วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 4/31 (1)



พระอาจารย์
4/31 (add540401A)
1 เมษายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ปัญหาธรรมดา ...วิธีแก้ไม่มีอะไรหรอก ก็อย่างที่บอก กลับมารู้ตัว ให้กลับมารู้ตัวในทุกอาการ ไม่ต้องไปลังเลสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งหมดมันเป็นแค่อาการ ไม่ว่าอะไร ไม่ต้องไปเอาถูกเอาผิด ...มันจะเกิด มันจะเป็นอย่างไร นะ มันเป็นเรื่องของอาการ ของขันธ์ปรุงแต่ง เรื่องของนิสัย

แค่รู้ๆ ...ถ้ารู้ปัจจุบันไม่เป็น ไม่รู้จะรู้ปัจจุบันยังไง กลับมารู้ตัว..รู้ตัว ให้รู้ตัว ...แค่กลับมารู้ตัว รู้ตัวเท่านั้น ทุกอย่างมันจะหยุดหมด ในอาการนั้นๆ ขณะนั้นน่ะ 

แล้วก็กลับมารู้ตัวบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จะทำอะไร จะอะไรก็กลับมารู้ตัว ...เพราะว่าตรงที่รู้ตัวน่ะ มันจะเป็นปัจจุบันที่สุดแล้ว  ถ้ายังหาปัจจุบันไม่เจอว่าอะไรเรียกว่าเป็นปัจจุบันน่ะ คือรู้ตัว

ถ้ารู้ตัวน่ะ ปัจจุบันแน่นอน ...เพราะตัวมันยืนอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ เดินอยู่ ขยับอยู่ เฉยอยู่  ตรงนั้นน่ะตัวมันปรากฏอยู่...มันมีอยู่ตลอดเวลา ...เพราะฉะนั้นในการกลับมารู้ตัวตรงนั้น มันจะเป็นปัจจุบันที่สุดแล้ว 

แล้วถ้ารู้ตัวบ่อยๆ แล้วมันจะเห็นเอง...ว่าอาการที่เรากำลังวุ่นวี่วุ่นวายอยู่กับอาการนั้นอาการนี้น่ะ มันจะค่อยๆ ดับไป ..จริงๆ น่ะมันดับไปตั้งแต่ขณะที่รู้ตัวแรกแล้ว นะ 

แล้วมันก็..พอความรู้ตัวนั่นขาดไปปุ๊บ มันก็จะมีอาการตกค้างของการปรุงต่อ หรืออารมณ์ยังนอนเนื่องหรือว่าต่อเนื่องออกมา ...ก็ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ รู้ตัวลงไปอีก 

กลับมารู้ตัวอีกบ่อยๆ ทุกอย่างมันก็จะจางในตัวของมันเองอยู่แล้ว ...แล้วไม่ต้องไปลังเลสงสัยในอาการหรืออารมณ์ที่มันปรากฏ...จะสงสาร จะยินดี จะยินร้าย คือแค่รู้ กลับมารู้ตัว 

มันเป็นแค่อาการ อย่าไปจับอาการนั้นมาเป็นอารมณ์ต่อ ...นี่ อย่างแม่โยมน่ะ สงสารแล้วจะทำยังไงถึงจะแก้ความสงสารได้ ...ไม่ต้องแก้ มันเป็นยังไงมันก็เป็นอย่างนั้น 

รู้ตัวบ่อยๆ ไม่ต้องจับมาเป็นอารมณ์ต่อเนื่องว่าจะทำยังไงกับมันดี ...รู้ตัวน่ะ มันจะแก้ได้หมด ก็เห็นว่าได้ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ได้ แค่นั้นเอง ไม่มีอะไร ไม่ต้องกังวล

ส่วนไอ้ที่ว่าเผลอไป ไหลไป อารมณ์กระทบรุนแรงน่ะ มันเป็นเรื่องธรรมดา...ปัญญามันยังน้อยอยู่ ไม่เท่าทัน นะ มันไหลไปก่อนแล้วค่อยรู้ ...เป็นปกติ ไม่ผิดหรอก

แล้วต่อไปมันก็จะค่อยๆ พัฒนาของมันขึ้นมาเอง อย่ารีบร้อน อย่าใจร้อน อย่าใจเร็ว อย่าเอาแต่ผล หวังแต่ผล นะ ...ประกอบเหตุคือเจริญสติ

เหตุที่จะเข้าไปถึงระงับที่ผลของการดับไปน่ะ คือต้องเจริญสติ ...ต้องประกอบเหตุตัวนั้นมากๆ แล้วผลมันก็จะเห็นเป็นเงาตามตัวไปเอง

แต่ถ้ายังมาตีโพยตีพายหรือว่าจะหาวิธีลัดวิธีสั้น นั่นมันเป็นเรื่องของความอยาก ความโลภ ...แก้ไม่ได้หรอก ความคิดก็แก้ไม่ได้ ...มันอยู่ที่ว่าประกอบเหตุให้ตรง คือศีล สมาธิ ปัญญา

คือเจริญสติเข้าไป มันก็จะพัฒนาขึ้นมา ...ต่อไปมันก็จะเท่าทันได้มากขึ้น ไวขึ้น แล้วก็..ความแข็งแกร่งของการรับรู้หรือสติที่รู้ทันในปัจจุบันเป็นสติตัวจริงตัวแท้มันก็...รู้ปุ๊บดับปั๊บไปเอง

แต่ตอนนี้สติมันยังไม่เป็นสติตัวจริงหรือสติตัวแท้ ...มันยังเป็นสติที่ต้องบังคับ ต้องจงใจ ต้องสร้างขึ้นมา พวกนี้ ...มันเลยรู้แล้วยังเคลื่อนออก รู้แล้วก็เคลื่อนออก รู้แล้วก็ยังเคลื่อนออกไปอยู่

ฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ อย่าท้อถอย ...แล้วมันจะจับได้เองว่าสติตัวจริงคือแค่รู้ตัวนั่นแหละ ทุกอย่างดับหมดเลย มันจะสังเกตได้มากขึ้น ชัดขึ้น

กลับมารู้ตัวบ่อยๆ แล้วมันจะชัดเจนขึ้นว่า มันไม่มีอะไรน่ะ มันไม่มีอะไรหรอก มันอยู่ที่เราไปให้ความสำคัญกับมันเอง ...พอกลับมารู้ตัวแล้ว ปุ๊บ มันจะหยุดให้ความสำคัญในขณะนั้นเลย

เหมือนมีใบบัวอันนึงน่ะ ฝนตกลงมา มันก็ห่อน้ำอยู่อย่างนี้ น้ำมันก็จะหนักขึ้นๆๆ เรื่อยๆ ...พอเราพลิกใบบัว เห็นมั้ย ถ้าพลิกใบบัวนี่ น้ำมันอยู่ไม่ได้แล้ว

เหมือนกับการที่สติระลึกรู้หรือว่าสติตัวจริงน่ะ หรือว่าการรู้ตัวธรรมดานี่ พอกลับมารู้ตัว พั้บนี่ ก็จะเหมือนกับพลิกใบบัวที่มันกำลังห่อน้ำ มันจะพลิกหายไปลงทันตาเลย

นั่นแหละ ให้เห็นความสำคัญของการรู้ตัว รู้ตัวในปัจจุบันนั่นแหละ ทุกอย่างดับหมด ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้รู้ตัวอย่างนั้นบ่อยๆ แล้วจะเข้าใจ

พอรู้ตัวแล้วปุ๊บ คราวนี้ก็เกิดความ..ต้องอาศัยความต่อเนื่อง รู้ตัวแบบต่อเนื่องเป็นสัมปชัญญะ  คือรู้ไปเรื่อยๆ รู้ไป ...มันก็จะผ่าน ลักษณะนี้มันก็จะเป็นผ่าน

คือถ้ามีการรู้ตัวเป็นสัมปชัญญะ ใบบัวที่เราเคยหงายรับทุกสิ่งน่ะ พอรู้ตัวทีมันก็วาง มันก็คลายไป ...แต่ว่าไม่มีสัมปชัญญะต่อเนื่องปุ๊บ เดี๋ยวมันก็พลิกคืนอีก

มันก็มารองรับอารมณ์ มารองรับรูปเสียงกลิ่นรสความคิดความจำอดีตอนาคต ...มันก็ค่อยๆ หนักปุ๊บ ไม่ไหวปุ๊บ ก็รู้ตัวปุ๊บทีนึง อย่างนี้เข้าใจมั้ย

แต่ถ้าเรารู้ตัวปุ๊บ ได้บ่อยขึ้นๆ มันจะเกิดความต่อเนื่อง ...พอต่อเนื่องปุ๊บนี่มันจะรู้ผ่าน คราวนี้น้ำฝนตกลงมามันก็ผ่านหมด ก็แค่รู้ผ่านๆๆ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ ...อย่างนี้เรียกว่าสติและสัมปชัญญะ

แต่ขณะนี้เราเจริญสติให้ได้ก่อน รู้ตัวให้เป็น รู้ตัวบ่อยๆ ...อย่าไปเอาอะไร ทิ้งแล้วทิ้งไป หายแล้วหายไป ไม่ต้องคิดว่ามันจะมีผลยังไง จะดีจะร้ายต่อไปยังไง

อนาคตเราจะวางตัวยังไง แล้วจะทำยังไง เจอกันอีกครั้งจะต้องไปทำอะไรกับเขา แล้วถ้าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นจะทำยังไงอย่างนี้ต่อ ...อันนี้ไม่ต้องไปกังวลเลย ทิ้งแล้วทิ้งเลย

ทิ้งมันแบบด้านๆ ดื้อๆ เลย ช่างหัวมัน แล้วก็รู้ตัวอีก ...ถ้ามันเริ่มปรุงต่อ เริ่มคิดต่อ เริ่มกังวลไปถึงอนาคต เดี๋ยวเจอคนอย่างนี้จะเป็นอย่างนั้นมั้ย

ถ้าอย่างงั้นอย่างงี้แล้วเราจะวางตัวอย่างนั้นอย่างนี้ดีมั้ย อารมณ์นั้นเกิดขึ้นเราจะทำยังไง อารมณ์นี้เกิดขึ้นเราจะรู้ได้ทันมั้ย ...พอรู้ตัวปุ๊บ..ทิ้งเลย ไม่ต้องคิดต่อ

อย่าเสียดายความคิด อย่าเสียดายว่าถ้าเราไม่คิดแล้วเราจะวางตัวไม่ถูก แล้วเราจะแก้ไม่ถูก เราจะเข้าถึงทางตรงไม่ได้ เราจะออกนอกทาง ...ฟุ้งซ่าน..ฟุ้งซ่านทั้งนั้น

ทิ้ง...ทิ้งคือทิ้ง ละคือละ  อย่ามาเสียดายกิเลส อย่ามาเสียดายความคิด ...คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ยิ่งคิดยิ่งติด ยิ่งคิดยิ่งโง่  มันเข้าใจว่าคิดแล้วมันจะวางตัวเองได้ถูกต้อง

มันคิดว่าจะวางจิตได้ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุการณ์ข้างหน้าขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ ...ฝันเอาเหอะ ฝัน เขาเรียกว่าฝันเฟื่อง ฝันไปในอดีตมั่ง ฝันไปในอนาคตมั่ง

แต่มันไม่เห็นเลยว่าใครกำลังนั่งฝันอยู่ เนี่ย เห็นมั้ย นี่เขาเรียกว่ารู้ตัว...อ้อ ก็กูนั่งอยู่เนี่ย  ใครคิดล่ะ ..ก็กูกำลังนั่งคิดอยู่ ...นี่เห็นมั้ย กลับมารู้ตัวในปัจจุบัน นี่รู้ตัว

พอรู้ตัวในปัจจุบัน ฝันสลายเลย ...ฝันสลายแล้วคราวนี้พอรู้ว่าฝันสลาย เริ่มอีกแล้วๆ เอาอีกแล้ว คิดต่ออีกแล้ว ...เมื่อกี้ยังคิดไม่จบ เมื่อกี้ยังคิดไม่จบยังไม่ถึงผลที่สุดเลย อย่างนี้อีกแล้ว

นี่เรียกว่าเริ่มไหล เริ่มไหลอีกแล้ว เริ่มหลง เริ่มเข้าไปปรุงแต่ง เข้าไปจริงจังกับความคิด เข้าไปจริงจังกับความปรุงแต่ง เริ่มเข้าไปมีรูปมีนามมีอัตตาในอดีตในอนาคตมารอ

นี่ เริ่มสร้างภพใหม่ ...รู้อีก อย่าเสียดาย ละเลย โง่เข้าไว้ ...นี่โง่ เห็นมั้ย คือเราติดกลัวโง่ กลัวไม่เท่าทัน กลัวไม่ฉลาด กลัวไม่ฉลาดกว่ากิเลส กลัวไม่ฉลาดกว่าอารมณ์

คือกลัวไม่ฉลาดต่อเหตุการณ์เหตุบุคคล ถ้าเราไม่คิดไว้ก่อนนี่เราจะรับมือไม่ทัน ไม่ต้องรับมืออะไร ไม่รับอะไรเลย ...มันจะไปรับอะไร ก็แค่รู้ รู้ตัวอยู่แค่นั้นน่ะ

คิดก็รู้ คิดอีกรู้อีก คิดอีกรู้อีก รู้ตัวอยู่อย่างนั้นน่ะ ดูซิมันจะไปไหน อย่างนี้  กังวลก็รู้ เกิดอารมณ์ขึ้นก็รู้ รู้ตัวลงไปอยู่ตรงนี้ ดูซิอารมณ์มันจะตั้งได้มั้ย  มันก็...พอมันจะเริ่มพลิก...รู้อีก พอพลิกรู้อีก 

เนี่ย มันจะเป็นสัมปชัญญะ แล้วต่อไปมันจะเห็นผลเอง ...เห็นผลยังไง แค่รู้แค่นี้..ไม่เห็นมีทุกข์เลย  แล้วก็ทำอะไรได้หมดเลย เจออะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไร หือ

แต่ตอนนี้เรายังมีสิ่งที่เรากลัวอีกเยอะ ...ถ้ามาแบบนั้นน่ะ ถ้ามาซ้ายล่ะ ถ้ามาขวาล่ะ  แล้วถ้าเราเคยเจอแต่ซ้ายไม่เคยเจอขวา ถ้ามันมาขวาล่ะ ถ้ามันมาบนล่ะ เอ๊ะ แล้วเราจะวางยังไงถ้ามาล่าง

อย่างนี้ มันกังวล เห็นมั้ย มันกลัว ...ไม่ต้องกลัว ตายก็ตาย อย่างมากก็ตาย กลัวทำไม ...พอถึงเวลาปัจจุบันปุ๊บ พลิกเลย รู้ตัว ...มันอยากเป็นอะไรช่างมัน

เราไม่ได้ห้ามอารมณ์นะ เราไม่ได้ห้ามการมีกิเลสเกิดขึ้นในขณะนั้นน่ะ เราไม่เคยบอกว่ากิเลสนั้นผิดนะ ...เกิดก็เกิด เกิดก็รู้ เกิดอีกก็รู้อีก เกิดมากก็รู้ว่าเกิดมาก เกิดน้อยก็รู้ว่าเกิดน้อย ไม่เกิดก็รู้ว่าไม่เกิด เอาดิ

นี่ถึงจะเรียกว่าอยู่แค่รู้ นี่ถึงจะเป็นสติตัวจริง ...ไม่ใช่เป็นสติที่คาดๆ เดาๆ รู้แล้วก็เดา รู้แล้วก็คาด รู้แล้วก็หวัง รู้แล้วก็จะอย่างนั้น รู้แล้วก็จะเปลี่ยนแปลง รู้แล้วก็จะให้มันดีขึ้น รู้แล้วก็จะให้ดีๆๆ

ไม่ต้องเอาอะไรอ่ะ กินไปวันๆ เรียกว่ารู้เป็นขณะๆ ...ไม่ต้องคิด  รู้แล้วไม่ต้องคิดต่อ รู้แล้วไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นยังไงต่อไป เห็นมั้ย พอรู้จริงๆ น่ะ ถ้าเป็นสติตัวจริงมันจะรู้แล้วมันไม่มีทั้งอดีตและอนาคต 

ถ้าเป็นสติตัวจริงน่ะ...จะอยู่แบบคนไร้อนาคต เป็นพวกสิ้นคิด สิ้นคิดสิ้นดีเลย ช่างเป็นคนไร้ความคิดสิ้นดีเลย เป็นคนไร้อนาคตอย่างมาก นั่นน่ะกล้ามั้ยล่ะ

นี่ แค่คิดก็กลัวแล้ว กลัวจะเข้ากับคนในโลกไม่ได้ กลัวจะไม่ทันคน กลัวจะโดนเขาหลอกมั่ง กลัวจะถูกเบียดเบียน ...เห็นมั้ย มันสร้างภพไว้ล่วงหน้านะ 

แล้วมันจริงจังในภพล่วงหน้า ทั้งๆ ที่ว่ามันยังไม่มีอะไรเกิดเลยนะ ..แต่มันกลัวแล้ว เห็นมั้ย มันกลัวความจริงในความคิด ...เนี่ย มันจริงตรงไหน

เคยฟังเรื่องอารัมณูปณิชฌาน ลักขณูปณิชฌานมั้ย ...อารัมณูปณิชฌานคือเข้าไปอยู่ในอารมณ์กับมัน  ลักขณูปณิชฌานคือเห็นลักษณะ คือเนี่ยรู้ว่าคิดอย่างนี้คือลักขณูปณิชฌาน คือรู้ว่าลักษณะของมันเป็นความคิด

แต่ถ้าอารัมณูปณิชฌานคือ ไม่ได้รู้ว่ากำลังคิด...แต่อยู่ในความคิด เข้าไปอยู่ในอารมณ์นั้น ไม่ว่าสุขไม่ว่าทุกข์ ไม่ว่าเวทนา ไม่ว่าอะไร มันเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วก็ไปเพ่ง

เหมือนกับเรารู้น่ะ ดูเหมือนรู้ แต่ไม่ใช่รู้นะ ...คือไม่รู้ว่าลักษณะของมันจริงๆ คือมันเป็นแค่ความคิด ลักษณะจริงๆ คือมันเป็นแค่เวทนา ลักษณะความจริงมันเป็นแค่ปรุงไปในอดีต ปรุงไปในอนาคต

เพราะนั้นถ้ารู้ว่าคิด ไม่จำเป็นจะต้องไปรู้ว่าคิดอะไร เอาอย่างนี้ดีกว่า ...ไม่ต้องไปสนใจว่ามันคิดถึงใคร ไม่ต้องสนใจว่ามันคิดเรื่องอะไร ก็รู้ว่าคิด

เห็นมั้ย มันต่างกันนะ รู้ว่าคิด...กับรู้ในความคิด ...นี่ชอบเข้าไปรู้ในความคิด เขาเรียกว่ามันจะตามรู้ เหมือนควายถูกจูง เห็นมั้ย จูง ลากไปๆ ลากไปเชือด

แต่ถ้ารู้ว่าคิดนี่ จะรู้ว่าลักษณะเรากำลังถูกลากจูงไป อย่างนี้ เข้าใจมั้ย ...มันต่างกัน ลักขณูปณิชฌาน กับอารัมณูปณิชฌาน

เพราะนั้นถ้ารู้ลักษณะของมัน นี่ก็รู้ตามลักษณะ คิดก็รู้ว่าคิด ไม่ต้องรู้ว่าคิดอะไร ...ทิ้งเลย ไม่ต้องสนใจ เอ๊ะ คิดอะไรวะ เมื่อกี้คิดอะไรอยู่วะ ไปหาอีกแล้ว ทั้งๆ ที่มันดับไปแล้ว

อย่างเนี้ย จะเข้าไปอยู่ในอารมณ์ของความคิด...โดยเข้าใจว่าถ้าไม่แจ้งแล้วมันจะวางไม่หมด ถ้าไม่เข้าใจถ้าไม่เห็นต่อเนื่องจนถึงมันดับไปคาหูคาตาแล้วจะไม่เห็นไตรลักษณ์

เหมือนข้าวคอยฝนน่ะ...เมื่อไหร่มันจะดับวะ เมื่อไหร่มันจะดับวะอารมณ์นี้  ยิ่งดูยิ่งเครียด ๆ  ๆ มันไม่ดับสักทีโว้ย ...นี่เขาเรียกเข้าไปแล้วนะเนี่ย คืออารัมณูปณิชฌาน  

กับพอเริ่มจะไปแล้วได้สติระลึกรู้ กลับมารู้ตัว พั้บ มันจะหายไปให้เห็นน่ะ เอาดิ ลักษณะนั้นหายเลย ลองดู...หายเลย กลับมารู้ตัวพั้บนี่

เหมือนกับกำลังบ้าบอคอแตกอะไรวะ ฝันลมๆ แล้งๆ อยู่ ...รู้ตัวพั้บ มันจะหายวับอันตรธานไปเลย  นั่นแหละเขาเรียกว่า ให้เห็นว่าลักษณะของขันธ์น่ะ


เพราะนั้นแค่ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญกับมัน แล้วกลับมารู้ตัวลงในปัจจุบันพั้บนี่ จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นทันที ความไม่มีตัวไม่มีตนเกิดขึ้นทันที


(ต่อแทร็ก 4/31  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น