วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 4/31 (3)


พระอาจารย์
4/31 (add540401A)
1 เมษายน 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 4/31  ช่วง 2 

พระอาจารย์ –  นี่ ปัญญาเกิดตรงนี้ เห็นตามความเป็นจริง...อ้อ ..ดูไปเรื่อยๆ อ้อ อ๋อ เข้าใจแล้วๆ ๆ ไม่เห็นมันมีอะไรเลย กูบ้าบอคอแตกมากับอะไรก็ไม่รู้ ไร้สาระสิ้นดีเลย

ไม่งั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่พูดบอกว่าขันธ์ ๕ เป็นของว่างเปล่า โลกนี้เป็นของว่าง ...มันก็ว่าไม่เห็นว่างเลย ดูดิ มีหมดเลย …อือ มันมีบนความไม่มีน่ะ

เหมือนแดดนี่มันมีนะ มันมี..เขาเรียกอะไร physical ของมันเอง ใช่ป่าว ในลักษณะมันมี ...แต่มันไม่มีในความที่ว่ามันไม่มีโดยเจตนา มันไม่มีโดยที่ว่ามันเพื่ออะไร หรือเพื่อใคร

เห็นมั้ย เนี่ย มันมีด้วยความไม่มี ...แต่พระพุทธเจ้าท่านให้เห็นทั้งสองสิ่ง ท่านเลยเห็นว่าจริงๆ แล้วมันตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือความไม่มี ทุกสรรพสิ่ง

นี่ ตอนที่ท่านเข้าไปเรียนรู้ถึงคำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวไม่มีตน ...มันไม่มีเจตนา มันไม่มีว่ามันเพื่ออะไร

ไปยืนกลางแดดดิ ...ร้อน เท่ากันหมด  นอกจากความรู้สึกของคนนั้นคิดเอาเองว่ามากหรือน้อย ...แต่ความเป็นแดดที่ร้อนตรงนั้นน่ะ เท่ากันหมด

เพราะแดดไม่มีเจตนาแบ่งแยก ...กูไม่ชอบมึง กูชอบมึง กูต้องให้มึงร้อน กูต้องไม่ให้มึงเย็น...ไม่มี ...เท่ากันหมด ...นี่เห็นมั้ย บนความไม่มี เป็นกลาง นี่ธรรมชาติเหมือนกัน

น้อมธรรมชาติ...แล้วกลับมาดูธรรมชาติของกาย ...ปวด นั่งนานแล้วเมื่อย ชักเริ่มงึกๆๆ แล้ว กูเริ่มปวดแล้ว ขา..ปวดขา นั่งท่องอยู่นั่น ปวดขาๆ

ดูไปดิ๊ ดูไปกระทั่งว่ามันบอกมั้ยว่ามันเป็นขา มันเคยบอกมั้ยว่ามันปวด มึงช่วยเอาออกที  ปวดมันเคยบอกมั้ยว่ากูจะทำให้มึงเดือดร้อนเพราะกูนี่แหละ และก็มีอีกกูนึงว่า ปวดขาๆๆ

ไม่รู้ใครบ้ากว่าใคร ...ขามันเคยอุทธรณ์แจ้งฟ้องกลับ แจ้งขอความคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครองมั้ยว่า มึงต้องยกขากูออกไม่งั้นกูจะฟ้องมึง...อุทธรณ์มั้ย มันเรียกร้องขอความเห็นใจมั้ย

เหมือนกันมั้ยกับแดด เขาไม่มีเจตนาทั้งโดยที่เป็นกุศลและอกุศล...ก็เป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏ ...ถ้าพูดแบบหยาบๆ ก็ว่ามึงถือดียังไงว่าเป็นของมึง...บังอาจ

ถ้ามันมีปากมันก็จะบอกว่ามึงบังอาจมายึดมั่นถือมั่นเอาเอง ผิดศีลนะ ผิดศีลมั้ย ผิดมั้ย ...ทำไมจะไม่ผิด ไปถือครองในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของน่ะ ใช่ป่าว (โยมหัวเราะ)

ขโมยรึเปล่า ขโมยน่ะ ขโมยของที่เป็นของกลางอ่ะ แล้วบอกว่าของเราๆ จะไม่ผิดศีลยังไง ...เห็นมั้ย รักษาศีล ๕ แทบตายแต่อยู่ด้วยความผิดศีลตลอดชาติเลย

แล้วก็บอกว่าของเราทั้งๆ ที่ว่าเอาไปได้มั้ย ...นี่ ตายเกลื่อนตายกลาด กองไว้เผาไว้เป็นเถ้าเป็นถ่าน ก็ทิ้งไว้อยู่นี่ แล้วยังบอกของเราตัวเรา ของกูตัวกู ...โกหก ขโมย ศีลไม่บริสุทธิ์

แต่ศีลระดับนี้ไม่ต้องกังวล อันนี้เป็นศีลพระอริยะ เป็นศีลวิสุทธิ ...ท่านไม่เบียดเบียน ท่านไม่ถือครองของคนอื่นเลย เพราะใจท่านเป็นกลาง

ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่ ศีลหลอกเด็ก...ถือกันแทบตาย ไอ้คนถือศีลน่ะขี้ขโมยตัวใหญ่เลย โกหก แต่ถ้ากลับมาอยู่ที่ใจแล้วจะเข้าใจ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเป็นของใคร

แดดเป็นของใครล่ะ ไปจดลิขสิทธิ์เข้าสิ เดี๋ยวโดนฟ้อง ...โลกนี้ของกู ไปจดลิขสิทธิ์ดิ  มันจดลิขสิทธิ์หมดเดี๋ยวนี้ ดาวดวงนั้นดาวดวงนี้ก็ของกู...บ้า เห็นมั้ย

แต่ความรู้สึกนี่ มันฟังไปน่ะเข้าใจ ...แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แค่เข้าใจแล้วมันจะถอนออกได้...มันถอนไม่ได้นะ แต่ฟังนี่ทุกคนเข้าใจ เถียงไม่ได้หรอกอย่ามาเถียง แต่ก็กูก็ยังคิดของกูอย่างนี้ต่อไป

นี่คือสันดานหรือว่าอนุสัยที่มันฝังรากลึกมาก เคยชิน ...มันไม่ใช่แค่ชาติเดียว ไม่รู้กี่พันกี่ล้านชาติแล้ว ไม่เคยแก้สักที มีแต่จริงจังกับมันมากขึ้นๆ หวงแหนครอบครองมันมากขึ้นๆ

ไม่ยอมรับในสิ่งที่มันแปรเปลี่ยน ไม่ยอมรับในธรรมที่แสดงออกมาในการที่ว่าควบคุมไม่ได้ ไม่ยอมรับในธรรมที่มันแสดงอาการถึงความดับไป

เวลาตายนี่กลัวจัง แผ่นดินไหวยังไม่ทันตายเลยกลัวกันทั้งบ้านทั้งเมืองไปแล้ว ประสาทกินไปแล้ว ...เราถามว่าแผ่นดินไหวก็ตาย แผ่นดินไม่ไหวแล้วมึงอยู่รึไง หือ

ถ้าแผ่นดินจะไม่ไหวแล้วมึงจะไม่ตายรึไง (โยมหัวเราะ) มันจะไม่ตายกันเลยรึ  แล้วมันจะกลัวอะไรกับแผ่นดินไหว ...นี่เห็นมั้ยมันปฏิเสธในสิ่งที่มันเป็นความจริงน่ะ

แต่ถ้าเราเข้าใจแล้วกลัวอะไร กลัวก็ตาย ไม่กลัวก็ตาย ...ตายช้าตายเร็ว...ตายเหมือนกัน  ตายศพสวยตายศพไม่สวย...ตายเหมือนกัน  ตายก่อนตายหลัง...ตายเหมือนกัน ...ไปกลัวทำไม

ทำไมไม่ยอมรับความตายตั้งแต่ปัจจุบัน ...ยอมรับยังไง...รู้ตัว  รู้ตัวยังไง...รู้ตัว เหมือนคนตายมั้ย ตอนที่รู้ตัวน่ะ ดูดิ มันมีอะไร ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

คิดก็ไม่ได้ ไม่มีความคิด ไม่มีความรู้สึกไม่มีอารมณ์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีแต่รู้กับตัว มีตัวอันนึงกับรู้อันนึง ...มีอะไร อดีตก็ไม่มีอนาคตก็ไม่มี

เคยทำอะไรมา ไม่ทำอะไรมา จะทำอะไรต่อ...ตรงนั้นไม่มีเลย ...เหมือนคนตายมั้ย นั่น ตายมันเข้าไป ตายมันทุกขณะจิต ถึงเวลาตายจริงแล้วสบาย ก็ไม่เห็นมีอะไร

เคยตายมาแล้ว  ตายเป็นขณะๆ ...จิตมันอยู่ได้ต่อเนื่องด้วยเหตุปัจจัยผลักดัน นี่ถ้าตายตอนนี้ปุ๊บมันก็ไม่มีอะไร ก็ตายได้เลย มันไม่ได้ว่าประหลาดมหัศจรรย์อะไรหรอก 

อย่าไปกลัว ...กลับมารู้ลงในปัจจุบันแล้วจะเห็นความเป็นจริงว่าไม่มีอะไรหรอก ทำมาแทบตายน่ะ จะหาอะไรแทบตาย นี่ ยังไม่ได้อะไรสักอย่างน่ะ ...ดีแล้ว

เพราะมันไม่ได้อะไรหรอก การปฏิบัติธรรมไม่ได้อะไรหรอก ผลก็ไม่มีอะไรหรอก...มีแต่ความดับไปเป็นธรรมดา ผลก็บอกอยู่แล้วว่ามีแต่ความดับไปเป็นธรรมดา..นิโรธ

เห็นมั้ย อริยสัจ ๔ ท่านบอกอยู่แล้ว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.. นิโรธ แปลว่าอะไร ท่านก็แปลไว้ตรงตัวว่าความดับไป ความดับทุกข์ ดับไปเป็นธรรมดา

แล้วจะเอาอะไร จะเอาอะไร ผลที่สุดคือความดับไปน่ะ ...แล้วจะเอาอะไร จะเอาธรรมเหรอ จะเอาสภาวธรรมเหรอ จะเอาความสุขในธรรมเหรอ...แล้วมันจะถึงนิโรธยังไง

กับการที่เราอยู่ตรงนี้...ไม่มีไม่เป็นอะไรน่ะ อยู่แค่รู้กับปัจจุบัน นั่นแหละ ภาวะนิโรธก็ปรากฏขึ้นในขณะนั้นแล้วดับไปเรื่อยๆ รู้ดับรู้วาง รู้ดับรู้วาง ๆ

เอามันจนหมดน้ำมันน่ะ หมดเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นน่ะ หมดแล้วก็...ใครบ้างวะมันขับรถแล้วไม่รู้รถหมดน้ำมัน มันจะต้องให้ใครพยากรณ์มั้ย มันเป็นปัจจัตตัง

เห็นมั้ย รู้เองน่ะว่าดิ้นมาก ดิ้นน้อย ไม่ดิ้นเลย หยุดแล้ว...หมด หยุด รู้เลย พอน้ำลงหยดสุดท้ายบนชาแก้วนี้ปุ๊บ มันล้น ยังไงไอ้หยดนี้มันต้องล้นแน่ มันก็ล้นตรงหยดนั้นแหละ

รู้เลยว่ามันเต็ม รู้ว่ามันหยุดแล้ว มันพอแล้ว มันสมบูรณ์แล้ว มันเข้าสู่ความพอดีที่สุดเลย ...จะรู้เลย ในหยดสุดท้ายที่หยดลงบนแก้วชาที่กำลังรอวันเต็ม ล้นป้าง...จบ นั่นแหละพอดี สมดุล

ทำไมถึงว่าพอดี ...ธรรมชาติหนึ่งเป็นไตรลักษณ์คู่กับอีกธรรมชาติหนึ่งที่เป็นธาตุรู้ มันพอดีไม่ก้าวก่ายกันเลย ไม่เข้าไปเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ไม่เข้าไปจัดการตกแต่งขันธ์หรือว่าสิ่งที่รอบตัวธาตุรู้นี้เลย

หยุดโดยสิ้นเชิง นี่ พอดี ...เนี่ย ที่สุดของความพอดี ของมัชฌิมาปฏิปทา ของมรรคที่เราหากันจัง ที่ทำกันจัง นี่ ...ก็คือกลับมาสู่ความพอดีระหว่างสองสิ่ง

แต่มันจะไม่พอดีเมื่อไหร่... เมื่อมันมี "เรา" ...ถ้ามี "เรา" เมื่อไหร่  มันจะต้องมีการกระทำที่ไปก้าวก่ายขันธ์ ...เห็นมั้ย มันเกิดการไม่พอดี

ไอ้นั่นน้อย ไอ้นี่มาก  ไอ้นี่ขาด ไอ้นี่เกิน  ไอ้นี่มา ไอ้นี่ไม่ยอมไป  ไอ้นี่อยู่แล้วไม่ยอมกลับ  ไอ้นี่กลับแล้วไม่ยอมมาหากูอีก ...อย่างนี้ ก้าวก่าย

“เรา” มันก็จะเริ่มออกอาการ...กรรมเกิด เป็นมโนกรรมก่อน สร้างไว้รอไว้เป็นความคิดก่อน...จะทำอย่างไรกับมันดี ...เริ่มปรุง ขยับขึ้นมาปรุง

เพื่ออะไร ...เพื่อจะไปก้าวก่ายขันธ์ให้มากที่สุด...เท่าที่จะให้ผลที่ดีที่สุดที่กูต้องการ ...นั่นแหละ หน้าที่ของ "เรา" มีแค่นั้นแหละ

เพราะนั้น อย่าเสียดาย...ละซะ  พอเริ่มเข้าไปค้น เข้าไปหา เข้าไปสร้าง เข้าไปมี เข้าไปเป็น...รู้ตรงไหนก็ละมันตรงนั้นน่ะ หยุด...ด้วยการรู้ตัว รู้ตัวเลย ใจแข็งหน่อย

เหมือนหักยาเสพติดน่ะ...หักดิบ ...ตอนนี้เรากำลังเมายากันอยู่ มียาให้เมาอยู่ ๕ คือขันธ์ ขันธ์ ๕ ...แล้วมียาให้เมาเป็น accessories อีก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นเครื่องเคียงเครื่องจิ้ม

อาหารหลักคือขันธ์ ๕ ...เมา..กำลังเมามันกับขันธ์ ๕ ...ติด เสพติดขันธ์ เสพติดอายตนะ ...พอจะเลิกพอจะหยุดกับมันน่ะ เหมือนลงแดง มันต้องมีอาการ มันต้องออกอาการเป็นธรรมดา

ต้องทวนบ่อยๆ กลับมารู้ตัวซะ ให้มันรู้จักคำว่าสูญเสียซะบ้าง ...สูญเสียความคิด สูญเสียความรู้สึก สูญเสียความเป็นตัวเอง สูญเสียอาณาเขตอิทธิพลของตัวเรา

เพราะเรากลัวหลายอย่าง ...ถ้าไม่มีตัวเรา ถ้าตัวเราไม่เป็นอย่างนี้ จะถูกเขาล่วงเกิน เขาจะเข้ามามีอำนาจครอบงำ กลัวไปหมด ...มันก็เลยพยายามจะสร้างกรอบสร้างฐานปกป้อง “ตัวเรา”

เห็นมั้ย กิเลสมันรักษาฐานที่ตั้งของมัน ไม่ยอมให้ใครมาทำลาย “ตัวเรา ของเรา”  มีแต่ศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้นแหละที่จะไปจำแนกออก เพื่อไปทำลายล้าง "ตัวเรา"

เพราะนั้นเวลามันทำลายล้าง "ตัวเรา" นี่ ...เหมือนกับไปตีหัวพ่อตาแม่ยายน่ะ มันก็ร้องโอดครวญ หาข้ออ้างนั้นข้ออ้างนี้ เงื่อนไขนั้นเงื่อนไขนี้ ความน่าจะเป็นอย่างนั้น ความไม่น่าจะเป็นอย่างนี้

เดี๋ยวถ้าอย่างนี้...ถ้าเราไม่คิดมันก็จะต้องเป็นอย่างงี้แน่ๆ  เดี๋ยวถ้าเราอยู่เฉยๆ แล้วเขาก็จะต้องทำกับเราอย่างนี้แน่  เดี๋ยวถ้าเราไม่พูด ทุกอย่างมันก็จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

นั่น มันจะมีเงื่อนไขขึ้นมาทันที ...แรกๆ มันก็หยุดได้  แต่พอเริ่มมีเงื่อนไขมากขึ้นๆๆ เอาล่ะโว้ย ชักลังเลแล้ว ชักสงสัยแล้ว ...เห็นมั้ย ลังเลสงสัยเกิดแล้ว

เกิดจากไหนล่ะ ...เกิดจาก "เรา" เกิดจากการกระทำของเรา เห็นมั้ย สักกายเกิด ก็ต้องมีการทำหรือไม่ทำเกิดขึ้น สักกายในการกระทำก็เกิดขึ้น ตัวเราก็เกิดไปทำนั่นทำนี่ขึ้นมา

ทำอะไร ...ก็ทำไปตามเหตุผลที่มันเชื่อ ตามความเข้าใจของมันเอง ...นั่นแหละสีลัพพตปรามาสเกิด เพราะนั้นมันก็วนเวียนกันอยู่ตรงนี้ วนเวียนอยู่อย่างนี้แหละ

สังโยชน์ทั้ง ๓ ก็ร้อยรัด...ให้จมปลักอยู่กับการทำ พูด คิด...อยู่แค่นี้  ออกไม่ได้เลย ออกจากมันไม่ได้เลย ...กลัวตาย กลัวสูญเสีย กลัวถ้าไม่ทำแล้วจะเสียหมดเลย

กลับมาหยุดรู้มันเฉยๆ ดูมันเฉยๆ อย่างนี้ ...ไม่ตามความอยากทำ ต้องทำ ...ไม่ทำ ไม่ทำตาม ไม่เชื่อมัน มันจะหือ มันจะอือ มันจะเอ๊อะ มันจะแอ๊ะ ...รู้เสร็จละเลย วางเลย ขาดเลย

ตายเป็นตาย เอากับมันสักตั้งนึง...ดูดิ๊ ลองไม่ทำตามความคิด ลองไม่เชื่อความคิด ลองอยู่กับอารมณ์โดยที่ไม่แก้ไม่หนีซิ ดูซิ มันจะชักดิ้นชักงอตายคาที่นั่งมั้ย

ลองนั่งฟังคนด่าทั้งวันโดยที่ไม่พูด ดูซิมันจะไปถึงไหน ดูซิใครจะตายก่อนกัน ...อย่างนี้มันถึงจะเห็นที่สุดของทุกข์ แล้วจึงจะเข้าใจว่าที่สุดของทุกข์ไม่มีอะไรหรอก นอกจากความดับไปเอง

นี่มีแต่ไม่ดับๆ กูจะช่วยดับอย่างเดียว กูจะเข้าไปดับอย่างเดียว ..."ถ้าเราไม่สวนมัน มันไม่หยุด ถ้าเราไม่เข้าไปจัดการอะไรกับมันสักอย่าง มันจะต้องข่มเหงเรา มันจะต้องกดเรามากกว่านี้"

นี่ เงื่อนไข ...แล้วก็ตายกับเงื่อนไขนี้  มันก็จะคิดแก้คิดกัน คิดส่งเสริม คิดสนับสนุน คิดได้หมดแหละ ...นี่ ลองรู้เท่าทันอาการที่มันจะมีสร้างเงื่อนไขอะไรขึ้นมา

"อาจารย์ว่าอย่างนั้น อาจารย์ว่าอย่างนี้ อาจารย์องค์นั้นว่าอย่างนั้น อาจารย์องค์นี้ว่าอย่างนี้" ...มันจะย้ายไปย้ายมาตามที่มันพอดีปะเหมาะกับกิเลสนั่นแหละ บอกให้

ร้อยอาจารย์กูถูกหมดแหละ นั่น มันมาซัพพอร์ทกับไอ้ความเห็นตรงนั้น ความคิดตรงนั้น...พอดี๊เลย เชื่อเลย ไหลออกหมดเลยน่ะ

ลองแกล้งโง่ แกล้งไม่รู้ แกล้งไม่แยแสมันดู กับความคิดความเห็นนั้นๆ ต่างๆ นานา ...ดูซิมันจะเป็นยังไง ดูซิมันจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ยังไง ดูซิมันจะเข้าใจถึงขบวนการต่อไปของมันยังไง

มันต้องกล้าที่จะรู้และเผชิญกับทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไข ...อะไรปรากฏขึ้น..รู้ ไม่เอา อะไรเกิดมาในแง่นี้อีก...รู้ ไม่เอา ไม่ตาม

ดูมันซิ จะรู้อยู่ตรงนี้ รู้อยู่อย่างนี้ รู้อยู่กับเนื้อกับตัวตรงนี้ ไม่ไปรู้นอกจากนั้น ไม่เอามาเป็นเครื่องสนับสนุนความเห็นการกระทำอะไรเลย

(ต่อแทร็ก 4/32)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น