหร่ ฉลาดก็เข้าใจว่า เออ มันเป็นการเสี่ยงโชคน่ะ  มันไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลอะไรเลย ไม่ได้เป็นเรื่องของความจริงหรือว่าอะไรมารองรับเลย ถูกบ้างผิดบ้าง  ก็เลยเลิกซื้อซะเลย สบายดี

นั่นน่ะ เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจแล้ว เราจะเลิกเชื่อความคิด เลิกเชื่อตามความเห็น เลิกทำตามความคิด เลิกทำตามความเห็น  โดยเห็นว่าความคิดความเห็นก็เป็นแค่อะไรที่มันมาสะกิดขึ้นมา ผุดโผล่ขึ้นมา ...หาสาระอะไรไม่ได้หรอก จริงจังไม่ได้

ก็สบาย สามารถอยู่กับความคิดได้โดยที่ว่าเราเป็นผู้กำหนดความคิด ไม่ใช่ว่าความคิดเป็นผู้กำหนดเรา  ...ก็เห็นมัน เออ เดี๋ยวก็คิด...ก็ช่างมัน ไม่เชื่อมันแล้วเดี๋ยวมันก็ดับ  ไม่เห็นต้องไปเดือดร้อนกับมัน ไม่เห็นต้องไปยินดีกับมัน ไม่เห็นต้องไปยินร้ายกับมัน ไม่เห็นต้องตามมัน 

ไม่ตามก็ไม่เห็นมันว่ายังไงนี่ ไม่เห็นความคิดมันเอามือเอาตีนมาถีบมาถองเรา...ลองไม่เชื่อมันดูสิ ลองไม่ตามมันดูสิ

(ต่อแทร็ก 4/4)

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 4/2



พระอาจารย์

4/2 (540509B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

9 พฤษภาคม 2554


โยม – วันก่อน มันมีความรู้สึกมันไปต้านกับเขา โดยที่มันไม่เป็นกลางเจ้าค่ะท่านอาจารย์  พอเขาพูดอะไรมานี่ ก็อย่างเช่นเขาถามโยมที่ไปปฏิบัติว่า โยมมาทำไมกัน โยมก็บอกว่ามาเพราะอยากได้บุญ  จิตนี่มันก็เถียงขึ้นมาทันทีเลยเจ้าค่ะ อาการมันโชว์ขึ้นมาว่า อือ อยากได้บุญเหรอ ครูบาอาจารย์สอนไม่ให้เอาอะไรไม่ใช่เหรอ  เอ้ามันเถียงนี่ ก็ดูมัน  

บางทีมันดูไม่ค่อยทันเจ้าค่ะ มันยึดกับความไม่อยาก คือไม่อยากทำในรูปแบบของเขา  พอเขาให้เดิน เอ้า ย่าง  พอจะย่าง พอจะต้องมาอยู่ในรูปแบบ ก็รู้สึกว่า ไม่เอาอ่ะ  แล้วมันก็เดินออกมาแบบไม่ไปกับเขาเลยนะเจ้าคะ  มันก็เดินออกมาเลย มารู้ของเราแบบที่เราทำดีกว่า  มันว่าอย่างนี้ มันไหลไปอย่างนี้เจ้าค่ะท่านอาจารย์   

พระอาจารย์ –   ลักษณะอย่างนี้มันไม่ใช่ด้วยความอยาก-ไม่อยาก  มันเป็นเรื่องของจิตที่มันเข้าไปมีปัญญาเห็นความเป็นจริงในระดับนึงแล้วเนี่ย  มันจะไม่กลับไปทำในลักษณะของเจตนา หรือว่าหวังผลใดๆ  มันก็จะกลับคืนสู่ภาวะเป็นปกติ  

เพราะนั้นภาวะใดที่มันเข้าไปกดข่มหรือบังคับ มันจะไม่ยอมรับ  จิตมันไม่ยอมรับหรอก ปัญญามันไม่ยอมรับหรอก  มันจะทิ้ง...ทิ้งการกระทำที่มีความจงใจมากเกินไป  เหมือนกับเป็นการบังคับกดข่มสภาวะ หรือว่าบีบคั้นสภาวะนั้น  เพื่อให้เกิดสภาวะที่เราต้องการ

เพราะฉะนั้น 'รูปแบบ' นี่   ถ้าไม่เข้าใจ  ตัวรูปแบบมันก็จะเป็นตัวปิดบังปรมัตถ์ บัญญัติก็เป็นตัวปิดบังปรมัตถ์  

เพราะนั้นว่าถ้าเข้าใจแล้ว หรือว่าจิตที่มันมีสติปัญญาในระดับนึงแล้ว  มันจะกลับคืนสู่ความเป็นธรรมดา เป็นปกติ  อยู่กับความเป็นปกติ อยู่กับธรรมตามความเป็นจริง ... ไม่ใช่ธรรมที่สร้างขึ้นมา  

มันไม่ใช่เรื่องของการต่อต้านหรือดื้อรั้นหรอก  แต่มันไม่ยอมรับไอ้สิ่งที่มันไม่จริง มันจะยอมรับแต่ความเป็นจริงอย่างนี้

ธรรม...ในความหมายของคำว่าธรรม  ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เป็นจริง ปรากฏจริงในปัจจุบัน คือเดี๋ยวนี้ ... เพราะนั้นว่าถ้าพูดถึงว่าเดี๋ยวนี้ ขณะนี้  เราไม่ต้องทำใช่มั้ย  มันไม่ต้องทำอะไรขึ้นมาหรอก  มันมีอยู่แล้ว มันจะมีอยู่ทันทีเลย  ... นั่นแหละ ธรรม  อย่างนี้ถึงเรียกว่าธรรมตามความเป็นจริง

เช่นว่านั่งอยู่อย่างนี้ ได้ยินเสียงนี้  ถ้าได้ยินเสียง เท่าที่เสียงมีปรากฏ  จะเบา จะค่อย หรือจะเป็นเสียงอะไรก็ตามนี่ ที่ปรากฏกระทบกับโสตประสาท หรือว่ากระทบกับประสาทหู  นี่ถือว่าเป็นธรรม...ธรรมที่ปรากฏ  เพราะนั้นธรรมที่ปรากฏนี่ถือว่าเป็นจริง 

เพราะฉะนั้นเสียงที่มีในอดีต หรือว่าเสียงที่มีในอนาคตนี่ ...ไม่จริง  ถือว่าเป็นธรรมที่ไม่จริง ... เป็นธรรมที่ยังไม่เกิด กับธรรมที่ดับไปแล้ว  

แล้วก็ลักษณะของเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เท่าที่มีตรงนี้...จริง  เหมือนกับเรารับรู้อยู่ตรงนี้ ... คือไม่ต้องไปหาหรอก มันก็มีอยู่แล้วน่ะ ธรรมน่ะ  ...ล้อมรอบตัวเรานี่คือธรรมที่ปรากฏ อย่างนี้แหละจริง

เพราะนั้นปัญญาคือว่าเห็นธรรมตามความเป็นจริง  คือต้องมาเห็นธรรมตรงนี้ ... มันจะไม่ไปหาธรรมที่นอกจากนี้ หรือไปสร้างขึ้นมาใหม่  อันนั้นน่ะ มันจะไม่จริง  มันจะถูกหลอก มันจะเกิดความอยาก หรือว่าความไม่อยากในการที่ได้มาหรือไม่ได้มา...ในธรรมที่ยังไม่เกิด

ปัญญาแปลว่าเห็นธรรมตามความเป็นจริงแล้ว...ยอมรับด้วยจิตที่เป็นกลาง 

ได้ยินเสียงก็รู้ว่าได้ยิน  ได้ยินแล้วยังไง  ธรรมดา...ปกติ อย่างนี้เป็นกลาง  เกิดเสียงมันเปลี่ยนไป ดังหรือเบาหรือค่อย  หรือว่าเสียงที่เคยผูกเคยยึดว่าไม่พอใจมาก่อน มันเกิดขึ้นตรงขณะนี้  มันก็จะเกิดความยินร้ายขึ้น เรียกว่าไม่กลางแล้ว ไม่กลางต่อธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน ... ก็ต้องเท่าทัน รู้ถึงอาการยินร้ายนั้นที่ปรากฏ

สตินี่เห็นมั้ย  สติคือรู้เท่าทัน รู้เท่าทันอาการที่ปรากฏในปัจจุบัน ... ถ้าอาการของปัจจุบันที่ปรากฏแล้วใจมันรับรู้ด้วยอาการปกติ มันก็ไม่มีปัญหา  แต่เมื่อใดที่มันรับรู้ด้วยอาการผิดปกติ คือมีอาการยินดียินร้ายปุ๊บนี่ สติต้องเท่าทัน ว่าเป็นยินร้ายแล้ว ยินดีแล้ว พอใจแล้ว ไม่พอใจแล้ว

ก็ให้ทัน ...ไม่ได้ห้ามนะ  เราไม่ได้ห้ามยินดียินร้ายนะ แต่ให้ทัน  พอทันแล้ว...ไม่คิดต่อ 

ถ้าไม่ทันแล้วมันจะคิด มันจะปรุงต่อ ปรุงตามอาการยินดีบ้างยินร้ายบ้าง  เนี่ย จะเริ่มไหลแล้ว  ถ้าอย่างเนี้ย ใจมันจะเริ่มส่งออกไปในอดีตและอนาคตแล้ว  เรียกว่าเกิดความไม่เท่าทันในขณะแรกที่ใจมันเกิดปฏิฆะหรือราคะขึ้นมา  เรียกว่ายินดีหรือยินร้าย...ไม่เป็นกลาง

คำว่ายินดีหรือยินร้ายนี่ ถ้าพูดในภาษานึง ก็คือความหมายของคำว่า อัตตกิลมถานุโยค หรือกามสุขัลลุกานุโยค  ถ้ายินดีพอใจกับเสียง ก็เรียกว่าจิตมันไหลออกจากมรรค...ที่เป็นกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา  มันจะออกไปทางพอใจ สุดโต่ง ... เกิดเสียงปุ๊บได้ยิน เกิดอาการยินร้ายปุ๊บ  จิตก็ไหลออกไปทางอัตตกิลมถานุโยค เนี่ย

เพราะนั้นปัญญานี่ มันจะรู้ธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน แล้วใจดวงนี้มันมีอาการตอบสนองอย่างไร  ถ้าไม่มีก็คือไม่มี ก็รู้ต่อไป รู้เฉยๆ ด้วยสัมปชัญญะ รู้เห็นเป็นปกติ เป็นกลาง อยู่อย่างนี้  นี่เรียกว่าเจริญมรรค อยู่ในองค์มรรค  

ไม่ต้องทำอะไร ... ก็รู้ไป เห็นไป  เห็นความเป็นไปของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม ของอายตนะ ของผัสสะ ของความคิดความจำความรู้  ...ไม่ต้องไปเดือดร้อนเลย แล้วไม่ต้องไปควานหาสภาวธรรมใดเลย  

ก็อยู่ไปตามปกติ รู้เป็นปกติไป  เห็นเป็นปกติไป ... แล้วคอยสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่มันผิดปกตินี่ สติต้องทัน  ทันแล้วต้องละ  ละอะไร ...ละความยินดี ละความยินร้าย  

ถ้ายังละไม่ได้ ให้สำรวม  สำรวมอยู่กับความยินดียินร้ายนั้น  คือไม่ต่อ...ไม่ต่อออกมาเป็นความปรุง คิดหน้า คิดหลัง คิดเปรียบเทียบ คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ ...ไม่เอา ไม่ปรุง

พอไม่ไปประกอบเหตุแห่งยินดียินร้ายเพิ่ม ... เมื่อมันหมดเหตุปัจจัยปั๊บ เช่นเสียงดับ จิตก็คืนสู่ความเป็นปกติของมัน  อย่างเนี้ย มันจะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ในระดับหนึ่ง  

แล้วก็เห็นว่า ถ้าเราไม่ไปประกอบเหตุเพิ่ม ด้วยความปรุง ในเสียง ในรูป ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือในธรรมารมณ์ใดก็ตาม  ความยินดียินร้ายนั้นมันตั้งอยู่ไม่ได้ มันก็ดับ ... มันก็จะดับของมันเองนั่นแหละ

จากนั้นไปมันจะเกิดอาการเท่าทันมากขึ้น ... พอเท่าทันมากขึ้นปั๊บนี่ แค่เกิดอาการยินดียินร้าย  ยังไม่ทันจะยินดีหรือยินร้ายเลย มันแค่เห็นจิตมันขยับออกไปน่ะ  จะไปหมายในรูปนั้น จะไปหมายในผัสสะนั้น  มันจะดับทันที มันจะดับเองเลยนะ...แค่ทัน  

ดับเพราะอะไร ... เพราะมันเห็นว่าเสียงนี่  มันเกิดเอง มันตั้งของมันเอง แล้วก็ดับไปของมันเอง ในการเกิดของมันเองนั่นแหละ ... เสียงไม่เคยดี เสียงไม่เคยชั่ว  เสียงไม่มีเจตนาดี เสียงนี้ไม่มีเจตนาชั่ว เสียงนี้เป็นกลาง ... มันจะเรียนรู้อย่างนี้

เพราะนั้นใจมันก็จะเกิดความเข้าใจในระดับนึงว่า แล้วจะไปยินดีกับมันทำไม แล้วจะไปยินร้ายกับสิ่งที่มันเป็นกลางได้ยังไง’ ... มันก็วาง มันก็ทันแล้วก็ฉลาดรู้ ฉลาดวางน่ะ

ก็เป็นกลางขึ้น เป็นปกติขึ้น กับผัสสะนั้น กับความคิดอย่างนั้น กับอาการของขันธ์ที่ปรากฏต่างๆ นานา อย่างนี้  ...ลักษณะอย่างนี้ จะถือว่าเป็นผัสสะภายนอก 

แต่เวลาอยู่คนเดียวไม่มีเสียงอะไร มันเงียบ  หรืออยู่ในป่า มันสงบ มันเงียบ ก็เป็นปกติกับเสียง ... แต่มันก็ยังมีเสียงข้างใน นี่เป็นผัสสะภายใน...ความคิดบ้าง สัญญาบ้าง อารมณ์บ้าง ทั้งอดีต ทั้งอนาคตบ้าง มันปรุงขึ้นมา

มันก็ไม่ได้ต่างจากเสียงภายนอก ... ก็คอยดูว่าเข้าไปยินดีกับมันมั้ย เข้าไปยินร้ายกับความคิดนั้นมั้ย  ให้ทัน ... แล้วไม่ต้องอะไรกับมันมาก  ไม่ต้องไปดับ ไม่ต้องไปละอะไรหรอก  

ให้ทันความยินดีในความคิด หรือยินร้ายในความคิด หรือไปเดือดเนื้อร้อนใจกับความคิดมั้ย กังวลมั้ย วิตกมั้ยกับความคิด ...คืออาการเข้าไปยินดีมั้ย เข้าไปยินร้ายกับอาการของขันธ์ที่ปรุงขึ้นมามั้ย

จนมันเห็นว่า แม้แต่ความคิดน่ะมันก็ไม่ต่างจากเสียงภายนอก ... ความคิดก็คือความคิด ไม่ดีไม่ชั่ว เป็นแค่กลุ่มก้อนหนึ่งของการปรากฏขึ้น อย่างนี้ ... มันไม่มีเจตนา มันไม่มีความหมายในตัวของมัน  

อารมณ์ก็เหมือนกัน สุขก็เหมือนกัน ทุกข์ก็เหมือนกัน ...มันก็เป็นอาการหนึ่งที่เกิดตั้งอยู่ลอยๆ โดยไม่มีเจตนา  คือมันตั้งอยู่บนความเป็นกลางในตัวของมันอยู่แล้ว

ให้เรียนรู้อย่างนี้ ให้จิตมันเห็นความเป็นจริงของขันธ์อย่างนี้  ว่าขันธ์นี่ ก็คือขันธ์บ่ดายน่ะ ... ไม่มีอะไรในขันธ์ ไม่มีความเป็นตัวเป็นตนในขันธ์ ไม่มีชีวิตจิตใจเป็นสัตว์เป็นบุคคลในขันธ์  เมื่อมันไม่มีชีวิตจิตใจความเป็นสัตว์เป็นบุคคลในขันธ์ แปลว่าขันธ์นั้นไม่มีเจตนาใดๆ  

ขันธ์ก็คือความจำ...อันนี้เราพูดถึงส่วนที่เป็นนาม เพราะพวกเราจะหลงในนามมาก  คือหลงกับความคิดหลงกับอารมณ์ หลงกับความรู้สึก หลงกับอดีต หลงกับอนาคต ... มันก็จะเข้าไปเห็นความเป็นจริงว่าขันธ์คือขันธ์ คืออาการหนึ่งที่ปรากฏ  

ให้เท่าทันความยินดียินร้าย  แล้วก็จะเห็นขันธ์น่ะเป็นขันธ์เปล่าๆ ... ความคิดก็เหมือนกับสเปรย์น่ะ  เคยเห็นสเปรย์ฉีดน้ำมั้ย ฟุด...แค่นั้นน่ะ ก็เป็นกลุ่มนึงน่ะ ในอาการมันก็...คืออาการน่ะ  มันไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี  แล้วมันก็ตั้งอยู่ชั่วคราวเท่านั้น  ไม่เห็นมีอะไรเลย  เวลาดับก็ดับไป แล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเหลืออยู่เลย ...นี่คือรู้เท่าทัน

เพราะนั้น การรู้...สตินี่จริงๆ ไม่ได้เข้าไปดับ หรือไปละขันธ์เลยนะ  แต่รู้ความเป็นจริงของขันธ์ โดยที่ว่าไม่เข้าไปหมายมั่นในขันธ์  ว่าขันธ์นั้นดี ขันธ์นี้ชั่ว ขันธ์นี้เป็นที่พอใจ ขันธ์นี้ไม่น่าพอใจ  

คือถ้าสมมุติว่าพอใจหรือไม่พอใจในขันธ์ที่ปรากฏเมื่อไหร่ มันจะต้องมีการกระทำต่อขันธ์นั้นๆ ... ดับบ้าง ละบ้าง ผลักมันบ้าง ประคองมันบ้าง รักษามันบ้าง ทำให้มันไม่หายไปบ้าง ทำให้มันไม่เกิดขึ้นมาบ้าง  

เนี่ย ถือว่าเข้าไปยุ่งกับขันธ์อีกแล้ว  เพราะความยินดียินร้ายนั่นแหละ  โดยเข้าใจว่าขันธ์นี้ดี ขันธ์นี้ชั่ว ...จะต้องให้เป็นสภาวธรรมนี้เท่านั้น สภาวธรรมนั้นไม่ได้ สภาวธรรมนี้ถึงจะเรียกว่าใช่ สภาวธรรมนี้เรียกว่าไม่ใช่  ... นี่มันคิดเอาเองทั้งนั้นน่ะ

ก็บอกว่าสภาวธรรมคือสภาวธรรม  เขาไม่มีปาก เขาไม่มีคำพูด เขาไม่มีความหมาย  เขาก็คืออาการที่ปรุงขึ้นมาตามเหตุและปัจจัย...เมื่อหมดเหตุปัจจัยสภาวธรรมนี้ก็ดับ ... ความคิดก็คือสภาวธรรมหนึ่ง ความจำก็คือสภาวธรรมหนึ่ง อารมณ์ก็คือสภาวธรรมหนึ่ง กิเลสก็คือสภาวธรรมหนึ่ง  ไม่ต้องคิดมากเลย

แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ...ว่ามันเป็นเพียงสภาวธาตุหรือสภาวธรรมหนึ่งเท่านั้น หรือกิเลสก็คือสภาวธรรมหนึ่งเท่านั้น ... ยิ่งเข้าไปยุ่งกับมัน  นั่นแหละจะเป็นเหตุปัจจัยให้กิเลสน่ะมากขึ้น  

เพราะนั้นกิเลสมันเกิดจากความไม่รู้ ...เป็นผลสืบเนื่องจากการเข้าไปหมายมั่นในขันธ์ด้วยความไม่รู้  มันจึงเกิดเป็นโทสะ ราคะ โมหะมากขึ้นๆๆๆ  

แต่เมื่อเราเท่าทัน หรือว่าเห็นขันธ์คือขันธ์  แล้วไม่เข้าไปยินดียินร้าย ปล่อยให้เป็นเรื่องของมัน  แล้วก็ต่างคนต่างอยู่  แค่รู้แค่เห็นๆ  แล้วก็รักษาความเป็นกลาง เป็นปกติ รู้เท่าทันความยินดียินร้าย ... กิเลสไม่เกิดหรอก กิเลสจะไม่เกิดเลย  จะไม่มีความเป็นราคะมาก โทสะมาก หรือโลภะมาก กับขันธ์นั้นเลย

เพราะนั้นกิเลสน่ะมันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ไม่รู้แล้วเข้าไปยุ่งกับขันธ์  เห็นมั้ย การละกิเลสจริงๆ น่ะไม่ได้ไปละที่ตัวกิเลสนะ  แต่ด้วยปัญญานี่เข้าใจ เท่าทัน อาการยินดียินร้าย ปุ๊บ แล้วจะสังเกตเห็นเลย...จิตมันจะเบา  ก็รู้สึกเป็นธรรมดา

ไอ้ตรงที่รู้สึกเป็นธรรมดา  นั่งเฉยๆ เป็นธรรมดานี่  กิเลสไม่รู้จะเกิดได้ยังไง ใช่มั้ย  ไม่มีกิเลสหรอก กิเลสไม่เกิดหรอก  แต่เมื่อใดที่เข้าไปหมายมั่นด้วยความไม่รู้ ในขันธ์ที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ...ตรงนั้นแหละ เดี๋ยวกิเลสตามมา

ด้วยความหลงไปในขันธ์...ว่าขันธ์นั้นมีตัวมีตน มีดีมีชั่ว มีถูกมีผิด ปั๊บ เดี๋ยวเหอะ โทสะเกิดแล้ว หงุดหงิดแล้ว  อันไหนดีก็ราคะเกิดแล้ว พออกพอใจยิ้มแป้นภูมิอกภูมิใจในสภาวะนั้นสภาวะนี้ ว่าดี

สุดท้ายน่ะมันแสดงความเป็นจริงของความดับไป หมดเหตุปัจจัยดับไป  ก็มีแต่ความเสียใจ มีแต่ความอาลัย มีแต่ความอาวรณ์ มีแต่ความปริเทวนา โสกะปริเทวะโทมนัสอุปยาส คับแค้นแน่นใจบ้าง อะไรบ้าง  ...เกิดจากความไม่รู้ แล้วเข้าไปยุ่งกับขันธ์

ถ้าเราทิ้งระยะห่างระหว่างขันธ์กับรู้...สักก้าวหนึ่ง...ด้วยการรู้และเห็นโดยรอบนี่ รู้และเห็นกลางๆ  มันจะเห็นชัด ตอนที่จะเกิดสภาวะที่เรียกว่ายินดีหรือยินร้าย  

แต่เมื่อใดที่เราเข้าไปคลอเคลียกับขันธ์น่ะจะไม่ค่อยรู้สึกหรอก จะไม่ค่อยรู้สึกถึงความยินดียินร้าย หรือความเป็นปกติ ... เพราะนั้นตัวความเป็นปกติ มันจะรักษาระดับความเป็นกลาง ความห่างออกจากขันธ์ในก้าวหนึ่ง ใน step หนึ่ง

ฝึก...รู้ตัว  เพราะเราไม่รู้ว่ากิเลสมันจะเกิดตอนไหน เราไม่รู้ว่าเราจะเกิดความยินดียินร้ายตอนไหน  

ถ้าเราหลง หรือไม่รู้ตัว  เราจะไม่เห็นกระบวนการแรกของการเกิดของอารมณ์ยินดียินร้าย แล้วตอนนั้นที่เข้าไปในขันธ์ ... แต่เราจะไปเห็นตอนที่กิเลสเกิดแล้ว  แล้วก็จะเริ่มฟุ้งซ่านแล้ว จะเริ่มหาทางทำลายล้างมันแล้ว หาทางเอาชนะมันแล้ว


โยม –  คำว่าเห็นตอนแรกนี่ มันเป็นยังไงเจ้าคะท่านอาจารย์ ถึงเรียกว่าเห็นขณะแรก  

พระอาจารย์ –   จากปกติ...เป็นผิดปกติ 


โยม  หมายถึงจะรูปแบบไหนก็ได้  

พระอาจารย์ – ใช่    


โยม –    หมายถึงอย่างจะคุยขึ้นมาปั๊บนึง เราเห็นแล้วว่าคือผิดปกติ  มันจะเป็นแค่คุยก็ได้ หรือเป็นแค่อาการที่รู้สึกแลบ คือเริ่มรู้สึกเวทนาที่เข้าไปเกาะอย่างนั้นก็ได้

พระอาจารย์ –  อือ  ขณะที่มันมีการขยับเขยื้อน ไหว ของความปกติของรู้น่ะ  กลายเป็นจะเข้าไปหมาย เข้าไปมี เข้าไปเป็น เข้าไปมีเจตนาเป็นกุศลอกุศล  ตรงนี้  มันจะเห็นขณะแรก ที่เรียกว่าขณะแรกของการผิดปกติ  ...สติมันจะทัน

พอทัน เท่าทันปั๊บนี่  ศีลเกิด...ศีลจะเกิดขึ้นทันที  ศีลในที่นี้คือความละเว้นนะ ... เกิดความละเว้น ละเว้นที่จะเข้าไปน่ะ เข้าไปกับอาการน่ะ  เข้าไปทั้งในแง่ทำลาย และเข้าไปทั้งในแง่จับน่ะ  เข้าใจมั้ย คือไม่เข้าไปน่ะ

เพราะนั้นเมื่อไม่เข้าไปนี่ ...ไม่ได้หมายความว่าขันธ์นั้นหรือว่าผัสสะนั้นจะดับ หรือต้องดับนะ ... มันก็มีของมัน เรื่องของมัน  เขาพูดก็พูดกันต่อไปสิ อย่างนี้ เสียงเขาจะพูดๆๆๆ ก็พูดต่อไป     


โยม –  คือมันเป็นปกติ มาสู่ความเป็นกลางเลย  ไม่ต้องไปพยายามทำ ใช้คำว่าละกับมัน เขารู้ปุ๊บ เขากลับมาเป็นกลาง 

พระอาจารย์ –  ใช่ แค่รู้ ...แค่รู้ตรงนั้น มันละแล้ว ... แค่รู้ขณะแรกนี่


โยม    อ๋อ

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นตัวที่ละนี่  มันไม่ได้ไปละผัสสะ  มันไม่ได้ไปละอารมณ์  แต่มันละอุปาทานกับตัณหา ...ในการเข้าไป ดึง ยึด เกาะเกี่ยว  ไปหมาย ไปผลัก ไปดึง ไปดัน ไปหน่วง ไปร่วมด้วย ไปมี ไปเป็น  นั่นล่ะ มันจะไปละตรงนั้น  ไม่ได้ไปละขันธ์ ไม่ได้ไปละผัสสะ ไม่ได้ไปละอารมณ์ ไม่ได้ไปละอะไรเลย

เพราะนั้นขณะที่รู้อยู่เป็นปกติกับสุข  สุขก็ยังมีอยู่ได้ ไม่จำเป็นจะต้องให้สุขหายไป  หรือว่าทุกข์ก็มีอยู่ได้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องให้ทุกข์หายไป เข้าใจมั้ย  ก็แค่รู้...ทุกข์...เออ ก็เป็นเรื่องธรรมดา เห็นมั้ย  สุข...ก็เออ  มันก็เป็นธรรมดา  แต่ไม่มีอาการเข้าไปคลอเคลีย เข้าไปโอบกอดหรือเข้าไปต่อต้าน อย่างเนี้ย  ลักษณะอย่างนี้ผิดปกติทั้งนั้น ใจเข้าไปรู้ด้วยอาการผิดปกติ 


โยม –    แต่ความปกติบางทีนี่มันก็ไม่ได้อยู่นานนะคะท่านอาจารย์  อย่างบางทีมันก็...เดี๋ยวอาการนี้มันก็จะกลับมาใหม่ อย่าง...ง่วงอย่างนี้ ง่วงแล้วมันหงุดหงิด...ก็รู้ค่ะ รู้เสร็จ อ่ะ มันก็ไม่หงุดหงิด  แต่ความง่วงมันยังมีนะ แผล็บเดียวมันหายไปแล้ว หงุดหงิด  แต่เดี๋ยวมันก็มาอีก อย่างนี้ค่ะท่านอาจารย์ มันก็ยังคงมีอยู่ 

พระอาจารย์ –    เออ  เขาเรียกว่ารู้แต่ละครั้ง ละแต่ละครั้ง แล้วกลับมาเป็นปกติแต่ละครั้งนี่  ท่านเรียกว่าเป็นปหาน...ปหานตัพพธรรม   

คำว่าปหานตัพพธรรมหมายความว่า ฆ่า ละ ตัด เป็นระยะๆ  แต่มันยังไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่เกิดขึ้นมาอีก ไม่กลับมาอีก นั่นหมายความว่าคือสมุจเฉท  คือยังไม่เป็นสมุจเฉท ... เมื่อยังไม่เป็นสมุจเฉท แปลว่ามันยังไม่ตาย

สมมุติมีต้นไม้ต้นหนึ่ง มันกำลังแทงหน่อขึ้นมาจากดิน  เราเห็นว่ามันแทงหน่อแล้วเราก็ตัด  เอ้า โผล่มาอีกแล้ว ตัดอีก ... นี่เขาเรียกว่าปหาน  ขึ้นอีกตัดอีก ตัดไปๆ  ไม่รู้อ่ะมันจะขึ้นมาเมื่อไหร่ไม่รู้  มันจะเข้าไปหมายมั่นตรงไหนตอนไหนไม่รู้ ... ตัดเข้าไป  ละ...ทันแล้วละเลย  

ไม่ต้องไปหมายมั่นเอาถึงผล ไม่ต้องหวังผลเลย ... คือเกิดมาเมื่อไหร่ รู้ แล้วก็ละ ... เกิดอีก รู้อีก ละอีก ...เกิดอีก รู้อีก ละอีก  เนี่ย เขาเรียกว่าเป็นปหานตัพพธรรม ด้วยขณิกะ ... มันยังไม่สามารถจะไปขุดรากถอนโคนได้  ก็ตัดเข้าไปเรื่อยๆ ...ตัดเข้าไปเรื่อยๆ

มันก็ค่อยๆ เป็นหมัน ... เดี๋ยวมันก็เป็นหมัน  เดี๋ยวมันก็อ่อนแรง เดี๋ยวมันก็หมดกำลัง เดี๋ยวมันก็จะเริ่มเฉา เริ่มตายข้างใน เข้าใจมั้ย ... พอถึงจุดสุดท้ายนี่ รู้แล้ว มันไม่โผล่ขึ้นมาอีกแล้ว  ยังไงก็ไม่เข้าไปมีเข้าไปเป็นในอารมณ์นี้ ผัสสะนี้ ความรู้สึกนี้ อย่างเนี้ย

ก็จะสมุจเฉทเป็นชั้นๆๆๆ ไป  ตั้งแต่ระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง ระดับสูงสุด มันมีสมุจเฉทเป็นวรรคเป็นตอนไป ... แต่เราไม่ต้องไปคาดคั้นเอาบัญญัติสมมุติหรอกว่าเมื่อไหร่  มีหน้าที่ทำงาน งานใครงานมัน คือสัมมาอาชีโว ...ยังมีงานให้ทำก็ต้องทำ

คือถ้ามันยังมีการยึด...หมายความว่าหยุดไม่ได้  แล้วไม่ต้องไปรู้ ไม่ต้องไปถาม ไม่ต้องไปฟุ้งซ่าน ว่าเมื่อไหร่มันจะหมดวะ  นี่เขาเรียกว่าอุทธัจจะ  มันเริ่มปรุงแล้ว ..เอ๊ ทำไม ก็มันน่าจะหมดสักที  นี่เริ่มแล้ว...ต้องให้ทันอีกนะ นี่เกิดความยินร้ายแล้วปรุงต่อไปอดีตอนาคตแล้ว ...ไม่เอา ไม่คิด ช่างหัวมัน

รู้กับปัจจุบัน ..เออ ไม่มีก็ไม่มี มีก็มี ก็แค่นั้น เนี่ย ทำงานในปัจจุบัน ไม่ต้องไปทำงานอยู่ในอดีตอนาคต ... ไม่งั้นฟุ้งซ่าน ไม่งั้นจะเกิดการเปรียบเทียบ ไม่งั้นจะเกิดความท้อ เหนื่อย เพลีย กังวล สงสัย  ความสงสัยจะเริ่มคืบคลานมาแล้วนะ  เพราะออกนอกปัจจุบัน ออกนอกงานปัจจุบัน ออกนอกศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบัน

ตัดอกตัดใจ...ไม่เอา ช่างหัวมัน ‘…เออ อย่างเนี้ย เท่าเนี้ย รู้แค่เนี้ย พอแล้ว  ...ไม่มีก็ดี มีก็ดี’ ...  รู้ไป  ก็รู้ว่ายังไม่หมด มันรู้อยู่แล้วว่ายังไม่หมด  อย่าเบื่อ ... ความเพียร นี่เรียกว่าความเพียร

ความเพียร หรือว่าสัมมัปปทาน  เคยได้ยินมั้ยสัมมัปปทาน ๔ ...เพียรรักษากุศล เพียรละอกุศล เพียรระวังไม่ให้อกุศลเกิด เพียรรักษากุศลให้อยู่  นี่คือความหมายของความเพียร ๔ อย่าง ... แต่ความหมายของกุศลอกุศลในที่นี้ เราไม่ได้พูดถึงบุญและบาปเลยนะ  คือใจ คือเพียรรักษาใจ  อย่าให้ใจหาย อย่าให้ใจยืดยาวออกมาเป็นกุศลหรืออกุศล

คือถ้ายืดยาวออกมาเป็นความหมายมั่น ทั้งในแง่ดีคือกามสุขัลลุกา หรืออัตตกิลมถานุโยค  เราเรียกว่านั่นแหละเพียรละซะ ... ไม่ได้พูดว่าจะละแต่อกุศล แล้วก็เอาแต่กุศลไว้  ไอ้นั่นความหมายของคนปุถุชนทั่วไป ไม่ใช่นักปฏิบัติ เข้าใจมั้ย  

แต่ในระดับของนักปฏิบัติในจิตนี่ ต้องเพียรรักษาใจ  ถือใจเป็นตัวกุศลหรือมหาเหตุ แค่นั้นเอง หน้าที่ความเพียร  ...เพราะนั้นเวลาทำความเพียรน่ะ ก้มหน้าก้มตาทำอย่างเดียว  ไม่รู้อ่ะ ผลจะเป็นยังไง จะหมดเมื่อไหร่ งานนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ไม่รู้ ทำอย่างเดียว เรียกว่าสัมมาอาชีโว ...แล้วมันจะรู้ว่างานยังไม่จบน่ะ

ก็ไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ... ถ้าเป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่น่ะจบ  พอถึงตัวที่งอกตัวสุดท้ายนี่ พั้บ ปุ๊บนี่รู้เลย ขาดแล้ว หมดสิ้นซึ่งความปรุงแต่งแล้ว  จะรู้เลยว่าหมดแล้ว  จิตดวงนี้จะไม่มีการปรุงออกมาอีกเลย ทั้งในแง่ไหนแง่หนึ่ง ไม่มีการขยับ สั่น ไหว...ไม่มีแล้ว

แต่พวกเรายังอยู่กับการขยับ ไหว ส่าย อยู่ตลอด  เพราะอะไรล่ะ...เพราะมันมีมลทินอยู่ภายใน ... คำว่ามลทินคือความเศร้าหมอง คือกิเลสความเศร้าหมอง หมักหมมอยู่ภายใน  คือความไม่รู้นั่นแหละโดยรวม หรืออาสวะ  มันจึงก่อเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้า

อะไรคือสิ่งเร้า ... ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งเร้า  นอกออกจากขันธ์คืออายตนะ อายตนะคือผัสสะเป็นสิ่งเร้า ... เมื่อสิ่งเร้ามากระทบกับใจที่ยังมีอาสวะ มันก็มีแอ็คชั่น-รีแอ็คชั่น  มีรีแอ็คชั่นปรากฏออกมา ... เพราะนั้น รีแอ็คชั่นออกมาได้สองแง่

พระพุทธเจ้าบอกว่าสองอย่าง อัตตกิลมถานุโยค และ กามสุขัลลุกานุโยค  ท่านบอกว่าไปไม่รอดหรอก  ถ้าไปในสองทางนี้ไปไม่รอด ติดหมด  ติด เหนี่ยว หน่วง รั้ง รุงรัง ไม่มีจบไม่มีสิ้น  พระพุทธเจ้าบอกต้องกลางเท่านั้น ต้องกลาง ต้องเป็นปกติ ต้องเป็นกลาง

แล้วทำยังไงถึงจะให้เป็นปกติเป็นกลาง ... พระพุทธเจ้าบอกว่ามีวิธีเดียว อุปกรณ์เดียวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา  ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญา ไม่มีทางที่มันจะอยู่ในปัจจุบัน เข้าใจมั้ย  

ศีลสมาธิปัญญาคืออะไร นี่คือโดยย่นย่อของมรรคแปด  โดยรวมถ้าจาระไนโดยสมมุติบัญญัติก็คือมรรคแปดนั่นแหละ โดยย่อลงมาก็คือศีลสมาธิปัญญา  โดยระดับที่เป็นอุปกรณ์สำคัญเลยคือสติสัมปชัญญะ 

เพราะนั้นถ้าแค่สติสัมปชัญญะปั๊บนี่ มันรวมหมด  ศีลสมาธิปัญญารวมลงในปัจจุบัน มรรคแปดก็รวมลงในปัจจุบัน ...เป็นงานในปัจจุบันทั้งสิ้น

เพราะนั้นไม่ต้องคิดอะไรมากเลย  รู้อยู่ในปัจจุบัน ด้วยความเป็นปกติ  อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้


โยม –  บางทีมันทำงานน่ะค่ะท่านอาจารย์ มันคิดน่ะ  บางทีเราก็ไม่รู้หรอก คือมันไม่ทันว่า เออ เราคิดนะ มันไม่มีตั้งท่าว่ารู้ว่าคิดนะ มันจะคิด คิดงานก่อนอย่างนี้ค่ะ  เสร็จแล้วมันจะ เออ รู้ว่าคิด อย่างเนี้ยเจ้าค่ะ  มันมาตามทีหลัง เราไม่ได้ไปรู้ขณะคิดหรือว่ารู้ว่าคิดอย่างนี้น่ะค่ะ  

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร  


โยม    หมายถึงว่ามันผิดทางมั้ย หรือว่าเราช้าที่จะมารู้ทีหลังอย่างนี้

พระอาจารย์ – เข้าใจคำว่าสมดุลในเหตุปัจจัยภายนอกมั้ย ... เพราะว่าหน้าที่การงานมันก็ต้องมีใช้ความคิดอยู่แล้ว ไม่ใช้ความคิดไม่ได้  เพราะนั้นก็คิดไป คิดไปตามธรรมดานั่นแหละ  แต่ว่าคิดแล้ว ดับแล้ว มารู้ทีหลัง ก็ดับไป ...จบ  ไม่ต้องไปเดือดร้อน

แต่ว่าเวลาที่เราไม่ได้อยู่อย่างนั้น อย่าไปคิด ให้ทัน ... อันนี้ต้องเรียนรู้ในการที่จะสันโดษ ให้จิตสันโดษ ให้สันโดษเป็นกลาง ให้จิตเงียบ  


โยม –  พูดถึงจิตเงียบนี่ค่ะท่านอาจารย์  บางทีเนี่ย มันเป็นบางขณะที่เห็นนะว่าก็เงียบ  เงียบหนึ่ง แล้วมีตัวรอบๆ ชวนพูด ชวนคุย ชวนคิด วนเวียนอยู่  แต่บางขณะที่เราไม่ได้หันกลับมาเห็นตัวเงียบๆ นี่ มันก็ไม่รู้หรอกว่ามันอยู่ไหนน่ะ มันไม่เห็นมันน่ะเจ้าค่ะ  แต่ว่าบางทีมันกลับมา รู้ไม่รู้ แต่มันไม่เงียบกริบเหมือนที่มันเคยเห็น  อย่างเนี้ยเจ้าค่ะท่านอาจารย์ มันไม่มีตลอด  

พระอาจารย์ –  มันเข้าไปกลืนในขันธ์แล้ว โมหะมันกลืนเข้าไปแล้ว ... อย่าไปดันทุรัง  อย่าดันทุรังหา อย่าดันทุรังสร้างสภาวะเดิม โดยเอาสัญญามาเป็นที่ตั้ง ... รู้ตัว กลับมารู้ตัว  

บอกแล้วว่า เหมือนนอนหลับน่ะ  มันเข้าไปนอนหลับแต่มันคิดว่ามันรู้อยู่  แต่จริงๆ มันนอนหลับ ... พออย่างงี้ คนนอนหลับทำยังไงล่ะ ...เอาน้ำราดลงไป  กำลังนอนอยู่ดีๆ นี่ เอาน้ำราดแล้วเป็นยังไง


โยม –  ก็ตื่น  

พระอาจารย์ –   เออ  รู้ตัว 


โยม หมายถึงไม่ต้องควานหามันเลย 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องเลย  


โยม –      ทำอะไรก็รู้เลย

พระอาจารย์ –      เพราะขณะนั้นน่ะ...เราบอกให้เลย...มันหลับแล้ว จิตมันหลับแล้ว  กำลังมะงุมมะงาหรา งมหอยปูปลาอยู่ ...ไปงมทำไม อย่าไปงม


โยม –    เจ้าค่ะ มันติดความเข้าใจมันยึดไว้

พระอาจารย์ –   อย่าไปยึดสัญญามาเป็นที่ตั้ง ...นับหนึ่งใหม่  เหมือนเอาน้ำราดลงไปที่คนกำลังนอนหลับ ... อย่าไปฝันหวาน มันกำลังนอนฝันหวานอยู่  ถึงฝันเป็นตุเป็นตะเป็นเรื่องเป็นราวเก่าๆ ก็ตาม ก็ฝัน  เป็นฝันเรื่องธรรมก็ตาม ฝันเรื่องดวงจิตดวงนั้นก็ตาม  ดวงจิตที่เคยมีแล้วมันดับไปแล้วกำลังหาว่าดวงจิตอยู่ไหน...ฝัน

โมหะ ...เอาน้ำราดลงไป...รู้ตัวลงในปัจจุบัน เอาตัวเป็นที่ตั้งแล้วรู้ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ขยับ  เดี๋ยว...เดี๋ยวมันมาเอง เดี๋ยวใจมันจะตั้งมั่นขึ้นมา  มันก็จะตั้งมั่นขึ้นมา มันก็เด่นขึ้นมา มีความรู้ภายในของมันชัดเจนขึ้นมาเอง เนี่ย

คราวนี้ก็เอาแล้ว สัมปชัญญะก็ทำหน้าที่ต่อไป อย่างเนี้ย   เดี๋ยวพอดูไปดูมา ไอ้ตัวสติสัมปชัญญะมันก็จะจางๆๆๆ  เข้าไปกลืนโดยที่ว่ากึ่งรู้กึ่งไม่รู้  โมหะ...ก็บอกว่าโมหะเข้าตั้งแต่แรก มันก็เป็นอาการนี้ กึ่งรู้กึ่งไม่รู้

อย่าไปดันทุรัง  ไม่งั้นดันทุรังก็เหมือนงมหอยปูปลาอยู่นั่นแหละ มีสุ่มอันนึงแล้วก็ไปงมหาปลาวาฬในมหาสมุทรน่ะ จะเจอรึเปล่าไม่รู้นะ ... ไม่เจอหรอก ได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย ไม่ใช่ปลาวาฬ  ไม่ต้องหาแล้ว รู้ตัวเลย ทิ้งเลย อย่าเสียดาย...อย่าเสียดายสภาวธรรมที่สูญไปหายไป อย่าเสียดาย

กำลังค้นหา...ใครหา  เราน่ะ ใจมันกลายเป็นเรา ใจมันเป็นผู้หาอยู่  ผู้หาคือใคร ผู้หาคือเรา ... ไม่หา รู้ตัว  รู้ชัดขึ้นมาในขณะแรก...ตื่น  นอนหลับฝันอยู่ดีๆ โดนน้ำเย็นราดหัวปุ๊บ มันก็สะดุ้งตื่น ... ตื่นแล้วอย่านอนอีก ตื่นแล้วอย่าไปนอน ตื่นแล้วลุกขึ้นเดิน ไปเข้าห้องน้ำห้องท่าใช่มั้ย ถ้าอยู่บนเตียงเดี๋ยวหลับอีก

เนี่ย สัมปชัญญะทำงาน รู้เห็นต่อเนื่อง  ให้ต่อเนื่องว่ากำลังทำอะไรอยู่...กำลังทำอะไรอยู่  นั่งก็รู้ว่านั่ง ไม่ใช่แค่รู้ว่านั่งแล้วก็หายอีก  ตลอดของการนั่งต้องเห็นอยู่ว่ากำลังนั่ง อย่างเนี้ยเรียกว่าสัมปชัญญะ เขาเรียกว่าทำงาน  ไม่ใช่รู้ว่านั่ง สติตื่นรู้...นั่ง แล้วก็...นอนต่อ ระหว่างนั่งหายอีกแล้ว เข้าใจมั้ย  เพราะมันไม่มีสัมปชัญญะ


โยม    คือมันก็มีเป็นขณะๆ ไปในตอนที่เรากำลังเป็นผู้เรียนอยู่ใช่มั้ยเจ้าคะ

พระอาจารย์ – ใช่   มันต้องสร้างสติมาเป็นช่วง


โยม – มันไม่ใช่จะมาทำให้มันยืดอย่างนี้ มันไม่ได้   

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ ... เราบอกแล้วไง ระหว่างทำงานนี่ให้ตั้งสัจจะธิษฐาน  ตั้งสัจจะว่าไง ...'ระหว่างกินนี่จะรู้ตลอดนะ  ระหว่างเดินไปเข้าห้องน้ำนี่ เราจะรู้ตลอดการเดินนี่นะ ให้เห็นตลอดการเดินไม่ให้ขาดเลยนะ'  อย่างนี้ ...มันต้องฝึก   


โยม –    เจ้าค่ะ คือตั้งสติไว้ก่อน ตั้งใจไว้ก่อน

พระอาจารย์ –  ถูกต้อง ... ต้องตั้งใจนะ  ก่อนจะกินต้องตั้งใจก่อนจะกินนะ   ไม่ใช่พอกินแล้ว แล้วระหว่างกิน ก็ค่อยไปรู้เอาทีหลัง หรือว่าเดี๋ยวก็รู้เอง เดี๋ยวก็รู้เป็นขณะ ... ก็เหมือนกับอย่างเนี้ย ตื่นขึ้นบนเตียงแล้วกูก็นอนต่อๆ เข้าใจรึเปล่า  มันไม่เดิน ไม่ลุกจากเตียงน่ะ

งานไม่เดิน ไม่ทำงาน ไม่ทำมาหากิน  สัมมาอาชีโวไม่เกิดนะ ... มันก็ได้แค่ตื่น แล้วก็หลับต่อ  นี่แค่สติ  สติมันจะเป็นช่วงๆ เหมือนจุดทศนิยมน่ะ ... ทำยังไงถึงจะเป็นเส้นประ ทำยังไงถึงจะเป็นขีดๆ  นี่เขาเรียกว่ารู้เห็นต่อเนื่องคือสัมปชัญญะ

ถ้าไม่มีรู้เห็นต่อเนื่องหรือสัมปชัญญะนี่ ไม่เข้าใจขันธ์ตามความเป็นจริงหรอก บอกให้ ... ไม่รู้ว่าจิตแรกเกิดตอนไหน ไม่รู้ว่ามันจะยินดียินร้ายกับผัสสะไหน ...ไม่ทัน  เพราะมันไม่มีอาการรู้รอบเห็นรอบ

แล้วอยู่ดีๆ สัมปชัญญะไม่เกิด บอกให้น่ะ  ต้องเจริญขึ้นมา...ฝึก ด้วยสัจจะธิษฐาน  เห็นมั้ย ต้องมีสัจจะธิษฐานกำกับบ้างนะ  ... แต่ไม่ใช่ว่าตั้งเอาเสียใหญ่โตมโหฬารแบบทั้งวันกูจะไม่ลืม ไม่ให้ลืมเลย อย่างนี้เกิน  เอาแค่ ...อึม เอาเป็นระยะๆ  อย่าให้เผลอมาครอบงำใจ หรือดูโดยแบบสุ่มดู ไม่รู้เรื่องรู้ราว

ตั้งใจ ... นั่งก็ตั้งใจนั่ง ยืนก็ตั้งใจยืน เดินก็ตั้งใจเดิน  เห็นมั้ย พอมีความตั้งใจนี่ คือจิตมันเริ่มตั้งมั่นแล้ว ตั้งมั่นอยู่กับอาการ  แล้วมันก็เริ่มเห็นต่อเนื่องในอาการนั้นๆ จนกว่าจะจบอาการ แล้วก็เปลี่ยนอาการใหม่

ถึงเอากายเนี่ยมาเป็นบรรทัดฐานหรือตัวยึดโยงให้เกิดสติและสัมปชัญญะได้ง่าย ... ถ้าไปเอาใจลอยๆๆๆ นี่  สัมปชัญญะเกิดยากมาก มันหายอ่ะ ... จะไปเอาใจรู้ปุ๊บว่ามีความคิด พอมันดับปุ๊บ บอกให้เลย สติก็ดับพร้อมกันกับความคิด  

มันจะไม่เห็นอาการต่อเนื่องถึงว่าตอนไม่มีความคิด แล้วก็เห็นว่าไม่มีความคิด เข้าใจมั้ย  มีอารมณ์ปุ๊บ มันเห็นปุ๊บมีอารมณ์  พออารมณ์ดับปุ๊บ สติเดี๋ยวก็จางหายแล้ว สัมปชัญญะก็หายด้วย  จะไม่เห็นเลยว่าไม่มีอารมณ์ อย่างเนี้ย

เพราะฉะนั้นจะเอาจิตมาเป็นเครื่องฝึกสัมปชัญญะ...ยาก  ยากสำหรับผู้ไม่มีวาสนาบารมีมาทางการดำเนินทางจิต ดำเนินทางวิถีแห่งจิต ... แต่กายเนี่ย ดูยังไงก็เห็น  มันไม่หายไปไหน ไม่เคยหายไปเลย  ดูตรงไหนก็เห็น ...สติหยั่งลงมาตรงไหนก็เห็นโท่โร่อยู่นี่

แต่ไอ้สติที่หยั่งลงมามันก็เป็นแค่แสงไฟแว๊บนึง  เหมือนไฟฉายกดสวิทช์แล้วก็ดับ  ทำยังไงถึงจะหยั่งลงไปแล้วเปิดสวิทช์ตลอดล่ะ ... ด้วยสัมปชัญญะ  เพราะกายมันมีอยู่แล้ว  เมื่อมีสัมปชัญญะจะเห็นเลย อาการของนามชัดเจน เดี๋ยวเกิดเดี๋ยวดับๆๆๆๆ เป็นอะไรก็ไม่รู้เกิดๆ ดับๆ

แต่สติไม่เกิดไม่ดับ สัมปชัญญะไม่เกิดไม่ดับ  เพราะมันมีกายเป็นฐานรองอยู่ เป็นที่ตั้งของสติปัฏฐานอยู่ เป็นที่ตั้งของสัมปชัญญะ  รู้อยู่เห็นอยู่ในกาย  ไอ้นี่เกิดดับ แต่ก็รู้อยู่กับกาย  เห็นกายอยู่ รู้ตัวอยู่ คือรู้ตัวๆๆ
... ถ้าไปดูจิตตรงๆ น่ะ มันก็รู้ตอนมีอะไรเกิดขึ้น  พอไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็หายแล้ว  ความรู้ตัวหายแล้ว 

เพราะฉะนั้น ให้ฝึกทำต่อเนื่องในกาย อาการทางกาย อากัปกิริยาทางกาย  จากอิริยาบถใหญ่ ยืนเดินนั่งนอน  นั่งต้องตั้งใจนั่ง แล้วให้รู้ระหว่างนั่ง อยู่ในท่านั่ง  ต้องรู้ว่ากำลังนั่ง เห็นว่ากำลังนั่ง กำลังขยับ  เห็นมั้ย  พอนั่งปุ๊บ...มันจะไม่ลืมยังไง คือให้เห็นอิริยาบถย่อยในอิริยาบถใหญ่ เป็นตัวระลึก เป็นอนุสติ เข้าใจมั้ย  เนี่ย เขาเรียกว่าอนุสติ

เพราะนั้นกรรมฐานทั้งหลายก็คืออนุสติ อนุสติ ๔๐ กรรมฐาน ๔๐ นี่คืออนุสติ  เช่นเอาสติมาตั้งกับพุทโธ ธัมโม สังโฆ  เอาสติมาตั้งกับกาย กายคตาสติ เห็นมั้ย  คือพวกนี้เป็นอนุสติหมด เป็นอุบาย  สติปัฏฐานก็เอากายนี่เป็นอนุสติแล้วก็อิริยาบถใหญ่อิริยาบถย่อย ให้ร้อยเรียงกันเป็นเรื่องเดียวกัน ต่อเนื่องเป็นสาย เป็นเส้นตรง

แล้วอาการทางนาม  มันก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรหรอก ไม่ต้องไปคอยดูคอยเฝ้าหรอก แค่เกิดดับๆ ไม่มีอะไรเป็นสาระหรอก ... เมื่อเราไม่ได้จริงจังใส่ใจ แค่มองผ่านๆ ก็จะเห็นว่ามันไม่เป็นอะไร  เหมือนสเปรย์ เหมือนกลุ่มหมอกควันลอยไปลอยมาแค่นั้นเอง  เพราะไม่ได้เข้าไปสำคัญมั่นหมายในนามที่ปรากฏตั้งอยู่

มันต้องมีฐาน  ใจน่ะต้องมีฐาน ... ถ้าไม่มีฐานมันก็ไปตามขันธ์น่ะ หลงไปตามขันธ์ ลอยไปตามขันธ์  พอไม่มีขันธ์ใดขันธ์หนึ่งปรากฏเด่นชัดขึ้นมา ...หาย  ควานเหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร ไม่รู้จะเจอมั้ย

แล้วจะไปน้อมระลึกถึงสัญญาขึ้นมา  สร้างมโนภาพขึ้นมา ว่าเคยทำอย่างนี้ เคยเป็นอย่างนี้  นี่คือใจ นี่คือขันธ์ ... มั่ว บอกให้เลยว่ามั่ว  ฝันอีกแล้ว ฝันซ้อนฝัน เอาเข้าไป  หลงกับหลง แล้วก็หลงในหลงทั้งนั้นนี่ เอาเข้าไป

ทิ้งหมดเลย ...ลบ  ตื่นขึ้นจากความฝัน  กลับมานับหนึ่งใหม่ ตั้งต้นใหม่ เรียกว่าตั้งหลัก ... ตั้งหลัก รู้ตัว เรียกว่าตั้งหลัก  แล้วก็ให้รู้ตัวต่อเนื่อง ด้วยสัมปชัญญะก็จะเห็นขันธ์อันหนึ่ง ใจอันหนึ่ง ชัดเจนขึ้นมาเอง หายไปไม่ต้องเสียดาย.



………………………..