วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 4/33 (2)


พระอาจารย์
4/33 (add540401C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 เมษายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 4/33  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่พวกเราเบื้องต้นยังต้องเจริญธรรมขึ้นมา คือธรรมที่เรียกว่าสติธรรม ...มันเป็นกุญแจที่จะเปิดประตูสู่ความเป็นจริงถึงที่สุด และก็ต้องเรียนรู้กับสติจนช่ำชอง

จนเข้าใจว่าอันไหนเป็นสัมมาสติ อันไหนเป็นมิจฉาสติ ...อันไหนสติที่มันรู้แล้วโลดแล่นออกไป อันไหนเป็นสติที่รู้แล้วละ รู้แล้ววาง

มันจะไปจำแนกเอาด้วยตัวเอง...ด้วยประสบการณ์ ด้วยการฝึกฝน ด้วยการทำถูกทำผิด รู้ผิดรู้ถูกนี่แหละ 

ต่อให้พระอรหันต์สิบองค์มาบอกว่าอันนี้ใช่อันนี้ถูก มันก็ไม่เท่ากับตัวเองทำเอง เรียนรู้เองด้วยประสบการณ์ ...พอ อ๋อ แล้วมันบอก หูย ครูบาอาจารย์พูดมาเป็นสิบๆ ครั้งกูเพิ่งเข้าใจนี่ล่ะวะ

แล้วมันเข้าใจเองด้วย ...ก็เคยฟังมาแล้วอ่ะ อาจารย์ท่านก็พูดแล้วพูดอีก ทำไมถึงไม่รู้เรื่องเลยวะ...แต่พอรู้...อ๋อ แค่นี้เองน่ะ เข้าใจ ...นั่นแหละ สำคัญ เป็นปัจจัตตัง

แต่มันจะเป็นปัจจัตตังไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำผิดทำถูกมาก่อน ...ถ้าไม่มีการเจริญความเพียรขึ้นมาหรือว่าสัมมาอาชีโว คือเจริญศีล สมาธิ ปัญญาอยู่บ่อยๆ ต่อเนื่อง

อาจผิดบ้าง อาจถูกบ้าง อาจได้ผลบ้าง อาจเข้าใจบ้าง อาจไม่เข้าใจบ้าง ทำเข้าไปเถอะ รู้มันเข้าไป ...ตีตะปูสิบครั้งน่ะ โดนสักครั้งก็ดีแล้ว  ตีเข้าไป ร้อยครั้งถูกสักครั้งก็ยังดี ตีเข้าไป

แต่ถ้าไม่ตีสักครั้งก็ไม่มีวันถูกเลย ...เพราะนั้นร้อยครั้ง..ถูกครั้ง ต่อไปก็เก้าสิบเก้าครั้งถูกหนึ่งครั้ง ก็ดีแล้ว เก้าสิบแปดครั้งถูกครั้ง ดีแล้ว ...เอาจนตีครั้งเดียวถูกทุกครั้ง นั่นแหละ มหาสติ

รู้ปุ๊บ ผุ้บ เข้าใจ..the end รู้ปั๊บ the end ๆๆๆ ...ไม่มี continue ไม่ไปหาให้มีภาคหนึ่งภาคสองภาคสามภาคพิสดารต่อเนื่อง ...ไม่มี จบในตัวของมันหมด end หมด

ขึ้นมาปุ๊บ นี่ เห็นหน้าปุ๊บไม่ต้องดูเลย อะไรก็ได้...จบ เสร็จ ไม่ต้องดูทั้งเรื่อง ...ตรงนั้นน่ะ มันมีที่จบเลย  ไอ้นี่มันต้องรอภาคหนึ่งภาคสองภาคสาม เหมือนหนังที่สร้างมันเข้าไปหลายภาค

เอามันอย่างนี้ ...จะไม่ต่อเนื่อง เพราะความจริงก็คือความดับความจบ มันถึงจะจบได้ในที่เดียว จึงจะเรียกว่ามหาสติ ...เมื่อมีมหาสติในระดับนั้น จึงจะว่าเป็นมหาปัญญา

มันจะต่อเนื่องเกิดดับๆๆๆๆๆ เห็นจิตขยับพั้บดับ ขยับพั้บดับ  มึงอย่าออกมานอก แลบออกมา มึงอย่าแลบออกมา ...อวิชชา ปัจจยา สังขาราเมื่อไหร่ ดับตรงนั้น

จึงจะเรียกว่าสติปัฏฐานที่เรียกว่ามหาสติ ...กระบวนการปัจจยาการทั้งหมด ผั่บ ดับยันทุกข์ ปริเทวะ โสกะ โทมนัส อุปายาส ...หมดจดตลอดสาย ณ ที่เดียว

ไม่ต้องไปไล่ดับทุกข์ตรงไหนเลย ไม่ต้องไปทำความแจ้งตรงไหนเลย แจ้งในที่เดียว ดับหมดเลย ...ถึงเรียกว่าเบ็ดเสร็จ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมลงพอดีกัน สมดุลกัน เป็นมรรคสมังคี อยู่ในที่เดียว

ทำแทบตาย ไม่เห็นทำอะไรเลย อยู่แค่นั้นแหละ...กระดิกตีนยังเข้าพระอรหันต์ได้เลย ไม่ทำอะไร ...พูดเปรียบเทียบนะ เดี๋ยวไปนั่งกระดิกตีน...เมื่อไหร่กูจะได้เป็นพระอรหันต์ซะที (หัวเราะกัน)

เปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปไมย คือว่าจิตมันจะต้องหยุดอยู่ในปัจจุบันจริงๆ  ถึงจะเข้าใจว่าการหยุดนั่นแหละคือการเดินไปในองค์มรรค ...ไม่ใช่เรากำลังวิ่งตามหาอะไรอยู่

เหมือนเด็กวิ่งตามหาของเล่นน่ะ เหมือนกับคนมีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เอาของเล่นหรือเอาขนมมาล่อหลอก แล้วเด็กก็วิ่งงอแง วิ่งตาม แล้วก็พยายามจะหาเงินมาซื้อหาเอามาครอบครองเอามาเป็นสมบัติ

ทั้งๆ ที่มันเป็นของเล่น เข้าใจคำว่าของเล่นมั้ย ไม่ใช่ของจริง ...มันเป็นของเล่น แต่เราคิดว่าจริง เล่นตักหม้อข้าวหม้อแกง เหมือนเด็กเล่นของเล่น ไม่มีสาระแก่นสาร

แล้วจะเข้าใจเองว่าที่เราทำมาทั้งหมดหาสาระแก่นสารใดๆ ไม่ได้เลย ...แม้จะใส่ชื่อเรียกขานกันว่าเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าไม่เข้าใจ มันก็กลายเป็นของเล่นไป

แต่ของจริงกลับไม่เหลียวไม่แลไม่หยั่งลงมา...ในปัจจุบัน ...มันเลยไม่เข้าถึงธรรม มันเลยไม่เห็นธรรม ...เมื่อไม่เข้าถึงธรรมไม่เห็นธรรมแล้วมันจะไปละธรรมตรงไหน มันจะไปละความเห็นผิดในธรรมได้อย่างไร

รู้อย่างเดียว..จบหมด  ไม่ต้องทำอะไรอื่น ไม่ต้องคิดมาก ...รู้ถูกรู้ผิดรู้มันเข้าไป มีก็รู้ไม่มีก็รู้ อยากก็รู้ไม่อยากก็รู้ จะทำก็รู้ไม่ทำก็รู้ อยากคิดก็รู้ไม่อยากคิดก็รู้

รู้มันเข้าไป อะไรเกิดขึ้นปรากฏขึ้น รู้ลูกเดียว รู้มันลงไป รู้แบบหน้าด้านๆ รู้ซื่อๆ ...กำลังทำอะไรอยู่รู้มันลงไป จิตกำลังทำอะไรอยู่รู้มันลงไป กายกำลังทำอะไรอยู่รู้มันลงไป

แค่รู้นั่นแหละ ลืมแล้วรู้อีก เผลอไปอีกรู้อีก ทำอะไรอยู่รู้ลงมา กลับมารู้อยู่ตรงนี้ เตือนตัวเองบ่อยๆ ซ้ำซากอยู่แค่นี้แหละ ...จนมันหยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่หนีออกนอกปัจจุบัน

นั่นแหละ ถึงจะเรียกว่า จะเป็นปัจจัยให้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมา ...ไม่ต้องไปเรียกหาเลยความรู้ความเข้าใจ มันจะเข้าใจด้วยตัวของมันเองเลย 

แต่ถ้ายังขาดเป็นวรรคเป็นตอน ขาดตกบกพร่อง หลงใหล เผลอเพลิน เลื่อนลอยออกไป โดยเข้าใจหมายมั่นในธรรมอันนั้นอันนี้ ...มันจะได้ผลอย่างเดียวคือสงสัยกับลังเล ขุ่นมัว เศร้าหมอง

มีบ้างเป็นบางครั้งที่เป็นความสุขเป็นปีติแค่นั้น นิดๆ หน่อยๆ แต่มันจะยืนอยู่ด้วยความเศร้าหมองขุ่นมัว...ไม่ได้สักที ไม่ได้สักที ไม่เข้าใจสักที

ทิ้งเลย ทิ้งอาการนั้นเลย มารู้โง่ๆ เห็นก็รู้ว่าเห็น ได้ยินก็รู้ว่าได้ยิน ให้รู้แบบโง่ที่สุด รู้แบบคนไร้อนาคตหมดสิ้นรูปแบบของนักปฏิบัติ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น

อะไรเกิดขึ้นก็รู้มันตรงนี้ รู้เท่าที่มันปรากฏ ได้ยินก็รู้ ดับไปก็รู้  ไม่มีอะไรก็รู้ตัว ...อยู่อย่างนี้ ดูซิ มันจะไม่เข้าใจได้ยังไง

พระพุทธเจ้าท่านยืนยันการันตี ให้รู้อยู่แค่นี้ ๗ วัน  เดือน  ปี เข้าใจแล้ว ...ท่านไม่พูดเป็นชาติเลยนะ สติปัฏฐานน่ะ ท่านพูดว่า  วัน  เดือน  ปี เท่านั้นแหละ...แจ้ง

อย่าไปอ้อแอ้แก้ตัว หาเรื่องนั้นหาเรื่องนี้มาทำ มาสนับสนุนการปฏิบัติ มันจะกลายเป็นลิเกทรงเครื่อง ...เคยเห็นลิเกมาเดินกลางถนนมั้ย เหมือนนักปฏิบัติธรรมเด๊ะเลย

พยายามใส่มันเข้าไป เพิ่มมันเข้าไป เติมเข้าไป แพรวพราวไปหมด เตะหูเตะตาคนเดินถนน  มันก็เตะหูเตะตาดีหรอก แต่คนเดินข้างๆ บอกว่ามันบ้ารึเปล่าวะเนี่ย มันออกลิเกหลงโรงรึเปล่าวะ

แต่นักปฏิบัติธรรมที่เจริญสติจริง ปฏิบัติจริงๆ ดูไม่ออกนะ ไม่เหมือนกับคนปฏิบัติตรงไหนเลย  เดินชนหน้ากันก็เดินผ่านไปเลย เดินชนเหยียบหัวแม่ตีนแล้วก็เดินผ่าน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ก็เหมือนกับคนธรรมดา ไม่ได้มีเค้าลางว่าเป็นนักปฏิบัติธรรมตรงไหนเลย ...ก็ยังมีรักโลภโกรธหลงเหมือนกันแหละ เด๊ะเลย...แต่มีเท่านั้น และก็มีชีวิตอยู่แค่นั้น

ไม่ได้มีชีวิตอยู่กับการรอคอย ไม่ได้มีชีวิตกับอดีตที่ผ่านมา ไม่ได้มีชีวิตเพื่อไปในวันข้างหน้า ...แต่มีเท่านั้น เท่าที่มันมี จนเรียกว่า..พูดได้ว่า เหมือนนกบินไปในอากาศ ไม่มีร่องรอย

แต่อย่าบอกว่าไม่เคยมีนกบินตรงนั้นในอากาศ นี่ ไม่รู้หรอก มองไม่เห็น แต่อย่าบอกว่าไม่มี...มี  เหมือนรอยเท้าในอากาศ มีการเดินแต่ไม่มีรอยเท้า ไม่มีการจดจำจารึกลงไว้ในแผ่นดิน

ไม่เหมือนพวกเรา ย้ำแล้วย้ำอีกๆ ...อย่าลืมกันนะ เจอกันอีกนะ ต้องให้เขาจำเราให้ได้นะ ในการกระทำอันนี้ ในสิ่งที่เราทำอันนี้ ทำได้ขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่บอกคนอื่นถ้าไม่รายงานคนอื่นแล้วจะอกแตกตาย

กลัวเขาไม่รู้ กลัวเขาไม่เห็นค่า กลัวเขาไม่เห็นตัวตนของเรา กลัวเขาจะลืมความเป็นตัวตนของเรา กลัวเขาจะจำตัวตนของเราไม่ได้ อย่างนี้  มันต้องฝากอะไรไว้กับโลก 

เสร็จแล้วมันก็จะมาเอาคืนของที่มันฝากไว้ เหมือนวงเวียนวงกรรม รอยวงล้อเกวียนกับรอยของเกวียนในดิน หมุนไปเท่าไหร่ก็มีรอยตามเป็นวัฏจักร เป็นความไม่จบสิ้น เป็นกรรม เป็นความผูกพัน เป็นความหมายมั่น

พระพุทธเจ้าถึงเปรียบพระอรหันต์เหมือนเกวียนที่ถูกหักเพลา ไม่มีการหมุน และก็ไม่มีรอยเท้า ไม่มีรอยเกวียน ...แต่ถ้าเกวียนยังเดิน มันก็มีรอย ...ถ้ามันไม่เดิน มันก็ไม่มีรอย เหมือนจิตที่หยุดแล้ว

เหมือนพระพุทธเจ้าท่านตรัสกับพระองคุลีมาลว่า...เราหยุดแล้ว เธอสิไม่หยุด แค่นี้ องคุลีมาลเข้าใจเลย ว่าที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็น ต้องการสอนคืออะไร และที่ท่านทำอยู่คืออะไร

ท่านก็ละลงตรงนั้น จิตท่านก็กลับมาหยุดอยู่ตรงปัจจุบัน ...ไอ้ที่ท่านไขว่คว้าหาธรรมด้วยการฆ่าฟัน ด้วยการเบียดเบียน ด้วยเข้าใจว่าจะเป็นที่สุดของธรรม เนี่ยท่านถูกหลอกแล้ว...หยุดเลย

ท่านกลับมาเห็นทันทีว่าทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะหยุด ...ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมันปรากฏตามความเป็นจริงเมื่อหยุดอยู่ในปัจจุบันนั้น โสดาบันก็แจ้งขึ้นมา

หยุดมัน...จนหมดกำลังขับเคลื่อนของมัน นั่นแหละจึงเรียกว่าพระอรหันต์ ...แต่ไม่ได้หยุดด้วยการบังคับ ไม่ได้หยุดด้วยการจงใจ ไม่ได้หยุดด้วยการกดข่ม

แต่หยุดด้วยการที่สติระลึกรู้ในปัจจุบัน และเห็นอาการของมันหยุดเอง และถึงมันจะเคลื่อนออกอีก ช่างมัน...หยุดอีก รู้อีก

อย่าไปบังคับให้มันหยุดตลอดเวลา เดี๋ยวมันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ...ให้หยุดด้วยสติ ระลึกขึ้นปุ๊บให้เห็นเลยตรงนั้นมีอาการหยุดหมด โลกนั้นหยุดหมดในขณะนั้น หนึ่งขณะ

เมื่อรู้ปัจจุบันบ่อยๆ จะเห็นว่าจิตหยุดหมด แล้วทุกอย่างหมุนตลอดเวลา...แต่จิตมันไม่หมุนตามโลก

เอ้า เอาแล้ว ไป มีโอกาสค่อยมา


.................................



วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 4/33 (1)


พระอาจารย์
4/33 (add540401C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 เมษายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  อยู่แค่รู้ คิดอะไรไม่ออก แก้อะไรไม่ได้ กลับมารู้มันตรงๆ นั่นแหละ ...แล้วไม่เอาอะไร ไม่หวังผลอะไรทั้งสิ้น ...สติไม่หวังผลอะไรทั้งสิ้น

สติปัฏฐานแปลว่าการระลึกรู้ ...จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ  จิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ  จิตไม่มีโทสะก็รู้ว่าไม่มีโทสะ ...ท่านไม่ได้ให้ทำอะไรเลยนะ

จิตหดหู่รู้ว่าหดหู่ จิตเศร้าหมองรู้ว่าจิตเศร้าหมอง จิตผ่องใสรู้ว่าจิตผ่องใส จิตมีความอยากรู้ว่ามีความอยาก จิตไม่มีความอยากรู้ว่าจิตไม่มีความอยาก ...เห็นมั้ย นี่คือสติปัฏฐานนะ

ไม่ใช่จิตมีโทสะ...รู้ว่ามีโทสะ...แล้วกูจะทำยังไงให้ไม่มีโทสะ ...ไอ้นี่เกินสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของความไม่เท่าทันแล้ว เรื่องของความเห็นใหม่ขึ้นมาแทรกแล้ว ด้วยความหวังว่าจะมีภพใหม่ที่ดีกว่านี้...คือภพที่ไม่มีโทสะ 

นี่คาดเดานะ ดักนะ รอนะ ...แล้วถ้าไม่ได้นะ ทุกข์นะ ใช่มั้ย ดูกี่ทีกี่ทีมันก็ยังเกิด ดูกี่ทีก็ไม่เห็นมันดับ นี่หงุดหงิดแล้ว หงุดหงิดแล้ว ...นี่ไม่เรียกว่าสติปัฏฐาน เขาเรียกว่าเป็นสตินอกฐาน นอกฐานปัจจุบัน

ทำไมถึงบอกว่ามีอะไรก็รู้ตรงนั้น มีราคะรู้ ไม่มีราคะรู้ ราคะมากรู้ โทสะมาก..รู้ โทสะน้อย..รู้ โทสะไม่มี..รู้ ...ท่านให้ทำอยู่แค่นี้ เห็นมั้ย นี่มันเรื่องของปัจจุบันล้วนๆ

นั่น จึงจะเข้าใจ จึงจะเห็นความจริงมากขึ้นๆ และชัดเจนขึ้น ...ตาที่มืดบอด ตาที่สะลึมสะลือ ตาที่หลับๆ ตื่นๆ  มันจะได้ตื่นโพลงขึ้น แล้วก็จิตมันจะตื่นขึ้น

ตื่นอะไร...ตื่นรู้ตื่นเห็น ...อ๋อ เข้าใจแล้ว เห็น...ไม่มีอะไร ...ลืมตาแล้ว ลืมตาแล้วมันก็สว่าง มันก็แจ้ง มันก็ชัด ...ก็เรียกว่า อาโลโก จักขุง อุทปาทิ ญาณัง

ญาณก็เกิดขึ้น ทัสสนะก็แจ่มแจ้งขึ้น ว่าขันธ์คือขันธ์ ไม่มีอะไร ไม่ได้เป็นอะไร ไม่ได้เป็นของใคร เป็นธรรมชาติหนึ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเอง

นี่ สว่าง...มันเห็น ไม่ใช่ดำมืดตึ้บ มัวแต่งมปูงมปลาอยู่ในน้ำอย่างนี้ มันไม่เห็นอะไร ...มันจม


โยม –  แล้วถ้าอย่างเวลารู้ มันจะชอบคิด เหมือนมันสอนๆ ไป แล้วมันสว่างอย่างนี้ เราก็รู้ตามไปว่ามันสอน

พระอาจารย์ –  ใช่ มันอยู่ในอาการนั้น มันยังมีการวิพากษ์วิจารณ์  มันยังต้องมีการ ..เขาเรียกว่าเป็นค้อนตอกสิ่ว ถ้าไม่คิดช่วยมันไม่เข้าใจ ...เดี๋ยวต่อไปมันก็จะน้อยลงไปเอง 

ไอ้การคิดนำหรือว่าต้องคอยบอกคอยสอนมัน ต่อไปมันก็จะเข้าใจเองว่าไม่เห็นต้องบอกต้องสอนเลย แค่รู้แค่เห็นก็เข้าใจแล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องพูด ...มันจะค่อยๆ เงียบไป 

เงียบไปเรื่อยๆ เงียบจนสงบ เงียบจนวังเวง เงียบจนเหมือนกับเรียกว่าเป็นเอก...จิตเอก จิตวิเวก เงียบจริงๆ เงียบจากความปรุงแต่ง สงัดภายใน ไม่มีคำพูดใดๆ ออกมาเลย

นั่นแหละถึงเรียกว่าเอก เป็นจิตหนึ่ง  ถ้ามีสองมันก็มีความคิดออกมาคู่กับจิต ...แต่ถ้าจิตหนึ่งมีแต่จิตรู้อย่างเดียว ถึงเรียกว่าจิตเอก จิตหนึ่ง...มีแค่รู้หนึ่งเป็นธรรมเดียวกับสิ่งที่ปรากฏ

ไม่มีสองสามสี่ห้าหก เป็นความคิดความปรุงในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ...มีแค่อะไรที่ได้ยิน อะไรที่รู้ เป็นธรรมหนึ่งจิตหนึ่ง เอกังจิตตัง เอโกธัมโม จิตหนึ่ง จิตเอก แล้วจะเห็นปัจจุบันนั้นไม่มี ...นั่นน่ะเหลือแต่จิตหนึ่ง       

โยม –  แล้วอย่างเราจะแยกยังไงคะ ระหว่างขี้เกียจกับเหมือนไม่...

พระอาจารย์ –  รู้ไปอย่างเดียว ไม่ต้องแยก รู้อย่างเดียว เอามันจนหายสงสัยน่ะ ...ถ้ายังสงสัยแสดงว่ายังรู้ไม่จริง


โยม –  แสดงว่ามันก็แค่สงสัยใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ มันเป็นแค่ความสงสัยเข้ามาแบ่งแยกเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปทำความแจ้งในอาการหรอก แค่รู้ว่าเป็นยังไงแค่นั้น ...อดีตคืออดีต อนาคตคืออนาคต ช่างหัวมัน

จะเรียกอะไรก็ได้ ไม่เรียกอะไรก็ได้ มันคือปรากฏการณ์เท่านั้น ...อย่าไปใส่ชื่อเจ๊กชื่อจีนให้มัน หรือว่าต้องไปเข้าใจว่าความหมายมันคืออะไร แตกต่างกันตรงไหน ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่

มันก็วัวที่ออกไปถูกฆ่าที่แท่นประหารเดียวกัน...ทำไมจะต้องรู้ด้วยว่าวัวนี้แม่ลูกอ่อนหรือเปล่า หรือว่าวัวที่ถูกขโมยมา หรือเป็นวัวที่มันยังไม่สมควรฆ่า

คือไม่รู้ล่ะ มันถูกฆ่าในแท่นประหารเดียวกัน...คือดับไป นั่นแหละคือสาระที่พระพุทธเจ้าต้องการสอนให้เห็น ...ไม่ต้องไปฟุ้งซ่าน

เข้าใจคำว่าฟุ้งซ่านคืออุทธัจจะมั้ย นี่คืออุทธัจจะฟุ้งซ่านในธรรม ธรรมไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะคือสิ่งที่ปรากฏท่านเรียกว่าธรรมะ เขาเรียกว่าฟุ้งซ่านในธรรม

คือลงไปแบบส่องให้เห็นรายละเอียดเพื่อจะแยกผิดให้ถูก ว่ามันเป็นคนละโมเลกุลกันหรือเปล่า  การจับตัวของขาโมเลกุลมันไม่เหมือนกัน นี่อันนี้มันดีกว่าอันนี้ เราจะได้ละอันนี้ จะได้เจริญอันนี้

ได้ก็ตาย...ไม่ได้ก็ตาย ...คือมันมีความตายของมันเป็นเกณฑ์อยู่แล้วเหมือนกัน คือความดับไป ...ถ้ามองแค่มุมนี้...ทิ้งเลย มันก็จะละความฟุ้งซ่านได้ในเหตุนั้นๆ

ก็กลับไปเป็นสงบนิ่งเงียบใบ้เหมือนคนโง่ คือรู้อย่างเดียว รู้เฉยๆ กลับมารู้เฉยๆ อีกแล้ว บ่อยๆ ...เอามันจนชำนาญ เอามันจนคุ้นเคยว่า ตรงนี้แหละ ที่นี่แหละ เป็นที่เดียวที่ปลอดภัย ...เหมือนอยู่ในบ้าน 

อย่าขยันให้เขาหลอก เดี๋ยวเขาเอาไปขายไปฆ่า ...มันก็เปลี่ยนหน้ามาเรื่อย เกิดเป็นความลังเลสงสัยแล้วต้องเข้าไปหา เข้าไปค้น ต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับมัน ...ไม่รับแขก ไม่ปฏิเสธแขก เพราะเขาคือแขก


โยม –  มาก็มา

พระอาจารย์ –  อือ อยากนั่งก็นั่ง บ้านไม่เคยปิด ...อายตนะนี้ไม่เคยปิดประตูนะ ...ปาก หู จมูก ลิ้น กาย ไม่เคยปิด และปิดไม่ได้

เข้ามาก็เข้ามาเด่ะ คุณเป็นแขก คุณไม่อยู่จนตายหรอก เดี๋ยวคุณก็ไป ...จะมาอีก คุณก็เป็นแค่แขก  ไม่ต้องไล่ เราไม่เคยไล่ใคร และเราไม่เคยเชิญใคร เราไม่เคยชักชวนใครให้อยู่

อยากอยู่ก็อยู่ไปดิ เดี๋ยวมันก็ลากลับเองแหละ ไม่ต้องไล่ ใช่เปล่า ...นี่พระพุทธเจ้าถึงเปรียบว่ากิเลสทั้งหลายทั้งปวงเป็นแค่อาคันตุกะ  ทำไมจำเป็นต้องเดือดร้อนกับมันนักหนา

เพราะมันมีอายุขัย มาแล้วก็ไป ไปแล้วก็มา มาแล้วก็ไป ไปแล้วก็มา ...เอาจนมันขี้เกียจมา เพราะมึงมาแล้วกูไม่เคยต้อนรับมึงเลย ไม่เคยเอาน้ำเอาข้าวเอาเสื่อมาปูให้มัน ไม่เคยเข้าไปจิ๊จ๊ะเจ๊าะแจ๊ะกับมัน 

ไม่เข้าไปยกยอปอปั้น เข้าไปกอดคอผูกเสี่ยวกับมัน ...มาแล้วมันก็นั่งซื่อบื้อกันอยู่อย่างนี้ ต่างคนต่างซื่อบื้อ มันจะอยู่ได้สักขนาดไหน เอาดิ เดี๋ยวมันจะเบื่อเราก่อน 

เพราะอะไร ...เพราะนี่บ้านกู กูอยู่บ้าน กูไม่เคยไปไหน มึงเป็นแขก เดี๋ยวมึงก็รู้แล้วว่าไม่ใช่ที่อยู่ของมึง เดี๋ยวมึงก็ไป ...แล้วมันก็รู้แล้วมันยังสงสัยอีกว่า ยังมีทางมั้ยที่มันจะต้อนรับเรา เดี๋ยวมันก็มาอีก 

มาอีก...ก็ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ...กูไม่สนๆๆ  อยู่เฉยๆ  กูไม่พูด กูไม่คุย กูไม่ดูดำดูดี กูไม่ไล่แล้วก็ไม่เชื้อเชิญมึง กูอยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆ ...เดี๋ยวมันก็ไปเอง 

เอาจนมันรู้แล้ว ...เข้าบ้านนี้กูไม่ได้กินอะไรกับมันเลย ไม่ได้อิ่มไม่ได้เสวยอะไรเลย  หลอกก็ไม่ได้ มันไม่เคยไปกับกูเลย ...กูเหนื่อย กูไม่มาแล้ว กูไม่มาแล้ว

นั่น มันผ่านเลยๆ ๆ ...เห็นบ้านนี้แล้ว เหอะ กูเห็นเลยเจ้าของมันไม่ต้อนรับกู มันไม่สนใจ มันไม่ดูดำดูดีกับกู มันเห็นกู...เหมือนไม่มีอะไร

เพราะมึงไม่มีอะไรอยู่แล้ว มึงไม่ได้เป็นญาติโกโหติกาโคตรพ่อโคตรแม่กู ...กิเลสก็ไม่ใช่โคตรพ่อโคตรแม่ อารมณ์ก็ไม่ใช่โคตรพ่อโคตรแม่ สุขทุกข์ก็ไม่ใช่โคตรพ่อโคตรแม่

มันไม่เคยบอกเลยว่ามันเป็นญาติกับใจดวงนี้ ฮึ ทำไมจะต้องไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับมันนักหนา ...เขาจะมาเขาจะไป ทำไมจะต้องไปจัดสรรคิวฮึ

จะเป็นวินมอเตอร์ไซค์หรือไง ต้องมีคิว...อันนี้มาได้ อันนี้ไม่รับแขก อันนี้ต้องรับ อันนี้มาแบบสุภาพนี่ใช่เลย อยู่ได้ ต้องให้อยู่  มันก็แค่ดูดี มันก็แค่ดูร้าย ...มันจึงเกิดแบ่งเป็นกุศลและอกุศล

ทำไมถึงบอกว่าพระอรหันต์ท่านละทั้งบาป ละทั้งบุญ เหลือแต่ใจ เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง ...เพราะท่านไม่เอาอะไรไปเลย ไม่ใช่ละแค่บาป บุญท่านก็ละ ท่านไม่สน

เพราะอะไร ...เพราะท่านไม่เคยหวังผลข้างหน้า เพราะท่านไม่มีผลรองรับข้างหน้า เพราะท่านไม่คิดไม่ไปหวังมีอนาคตข้างหน้าอยู่เลย แล้วจะไปหวังอะไรกับบุญหรือบาป

เพราะท่านรู้อยู่แล้วว่ามันไม่มีอะไรทั้งข้างหน้าข้างหลัง ...อย่างนี้จะเรียกว่าไม่จบในที่อันเดียวได้อย่างไร 

ทำไมถึงจะเรียกว่าหมดสิ้นหรือว่าจบกิจ ...เพราะจิตดวงนี้จะจบกิจที่จะต้องทำหรือไม่ทำ...ทั้งในอดีต ในอนาคต และแม้แต่ปัจจุบัน


(ต่อแทร็ก 4/33  ช่วง 2)



วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 4/32 (2)


พระอาจารย์
4/32 (add540401B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 เมษายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 4/32  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  ดูซิ ไม่ต้องห้ามไม่ต้องอะไรทั้งนั้น ให้มันเป็นปัจจุบันจริงๆ ...แล้วจะเข้าใจว่าธรรมะนี่อยู่ใกล้ยิ่งกว่าใกล้ซะอีก อยู่จนแบบทิ่มหูทิ่มตาตลอดเวลา...แต่ไม่เห็น  

มันไม่เห็นได้ยังไง ...มันไปเห็นอะไรก็ไม่รู้ ไปเห็นนู่นน่ะ อรหันต์ โสดาบัน  เห็นธรรมที่ยังมาไม่ถึง เห็นธรรมแบบดิลิเวอรี่ ล่วงหน้า ...เขาจะมาส่งให้รึเปล่าล่ะ หือ

อุตส่าห์ลงทุนจ่ายเงินไปทางเน็ทไปทางโทรศัพท์ก็แล้ว คอยไปเหอะ รอให้เขามาส่งถึงที่เรอะ ...มันได้แต่ธรรมที่เกิดจากการรอคอยและก็หวังเอาว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นน่าจะเป็นอย่างนี้

เห็นมั้ย การคาดเดา ...การรู้จึงเป็นรู้แบบว่าภาษาเรียกว่า “ดักรู้” “คอยรู้” ไปดักอนาคต...มันข้ามปัจจุบันธรรมไป ...ก็รู้เท่าที่มี มันไม่มีอะไรหรอก เห็นมั้ย

มันเป็นธรรมดา เป็นธรรมดาจนเราเบื่อ ...เบื่อเพราะอะไร เบื่อเพราะมันไม่อยาก ไม่อยากเพราะอะไร เพราะมันอยาก...อยากได้ใหม่ อยากได้ดีกว่านี้ เห็นมั้ย

ไอ้เบื่อนี่ไม่ใช่เบื่อนิพพิทานะ เบื่อเพราะกูอยากได้มากกว่านี้...โลภน่ะ ...ก็กลับมาอีก กลับมาอยู่ตรงนี้อีก ที่นี้ที่เดียวเท่านั้น จำไว้ อย่าออกนอกนี้ ไม่ไปโน้น ไม่ไปนู่นนน

นี่ ที่นี้ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้...จริง เป็นสัจจะ นี่คือว่าสัจธรรม ...อยากเห็นจังน่ะสัจธรรม แต่มันเป็นสัจธรรมในความคิดข้างหน้า มันไม่ใช่เป็นสัจธรรมที่เป็นปัจจุบัน

เดี๋ยวนี้..สัจธรรม  ปวด เมื่อย เย็น อย่างนี้ เป็นธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เป็นปัจจุบันธรรม ...ขณะที่รู้กับสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงในปัจจุบัน  นี่เรียกว่าเป็นปัจจุบันจิต

ก็เป็นกายกับจิตคู่กันอยู่ในปัจจุบัน ...แล้วก็จะเห็นว่าปัจจุบันธรรมนั้นน่ะ เดี๋ยวก็เปลี่ยน ขณะนี้ก็เปลี่ยน เดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็ฟัง เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็เย็น เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็ขยับ

เห็นมั้ย ปัจจุบันธรรม แต่มันไม่คงที่ มันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ...แค่เรารู้อยู่ตรงเนี้ย เราก็จะเห็นความเป็นจริงของความไม่เที่ยงในปัจจุบัน ...แล้วก็จะเห็นว่าอะไรจะเกิดมาเป็นอดีตเป็นอนาคต 

มันก็จะเห็นว่าไอ้อดีตไอ้อนาคตนี่มันก็ปรากฏออกมาจากปัจจุบัน ...เพราะนั้นถ้าอยู่กับปัจจุบันนี่...ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เห็นหรอกว่ามันจะไปยังไงมายังไง จะแจ้งมั้ย แจ้งนั้นมั้ย แจ้งนี้มั้ย 

มันเห็นทันตรงนี้เดี๋ยวนี้ แล้วก็เห็นไอ้ที่มันจะแจ้งหรือไม่แจ้งนั่น...มันไม่เห็นมีอะไรให้แจ้ง มันดับหมดเลย ...เพราะเราไม่ออกไปหาความแจ้งอะไรกับมัน

คือพอไม่ไปจริงจังเอาสาระแก่นสารอะไรกับมัน มันก็จะเป็นไตรลักษณ์ของมันในขณะนั้นทันที ...นี่ สติที่ลงในปัจจุบันนี่ จึงเรียกว่าเป็นสติตัวจริง 

ไม่ใช่เป็นสติแบบคาดค้นด้นเดา รู้ไปเรื่อย ...ไม่ได้ว่านะ มันรู้ไปอย่างนั้นจริงๆ มันรู้ไปเรื่อย มันรู้ออกไป มันตามรู้ออกไป มันตามสิ่งที่ถูกรู้ออกไป เหมือนจะหาที่จบของมันให้ได้

และบางครั้งก็เห็นความจบความดับไปในขณะนั้น มันก็เลยเกิดความกระหยิ่มลำพองใจ ยิ่งดูยิ่งตั้งอกตั้งใจเพ่งเลยคราวนี้ ไปคอยส่องดู เหมือนกับพม่าแทงกบน่ะ

ส่อง ..กูจะแทงกบ เจอกบกูจะได้ปักลงไป ...คือมันหาอะไรดู แล้วก็ดูไปเรื่อย มันก็เลยเกิดความเครียด กังวล เคยเห็นนี่ มันไม่มีอะไรให้ดู ดูแล้วก็ไม่จบ

ดูแล้วไม่เห็นเหมือนคราวที่แล้วเลย คราวที่แล้วมันยังจบเร็วกว่านี้ คราวนี้ยังไม่จบอีก แล้วมันยังมากขึ้นกว่าเดิมอีก...ทำไมๆๆ นั่น มาอีกแล้ว สงสัยอีกแล้วครับท่าน  

ก็ไม่ต้องสนใจมันเลยอ่ะ...แค่นั้นแหละ รู้ตัวๆ  เห็นมั้ย เหมือนน้ำบนใบบัว ...พอพลิกกลับมารู้ตัวนี่ โลกนั้นดับสลาย พอโลกนั้นดับหรือมายาของโลกนิมิตนั้นดับ

หรือภพนั้นที่สร้างรองรับไว้ในอดีตอนาคตจะดับลงทันที ไม่มีอะไร ...กลับมาเป็นคนเดินดินกินข้าวแกงธรรมดา ธรรมะก็ไม่มีติดค้างหลงเหลืออยู่เลย ...ความน่าจะเป็น ความเคยเป็น ความเคยมี...ไม่มี 

มีแต่ลมพัดมาก็เย็น นั่งแล้วก็เมื่อย  เดี๋ยวก็เห็นอันนั้น เดี๋ยวก็เห็นอันนี้ผ่านไปวอบๆ แวบๆ  เดี๋ยวก็ได้ยินเสียงนั้น เดี๋ยวก็ได้ยินเสียงนี้...อย่างนี้ มันธรรมด๊าธรรมดาจริงๆ

มันมองข้ามธรรมดา มันก็เหมือนกับมองข้ามธรรม มันก็เหมือนมองข้ามสิ่งที่มีสิ่งที่เป็นตามปกติธรรมดา ...มันเลยข้ามไปหมด มันข้ามธรรม มันข้ามปัจจุบันธรรม มันเลยมองไม่เห็นธรรม

เอาแล้ว พูดนานแล้ว พอให้เข้าใจ ...แล้วต้องไปทำ ทำด้วยการหยุดหา แล้วไม่แก้ไม่หนี นั่งอยู่ในบ้านกระดิกตีนจิบน้ำชา ดูมันไป

อย่าออกไปร่อนเร่เป็นผีพเนจร เหมือนผีไม่มีศาลเจ้า ไปหากินตามของเซ่นของไหว้นิดๆ หน่อยๆ น่ะ ไม่พออิ่มหรอก


โยม –  พระอาจารย์มีอะไรจะแนะนำ ผมจะได้ไปบอก

พระอาจารย์ –  ไม่มีอะไร เท่าที่พูดนี่ เพิ่นจะเข้าใจหมด ...แล้วไม่ต้องไปวอรี่ ไม่ต้องไปวิตกกับอาการใดๆ ทั้งสิ้น มันจะเป็นยังไงก็เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา

เราไม่ได้แก้ เราไม่ได้ไปทำให้มันเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้ทำขึ้นมาใหม่ แต่มันปรากฏอย่างไร...อยู่ในฐานของรู้เห็นแค่นั้น อยู่ในฐานะแค่รู้และเห็น

ไม่ได้อยู่ในฐานะมีและเป็น หรือจะมีหรือจะเป็น...ให้อยู่ในฐานะแค่รู้และเห็นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แค่นั้นเอง ...ส่วนมันจะออกมาลุ่มๆ ดอนๆ ออกมาดูเหมือนดีดูเหมือนไม่ดี อย่าวิตก

และมันก็จะค่อยๆ เท่าทันกันไป เราก็จะถอนฐานะทอนตัวเองลงมาเป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็นได้มากขึ้น ...ซึ่งแต่ก่อนอะไรมานี่กูจะเข้าไปเป็นกูจะเข้าไปมี กูต้องมีกูต้องเป็น กูจะมีกูจะเป็น

กระทั่งไม่มีอะไรตรงนี้ มันก็จะมีจะเป็นอยู่เรื่อย มันจะเข้าไปมีไปเป็นอยู่เรื่อย เนี่ย ด้วยความเคยชิน ...และเมื่อเราลดฐานะของตัวจิตตัวใจลงมาในฐานะเป็นแค่ผู้รู้ผู้เห็น มากขึ้น บ่อยขึ้น นานขึ้น

แล้วจะเห็นว่าไม่เห็นมีอะไรที่น่าเข้าไปมีน่าเข้าไปเป็นเลยสักอย่างเดียว แล้วมันจะไม่สงสัยในอาการทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่มันมารูปแบบแตกต่างกัน ลักษณะแตกต่างกัน 

แต่มันเหมือนกันในความดับไป แน่ๆ มีความดับไปเหมือนกัน ...ไม่ว่าสงบ ไม่ว่าไม่สงบ  ไม่ว่าดี ไม่ว่าร้าย  ไม่ว่ากุศล ไม่ว่าอกุศล ...อย่าไปจริงจัง

ชีวิตก็จะเบาขึ้น อิสระขึ้น มันจะเป็นอิสระจากอาการนั้นๆ ...ไม่ว่าอาการนั้นๆ จะเขียนด้วยภาษาไทย ภาษาประหลาดมหัศจรรย์ขนาดไหน...ก็คืองั้นๆ น่ะ มันก็เป็นงั้นๆ แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรประหลาดหรอก

แล้วก็ค่อยๆ เป็นไป...ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบ ...เพราะมันมีอยู่แล้วตรงนี้  กลับมาอยู่ตรงนี้ ทุกอย่างจริงหมด ดีหมด ถูกหมด ตรงหมด ใช่หมด ไม่มีอะไรผิดเลย

ไม่ต้องกลัวผิด...ถ้าอยู่ตรงนี้ไม่มีอะไรผิดเลย...จริง ไม่ว่าอะไรปรากฏ..จริงหมด ...นี่เขาเรียกว่ารู้จริง เห็นจริง แล้วมันจึงจะละได้จริง

แต่ถ้ายังแอบๆ รู้  แอบๆ เห็น ...มันไม่ใช่รู้จริง มันไม่ได้เห็นจริง มันก็ละไม่จริง ...รู้จริง เห็นจริง จึงจะเรียกว่าละจริง ...รู้อะไร เห็นอะไร จริงคืออะไร...ปัจจุบันนี่จริง

อย่าไปคิดว่าไม่จริง โกรธขึ้นเรียกว่าไม่จริง ...ไม่จริงมันจะเกิดได้ยังไง ก็มันเกิดให้เห็นอยู่จริงๆ ...นี่ ทำไมจะไม่รับกับมันตรงๆ ล่ะ รู้กับมันตรงๆ จึงจะละได้จริง

ถ้ายังไม่ยอมรับ ไม่รู้จริงเห็นจริง  รู้แบบอ้อมๆ ค้อมๆ รู้แบบมีเงื่อนมีไข รู้แบบเอียงๆ เอนๆ รู้แบบแอบๆ ปกๆ ปิดๆ มันก็ไม่จริง  มันจะละได้ก็ละได้หลอกๆ ...รู้จริงเห็นจริงก็ละได้จริง

แล้วก็กลับมาอยู่ที่รู้ รู้ตัวปุ๊บ หมด จบ มันก็จบตรงนั้นแหละ ทุกอย่างจบหมด ...ไม่ได้ทำให้จบ มันจบเองเลย มันจบของมันเอง ในตัวของมันเอง...นี่เรียกว่าทุกขัง เห็นทุกขัง

คำว่าทุกขัง ความหมายของคำว่าทุกขัง คือหมายความว่าอะไรที่ปรากฏขึ้น มันมีอายุขัยในตัวมันเลยทันที ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีอายุขัยในตัวของมัน

เพราะงั้นพระพุทธเจ้าถึงว่าทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นเรียกว่าทุกขัง ...เพราะมันพร้อมที่จะดับได้ตลอดเวลา ท่านถึงเรียกว่าทุกขสัจ หรือว่าทุกขัง...ทุกขัง อริยสัจจัง

เพราะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏนี่...ท่านบอกว่าเป็นอริยสัจจังหมด เป็นสัจจะหมดเลย

ใครจะว่าจริง ใครจะว่าไม่จริง ใครจะว่าถูกใครจะว่าผิดไม่รู้ ...แต่ตัวของมันเองโดยความเป็นจริงคือเป็นทุกขัง อริยสัจจัง...เกิดและดับในตัวของมันเอง

นั่นแหละ แล้วเราจะอยู่ได้ในทุกกาลเวลาสถานที่และบุคคล ...หรือแม้แต่อยู่คนเดียว หรือแม้แต่ไม่มีอะไร ก็อยู่ได้ด้วยจิตที่ไม่หวั่นไหว

ไม่ใช่ไอ้นั่นเอียงผิดหนึ่งองศาปุ๊บ เดือดร้อนแล้ว  ไอ้นี่เอียงสามองศามันยิ่งเดือดขึ้นไปใหญ่เลย ...มันหวั่นไหวไปหมด ลมพัดกิ่งไม้ไหว อะไรแกว่งอะไรไกวก็ว่าผี อย่างนี้

มันเกิดความปรุงเข้าไปหมายหมด เป็นถูกเป็นผิดไปหมด มันจะไม่เป็นอิสระไปจากอาการของโลกหรืออาการของขันธ์ ...นี่ โลกกับขันธ์น่ะเราใช้คำพูดเดียวกัน

เราอยู่กับโลกใบใหญ่ โดยเรามีชีวิตอยู่ในโลกใบเล็ก ...เพราะอะไร ...ธาตุสี่ ขันธ์ ๕ นี่ ของยืมโลกมา ขอยืมมานะนี่ อีกไม่กี่ปีน่ะ ยี่สิบ สี่สิบปี ก็คืนเขาหมดแล้ว

จึงบอกว่ากายนี้ตัวนี้คือโลกอันหนึ่ง เห็นมั้ย แต่ละคนก็มีโลกให้จับจองอยู่สองโลก โลกภายนอกกับโลกภายใน ...สุดท้ายเขาก็กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เขาก็เอาคืนของเขาหมดแหละ

แต่ด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ เดี๋ยวก็ต้องมาขอยืมเขาอีกแหละ เดี๋ยวก็มาหมายว่านี่ของกู๊ของกูๆๆ 

จนกว่ามันจะเข้าใจว่าเราอยู่กับของที่ยืมเขามาชั่วคราวเท่านั้น คุณไม่มีสิทธิ์ ...คุณจะจดลิขสิทธิ์ร้อยใบ คุณก็ไม่มีสิทธิ์ครอบครองมัน คุณไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของมัน

ด้วยปัจจัตตัง ...เมื่อนั้นแหละ ขายขาด เอาคืนแล้วก็ขายขาด ไม่มีการเช่าซื้อต่อ โดยความเข้าใจว่าจะได้เป็นสมบัติของกูสักวันหนึ่งจริงๆ

เอาแล้ว พอแล้ว มีอะไรสงสัยอีกมั้ย ...สงสัยก็รู้ แล้วก็ไม่ต้องสงสัย (โยมหัวเราะ)...จบ


โยม –  บางทีจะมาถาม หลวงพ่อก็ให้แค่รู้ ก็เลย...เพราะมันก็มีแค่นั้นจริงๆ

พระอาจารย์ –  ดีแล้ว...แค่นั้นจริงๆ ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น


โยม –  ไอ้ที่มันไปข้องอยู่ มันก็ไปคิดไปเอง แล้วก็สงสัย แล้วก็วิเคราะห์ใหญ่เลย อะไรอย่างนี้ค่ะ จริงๆ มันก็แค่รู้เอง ...แต่บางทีช่วงนี้ที่มันติดมันอาจยังไม่รู้ มันก็เลยรู้สึกว่า...โอ๊ะ มันช่างยาวนาน

พระอาจารย์ –  กำลังงมหอยงมปูอยู่ ไม่ได้เงยดูฟ้าดูดาวกับใคร โดยเข้าใจว่าจะเจอหอยเจอปูที่อร่อย ที่ถูกปากถูกใจ ...มันก็แค่นั้นจริงๆ ไม่มีอะไรหรอก พอทิ้งแล้วก็อย่าไปเสียดาย อย่าไปกลัวว่าจะไม่ได้อะไร 

เพราะพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าไม่ได้อะไรเลย ให้ทิ้งลูกเดียวเลย ให้ออกจากโลกเลย ให้ออกแบบไม่ต้องเหลียวหลังเลย ไม่หวนกลับมาเลย ...นี่ยัง... เอ๊ะ เอ๊อะ เฮ้อออ ไม่น่าเลย ยังเสียดายอยู่นะนั่น 

ยังเสียดายอยู่ ..เสียดายธรรมบ้าง ...อ้างว่าเป็นธรรม อ้างว่าต้องอาศัย มันจำเป็น ...ต้องสงบบ้าง ต้องมีความเข้าใจบ้าง ต้องสงบมากๆ บ้าง มันถึงจะมีสติ ...อ้างมันเข้าไป จะได้ทำขึ้นมา

แล้วจะได้เป็นข้ออ้างว่าเพราะผมไม่รู้ เพราะผมไม่ค่อยมีเวลาทำสมาธิ เพราะผมมีแต่งานไม่ค่อยได้อยู่คนเดียว สมาธิมันก็เลยไม่ค่อยเกิด สติก็เลยไม่ค่อยมี ...อ้าง มันจะอ้างไปเรื่อย

รู้ตรงไหนก็รู้ได้น่ะ เฮอะ ไม่เห็นจะมีพิธีรีตอง ไม่เห็นต้องมีตั้งขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ขันธ์ ๑๐ ไปรองรับ ไปอาราธนาให้เกิดสติเลย หรืออาราธนาเหมือนขอกรรมฐาน

รู้เดี๋ยวนี้ก็รู้ได้ รู้ตรงไหนก็รู้ได้ กำลังโดนด่าก็รู้ได้ กำลังด่าเขาก็รู้ได้ ...เห็นมั้ย มีตรงไหนที่รู้ไม่ได้ มีตรงไหนที่เข้าไปปิดบังธรรมได้


(ต่อแทร็ก 4/33)