วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 4/33 (2)


พระอาจารย์
4/33 (add540401C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 เมษายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 4/33  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่พวกเราเบื้องต้นยังต้องเจริญธรรมขึ้นมา คือธรรมที่เรียกว่าสติธรรม ...มันเป็นกุญแจที่จะเปิดประตูสู่ความเป็นจริงถึงที่สุด และก็ต้องเรียนรู้กับสติจนช่ำชอง

จนเข้าใจว่าอันไหนเป็นสัมมาสติ อันไหนเป็นมิจฉาสติ ...อันไหนสติที่มันรู้แล้วโลดแล่นออกไป อันไหนเป็นสติที่รู้แล้วละ รู้แล้ววาง

มันจะไปจำแนกเอาด้วยตัวเอง...ด้วยประสบการณ์ ด้วยการฝึกฝน ด้วยการทำถูกทำผิด รู้ผิดรู้ถูกนี่แหละ 

ต่อให้พระอรหันต์สิบองค์มาบอกว่าอันนี้ใช่อันนี้ถูก มันก็ไม่เท่ากับตัวเองทำเอง เรียนรู้เองด้วยประสบการณ์ ...พอ อ๋อ แล้วมันบอก หูย ครูบาอาจารย์พูดมาเป็นสิบๆ ครั้งกูเพิ่งเข้าใจนี่ล่ะวะ

แล้วมันเข้าใจเองด้วย ...ก็เคยฟังมาแล้วอ่ะ อาจารย์ท่านก็พูดแล้วพูดอีก ทำไมถึงไม่รู้เรื่องเลยวะ...แต่พอรู้...อ๋อ แค่นี้เองน่ะ เข้าใจ ...นั่นแหละ สำคัญ เป็นปัจจัตตัง

แต่มันจะเป็นปัจจัตตังไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำผิดทำถูกมาก่อน ...ถ้าไม่มีการเจริญความเพียรขึ้นมาหรือว่าสัมมาอาชีโว คือเจริญศีล สมาธิ ปัญญาอยู่บ่อยๆ ต่อเนื่อง

อาจผิดบ้าง อาจถูกบ้าง อาจได้ผลบ้าง อาจเข้าใจบ้าง อาจไม่เข้าใจบ้าง ทำเข้าไปเถอะ รู้มันเข้าไป ...ตีตะปูสิบครั้งน่ะ โดนสักครั้งก็ดีแล้ว  ตีเข้าไป ร้อยครั้งถูกสักครั้งก็ยังดี ตีเข้าไป

แต่ถ้าไม่ตีสักครั้งก็ไม่มีวันถูกเลย ...เพราะนั้นร้อยครั้ง..ถูกครั้ง ต่อไปก็เก้าสิบเก้าครั้งถูกหนึ่งครั้ง ก็ดีแล้ว เก้าสิบแปดครั้งถูกครั้ง ดีแล้ว ...เอาจนตีครั้งเดียวถูกทุกครั้ง นั่นแหละ มหาสติ

รู้ปุ๊บ ผุ้บ เข้าใจ..the end รู้ปั๊บ the end ๆๆๆ ...ไม่มี continue ไม่ไปหาให้มีภาคหนึ่งภาคสองภาคสามภาคพิสดารต่อเนื่อง ...ไม่มี จบในตัวของมันหมด end หมด

ขึ้นมาปุ๊บ นี่ เห็นหน้าปุ๊บไม่ต้องดูเลย อะไรก็ได้...จบ เสร็จ ไม่ต้องดูทั้งเรื่อง ...ตรงนั้นน่ะ มันมีที่จบเลย  ไอ้นี่มันต้องรอภาคหนึ่งภาคสองภาคสาม เหมือนหนังที่สร้างมันเข้าไปหลายภาค

เอามันอย่างนี้ ...จะไม่ต่อเนื่อง เพราะความจริงก็คือความดับความจบ มันถึงจะจบได้ในที่เดียว จึงจะเรียกว่ามหาสติ ...เมื่อมีมหาสติในระดับนั้น จึงจะว่าเป็นมหาปัญญา

มันจะต่อเนื่องเกิดดับๆๆๆๆๆ เห็นจิตขยับพั้บดับ ขยับพั้บดับ  มึงอย่าออกมานอก แลบออกมา มึงอย่าแลบออกมา ...อวิชชา ปัจจยา สังขาราเมื่อไหร่ ดับตรงนั้น

จึงจะเรียกว่าสติปัฏฐานที่เรียกว่ามหาสติ ...กระบวนการปัจจยาการทั้งหมด ผั่บ ดับยันทุกข์ ปริเทวะ โสกะ โทมนัส อุปายาส ...หมดจดตลอดสาย ณ ที่เดียว

ไม่ต้องไปไล่ดับทุกข์ตรงไหนเลย ไม่ต้องไปทำความแจ้งตรงไหนเลย แจ้งในที่เดียว ดับหมดเลย ...ถึงเรียกว่าเบ็ดเสร็จ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมลงพอดีกัน สมดุลกัน เป็นมรรคสมังคี อยู่ในที่เดียว

ทำแทบตาย ไม่เห็นทำอะไรเลย อยู่แค่นั้นแหละ...กระดิกตีนยังเข้าพระอรหันต์ได้เลย ไม่ทำอะไร ...พูดเปรียบเทียบนะ เดี๋ยวไปนั่งกระดิกตีน...เมื่อไหร่กูจะได้เป็นพระอรหันต์ซะที (หัวเราะกัน)

เปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปไมย คือว่าจิตมันจะต้องหยุดอยู่ในปัจจุบันจริงๆ  ถึงจะเข้าใจว่าการหยุดนั่นแหละคือการเดินไปในองค์มรรค ...ไม่ใช่เรากำลังวิ่งตามหาอะไรอยู่

เหมือนเด็กวิ่งตามหาของเล่นน่ะ เหมือนกับคนมีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เอาของเล่นหรือเอาขนมมาล่อหลอก แล้วเด็กก็วิ่งงอแง วิ่งตาม แล้วก็พยายามจะหาเงินมาซื้อหาเอามาครอบครองเอามาเป็นสมบัติ

ทั้งๆ ที่มันเป็นของเล่น เข้าใจคำว่าของเล่นมั้ย ไม่ใช่ของจริง ...มันเป็นของเล่น แต่เราคิดว่าจริง เล่นตักหม้อข้าวหม้อแกง เหมือนเด็กเล่นของเล่น ไม่มีสาระแก่นสาร

แล้วจะเข้าใจเองว่าที่เราทำมาทั้งหมดหาสาระแก่นสารใดๆ ไม่ได้เลย ...แม้จะใส่ชื่อเรียกขานกันว่าเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าไม่เข้าใจ มันก็กลายเป็นของเล่นไป

แต่ของจริงกลับไม่เหลียวไม่แลไม่หยั่งลงมา...ในปัจจุบัน ...มันเลยไม่เข้าถึงธรรม มันเลยไม่เห็นธรรม ...เมื่อไม่เข้าถึงธรรมไม่เห็นธรรมแล้วมันจะไปละธรรมตรงไหน มันจะไปละความเห็นผิดในธรรมได้อย่างไร

รู้อย่างเดียว..จบหมด  ไม่ต้องทำอะไรอื่น ไม่ต้องคิดมาก ...รู้ถูกรู้ผิดรู้มันเข้าไป มีก็รู้ไม่มีก็รู้ อยากก็รู้ไม่อยากก็รู้ จะทำก็รู้ไม่ทำก็รู้ อยากคิดก็รู้ไม่อยากคิดก็รู้

รู้มันเข้าไป อะไรเกิดขึ้นปรากฏขึ้น รู้ลูกเดียว รู้มันลงไป รู้แบบหน้าด้านๆ รู้ซื่อๆ ...กำลังทำอะไรอยู่รู้มันลงไป จิตกำลังทำอะไรอยู่รู้มันลงไป กายกำลังทำอะไรอยู่รู้มันลงไป

แค่รู้นั่นแหละ ลืมแล้วรู้อีก เผลอไปอีกรู้อีก ทำอะไรอยู่รู้ลงมา กลับมารู้อยู่ตรงนี้ เตือนตัวเองบ่อยๆ ซ้ำซากอยู่แค่นี้แหละ ...จนมันหยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่หนีออกนอกปัจจุบัน

นั่นแหละ ถึงจะเรียกว่า จะเป็นปัจจัยให้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมา ...ไม่ต้องไปเรียกหาเลยความรู้ความเข้าใจ มันจะเข้าใจด้วยตัวของมันเองเลย 

แต่ถ้ายังขาดเป็นวรรคเป็นตอน ขาดตกบกพร่อง หลงใหล เผลอเพลิน เลื่อนลอยออกไป โดยเข้าใจหมายมั่นในธรรมอันนั้นอันนี้ ...มันจะได้ผลอย่างเดียวคือสงสัยกับลังเล ขุ่นมัว เศร้าหมอง

มีบ้างเป็นบางครั้งที่เป็นความสุขเป็นปีติแค่นั้น นิดๆ หน่อยๆ แต่มันจะยืนอยู่ด้วยความเศร้าหมองขุ่นมัว...ไม่ได้สักที ไม่ได้สักที ไม่เข้าใจสักที

ทิ้งเลย ทิ้งอาการนั้นเลย มารู้โง่ๆ เห็นก็รู้ว่าเห็น ได้ยินก็รู้ว่าได้ยิน ให้รู้แบบโง่ที่สุด รู้แบบคนไร้อนาคตหมดสิ้นรูปแบบของนักปฏิบัติ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น

อะไรเกิดขึ้นก็รู้มันตรงนี้ รู้เท่าที่มันปรากฏ ได้ยินก็รู้ ดับไปก็รู้  ไม่มีอะไรก็รู้ตัว ...อยู่อย่างนี้ ดูซิ มันจะไม่เข้าใจได้ยังไง

พระพุทธเจ้าท่านยืนยันการันตี ให้รู้อยู่แค่นี้ ๗ วัน  เดือน  ปี เข้าใจแล้ว ...ท่านไม่พูดเป็นชาติเลยนะ สติปัฏฐานน่ะ ท่านพูดว่า  วัน  เดือน  ปี เท่านั้นแหละ...แจ้ง

อย่าไปอ้อแอ้แก้ตัว หาเรื่องนั้นหาเรื่องนี้มาทำ มาสนับสนุนการปฏิบัติ มันจะกลายเป็นลิเกทรงเครื่อง ...เคยเห็นลิเกมาเดินกลางถนนมั้ย เหมือนนักปฏิบัติธรรมเด๊ะเลย

พยายามใส่มันเข้าไป เพิ่มมันเข้าไป เติมเข้าไป แพรวพราวไปหมด เตะหูเตะตาคนเดินถนน  มันก็เตะหูเตะตาดีหรอก แต่คนเดินข้างๆ บอกว่ามันบ้ารึเปล่าวะเนี่ย มันออกลิเกหลงโรงรึเปล่าวะ

แต่นักปฏิบัติธรรมที่เจริญสติจริง ปฏิบัติจริงๆ ดูไม่ออกนะ ไม่เหมือนกับคนปฏิบัติตรงไหนเลย  เดินชนหน้ากันก็เดินผ่านไปเลย เดินชนเหยียบหัวแม่ตีนแล้วก็เดินผ่าน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ก็เหมือนกับคนธรรมดา ไม่ได้มีเค้าลางว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมตรงไหนเลย ...ก็ยังมีรักโลภโกรธหลงเหมือนกันแหละ เด๊ะเลย...แต่มีเท่านั้น และก็มีชีวิตอยู่แค่นั้น

ไม่ได้มีชีวิตอยู่กับการรอคอย ไม่ได้มีชีวิตกับอดีตที่ผ่านมา ไม่ได้มีชีวิตเพื่อไปในวันข้างหน้า ...แต่มีเท่านั้น เท่าที่มันมี จนเรียกว่า..พูดได้ว่า เหมือนนกบินไปในอากาศ ไม่มีร่องรอย

แต่อย่าบอกว่าไม่เคยมีนกบินตรงนั้นในอากาศ นี่ ไม่รู้หรอก มองไม่เห็น แต่อย่าบอกว่าไม่มี...มี  เหมือนรอยเท้าในอากาศ มีการเดินแต่ไม่มีรอยเท้า ไม่มีการจดจำจารึกลงไว้ในแผ่นดิน

ไม่เหมือนพวกเรา ย้ำแล้วย้ำอีกๆ ...อย่าลืมกันนะ เจอกันอีกนะ ต้องให้เขาจำเราให้ได้นะ ในการกระทำอันนี้ ในสิ่งที่เราทำอันนี้ ทำได้ขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่บอกคนอื่นถ้าไม่รายงานคนอื่นแล้วจะอกแตกตาย

กลัวเขาไม่รู้ กลัวเขาไม่เห็นค่า กลัวเขาไม่เห็นตัวตนของเรา กลัวเขาจะลืมความเป็นตัวตนของเรา กลัวเขาจะจำตัวตนของเราไม่ได้ อย่างนี้  มันต้องฝากอะไรไว้กับโลก 

เสร็จแล้วมันก็จะมาเอาคืนของที่มันฝากไว้ เหมือนวงเวียนวงกรรม รอยวงล้อเกวียนกับรอยของเกวียนในดิน หมุนไปเท่าไหร่ก็มีรอยตามเป็นวัฏจักร เป็นความไม่จบสิ้น เป็นกรรม เป็นความผูกพัน เป็นความหมายมั่น

พระพุทธเจ้าถึงเปรียบพระอรหันต์เหมือนเกวียนที่ถูกหักเพลา ไม่มีการหมุน และก็ไม่มีรอยเท้า ไม่มีรอยเกวียน ...แต่ถ้าเกวียนยังเดิน มันก็มีรอย ...ถ้ามันไม่เดิน มันก็ไม่มีรอย เหมือนจิตที่หยุดแล้ว

เหมือนพระพุทธเจ้าท่านตรัสกับพระองคุลีมาลว่า...เราหยุดแล้ว เธอสิไม่หยุด แค่นี้ องคุลีมาลเข้าใจเลย ว่าที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็น ต้องการสอนคืออะไร และที่ท่านทำอยู่คืออะไร

ท่านก็ละลงตรงนั้น จิตท่านก็กลับมาหยุดอยู่ตรงปัจจุบัน ...ไอ้ที่ท่านไขว่คว้าหาธรรมด้วยการฆ่าฟัน ด้วยการเบียดเบียน ด้วยเข้าใจว่าจะเป็นที่สุดของธรรม เนี่ยท่านถูกหลอกแล้ว...หยุดเลย

ท่านกลับมาเห็นทันทีว่าทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะหยุด ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมันปรากฏตามความเป็นจริงเมื่อหยุดอยู่ในปัจจุบันนั้น โสดาบันก็แจ้งขึ้นมา

หยุดมัน...จนหมดกำลังขับเคลื่อนของมัน นั่นแหละจึงเรียกว่าพระอรหันต์ ...แต่ไม่ได้หยุดด้วยการบังคับ ไม่ได้หยุดด้วยการจงใจ ไม่ได้หยุดด้วยการกดข่ม

แต่หยุดด้วยการที่สติระลึกรู้ในปัจจุบัน และเห็นอาการของมันหยุดเอง และถึงมันจะเคลื่อนออกอีก ช่างมัน...หยุดอีก รู้อีก

อย่าไปบังคับให้มันหยุดตลอดเวลา เดี๋ยวมันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ...ให้หยุดด้วยสติ ระลึกขึ้นปุ๊บให้เห็นเลยตรงนั้นมีอาการหยุดหมด โลกนั้นหยุดหมดในขณะนั้น หนึ่งขณะ

เมื่อรู้ปัจจุบันบ่อยๆ จะเห็นว่าจิตหยุดหมด แล้วทุกอย่างหมุนตลอดเวลา...แต่จิตมันไม่หมุนตามโลก

เอ้า เอาแล้ว ไป มีโอกาสค่อยมา


.................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น