วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 4/21 (2)


พระอาจารย์
4/21 (540601C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มิถุนายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  4/21  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เมื่อเรารู้เรื่อยๆ รู้ตัวบ่อยๆ แล้วก็กลับมาอยู่ในฐานะเป็นกลาง ...มันก็จะถอนออกจากเจตนาทั้งหมดเลย ถอนออกจากผู้ที่เข้าไปกระทำ ผู้ที่เข้าไปรับ ...ในเบื้องต้นมันจะถอนออก 

เราถึงบอกให้รู้เฉยๆ ...นี่ ก็ละเจตนาไปในตัว มันก็ละการกระทำไปในตัว  

การกระทำนี่ ใครกระทำ ... “เรา” น่ะแหละ ...ไม่มี “เรา” ก็ไม่มีการกระทำ ...เมื่อมีการกระทำเมื่อไหร่  เมื่อนั้นน่ะ “เรา” น่ะเป็นคนทำ  ความเห็นว่าเป็น “เรา” น่ะมันพาทำ

เพราะนั้นเมื่อไม่มีเราทำ มันก็มีแค่รู้กับเห็นว่า อ้อ..นั่ง อ้อ..เดิน อ้อ..ยืน อ้อ..คิด อ้อ..ปรุง อ้อ..ดีใจ อ้อ..กังวล อ้อ..เสียใจ อ้อ..กลัว ...ก็มีแค่รู้ แต่ไม่มี “เรา” เข้าไปยุ่งในอาการ ...นี่มันละเจตนาไปในตัว

เพราะฉะนั้นเมื่อละเจตนาไปในขณะนั้น ก็ละความเป็นเราไปพร้อมกัน สักกายก็ถูกละ หรือทำให้น้อยลง ...จนขาดไป จนเห็นว่าไม่เห็นมันทำอะไร มันก็อยู่ได้

แต่ตอนนี้มันยังคิดว่า...ถ้าไม่ทำอะไรแล้วอยู่ไม่ได้ "เรา"อยู่ไม่ได้  "เรา" ต้องทำอะไรสักอย่างนึงมันถึงจะอยู่ได้  "เรา" จะต้องทำยังไงกับเรื่องราวข้างหน้านี้ เราถึงจะอยู่ได้

จนกว่ามันจะยอมรับว่า...เมื่อไม่มี "เรา" ไม่เห็น "เรา" มาทำอะไร ...มันสามารถอยู่ได้ ไม่เห็นมันตายเลย มันก็อยู่ได้ไปเรื่อยๆ ของมันน่ะ อยู่ไปงั้นๆ น่ะ


โยม –  มันไม่เหมือนซื่อบื้อหรือคะ

พระอาจารย์ –  เออ คล้ายๆ กันเลยน่ะ มันก็ดูเหมือนคล้ายๆ อย่างนั้นน่ะนะ ...มันดูธรรมดา ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับอะไร 

แต่ว่ามันไม่เหมือนกันตรงที่ว่า...มันไม่ได้เข้าไปเจตนาให้มันเป็นอย่างนั้น แต่มันเป็นธรรมชาติที่มันเป็นด้วยความกลมกลืนพอดี 

มันไม่เหมือนกับการเข้าไปสร้างตัวที่ว่าทำเป็นทองไม่รู้ร้อน  อันนั้นทำขึ้น ...ก็เป็นเจตนาที่แอบแฝงอยู่น่ะ

เอาจนมันเป็นธรรมชาติที่มันไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขันธ์กับอายตนะ กับเรื่องราวทั้งภายนอกและเรื่องราวทั้งภายใน ...นั่น จึงจะเรียกว่าหมดภาระ ไม่มีอะไรเป็นภาระ

พระพุทธเจ้าบอกว่าขันธ์น่ะเป็นภาระ ภารา หะเว ปัญจักขันธา  ขันธ์เป็นภาระ ...เพราะมี "เรา" เข้าไปถือเป็นภาระ

เมื่อใดที่ว่าไม่มี "เรา" เข้าไปเป็นภาระกับขันธ์น่ะ ขันธ์นั้นเบาเลย ไม่หนักเลย ...หนักก็เรื่องของขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะไม่มีเราเข้าไปถือ

เห็นมั้ย คำว่าขันธ์นั้นเป็นของหนักก็กลายเป็นของเบาไปเลย ...มันก็หนักเป็นเรื่องของหนักไป ไม่เกี่ยว ไม่มีเราเข้าไปถือ มันก็ไม่หนัก

ไม่มี "เรา" เป็นเรื่องกับอะไรสักอย่าง มันก็ไม่มีอะไรเป็นของหนัก ไม่มีอะไรเป็นของที่รับไม่ได้ แบกไม่ได้ ทนไม่ได้ ...เพราะไม่มีเราเข้าไปทน ไม่มีเราเข้าไปแบก ไม่มีเราเข้าไปหา ไม่มีเราเข้าไปแก้

มันก็ดูเหมือนคนโง่ ดูเหมือนว่าอยู่ไปงั้นๆ อยู่ไปวันๆ ...ถ้าในความคิดของพวกเรานะ มันจะมองภาพออกว่าเป็นอย่างนั้น ...แต่ในความเป็นจริง...ให้มันเป็นอย่างนั้นเถอะ  

แล้วจะเห็นว่ามันจะเกิดความเป็นตัวที่แท้จริง คือธรรมชาติที่แท้จริงของกายและใจที่เป็นอิสระจากกัน โดยไม่ข้องแวะข้องเกี่ยว หน่วงเหนี่ยว เหนี่ยวรั้งกันและกัน เอามาเป็นภาระซึ่งกันและกัน

คราวนี้ ไอ้ขันธ์พวกเรานี่ ...เราเป็นภาระกับขันธ์ยังไม่พอ ยังไปแบกเอาขันธ์นอกมาเป็นภาระอีก  ขันธ์ของเพื่อน ขันธ์ของลูก ขันธ์ของพ่อแม่ ขันธ์ของสัตว์ ขันธ์ของวัตถุข้าวของ

รวมทั้งขันธ์ของสิ่งที่จับต้องไม่ได้...ก็ชื่อเสียงเกียรติยศ ลาภยศสรรเสริญ คำชมคำด่า  เนี่ย ยังไปแบกไว้ให้เป็นภาระ ...เห็นมั้ย มันรุงรังมั้ยล่ะ มันเลยกลายเป็นของที่ว่าหนักไปหมดน่ะ

ตาก็หนัก หูก็หนัก มันเป็นของเกะกะ รก เป็นของที่เป็นภาระ หันซ้ายก็ติด หันขวาก็หนัก หันไปข้างหน้าก็มีเรื่อง ถอยหลังก็เป็นเรื่อง อย่างเนี้ย ...อะไรเป็นเรื่องเป็นราวไปหมด

มันจะแตกต่างกับที่...มีปัญญาเข้าใจ...แล้วไม่เข้าไปเป็นเรากับของทุกสิ่ง ...แล้วไปไหนก็ได้ นั่งก็สบาย ลุกก็สบาย ทำก็สบาย ไม่ทำก็สบาย

ทำด้วยใจที่เบาๆ รู้เบาๆ เห็นเบาๆ แล้วก็ผ่านไป..แล้วก็ผ่านไป..เป็นธรรมดา ...ง่าย..ใช้ชีวิตก็ง่าย ใครทำอะไรก็ง่าย เขาให้เราทำอะไรก็ง่าย

ทำไมเราต้องมีเงื่อนไขล่ะ ทำไมเราต้องมีข้อแม้ล่ะ ...นั่นน่ะยาก นั่นแหละภาระ นั่นแหละไม่ยอม ใจมันไม่ยอม

ไม่ยอมเพราะอะไร ...เพราะมันผูก...ผูกไว้กับภพที่มันต้องการ พอใจ  หรือเวทนาที่มันต้องการ เวทนาที่มันพอใจ ...มันไม่ยอมให้เปลี่ยน มันจะไม่ยอมให้เปลี่ยน

ไอ้ที่ไม่ยอมให้เปลี่ยนนั่นน่ะ คือมันยึดเอาความเที่ยง ยึดภพนั่นเป็นของเที่ยง ...ไม่ยอม มันเลยไม่ยอม ไม่ยอมน่ะ จะให้มันเที่ยง

เพราะมันไม่เห็นไตรลักษณ์ มันไม่เห็นความเป็นจริงว่ามันไม่เที่ยง ...แล้วมันยึดถือไม่ได้ มันยึดครองไม่ได้ บังคับไม่ได้ ...เพราะมันเป็นอนัตตา เห็นมั้ย

แต่ว่ามันไม่ยอม ...เพราะมันจะทำให้เที่ยง เพราะมันเป็นตัวของเรา เพราะมันเป็นอารมณ์ของเรา...ต้องเป็นอารมณ์นี้เท่านั้น อารมณ์อื่นไม่ได้ ...นี่ มันรู้สึกอย่างนี้

อย่างอื่นจะมาเปลี่ยนแปลงทำลายความรู้สึกอย่างนี้ที่เราถือครองไว้ไม่ได้ หรือที่มันปรากฏอยู่ด้วยความเคยชินที่ว่าเราพอใจมัน...ไม่ยอมให้มันหายน่ะ ...มันเลยไม่ยอม

มันก็เลยอาลัยอาดูร หวงแหนสภาวธรรมนั้นๆ  พยายามสุดลิ่มทิ่มประตูที่จะรักษาสภาวธรรมนี้ให้ได้ ให้เที่ยงที่สุดเท่าที่จะเที่ยงได้ ...เนี่ย ด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้น

มันต้องแก้ทิฏฐิความเห็นตรงนี้...ด้วยการยอมรับ ด้วยศีลสมาธิปัญญา...รู้เป็นกลางๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นในปัจจุบัน แค่นี้ ...เป็นการเรียนรู้ไปทีละเล็กทีละน้อย ให้มันฉลาด 

ให้จิตให้ใจดวงนี้มันฉลาด...ด้วยการรู้เห็นตรงๆ ...มันก็จะเปิดเผยโลกตามความเป็นจริง...ว่ามันเป็นไตรลักษณ์เยี่ยงไร เช่นไร หรือเป็นอย่างนั้นเอง

ด้วยปัจจัตตัง มันก็จะเก็บเกี่ยวความรับรู้...เท่าที่มันเห็นด้วยสัมมาทิฏฐินี่แหละไปเรื่อยๆ ...จนถึงสัมมาทิฏฐิสูงสุดเลย

มันก็ละความเห็นทั้งหลายทั้งปวงออกขาดจากกมลสันดานเลย ไม่เข้าไปมีความเห็นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าทั้งในแง่บวกหรือในแง่ลบ ในแง่ถูก-ในแง่ผิด ในแง่ใช่-ในแง่ไม่ใช่ แม้แต่กายในแง่สวย-ไม่สวย

ไม่มี ...ไม่มีความเห็นใดความเห็นหนึ่งที่ออกมาตรึกอยู่กับขันธ์นั้นๆ ...มันก็ลบหมด ถอนหมด ถอนความเห็นทั้งหลายทั้งปวง 

ถอนความเห็นคือ...ทิฏฐิอุปาทาน  ถอนความเข้าไปเป็นตัวตนในขันธ์ของเรา...ก็เรียกว่าอัตวาทุปาทาน

มันถอนหมด ถอนทิฏฐิ ถอนอัตตา ถอนอัสมิมานะ มานานุสัย ...เห็นมั้ย พวกนี้มันเป็นอนุสัยทั้งนั้นแหละ เป็นอาสวะทั้งนั้น

จนถึงที่สุด...ถอนออกหมดที่ความไม่รู้ทั้งสิ้น...เรียกว่าอวิชชาสวะ ...นี่คือรากเหง้าที่มันจมอยู่ภายในรู้ตรงนี้...ตรงที่รู้ว่านั่ง รู้ว่าเดินนี่แหละ

มองดูมันไม่มีอะไรนะ ...แต่ในนั้นน่ะบานเลย  ยังมีอะไรที่เรามองไม่เห็นอีกเยอะ ที่มันพร้อมที่จะคลายตัวออกมา ให้เราหลง...หรือให้เรารู้แล้วละ

เวลามันคลายตัวออกมานี่ ถ้าไม่มีปัญญาก็หลงไปกับมัน ...ถ้ามีปัญญาก็เออรู้แล้ว เออ เข้าใจ แล้วก็ละทิ้งซะ ไม่เก็บเข้ามาอีก

ไอ้อย่างเนี้ย คือการปฏิบัติ อย่างเนี้ยถึงเรียกว่าอยู่ในองค์มรรค ...ว่าขยันเก็บ...หรือว่าขยันละออก

ไม่ใช่รู้อะไรแล้วก็สอดส่อง ...เนี่ย รู้อยู่แค่นี้ นั่งก็จะรู้เฉยๆ อย่างนี้  แต่รู้ไปรู้มา หงุดหงิด งุ่นง่าน หาอะไรทำดีกว่า ให้มันได้มากกว่านี้ ...เนี่ย รู้แล้วหลงอย่างนี้ 

รู้ว่ามีแค่นี้...ยังไม่พอ แล้วยังหลงไปหาอีก ...อย่างนี้คือรู้แล้วเก็บ รู้แล้วติด รู้แล้วข้อง รู้แล้วยังมีมลทิน ...เนี่ย รู้ไม่จริง รู้แล้วหลง

แต่ถ้ารู้ ...แล้วก็พอมันจะว่า...เอ้อ..อะไร น่าจะอะไรอย่างนี้ดีมั้ย น่าจะหยิบเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาพิจารณาดีมั้ย ...พอเห็นอย่างนี้ปุ๊บ...ละเลย ละความเห็นนี้เลย ละความเชื่อนี้ออกไปเลย

เนี่ย รู้ละ อย่างนี้  รู้ละ รู้ถอด รู้ถอน รู้ปล่อย รู้วางออกไป ...มันจึงลอกสันดอน สันดาน ของอาสวะออกจากกมลสันดาน ออกจากใจไปทีละเล็กทีละน้อย

ใจมันก็จะเบาขึ้น บางขึ้น คลายขึ้น เป็นอิสระขึ้น ออกห่างจากขันธ์มากขึ้น


(ต่อแทร็ก 4/22)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น